Lumia 950 XL ถือเป็นมือถือระดับเรือธงตัวล่าสุดของไมโครซอฟท์ (ที่ห่างหายการออกมือถือเรือธงสเปกสูงกันมานาน นับย้อนไปถึง Lumia 930) มันแบกรับภารกิจอันหนักหน่วงในการประคอง Windows 10 Mobile ให้อยู่รอดไปได้ตลอดปี 2016 นี้ (ตามยุทธศาสตร์ ถอยเพื่อโต ที่ประกาศเอาไว้)
กลุ่มเป้าหมายหลักของ Lumia 950 XL คือบรรดาแฟนคลับของ Windows Phone ที่ยังเหนียวแน่นอยู่กับระบบปฏิบัติการค่ายนี้ ในรีวิว Lumia 950 XL รอบนี้ เราจึงมาดูกันว่าไมโครซอฟท์ทำได้ดีแค่ไหน และฟีเจอร์ที่เป็นความหวังอย่าง Continuum มีอนาคตเพียงใด
หมายเหตุ: ผม รีวิวระบบปฏิบัติการ Windows 10 Mobile ไปแล้ว ในรีวิว Lumia 950 XL จะกล่าวถึงฮาร์ดแวร์ กล้อง และฟีเจอร์ Continuum ครับ
ฮาร์ดแวร์
Lumia 950 XL เป็นมือถือจอใหญ่ 5.7" ความละเอียด 1440x2560, หน่วยประมวลผล Snapdragon 810, แรม 3GB ในแง่สเปกพื้นฐานถือว่าใกล้เคียงกับ Nexus 6P มาก
ถ้าเอาตัวเลขสเปกอย่างเดียว อาจถือว่าตกรุ่นไป 1 รอบเมื่อเทียบกับมือถือรุ่นต้นปี 2016 ที่ใช้ Snapdragon 820 กันแล้ว แต่โดยรวมก็ยังถือว่าสเปกสูงเยี่ยม แค่ไม่เป็นที่สุดเท่านั้น
มือถือตระกูล Lumia สร้างชื่อจากเอกลักษณ์การออกแบบที่ไม่เหมือนใคร ใช้พลาสติกโพลีคาร์บอเนตสีสันสดใส แต่กรณีของ Lumia 950 XL กลับดูไม่ค่อยโดดเด่นเท่ารุ่นพี่ๆ โดยรูปลักษณ์ภายนอกเป็นแท่งสี่เหลี่ยมแบนๆ มุมโค้งนิดหน่อย ไม่มีอะไรพิเศษ (มีแค่สองสีคือขาวกับดำ รุ่นที่ทดสอบเป็นสีดำ)
ด้านหน้าเครื่องไม่มีปุ่มใดๆ เลยเพราะใช้ปุ่มแบบ capacitive ทั้งหมด (นั่นคือด้านหน้ามีแค่โลโก้ Microsoft เท่านั้น) ส่วนด้านหลังก็เรียบๆ มีเลนส์กล้องวงกลมตรงกลาง นูนขึ้นมาจากฝาหลังเล็กน้อย
Lumia 950 XL ยังเป็นมือถือที่ถอดฝาหลังและเปลี่ยนแบตได้เอง (กลับทิศกับ Lumia ยุคแรกๆ บางตัวที่ทำไม่ได้) และรองรับสองซิมในตัวครับ แอพโทรศัพท์กับข้อความจะแยกเป็น 2 อันให้เลย
หน่วยความจำภายในให้มา 32GB สามารถใส่ microSD เพิ่มเองได้ โดยเป็นช่องเดียวกับซิมอันที่สอง ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง
Lumia 950 XL ถือเป็นมือถือที่มีขนาดใหญ่ พอตัวเครื่องค่อนข้างแบนเลยรู้สึกว่ามันใหญ่เข้าไปอีก จากภาพเทียบขนาดกับ Note 5 จะใหญ่กว่ากันเล็กน้อย
สรุปคือฮาร์ดแวร์ของ Lumia 950 XL ไม่มีอะไรโดดเด่น (แต่ก็ไม่มีอะไรด้อย) หน้าตาเรียบๆ ไม่เป็นเอกลักษณ์เท่าไรนัก อันนี้ถือว่าน่าผิดหวังเล็กน้อยสำหรับมือถือเกรดเรือธงที่ปัจจุบันแข่งกันเรื่องดีไซน์แบบสุดๆ
