Rimac Automobili บริษัทรถยนต์หน้าใหม่จากประเทศโครเอเชีย เปิดตัวรถยนต์ไฮเปอร์คาร์ไฟฟ้าล้วนถึงสองรุ่นพร้อมกัน คือ Concept One และ Concept S ที่งาน Geneva Motor Show ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
Concept One
บริษัทใช้เวลาพัฒนารถยนต์รุ่นนี้นาน 5 ปี เคยเปิดขายเวอร์ชันเก่าไปหลายคัน ขณะนี้เป็นเวอร์ชันสุดท้ายที่จะออกวางขายจริงแล้ว โดยผลิตเพียง 8 คันเท่านั้น มีมอเตอร์ไฟฟ้าถึง 4 ตัว และชุดเกียร์อีก 4 ชุด หมายความว่าแต่ละล้อมีมอเตอร์และเกียร์ของตัวเอง
มอเตอร์ของสองล้อหน้าให้กำลังรวมกัน 671 แรงม้า ส่วนมอเตอร์สองตัวหลังให้กำลังถึง 804 แรงม้า ซึ่งจริงๆ แล้วรวมกันเป็น 1,475 แต่ตามสเปกบอกว่าได้กำลังราว 1,088 แรงม้า เนื่องจากหลายปัจจัย และได้แรงบิดสูงถึง 1,180 ปอนด์ฟุต (ราว 1,600 นิวตันเมตร)
Concept One ทำความเร็ว 0-100, 0-200 และ 0-300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ที่ 2.6, 6.2 และ 14.2 วินาที ตามลำดับ โดยความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 355 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (Tesla Model S P90D เปิดโหมด Ludicrous ทำเวลา 0-100 ได้ 2.8 วินาที)
ตัวถังของรถรุ่นนี้ทำด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ และแชสซีทำด้วยอลูมิเนียมและคาร์บอนไฟเบอร์ น้ำหนักรวม 1,850 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าหนักทีเดียวสำหรับรถสปอร์ต แต่ก็ยังเบากว่า Bugatti Chiron ที่เพิ่งเปิดตัวพร้อมๆ กัน
รถคันนี้ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ Lithium-Ion มีเซลล์พลังงานภายใน 8,450 เซลล์ ระบายความร้อนด้วยของเหลว แบตเตอรี่มีลักษณะเป็นรูปตัว T ยาวมาตั้งแต่เพลากลาง (ซึ่งจริงๆ ก็ไม่มีเพลา) ไปจนถึงด้านหลังของเบาะนั่ง ความต่างศักย์อยู่ที่ 650 โวลต์ และความจุ 82 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่ง Rimac บอกว่าวิ่งได้ไกล 330 กิโลเมตร โดยคู่แข่งอย่าง Tesla Model S มีแบตเตอรี่ให้เลือกสองความจุคือ 70 และ 90 กิโลวัตต์ชั่วโมง วิ่งได้ไกล 386 และ 463 กิโลเมตร ตามลำดับ
ด้วยกำลังของรถที่มากมายมหาศาล ประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ก็ต้องดีมากตามไปด้วย โดยแบตเตอรี่สามารถให้กำลังได้ถึง 1 เมกะวัตต์ และชาร์จกลับระหว่างเบรกได้ถึง 400 กิโลวัตต์
Concept S
รุ่นนี้เป็นรุ่นฮาร์ดคอร์ของ Concept One โดยเพิ่งเปิดตัวและยังไม่วางขายจริง มันมีกำลัง 1,365 แรงม้า และแรงบิดสูง 1,328 ปอนด์ฟุต (ราว 1,800 นิวตันเมตร) น้ำหนักเบาลง 54 กิโลกรัมเป็นผลจากการนำวัสดุซับเสียงออกไป และใช้คาร์บอนไฟเบอร์มากขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้ได้รถยนต์ที่ทำความเร็ว 0-100, 0-200 และ 0-300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ที่ 2.5, 5.6 และ 13.1 วินาที ตามลำดับ โดยความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 365 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
Comments
8 คัน แล้วจะมีอะไหล่สต๊อคเวลาเสียหรือเปล่า =_=
งงว่ามอเตอร์มีทอร์กสูงอยู่แล้ว ทำไมต้องมีเกียร์อีก
ไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกันครับ เสริมให้ว่าล้อหน้าเกียร์ 1 สปีด ล้อหลังเกียร์ 2 สปีดคลัทช์คู่
Pitawat's Blog :: บล็อกผมเองครับ
ผมว่าไม่แปลกนะ น้ำหนักเยอะขนาดนั้นไม่มีเกียร์เลยนี่สิแปลก
เมื่อวิ่งยาวๆ ใช้เกียร์สูงๆ มอเตอร์หมุนไม่กี่รอบ แต่ล้อหมุนหลายรอบ อาจช่วยประหยัดด้านพลังงาน
เหมือนจักรยาน ยัดเกียร์สูง ฟืดนิดหน่อย แต่ถ้าความเร็วคงที่แล้วก็สบาย
Torque สูงแต่รอบมีจำกัดครับ ยังไงก็ต้องมีเกียร์
ก็เพราะมีเกียร์นั่นล่ะครับ ถึงทำให้รอบจำกัด
เดี๋ยวนะครับ มีเกียร์ทำให้รอบมีจำกัด ?
