สมัยเรียนใครเคยคิดว่าอาจารย์ตัดเกรดให้คะแนนแบบไม่แฟร์บ้าง? เวลาอาจารย์สั่งงานเราเคยเปรียบเทียบงานของเรากับเพื่อนคนอื่นไหม? แน่ใจไหมว่างานของเราทำดีแล้วยากจะหาจุดปรับปรุงเพิ่มเติมได้? Peergrade คือแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษาที่ทำให้เรื่องเหล่านี้คลี่คลายทำได้ง่ายขึ้น มันคือแพลตฟอร์มที่เปิดให้เหล่านักเรียนมีโอกาสได้ตัดสินให้คะแนนสำหรับงานของพวกเขาเองได้
Peergrade คือระบบที่ให้แต่ละ peer (ซึ่งก็คือนักเรียนแต่ละคน) ได้มีโอกาส grade (ให้คะแนน) สำหรับงานของเพื่อนนักเรียนคนอื่น การใช้งานแพลตฟอร์มนั้นก็ไม่ยุ่งยากมาก เริ่มจากอาจารย์ผู้สอนสั่งงานแก่ผู้เรียน พร้อมกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนสำหรับงานนั้นๆ ป้อนข้อมูลดังกล่าวสู่ระบบ Peergrade หลังจากนั้นนักเรียนต้องส่งงานที่ทำเสร็จแล้วอัพโหลดขึ้นสู่ระบบ ตัว Peergrade เองจะกระจายไฟล์งานเหล่านั้นให้เหล่านักเรียนคนอื่นๆ (ซึ่งต่างก็ได้รับโจทย์งานเดียวกันไปทำ) ที่เหลือก็เพียงรอให้นักเรียนแต่ละคนทำการตัดสินให้คะแนนผลงานที่ตนเองมีหน้าที่ตรวจ ท้ายทีสุด Peergrade จะสรุปคะแนนและความเห็นที่ได้จากการรวบรวมมาจากนักเรียนทั้งหมดเพื่อให้อาจารย์ผู้มอบหมายงานได้เห็นภาพรวมและนำข้อมูลไปใช้งานได้ต่อไป
ระบบของ Peergrade นั้นมีการใช้แบบจำลองทางสถิติด้วย เพื่อให้สามารถประเมินได้ว่าคะแนนที่แท้จริงของชิ้นงานต่างๆ นั้นควรอยู่ในช่วงไหน โดยมันจะตัดข้อมูลจากการตรวจด้วยอคติออกไปจากการคำนวณ นอกจากนี้ Peergrade ยังมีระบบประมวลผลภาษาธรรมชาติซึ่งจะช่วยคัดกรองการแสดงความเห็นจากการตรวจงานว่าเป็นการตั้งใจตรวจจริงๆ สิ่งเหล่านี้ถูกใส่เข้ามาใน Peergrade เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้ใช้งานทั้งฝ่ายอาจารย์และฝ่ายนักเรียนได้ว่าแพลตฟอร์มนี้จะไม่ปล่อยให้ใครมาซี้ซั้วป่วนระบบการให้คะแนนของชั้นเรียนได้ง่ายๆ
Peergrade เป็นผลงานการพัฒนาจากบริษัทในเดนมาร์กที่มีชื่อเดียวกัน ซึ่งมี David Kofoed Wind อดีตเจ้าหน้าที่ของ CERN เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นซีอีโอบริหารงาน เขาเล่าว่าในระหว่างที่เขากำลังศึกษาขั้นปริญญาเอกด้าน machine learning และการวิเคราะห์ข้อมูลที่ Technical University of Denmark เขาต้องทำหน้าที่สอนหนังสือในระหว่างเรียนด้วย ห้องเรียนของเขานั้นมีนักเรียน 130 คน และเป็นตอนนั้นนั่นเองที่เขาเกิดไอเดียสร้างแพลตฟอร์ม Peergrade ขึ้นมา
Kofoed Wind อธิบายว่าการที่งบประมาณด้านการศึกษามีแนวโน้มลดน้อยลงเรื่อย นั่นหมายถึงสถานการณ์ให้ห้องเรียนจริงที่ครูอาจารย์จะมีนักเรียนในห้องเพิ่มมากขึ้น ผลพวงที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้คือคุณภาพในการเอาใจใส่ผู้เรียนนั้นก็ลดน้อยลงส่วนหนึ่งก็เพราะต้องใช้เวลาในการตรวจงานตรวจการบ้านเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบางครั้งผลลัพธ์กลับกลายเป็นว่าผู้สอนเลือกที่จะลดจำนวนงานการสั่งงานนักเรียนลงไป ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก แต่ Peergrade ว่าจะช่วยลดปัญหาดังกล่าว เพราะมันช่วยลดภาระงานของอาจารย์ผู้สอน ทำให้ไม่ต้องหมดเวลาจำนวนมากไปกับการตรวจงานของนักเรียนทั้งหมด ในขณะเดียวกันสำหรับฝั่งผู้เรียนเอง นี่คือโอกาสที่พวกเขาจะได้เห็นงานของคนอื่นและสามารถเข้าใจเปรียบเทียบกับงานของตนเองเป็นโอกาสในการเรียนรู้เพื่อพัฒนางานของตนเองให้ดียิ่งขึ้นด้วย
ตอนนี้ Peergrade มีให้เลือกใช้งาน 3 ระดับ โดยแบ่งตามจำนวนผู้เรียนและขนาดของไฟล์งานที่รองรับได้ โดยในปัจจุบันก็มีสถาบันการศึกษาหลายแห่งในเดนมาร์กกำลังใช้งานอยู่จริง ได้แก่ Technical University of Denmark , University of Copenhagen , Aarhus University , University of Southern Denmark และ IT University of Copenhagen
ที่มา - TechCrunch
Comments
ให้คะแนนด้วยความยุติธรรม โดยการเอารายงานที่ทำส่งไปนั้น ชั่งกิโล
ยิ่งหน้าปกดูดี เนื้อหาเยอะๆ น่าอ่าน ยิ่งได้ เรียบๆปาทิ้ง ถูกปลูกฝั้งตอนม ปลาย
ชอบไอเดียแฮะ แต่คลาสใหญ่ระดับ 100+ นี่ตรวจกันตาเหลือกเลยนะครับ เกรงว่าพอตรวจไปเรื่อย ๆ แล้ว ซักอันที่ 30+ จะเริ่มขี้เกียจตรวจละ คะแนนก็จะเริ่มเป๋ ไม่มาตรฐานเดิมละ (ในมุมของผู้สอนถูกบังคับให้ตรวจอย่างมีมาตรฐานระดับหนึ่งอยู่แล้ว ไม่งั้นโดนนักเรียนบางคนโวย)
ผมว่าน่าจะเหมาะกับคลาสเล็ก ๆ ระดับไม่เกิน 30 คนมากกว่า
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
ออก Rubric score ก็พอมั้งครับ
ปริญญาณเอก => ปริญญาเอก
มันก็ค็อนเซ็ปเดียวกับการเรียนแบบตัด mean รึป่าว? ถ้าใช่ ผมว่ามันทำให้คนไม่ค่อยจะช่วยเหลือกันนะ