กล้อง
จุดเด่นประการหนึ่งของ Lumia 950 XL คือกล้องคุณภาพดี ความละเอียด 20MP พร้อมเลนส์ ZEISS แบบ 6 ชิ้น ที่มีกันสั่น OIS
กล้องของ Lumia 950 XL ยังมีไฟแฟลช 3 ดวงที่เรียกว่า Tri LED Natural Flash และรองรับการถ่ายวิดีโอแบบ 4K
ผมลองใช้กล้องถ่ายภาพ (ส่วนใหญ่เป็นตอนกลางวัน) พบว่าผลงานน่าประทับใจมาก แอพกล้องสามารถเลือกโหมดถ่ายได้ 3 แบบคือ JPEG คุณภาพสูง (16MP), JPEG คุณภาพปกติ (8MP) และ JPEG 8MP + DNG 16MP ได้ออกมาสองไฟล์พร้อมกัน
ภาพตัวอย่างถ่ายด้วยโหมด JPEG 16MP แบบ Auto ไม่ได้ปรับแต่งใดๆ ขนาดไฟล์ที่ได้ประมาณ 5-7MB ต่อภาพ ภาพขนาดเต็มดูได้จาก Flickr ตามลิงก์
อย่างไรก็ตาม ในยุคที่มือถือแข่งกันเรื่องกล้องอย่างหนักหน่วง ระดับความเจ๋งของกล้อง Lumia 950 XL จึงไม่ต่างอะไรจากกล้องตัวท็อปๆ ในตลาดมากนัก ต่างไปจากสมัย Lumia 1020 ที่เหนือกว่าคู่แข่งแบบก้าวกระโดด
Continuum นี่หรือคืออนาคตของพีซี?
ฟีเจอร์เด่นของ Lumia 950 XL ย่อมหนีไม่พ้น Continuum ที่เป็นความหวังของไมโครซอฟท์ แนวคิดของมันคือสร้างแอพแบบ Universal Windows Platform ที่รันได้ทั้งบนมือถือและพีซี และเมื่อนำมือถือมาแปลงกายเป็นพีซี ก็สามารถใช้แอพตัวเดิม รันแบบจอใหญ่ได้เลย
เราสามารถใช้งาน Continuum ได้ 2 วิธี คือ
- ต่ออุปกรณ์ไร้สายทั้งหมด ได้แก่เมาส์และคีย์บอร์ดผ่าน Bluetooth และจอภาพแบบ Wireless Display
- ต่ออุปกรณ์ผ่านสาย โดยใช้ Display Dock ช่วย
จอภาพแบบ Wireless Display ยังไม่แพร่หลายมากนัก ไมโครซอฟท์จึงให้ Display Dock มาให้ทดสอบด้วย
หน้าตาของ Dock ไม่มีอะไรพิเศษ ด้านหน้ามีพอร์ตเชื่อมต่อเพียง 1 พอร์ตคือ USB Type-C เอาไว้เชื่อมกับตัวมือถือ (เป็นสายชาร์จไปในตัว)
ด้านหลังมีทั้งหมด 6 พอร์ตคือ USB ขนาดปกติ 3 พอร์ต เอาไว้ต่อเมาส์ คีย์บอร์ด และอุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นๆ, USB Type-C ไปเข้าสายชาร์จ (ใช้สายชาร์จที่แถมมากับ Lumia 950 ได้) และพอร์ตต่อจอภาพ 2 พอร์ต เลือกได้ว่าจะเป็น HDMI หรือ DisplayPort
การใช้งานสามารถต่อเมาส์และคีย์บอร์ดผ่าน Bluetooth แทนต่อด้วย USB ก็ได้ครับ ดังนั้นขั้นต่ำเราแค่ต่อไฟกับต่อจอก็พอแล้ว
เมื่อเสียบสายที่จำเป็นครบแล้ว Continuum จะไม่ทำงานอัตโนมัติ เราต้องเรียกผ่านแอพ Continuum ที่จะแสดงหน้าจอสอนติดตั้งดังภาพ