เข้าใจว่าหน้าที่ของเกียร์ทำอะไรครับ ?
รอบมันจำกัดเพราะสเปกของมอเตอร์(หรือเครื่องยนต์)นะครับ ไม่ได้มาจากเกียร์
เกียร์ทำหน้าที่เสมือนเพิ่มรอบให้มอเตอร์ เพราะจากที่มอเตอร์หมุนหนึ่งรอบ ล้อหมุนหนึ่งรอบ กลายเป็นมอเตอร์หมุนไม่ถึงรอบ ล้อหมุนหนึ่งรอบ (Max speed ก็เพิ่ม)
หรือกรณีมอเตอร์หมุนสามรอบ ล้อหมุนหนึ่งรอบ เพื่อเพิ่มกำลังเวลาขนของหรือขึ้นเขา
"รอบมันจำกัดเพราะสเปกของมอเตอร์(หรือเครื่องยนต์)นะครับ ไม่ได้มาจากเกียร์"
ใช่ครับ แต่ในเมื่อโจทย์เขาถามว่าในเมื่อเครื่องมีแรงบิดมหาศาลแล้วทำไมจึงยังต้องมีเกียร์? เพราะค็อนเซ็ปเดิมของเกียร์คือการเข้ามาช่วยเครื่องเพื่อถ่ายกำลังจากเครื่องลงสู่เพลา เปรียบเทียบให้เห็นภาพ เหมือนให้คนทั่วไป ไปปั่นจักรยานฟิกซ์เกียร์ แต่ตั้งเกียร์ไว้ที่เกียร์สูงเพียงอย่างเดียว มันก็ออกตัวไม่ไหว ไอ่ครั้นจะตั้งเฟืองไว้เพื่อการออกตัวอย่างเดียวมันก็ใช้ความเร็วสูงไม่ได้อีก จึงต้องมีการเซ็ทเฟืองหลากหลายอัตราทดประกอบเข้าด้วยกันกลายเป็นเกียร์ แต่กรณีนี้แรงบิดมันมากกว่ารถทั่วๆไปถึงขนาดต้องเรียกว่า "จอมพลัง" แรงบิดขนาดนี้ปกติต้องมีแต่ระดับรถบรรทุกนะครับ ดังนั้นการจะให้จอมพลังไปปั่นฟิกส์เกียร์ที่เซ็ท 5 อย่างเดียวก็ย่อมไม่น่าจะมีปัญหาถ้าจะต้องออกตัวด้วยเฟืองหนักๆ แล้วไล่ยาวไปยันความเร็วปลายในทางทฤษฎีผมว่าเป็นผลดีด้วยซ้ำ เนื่องจากเมื่อไม่มีชุดเกียร์ก็ลดนำ้หนักรถลงได้ ไหนจะไม่ต้องห่วงเรื่องการสึกหรอของชุดเกียร์ในระยะยาวอีก แต่ในเมื่อรถคันนี้ใส่เกียร์เข้ามาผมจึงมองว่าเกียร์(ต่ำ)นั่นแหล่ะที่ไปจำกัดการหมุนของล้อ
อย่างไรก็ตามในแง่ของการเพิ่มรอบ ไม่เพิ่มรอบ
ผมไม่รู้ว่าในตำราเขาเขียนไว้อย่างไร แต่ผมว่า เกียร์ทำหน้าที่ "ชดเชยรอบ" มากกว่า " เพิ่มรอบ" เพียงอย่างเดียวนะครับ เพราะในบางเกียร์ จำนวนการหมุนของล้อมากกว่าจำนวนการหมุนของเครื่องก็มีเช่น เกียร์ Over Drive เกียร์จึงทำหน้าที่ปรับรอบการหมุนของล้อให้สัมพันธ์กับการใช้งานในแต่ละสถานการ์ณจริง
ผมพูดว่าเสมือนเพื่อให้ฟังเข้าใจง่ายๆไงครับ และก็อย่างที่คุณบอกว่าถ้ามันกำลังเยอะแล้วทำไมต้องใช้เกียร์ งั้นผมถามว่า แล้วการมีเกียร์มันไม่ดียังไง ?
