ผมได้รับเชิญจากบริษัทเน็ตแอพ ประเทศไทย ให้มาร่วมงานสัมมนาใหญ่ประจำปีของบริษัท NetApp Insight 2015 ที่เมืองลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา จึงนำข้อมูลจากในงานมาฝากกันครับ
ก่อนอื่นต้องแนะนำบริษัท NetApp ก่อน เพราะคนที่ไม่ได้อยู่ในโลกไอทีองค์กร (แถมต้องเป็นสายสตอเรจด้วย) อาจไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อน
จริงๆ แล้ว บริษัท NetApp ก่อตั้งมานานตั้งแต่ปี 1992 เข้าตลาดหุ้นในปี 1995 มีธุรกิจหลักคือฮาร์ดแวร์ด้านสตอเรจสำหรับลูกค้าองค์กร ถือเป็นบริษัทสตอเรจรายใหญ่รายหนึ่งของโลกไอทีฝั่งองค์กร (Blognone เคยสัมภาษณ์ คุณวีระ อารีรัตนศักดิ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย NetApp มีรายละเอียดพื้นฐานพอสมควร แนะนำให้อ่านกัน)
งานสัมมนา NetApp Insight ถือเป็นงานใหญ่ประจำปีของบริษัท ที่เชิญพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า จากทั่วโลกจำนวนหลายพันคนมาชุมนุมกันที่ลาสเวกัส เพื่อประกาศเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมถึงช่วยให้ทุกคนเข้าในทิศทางที่บริษัทกำลังจะมุ่งไป
ธีมหลักของงาน NetApp Insight ประจำปี 2015 คือ Data Fabricซึ่งผมแปลเป็นไทยว่า "ผืนข้อมูลเดียวกัน" ซึ่งก็สะท้อนทิศทางที่ NetApp ระบุว่าตัวเองกำลังมุ่งไป
ในอดีต ธุรกิจของบริษัทสตอเรจตรงไปตรงมาคือการขายฮาร์ดแวร์สตอเรจให้ลูกค้าองค์กร แต่พอมาถึงยุคของคลาวด์ การเก็บข้อมูลซับซ้อนมากขึ้น เรามีทั้ง private cloud ใช้ในองค์กร, public cloud จากผู้ให้บริการคลาวด์ในประเทศ และ hyperscale cloud บริการสุดอลังการจากผู้ให้บริการรายใหญ่อย่าง AWS, Azure, Google Cloud Platform, IBM SoftLayer
เมื่อลูกค้าไม่จำเป็นต้องซื้อสตอเรจเองอีกต่อไป หันไปเช่าคลาวด์แทนได้ คำถามคือบริษัทสตอเรจแบบ NetApp จะปรับตัวอย่างไร
คำตอบคือถึงแม้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องซื้อสตอเรจเองโดยตรง แต่ก็ยังจำเป็นต้องใช้งานสตอเรจอยู่ดี ดังนั้น NetApp จึงหันมามองภาพให้กว้างขึ้นกว่าเดิม มีความยืดหยุ่นให้กับลูกค้ามากขึ้น ลูกค้าจะซื้อสตอเรจแล้วไปวางในศูนย์ข้อมูลของ cloud provider ก็ได้ หรือจะเช่าเครื่องของ cloud provider ก็ได้ ทาง NetApp มองว่าสถาปัตยกรรม Hybrid Cloud ที่ดึงพลังประมวลผลจากทั้งในและนอกองค์กร คืออนาคตของสถาปัตยกรรมพื้นฐานด้านไอที
ปัญหาที่ตามมาคือเมื่อลูกค้าองค์กรเริ่มมีงานไปรันบนคลาวด์ ควบคู่ไปกับงานเดิมที่อยู่ในศูนย์ข้อมูลของบริษัท เมื่อ "ข้อมูล" ที่เป็นหัวใจสำคัญของงานฝั่งองค์กรถูกกระจายไปอยู่หลายที่ ก็เริ่มจัดการยากขึ้นมาก เราอาจไม่รู้ว่าข้อมูลอยู่ตรงไหน หรือรู้แต่ย้ายข้อมูลระหว่างแต่ละจุดได้ยาก การทำงานจึงขาดความคล่องตัว
แนวทางแก้ปัญหาของ NetApp คือคำว่า Data Fabricหรือการจัดการข้อมูลที่กระจายกันอยู่ตามจุดต่างๆ ของโลก ให้ดูต่อเนื่องเหมือนเป็นข้อมูลผืนเดียวกัน โดยใช้เทคโนโลยีหลายอย่างของ NetApp ร่วมกันทำงาน เช่น การย้ายข้อมูลระหว่างศูนย์ข้อมูล 2 แห่ง ถ้าย้ายที่ระดับแอพพลิเคชัน (layer 7) อาจช้าและเสีย overhead ในการส่งข้อมูลมาก ตรงนี้ถ้าใช้ระบบสตอเรจของ NetApp ทั้งสองจุด ก็สามารถย้ายข้อมูลในระดับ layer ที่ต่ำกว่า ช่วยให้การส่งข้อมูลรวดเร็วขึ้นมาก
วิดีโอแนะนำ Data Fabric