ถ้าเราเสียบสายครบแล้วและเลือกต่อแบบ Wired Dock ภาพก็จะโผล่ขึ้นจอทันที ในการใช้งานครั้งแรก ไมโครซอฟท์จะเล่นวิดีโอโฆษณาความสามารถของ Continuum ให้ดูบนจอใหญ่ด้วย ก็ถือว่าปลุกเร้าอารมณ์ดีครับ ให้ความรู้สึกว่า เออ ฟีเจอร์นี้มันดูเจ๋งดี
ในกรณีที่เราไม่ได้ต่อเมาส์และคีย์บอร์ดเลย Continuum ก็ยังทำงานได้ครับ โดยหน้าจอของ Lumia จะกลายเป็นทัชแพดโดยอัตโนมัติ และถ้าเราคลิกที่ช่อง textbox ใดๆ ก็จะเปิดคีย์บอร์ดบนหน้าจอมาให้อัตโนมัติ (แต่ลองใช้งานจริงแล้วก็พบว่าต่อเมาส์-คีย์บอร์ดใช้คล่องกว่ามาก ฟีเจอร์พวกนี้เอาไว้ใช้แก้ขัด)
หน้าจอใหญ่ของโหมด Continuum จะคล้ายกับ Windows 10 บนพีซีมาก โดยมีปุ่ม Start และ Taskbar เหมือนกันทุกประการ
Start Menu จะเรียงไอคอนเหมือนกับ Start Screen บนมือถือทุกประการ แต่ถ้าแอพไหนไม่รองรับ Continuum ก็จะเป็นสีเข้มๆ ดังภาพครับ (จากภาพ แอพที่ไม่รองรับคือ Skype และ Twitter ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจาก Windows Phone 8 และยังไม่ทำเป็น Universal)
แอพที่รองรับ Continuum รันโหมดเต็มจอ ก็จะเหมือนบน Windows 10 เดสก์ท็อปแบบเป๊ะๆ เลยครับ จากภาพข้างล่างคือแอพ Weather
Outlook Calendar แบบเต็มจอ
จุดต่างของการรันแอพบน Continuum กับแอพบน Windows 10 ตัวเต็ม คือแอพจะรันได้เฉพาะโหมดเต็มจอเท่านั้น (รันเต็มจอหรือไม่ก็ย่อ minimize ไปเลย) ไม่สามารถย่อหน้าต่างให้เล็กลงแบบไม่เต็มจอได้ อันนี้จะคล้ายกับ Windows 8 มากกว่า
วิธีการสลับแอพสามารถกดเลือกได้ที่ Taskbar หรือจะกดปุ่ม Task View เพื่อดูหน้าต่างทั้งหมดก็ทำได้เช่นกัน
แถบแจ้งเตือน Notification จะอยู่ด้านข้างเหมือนกับ Windows 10 ตัวเต็ม (ไมโครซอฟท์คิดมาให้หมดแล้ว) โดยมุมขวาล่างของจอจะมีแค่ไอคอน Notification เพียงไอคอนเดียว ส่วนนาฬิกา และแบตเตอรี่ จะย้ายมาอยู่มุมขวาบนแทน
หน้าจอของ Continuum กับหน้าจอมือถือจะเป็นอิสระจากกัน เราสามารถรันแอพคนละตัวกัน แบ่งกันทำงานได้เลย (เพียงแต่ถ้าเราเปิดแอพบนจอมือถือ จะใช้จอเป็นทัชแพดไม่ได้)
ในกรณีที่ผมเปิดแอพสักตัวบนจอ Continuum แล้วเรียกแอพตัวเดียวกันบนจอมือถือ แอพตัวนั้นจะหายไปจากจอ Continuum แล้วโผล่บนจอมือถือแทน (ไม่สามารถเปิดแอพตัวเดียวกันพร้อมกันทั้งสองหน้าจอได้)