มีกำลังเยอะคือคุณต้องใช้กำลังของมันเยอะตลอดเวลางั้นเหรอครับ ?
Ferrari ก็มีกำลังเยอะ ทำไมมีตั้ง 8 เกียร์ ?F1 ก็กำลังเยอะ ทำไมถึงมีตั้ง 12-16 เกียร์ ?
รถสิบล้อก็กำลังเยอะ ทำไมมีตั้ง 12 เกียร์ (H6/L6) ?
คำตอบคือมันไม่จำเป็นที่จะต้องทำให้ Engine(หรือ Motor) Load มันสูงตลอดเวลา เพราะมันกระทบหลายๆอย่างเช่นอัตราสิ้นเปลือง(ทั้งน้ำมันและไฟฟ้า) ในเมือเราสามารถลด Load ให้มันได้ด้วยการใช้เกียร์ มีเหตุผลอะไรที่เราถึงควรจะไม่ใช้มันละครับ ?
เหมือนที่คุณบอกเรื่อง Fixed Gear ไงครับ คนแรงเยอะไปปั่นรถเกียร์หนักๆ ตอนออกตัว ยังไงมันก็ต้องใช้แรงเยอะครับ คนแรงเยอะขี่ได้ก็จริง แต่ถ้าใช้เกียร์มันจะง่ายกว่าไหมละครับ ? ออกตัวก็ง่ายกว่า Top Speed ก็สูงกว่า แล้วมันไม่ดียังไงละครับ ?
รถสมัยนี้ก็กำลังมากกว่าเมื่อสิบการปีที่แล้วเยอะ แต่ทำไมจำนวนเกียร์ของรถ ไม่เห็นมันจะลดลงเลย เมื่อก่อนเกียร์ AT มี 3 เกียร์ เดี๋ยวนี้ 6-8 เกียร์กันแล้ว ผมเลยสงสัยแนวคิดของคุณน่ะครับ ว่าทำไมถึงสนใจการไม่ใช้เกียร์ อันนี้ขอถามแนวคิดไว้หน่อย สงสัยจริงๆครับ ?
ขอตอบเป็นข้อๆนะครับ
ในแง่ของแนวคิดผมตอบไปแล้วในด้านบนว่าการมีชุดเกียร์ มีความจุกจิกในการบำรุงรักษามากกว่าไม่มีครับ ระหว่างแท่งเพลายาวๆ 1 อัน กับ ชุดอุปกรณ์ฟันเฟืองขบซ้อนที่ต้องมีการเลื่อนไปเลื่อนมาระหว่างกันตลอดเวลา ก็นึกดูว่าอันไหนมันน่าจะ Low maintenance มากกว่ากันครับผม
นอกจากนี้ระบบส่งกำลังเนี่ย ยังมีผลต่อการสูญเสียกำลังด้วยครับ ในม้า 100 ตัว กว่าจะไปถึงล้อ อาจจะเหลือ แค่ 95 ตัว อีก 5 ตัวก็หายไปในเกียร์นี่ล่ะครับ
แล้วก็มีเรื่องของน้ำหนักของตัวเกียร์เองก็สร้างภาระให้เครื่องเพิ่มได้เหมือนกัน
ย้ำอีกทีว่าเรากำลังคุยกันบนพื้นฐานของรถที่ว่า "Torque เยอะเหลือกินเหลือใช้" นะครับ ไม่ใช่รถที่ต้องไปเคี่ยวเข็นเอาพลังมันออกมา และรถไฟฟ้าเนี่ย Torque น่าจะขึ้น Peak ตั้งแต่รอบต่ำและเป็นแบบ Flat Toque ด้วย ฉะนั้น กำลังที่ว่ามันมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้วไม่ว่าคุณจะ"ใช้" รึ จะ"ไม่ใช้"มันก็มาเต็มอยู่แล้วครับ ก็ต้องถามกลับว่าในเมื่อมันมาแล้ว จะใช้มันรึจะปล่อยทิ้งไปเฉยๆครับ ?