งานสัมมนา NetApp Insight ช่วงหลังจึงเน้นยุทธศาสตร์ Data Fabric อย่างจริงจัง การที่บริษัท NetApp ทำแต่สตอเรจเพียงอย่างเดียว (ต่างจาก Dell/HP ที่ทำอย่างอื่นด้วย) ทำให้สร้างพันธมิตรได้ง่ายกว่ามาก พันธมิตรใกล้ชิดของ NetApp คือ Cisco และ Microsoft แต่ก็ยังมีบริษัทอื่นๆ อีกมาก
วิสัยทัศน์ Data Fabric เริ่มประกาศเมื่อปีที่แล้ว (2014) เวลาผ่านมาหนึ่งปี มีความคืบหน้าจากฝั่งลูกค้าที่เห็นประโยชน์ของ Data Fabric จำนวนมาก
ที่ผ่านมามีผู้ให้บริการคลาวด์ระดับโลก (ที่ NetApp เรียกว่า Hyperscale Cloud) 3 รายที่ให้บริการเช่าใช้สตอเรจของ NetApp ได้แก่ Amazon Web Services, Microsoft Azure และ IBM SoftLayer แต่ในงานนี้ NetApp ก็ประกาศผู้เข้าร่วมรายที่สี่คือ Google Cloud Platform ทำให้ตอนนี้ผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ของโลก ล้วนรองรับ NetApp กันหมดแล้ว
ฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ประกาศในงาน ได้แก่
- Application Accelerationช่วยจัดการสตอเรจของแอพพลิเคชันองค์กร ตามช่วงอายุของแอพนั้น เช่น ตอนพัฒนาอยู่บนฮาร์ดดิสก์, ตอนรันงานจริงทำบนแฟลช, ตอนสำรองข้อมูลเก็บบนคลาวด์ ระบบนี้จะช่วยจัดการตำแหน่งแห่งที่ในการเก็บข้อมูลที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาได้
- OpenStack on Flexpodรองรับการสร้างคลาวด์ด้วยซอฟต์แวร์ OpenStack บนฮาร์ดแวร์ FlexPod ที่พัฒนาร่วมกับ Cisco (จะกล่าวถึงต่อไป)
- DR to Cloudฟีเจอร์การสำรองข้อมูลป้องกันภัยพิบัติ (Disaster Recovery หรือ DR) ไปบนคลาวด์ได้โดยตรง
FlexPod
FlexPod เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของ NetApp ที่เดินตามแนวทาง converged infrastructure (ฮาร์ดแวร์มาตรฐานตัวเดียว มีทุกอย่างทั้งประมวลผล สตอเรจ เน็ตเวิร์ค) ซึ่งบริษัทสตอเรจทุกรายก็มีผลิตภัณฑ์แบบนี้ แต่แนวทางของ NetApp คือจับมือกับ Cisco แบบแนบแน่นสุดๆ พัฒนา FlexPod ร่วมกัน
ในตู้ FlexPod จะประกอบด้วย
- สตอเรจของ NetApp
- เซิร์ฟเวอร์ UCS ของ Cisco
- อุปกรณ์เครือข่าย Nexus ของ Cisco
- ระบบปฏิบัติการ Windows Server และซอฟต์แวร์อื่นๆ (เช่น SQL Server) ของไมโครซอฟท์
ในงานมีตัวแทนของ Cisco มาขึ้นเวทีด้วย เขาบอกว่าตอน Cisco เริ่มทำ UCS ใหม่ๆ ก็โดนคนหัวเราะเยาะเยอะ พอมาทำ FlexPod ในปี 2010 ก็มีคนปรามาสไว้เยอะเช่นกัน แต่เวลาผ่านมา 5 ปี โลกเห็นแล้วว่า Cisco กับ NetApp ทำได้
FlexPod จะพัฒนาต่อไป เริ่มนำระบบสตอเรจแบบแฟลชล้วนๆ มาใช้งาน ("เมื่อคุณใช้แฟลชแล้ว คุณจะถอยกลับไม่ได้อีก") และรองรับ OpenStack มากขึ้น
เขายังอธิบายวิสัยทัศน์ของ "การวิเคราะห์ข้อมูล" ว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่การวิเคราะห์ข้อมูล "ยุคที่สาม" จากยุคแรกที่เป็น structured data ทั่วไป เข้ามาสู่ยุคที่สอง Big Data ที่เป็นข้อมูลแบบไร้รูปแบบ (unstructured) และในอนาคตการประมวลผลผลข้อมูลจะกระจายจากจุดศูนย์กลางขององค์กร ไปยัง "ขอบ" หรือ edge ขององค์กร ซึ่งก็หมายถึงข้อมูลจากเซ็นเซอร์ IoT ทั้งหลายนั่นเอง
สถาปัตยกรรม FlexPod ที่เกิดจากความร่วมมือของทั้งสองบริษัท จึงต้องปรับตัวเพื่อให้พร้อมเข้าสู่ยุค Edge/IoT ดังแผนผังในภาพครับ
ที่มา - NetApp
Comments
Azmaon => Amazon ไม่ก็ Azure ครับ
Coder | Designer | Thinker | Blogger
ขอบคุณมากๆเลยครับ แต่ใจนึงก็มึนๆนิดๆว่าเราจะพัฒนาตัวเองยังไงจากที่อยู่ตรงนี้ เหมือนจะตามไม่ทัน 555
..: เรื่อยไป
ขอบคุณค่ะ