จากการลองใช้งาน พบว่าแอพที่มีประโยชน์มากเมื่อรันบนหน้าจอ Continuum คือเว็บเบราว์เซอร์ Edge และแอพกลุ่ม Office ที่ใช้ประโยชน์จากหน้าจอขนาดใหญ่ได้เต็มที่ ส่วนแอพที่มี UI ง่ายๆ และออกแบบมาให้ทำงานบนมือถือได้ดีอยู่แล้วอย่าง Maps และ Weather ยังไม่เห็นประโยชน์จากหน้าจอที่ใหญ่ขึ้นเท่าไรนัก
อย่างไรก็ตาม ผมพบว่า Continuum ยังไม่มี "killer app" ที่เป็นแอพสุดเจ๋งจนรู้สึกว่าเราควรซื้อ Display Dock มาใช้งานเพื่อการนี้ (คาดว่าเป้าหมายของไมโครซอฟท์คือแอพกลุ่ม Productivity ตามยุทธศาสตร์ของบริษัท) แอพฝั่ง Office ถือว่าใช้งานได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเทียบกับ Microsoft Office ตัวเต็มก็ยังถือว่าห่างไกลกันมาก (และคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่า Office Universal จะทำงานได้เท่ากับ Office Win32)
นอกจากนี้ ผมยังไม่เห็นความคุ้มค่าของการซื้อ Display Dock มาใช้งานเท่าไรนัก เพราะมันยังไม่สามารถทดแทนการใช้พีซีได้เต็มที่ (ถือเป็นก้าวแรกที่ดี แต่ยังอีกไกลกว่าจะสมบูรณ์) ดังนั้นใครที่ฝันว่าไม่ต้องพกคอมพิวเตอร์ พกมือถือตัวเดียว แล้วซื้อ Display Dock ทิ้งไว้ที่ทำงานก็พอ ก็คงต้องฝันกันต่อไป
สรุป: คอมพิวเตอร์ต้นแบบแห่งปี 2020
Lumia 950 XL เป็นมือถือสเปกดี กล้องดี แม้ดีไซน์อาจดูน่าเบื่อไปสักหน่อย แต่ในแง่ฮาร์ดแวร์โดยรวมก็ไม่มีอะไรต้องวิจารณ์เท่าไรนัก
สิ่งที่เป็นจุดอ่อนสำคัญคงเป็นซอฟต์แวร์ โดยระบบปฏิบัติการ Windows 10 Mobile ที่ยังทำไม่เสร็จสักที และปัญหาขาดแคลนแอพที่บรรดาแฟนๆ ก็ต้องอดทนกันต่อไป
ส่วน Continuum ผมอยากเรียกมันว่าเป็น "ต้นแบบ" (prototype) ของ "คอมพิวเตอร์" ยุคหน้า ที่เราไม่ต้องพกโน้ตบุ๊กติดตัวในหลายๆ สถานการณ์ และสามารถนำมือถือไปใช้ทำงานที่ค่อนข้างซับซ้อนได้ผ่านเมาส์ คีย์บอร์ด จอภาพ
Continuum ทำงานได้จริงแล้ววันนี้ แต่มันยังห่างไกลกับการทดแทนการพกโน้ตบุ๊กอีกมาก โดยเฉพาะแอพที่ต้องพัฒนากันอีกเยอะ ทั้งหมดนี้ก็ได้แต่หวังว่าวิสัยทัศน์ Universal Windows Platform ของไมโครซอฟท์จะจุดติด และดึงดูดให้นักพัฒนาแอพหันมาลองสร้างแอพแปลกๆ ใหม่ๆ ที่ดึงพลังของมันออกมาได้เต็มที่กว่านี้
โดยสรุปแล้ว Lumia 950 XL เป็นมือถือต้นแบบที่ดี แต่ถ้าไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้จริงๆ ก็ยังไม่แนะนำให้ซื้อครับ
Comments
ขอหนีไปซบแอนดรอยสักพักแล้วจะกลับมา รักนะ