ที่ว่าทั้งหมดนี่เป็นรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในทั้งนั้นเลยครับ เฟอร์รารี่รุ่นที่เคลมว่าเร็วที่สุดในโรงงานเขาใช้เครื่อง 6พันกว่า ซีซี ขูดเลือดขูดเนื้อออกมาได้ม้า 700 กว่าตัว และ แรงบิดน้อยกว่าแรงม้าด้วยซ้ำ ถ้าจะเอาให้ได้พละกำลังอย่างรถไฟฟ้าอย่างในข่าวนี่เขาไม่ต้องสร้างเครื่องเป็นหมื่น CC กันเลยเหรอครับ? แล้วถึงทำออกมาได้ก็คงมีแต่โอเปคเท่านั้นล่ะครับที่จะบ้าซื้อใช้ ถ้าแรงบิดต่อน้ำหนักตัวยังหารออกมาได้ไม่มากพอการมีอยู่ของเกียร์ก็ยังถือว่าจำเป็นครับ
ส่วนรถบรรทุก แม้ว่ารถบรรทุกจะมีแรงบิดเยอะ แต่กำลังทั้งหมดต้องนำไปใช้ขนของที่มีน้ำหนักมากเช่นเดียวกัน ดังนั้นถ้ามี Load พอหารเป็นแรงบิดต่อน้ำหนักออกมาแล้วมันกลายเป็นไม่เยอะครับ และรถบรรทุกก็ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะทำมาเพื่อวิ่งแข่ง เรื่องนี้ให้อธิบายคงยาว เอาเป็นว่ามันเอามาเทียบในกรณีนี้ไม่ได้ละกันครับ
คำถามนี้คุณกำลังนึกถึงคนแรงน้อยครับ ไม่ใช่คนแรงเยอะ จริงๆขอให้นึกถึงพวกปั่น Velodome ละกันครับ
ครึ่งแรกขอให้ไปอ่านข้อ 3 ละกันครับ
ส่วนแนวคิดว่าทำไมสนใจการไม่ใช้เกียร์? ผมไม่ได้สนใจการไม่ใช้เกียร์ครับ แค่คิดว่าในเมื่อวันนึงเทคโนโลยีพัฒนาไปมากพอ มันก็น่าจะปฏิวัติอะไรได้เหมือนกัน ผมคิดว่าท่านบนที่ตั้งคำถามนี่ ก็น่าจะอิงจากสมมติฐานเดียวกันนี่ล่ะครับ ที่ผ่านมาเราไม่มีเครื่องยนต์ที่มีกำลังมากพอจะทำอะไรแบบที่ว่ามานี่ครับ เหมือนกับรถไฟฟ้านั่นล่ะ ทำไมเพิ่งมาฮือฮา ก็เมื่อก่อนมันไม่มีแบตเตอรรี่ที่เก็บไฟได้มากๆแบบนี้นี่ครับ
Remark : ผมอ่านคอมเม้นท์ด้านล่างเห็นว่ามีเกียร์ 2 เกียร์ที่ล้อหลัง และ 1 เกียร์ที่ล้อหน้า ถ้าว่าตามนี้ค็อนเซ็ปมันก็จะคล้ายๆที่ผมพยายามจะนำเสนอนะ ก็คือเกียร์เดียว ซอยครึ่ง อาจเป็นไปได้ว่ารถคันนี้น้ำหนักตัว 1800 กว่าโล ก็อาจจะไม่เบาพอที่เครื่องจะใช้เกียร์เดียวลากตั้งแต่ 0 - Top Speed ล่ะมั้ง
เรื่อง MA ของเกียร์ ผมเห็นด้วยที่ว่ามันลดการ MA ลง แต่ปัจจุบันเราก็มาไกลมากเรื่องนี้แล้วครับ เกียร์ AT ดีๆใช้กันได้เป็นแสนๆโล ผมว่าเกินพอสำหรับเรื่องการ MAเอาจริงๆเกียร์ที่มันเสียๆกันนี่ 99% มาจากระบบไฟฟ้าทั้งนั้น ทั้ง Solenoid เอย ECU เอย ตัว Mechanic ของมันแทบจะไม่มีปัญหา
เรื่องกำลัง ลองนึกภาพนะครับ มอเตอร์หมุนที่ 100rpm แบบไม่มีโหลด กับเราทำอะไรซักอย่างไปฝืนมันไว้ ใช้ "กระแส" ไฟฟ้าเท่ากันหรือไม่ ?เทียบกับรถก็เหมือนออกตัวบนทางราบ กับออกตัวบนขึ้นเขาชันๆ มันใช้กระแสไม่เท่ากันแน่นอนครับ การที่คุณใช้ Load Motor เยอะขึ้น แปลว่าระยะทางวิ่งก็น้อยลงเช่นกัน ผมถึงได้เสนอว่า การมีเกียร์มันดีกว่า รถไฟฟ้าไม่ต้องมีเกียร์เยอะหรอกครับ ถ้ารอบ Motor ระดับ 10000rpm+ ผมว่าใช้ 2 เกียร์ก็เกินพอ แต่ก็ยังคิดว่าสมควรจะมีเกียร์อยู่