ความฝันที่จะพกมือถือเครื่องเดียวเข้าร้านมาทำงาน แต่เอ๊ะ แล้วอีพวกลูกค้าที่กระหน่ำโทรมาแต่ละวันหละ
คงต้องหาจุดลงตัวกันต่อไป
ลูกค้าโทรมาก็รับสายได้ปกตินะครับ
ยังใช้โทรได้ตามปกติ ระหว่างใช้โหมด Continuum ครับ ไม่มีปัญหาอะไรเลย
Coder | Designer | Thinker | Blogger
อ่านแล้วรู้สึกว่า
- ถ้ามีจอภาพหรืออุปกรณ์อื่นที่รองรับ Miracast อยู่แล้วก็ใช้ Continuum ต่อขึ้นจอได้เลย แค่หา mouse + keyboard bt มาต่อก็พอ
- ถ้ามีสาย USB Type-C to HDMI เสียบกับจอภาพหรือ TV ก็น่าจะใช้งานได้ไม่ต่างกัน
เสริมตรงนี้นิดนึงครับ ตอนนี้ Windows 10 Mobile มีแอปจากไมโครซอฟท์ตัวนึงชื่อว่า Gadget (ถ้าจำไม่ผิด) ที่ตั้งค่าได้ว่าเวลาต่ออุปกรณ์เสริมชิ้นไหนแล้วจะให้เปิดแอปไหนขึ้นมาเอง น่าจะช่วยได้ครับ แบบตอนนี้ผมตั้งไว้ว่าถ้าเจอหูฟังบลูทูธให้เปิดแอปเพลง ถ้าเจอ Garmin Edge 810 ก็ให้เปิด Garmin Mobile Connect เองเลยอะไรพวกนี้ กรณี Continuum นี่คงน้อยคนที่เสียบแล้วไม่คิดจะเปิดโหมดขึ้นมายกเว้นคนที่ตั้งใจเสียบชาร์จอย่างเดียว (ซึ่งก็ ไม่น่า?)
ภาพจากกล้องสวยมาก ... รายละเอียดมาเต็ม
ปัญหาเดิมๆ ที่ Microsoft แก้ยังไงก็ไม่เคยจบ ไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คากหวังไว้ แถมปัญหาในตอนนี้ยังแย่ยิ่งกว่าเก่า
OS ที่สามที่ไม่มีใครเหลียวแล แม้แต่คนธรรมดายังเมินทั้งที่มีข้อดีหลายอย่าง แต่ดันมีข้อเสียมากพอกัน.....
Get ready to work from now on.
อยากให้ลองเช็คเรื่อง 2 SIM หน่อยว่ามัน standby ในโหมดไหนได้บ้างครับ เพราะที่เคยเห็นแว้บๆ เห็นว่ามันเป็น 3G ทั้งคู่พร้อมกันเลยครับ
ผมว่ารูปมันออกอมเหลืองนิด ๆ นะ
That is the way things are.
ผมมองว่า ซื้อ Wireless Display Adapter คุ้มกว่าที่จะซื้อ Display Dockแม้ประสิทธิภาพจะต่างกันอย่างเห็นได้ชัด (เน้นสะดวกต่อโปรเจคเตอร์มากกว่ามอนิเตอร์)
ต้องยอมรับว่า สิ่งเดียวที่ทำให้มือถือเครื่องนี้เหนือกว่าเครื่องอื่น มีเพียง Continuum เท่านั้นซึ่งการใช้งานจริง มันเป็นอะไรที่ ดีงาม ทำให้ชีวิตสะดวกขึ้นได้อีกมาก
ปล.เป็นคหสต. คือชอบใช้มันมาก Surface นี่วางทิ้งไว้นานขึ้น 555+
ใช้ Edge เข้าเบราว์เซอร์ได้นี่ก็ถือว่าทำงานได้สำหรับบางคนเลยนะ ต่อกับ TV ก็ลืม Smart TV ไปเลย 55 อยากได้แต่รอรุ่นท้ายปีดีกว่า
ສະບາຍດີ :)
ถ้ากดเปิดแอปเดียวกันบนโทรศัพท์กับบน dock พร้อมกันจะเป็นยังไงครับ?
ต้องเลือกว่าจะใช้แอพนั้นในหน้าจอไหนครับ
ขอบคุณครับ เมื่อกลางวันอ่านละเอียดแล้วลืม เปิดมาอ่านคอมเมนต์อีกทีแล้วดันจำไม่ได้เลยถามไป orz
ถ้ายังไม่ได้ส่งคืน ฝากทดสอบหน่อยนะครับ
-DP กับ HDMI ใช้พร้อมกันเป็นแบบ ขยายได้ไหมครับ
-App เด่น ๆ ที่ใช้ใน Continuum ได้ มีอะไรบ้าง
-Visio ,Photoshop ,Visual Studio ?
-ใช้ RS-232 Convertor ได้หรือเปล่าครับ
-มีเกมอะไรที่แสดงศักย์ภาพ เช่น FPS ที่ใช้ มือถือ แสดงสถานะ ใช้เปลี่ยนอาวุธ อะไรทำนองนี้บ้างไหม
ผมมองว่า Windows 10 Mobile นี่เป็นร่าง Windows RT อวตารมานะครับ
คือ Windows RT หน้าตาเหมือน Windows สายหลักเป๊ะ ก็แหงล่ะ มันก็คือตัว Windows จริงๆ (ที่ไมโครซอฟต์เงียบหายไปพักนึง แอบซุ่มทำให้แกน Windows สายหลักรันได้ทั้งบน x86, ARM) แต่ความต่างคือพอมันมารันบน ARM ก็เลยทำให้มันรันแอพของ x86 ไม่ได้ ซึ่งไมโครซอฟต์ก็ให้มาใช้แพลตฟอร์ม WinRT แทน ที่มันออกแบบให้แอพสามารถรันได้ทั้งบน x86 และ ARM แต่ปัญหาก็คือไม่ค่อยมีใครสนใจทำแอพบน WinRT แถมแอพใหญ่ๆ ก็ยังอยู่บนแพลตฟอร์ม Win32/x86 ต่อไป (เช่นตระกูล Adobe CC) อีกทั้งเอามาใช้ข้ามบนมือถือ WP8 ไม่ได้ ต้องคอมไพล์ใหม่ (WP8 ใช้แกน Windows NT สายหลักก็จริง แต่ UI ยังใช้ของเฉพาะตัวอยู่ ไม่ได้ใช้ร่วมกับสายหลัก) แพลตฟอร์ม WinRT และ Windows RT ก็เลยเจ๊งสนิท
ตอนนี้ไมโครซอฟต์คิดใหม่ทำใหม่ ใน Windows 10 ผลักดันใหั tablet เป็น x86 ให้หมด ซึ่งทำให้มีแอพแบบ Win32/x86 ใช้จำนวนมาก ส่วนบน Windows 10 Mobile ก็ยกเครื่องใหม่หมด คือทำให้ Mobile version มันเป็นส่วนหนึ่งของ Windows สายหลักซะเลย จนมันก็คือ Windows 10 จริงๆ นั่นแหละ เพียงแต่ UI มันเป็นแบบ Responsive คือสามารถปรับ UI ตัวเองให้เข้ากับหนัาจอที่กำลังรันอยู่ได้หมด ดังนั้น Windows 10 ตอนนี้เอาไปจับยัดใส่หน้าจอได้ทุกแบบ ทั้ง desktop, tablet, mobile แถมได้ทั้ง x86, ARM ด้วย
แต่ประเด็นคือบนมือถือมันก็ยังเหมาะกับรันบน ARM อยู่ดี ก็ทำให้ W10M รันแอพ x86 ไม่ได้โดยปริยาย ซึ่งไมโครซอฟต์ก็ผลักดันแพลตฟอร์มใหม่คือ Universal Windows Platform ซึ่งเป็นร่างอวตารมาจาก WinRT อีกที ซึ่งรองรับทั้ง x86, ARM แต่คราวนี้ดีกว่าเดิม ยืดหยุ่นกว่าเดิม รองรับบนจอทุกประเภท (ไม่บังคับแอพเต็มจอแล้ว ใช้หลักการ Responsive แทน) แถมรันบนมือถือได้โดยตรงแล้วด้วย ไม่ต้องคอมไพล์ใหม่ แถมแอพตัวเดียวกันนี้เอามารันเป็น Desktop ได้อย่าง Continuum อีก ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ยืดหยุ่นได้สุดยอดมากๆ เป็นแพลตฟอร์มในฝันของหลายๆ คนเลย เพียงแต่ไม่รู้มาช้าไปรึเปล่าเพราะเทรนด์ตอนนี้เป็น mobile แถม iOS และ Android ก็ยึดหัวหาดไปหมดแลัว