ที่ท่านบอกเรื่องจักรยานใน Velodrome ลองหาคลิปดูนะครับว่าตอนออกตัว "โยก" กันขนาดไหน ? ถามว่าทำไมรถที่ขี่ใน Velodrome ถึงไม่มีเกียร์ ตอบว่าเพราะเค้าออกตัวกันแค่ครั้งเดียวครับ แล้วก็ลากยาวๆจนจบ การใส่เกียร์เข้ามา มันเลยไม่จำเป็น แต่รถไฟฟ้านี่ เราวิ่งกันบนถนน มีเบรก มีหยุด มีขึ้นเขา มีลงเขา ผมคิดว่ายังไงระบบเกียร์ก็ยังจำเป็นครับ
เรื่องมอเตอร์พวกแรงบิดพวกกระแสอะไรนี่ผมไม่ไหวนะครับ (จริงๆ คือควรจะรู้นะครับ เรียนละเอียดมาก วัดมาเกือบทุกอย่าง ได้จับของจริงยันพันเองสมัยปวช. แต่ก็นั่นแล orz)
แต่มีเกียร์นี่ผมนึกได้ในอีกกรณีนึงคือเวลาเบรคแบบปั่นไฟกลับครับ น่าจะช่วยได้มากอยู่
ถึงแม้เรื่อง Maintenance จะดีขึ้นมาก แต่มันก็ยังทำให้รถยนต์ซับซ้อนอยู่ดีครับ สู้ตัดออกไปเลย ทำให้รถ plain ที่สุด ดูแลรักษาง่าย (เมื่อไหร่ที่มีของเหลวเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อนั้นมีการรั่วครับ) แถมเบาอีกต่างหาก น่าจะดีกว่านะครับ
ลองหารูปรถ Tesla Model S แบบโชว์แชสซีอย่างเดียวดูครับ นึกว่ารถทามิย่า มีแค่พื้น แบต มอเตอร์ ล้อ และระบบ suspension
Pitawat's Blog :: บล็อกผมเองครับ
ลองตามไปอ่านดูแล้ว ชุดหน้ามีแค่ 1 speed เหมือนเป็นแค่เฟืองทดรอบ+ส่งกำลังเฉยๆ ชุดหลังถึงจะมี 2 speed เป็นเกียร์ double-clutch จริง
ที่ต้องมีเกียร์มั่งน่าจะเพราะมีแรงบิดระดับเดียวมันขับไม่สนุกมั้งครับ ที่ความเร็วต่ำอาจจะมีแรงบิดน้อยไป เหมือนอย่างที่เคยขับรถไฟฟ้าในเกม GT ที่ไม่มีเกียร์แล้วอัตราเร่งคงที่นี่มันขับไม่สนุกเอาซะเลย
Torque สูงก้อจริงครับ แต่ peak power อาจจะไม่อยู่ที่ speed/torque ที่ต้องการที่ต้องมีเกียร์ เดาว่ามอเตอร์มัน undersized ครับ เพราะใช้หลายตัว power range มันน้อย เลยต้องใช้เกียร์ช่วยให้สามารถทำงานได้ทั้งครบทั้งย่าน
เชื่อว่า Peak Power ของ Motor อยู่ที่ Max rpm ครับ เพราะ Torque มัน Flat ตั้งแต่เริ่มหมุนเลย
ไม่เหมือน Internal combustion engine ที่ max torque กับ max power อยู่คนละช่วงกันครับ
น่าจะเป็นเรื่อง top speed เปล่าครับ อย่าง Tesla ไม่มีเกียร์ อัตราเร่งสูงมาก แต่ top speed ไม่สูง
อคติทำให้คนรับเหตุผลด้านเดียว
ไฟฟ้ามาแรงจริงๆ โผล่มาไม่กี่รุ่นก็ฉีกรถน้ำมันทิ้งหมด อีกห้าปีจะมีสักสองร้อยม้าราคาจับต้องได้ขายทั่วไปไหมนะ
ในรูปเป็น 620 volt ในข่าวเขียน 650 volt ครับ?