เขียนซะยืดยาว สรุปสั้นๆ ว่า ตอนนี้โลกของ Windows ตัวปัจจุบันนี้มีสองแพลตฟอร์ม คือ Win32 ดั้งเดิม (ไฟล์นามสกุล .exe) ที่รันได้เฉพาะแพลตฟอร์ม x86 เท่านั้น และ UWP ที่รันได้ทั้ง x86, ARM แถมรองรับการใช้งานบนจอที่หลากหลายตามแนวทางแบบ Responsive design ทำให้ใช้บน desktop, tablet, mobile ได้หมด
แต่แอพอย่าง Visio, Photoshop CC, Visual Studio รวมถึงเกมใหญ่ๆ บน PC ก็ยังเป็นแอพแบบ Win32/x86 อยู่ครับ นักพัฒนาจะต้อง "เขียนใหม่หมดแบบ UWP" เพื่อให้มันรันทุกแพลตฟอร์มได้ ก็ถือว่าเป็นงานช้างล่ะครับโดยเฉพาะแอพขนาดใหญ่ และต้องทำให้แพลตฟอร์ม UWP มันโตกว่านี้ด้วยถึงจะคุ้มค่าในการลงทุนเขียนใหม่ (คำถามคือ ไมโครซอฟต์จะผลักดันสำเร็จมั้ย?) ดังนั้นตราบใดที่แอพยังไม่พอร์ทไปเป็น UWP ก็ยากที่จะมีอะไรไปรันบน Windows 10 Mobile/Continuum ครับ ต่อให้หน้าจอจะเหมือนกัน และเป็น Windows สายหลักจริงๆ เหมือนกัน ดังนั้นแอพที่ว่ามาก็ยังไม่มีให้ใช้ครับ
ผมว่าในอนาคต Microsoft ควรจะทำ Surface phone ที่ใช้ x86 ซักที มันจะทำให้ความคาดหวังต่อ Continuum เป็นไปแนวทางที่คนส่วนใหญ่คาดหวังซักที (ส่วน Atom บนมือถือ จะรันแอพ x86 ของ desktop ไหวมั้ยคงเป็นอีกเรื่องนึง)
รู้สึกมันจะมีโปรเจค แปลง win32 เป็น windows store app นะ
แต่โปรแกรมใหญ่ๆ ซับซ้อนๆ คงใช้ไม่ได้ ms ต้องโชว์กับ office win32 ก่อนเลย
มันคือ Project Centennial ครับ พวก .NET นี่ไม่แน่ แต่ win32 ทั่วไปแปลงแล้วจะเอาไปรันบน arm ได้รึเปล่าไม่รู้นะครับ
อ่อ เฉพาะ .NET
UWP นี่คล้ายๆ WinRT แหละครับ(จริงๆมันก็เป็น extension ของ WinRT แหละ) มันไม่ได้ default ว่าทำแล้วจะสามารถใช้งานบน ARM ได้เลยครับ
เพียงแต่ตัวมันเองยืดหยุ่นขึ้น เปลี่ยนจาก OS/CPU-type specific ไปเป็น device types specific ซึ่งแต่ละ device ก็จะมีจำนวน APIs ที่รองรับไม่เท่ากัน โดยมี APIs ชุดหนึ่งที่จะมีเหมือนกันในทุกๆ device(core APIs)
ดังนั้นการพัฒนา UWP Apps โดยอิง device แบบ desktop อาจไม่สามารถนำไปใช้บน mobile และก็กลับกันครับ
Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)
Edit บ่ได้:
ยกตัวอย่างที่เห็นชัดๆเลยคือ Win32 and COM API ที่ UWP support ครับ จะเห็นว่า API เกือบทุกตัวนั้น target Desktop/Windows Store apps
แปลว่า apps แบบ Win32 ที่แปลงเป็น UWP และยังใช้ APIs ชุดเดิม ก็ยังไม่สามารถใช้บนมือถือได้อยู่ดีครับ
Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)
ขอบคุณมากสำหรับความรู้ครับ ^^
ถ้าแปลง DP => HDMI หรือพอร์ตอื่น ๆ เช่น VGA ล่ะครับ
ตัวแปลงมันแพงน่ะสิครับ
แต่ถ้าทีมงานต้องการ ผมมีให้ยืมนะครับ ^^
เวลาใช้ Continuum นี่เสียงออกที่ลำโพงมือถือเหรอครับ?
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
ผมเดาว่าเสียงออกทาง HDMI นะครับ
การใช้งานส่วนมากน่าจะเหมาะกับการต่อจอคอมที่ไม่มีลำโพงในตัวนะครับ ผมว่ามันควรจะมี port 3.5 มาให้ด้วยมากกว่า แบบนี้ต้องเอาสายลำโพงไปเสียบกับโทรศัพท์อีก
เรื่องนี้ก็แอบเอ๊ะอยู่เหมือนกันครับ 55
แต่จอ Monitor ที่รองรับ HDMI ส่วนมาก มักจะมีพอร์ต 3.5 มาให้ด้วยในตัวครับ ดังนั้นผมว่ายังง่ายหน่อยที่เราสามารถต่อลำโพงเข้ากับ Monitor ได้เลย
อ้าวเหรอครับ จอผมมันไม่มี orz
ของผมก็ไม่มีนะ แถมจอก็มาเนียนบอกว่ามี "ลำโพง" ทั้งๆ ที่ไม่มีทางที่จะเอาเสียงออกจากจอที่ว่าได้เลยครับ
อ้าว โอเคครับ แสดงว่า Monitor ไม่ได้มีพอร์ต 3.5 ทุกตัว ^^"
ตัวที่เคยผ่านๆ มือ รวมทั้งที่ใช้อยู่นี้ มี 3.5 พร้อมพอร์ต USB ครบเลยครับ เลยเข้าใจผิดมาตลอดว่าถ้ารุ่นใหม่รองรับ HDMI แล้วจะมีพวกนี้ติดมาด้วย แหะๆ
ผมเคยใช้จอที่มี HDMI มาให้
จอไม่มีลำโพง แต่มีช่องเสียบ 3.5 มาให้ต้านหลัง
ทุกวันนี้ก็ใช้ตัวแปลง HDMI=>>DVI แต่เสียงก็ยังออกที่ช่องทางเดิม
เพราะงั้น ถ้าจอมีตัวถอดรหัสเสียง น่าจะก็ฟังเสียงจากลำโพงจอได้
แต่ถ้าไม่มี ผมว่าก็น่าจะเอา Plug 3.5 เสียบกับตัวโทรศัพท์ไ้ด้อยู่นะครับ
แต่มันต้องเสียบสองสายสองรอบนี่สิครับ
สำหรับ user ที่เขียนโปรแกรมไม่เป็น ดูที่ app มากกว่า จะ os ถ้าไม่มีแอปที่ชอบให้ใช้ก็ไม่เอา
เน้นใช้ web apps เป็นหลักสินะงานนี้ -*-
เล่น Stardew Valley ได้มั้ยครับ ฮ่าๆๆ
ยังไม่ได้ครับ ยกเว้นเสียแต่ว่าจะทำพอร์ตมาเป็น UWP ครับ
Coder | Designer | Thinker | Blogger
อูยยยยย รีวิวเสร็จ Twitter ก็อัปเดตให้เลยครับ
http://www.windowscentral.com/latest-twitter-update-windows-10-looks-gorgeous
มันคือวุยก๊กแห่งปี 2020