อืม เพิ่งเห็นเหมือนกัน แต่ตามสเปกบอกว่า 650 โวลต์นะครับ เอาเป็นว่าผมไปใช้รูปจาก Rimac แบบที่ไม่มีรายละเอียดละกัน
Pitawat's Blog :: บล็อกผมเองครับ
อลูมิเนียม => อะลูมิเนียม
พูดมาเลยได้ไหมว่าราคาเท่าไร
ต้นข่าวไม่มีราคามาด้วย แต่ด้วยจำนวนที่ทำออกมาขายน้อยเกรงว่ามีเงินอย่างเดียวจะซื้อไม่ได้
ประเด็นเมื่อไรจะขายสักทีเอาแบบถูกๆไม่เกิน 1 ล้าน 330 KM ใน 1 วัน เหลือเผืออยู่แล้วผมไปกลับวันๆ ไม่ถึง 100 KM ต่อให้รถติด ก็ไม่น่าจะหมดกลางทาง ถ้า charge สัก 15 นาที วิ่งได้สัก 250 - 300 KM โอเค เลย
Tesla Supercharger ใช้หัวชาร์จ 120 KW ยังใช้เวลาชาร์จจาก 0-100% ตั้ง 75 นาทีเลยนะครับ
ถ้าจะติดที่ชาร์จที่บ้านให้ 15 นาทีชาร์จได้สัก 70-80% นี่ต้องขอมิเตอร์กี่แอมป์เนี่ย....
แรงขนาดนี้ แต่วิ่งได้ระยะทางไม่เยอะ จะวิ่งในเมืองก็ไม่รู้จะไปแรงได้ที่ไหน จะวิ่งระหว่างเมืองก็วิ่งได้ระยะทางไม่พอ
ลดความแรงลงมาครึ่งนึง แล้วทำให้วิ่งได้เท่ารถยนต์ปกติ ประมาณ 600-700km จะดีกว่า
พูดถึงความแรง ลดไปก็ไม่ช่วยอะไรครับ เพราะมันอยู่ที่พลังแบตอยู่แล้ว ต่างจากเครื่องยนต์ที่ความจุเยอะก็กินน้ำมันมาก ตอนนี้ปัญหาหลักๆคือน้ำหนักรถและความจุ/น้ำหนักแบต ถ้าแบตกราฟีนออกมาเป็นรูปธรรมได้ ก็ไม่ไกลเกินฝันครับ
หรือจะเอารถพลังแสงอาทิตย์วิ่งแค่ 20km/h ดีล่ะครับ?
ประเทศโครเอเชียเขามีเทคโนโลยีระดับนี้แล้วเหรอครับ
เห็นเงียบๆ แบบนี้ เจริญพอกับประเทศใหญ่ๆ ในยูโรปเลยนะครับ
Get ready to work from now on.
เทคโนโลยี มอเตอร์ แบตเตอรี่ ผมว่ามันก้าวมาไกลนานแล้วครับ ผมว่ามันง่ายกว่าเครื่องสันดาบเยอะเลยนะ
จริงๆ แล้ว รถยนต์ไฟฟ้ามีมาพร้อมกับเครื่องสันดาปนั่นแหล่ะครับ เพียงแต่มันไม่ได้รับความนิยม จึงไม่ได้มีการผลิตปริมาณมาก ถ้าว่าเรื่องเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าล้วนซับซ้อนน้อยกว่าเครื่องสันดาปเยอะ
เรื่องเกียร์ผมว่าอย่าคิดมากเลยครับ วิศวะกรเขาเก่งกว่าเราเยอะ กว่ารถจะออกมาเป็นคันได้ คิดแล้วคิดอีด ทดลองแล้วทดลองอีก อย่างแรก ลดโหลดมอเตอร์ ทำความเร็วได้เยอะขึ้น เด็กยังคิดออกเลย...เรื่องนี้