Ms.Watson คือใคร?
Ms.Watson หรือชื่อเต็มคือ Jill Watson คือหนึ่งใน 9 ผู้ช่วยอาจารย์แห่ง Georgia Institute of Technology เธอคอยให้คำแนะนำนักศึกษากว่า 300 คนในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับคอร์สเรียนออนไลน์ เธอช่วยตอบคำถามให้นักศึกษาทางอีเมล คอยแจ้งเตือนเมื่อถึงเวลาต้องส่งงาน แต่ในบรรดานักศึกษาที่ Ms.Watson ได้ให้การช่วยเหลือ กลับไม่มีใครเคยเห็นหน้าเธอเลย
ทุกอย่างดูเป็นเรื่องราวปกติจนกระทั่งความจริงมาแตกโพละว่า Ms.Watson ที่หนุ่มสาวนับร้อยคนใน Georgia Institute of Technology ได้เคยรู้จักผ่านการโต้ตอบทางอีเมลนั้น แท้จริงแล้วเธอคือ Watson ปัญญาประดิษฐ์ของ IBM นั่นเอง ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำเอาหลายคนเงิบกันไป
-
Shreyas Vidyarthi นักศึกษาคนหนึ่งบอกว่าเธอนึกภาพว่า Ms.Watson เป็นหญิงสาวคอเคซอยด์อายุประมาณ 20 กว่าๆ และน่าจะกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่เสียอีก
-
Jennifer Gavin นักศึกษาอีกคนพูดถึงประสบการณ์ที่ได้สนทนาโต้ตอบกับ Ms.Watson ว่า "มันดูเหมือนการสนทนาตามปกติของมนุษย์มาก"
-
Petr Bela เป็นนักศึกษาอีกรายที่คาดไม่ถึงว่าตัวตนที่แท้จริงของ Ms.Watson นั้นคืออะไร เธอบอกว่าเธอมารู้ความจริงนี้ก็ตอนที่เกือบจะโหวตให้ Ms.Watson เป็นผู้ช่วยอาจารย์ดีเด่นอยู่แล้ว
-
Eric Wilson นักศึกษาที่เคยขอความช่วยเหลือเรื่องการบ้านจาก Ms.Watson บอกว่าเขาไม่รู้สึกถึงลักษณะบุคลิกภาพเฉพาะตัวของ Ms.Watson ที่สะท้อนออกมาจากข้อความสนทนา แต่เขาคิดว่านั่นก็ดูเป็นเรื่องปกติสำหรับการเป็นผู้ช่วยอาจารย์อยู่แล้วที่ต้องมีความเคร่งขรึมสำรวมในระดับหนึ่งและพุ่งความสนใจในการสนทนาไปที่การหาทางแก้ปัญหาให้แก่นักศึกษาที่ต้องการความช่วยเหลือ (ไม่ใช่คุยสัพเพเหระไปเรื่อย)
-
Barric Reed (คนนี้เด็ดสุด) นักศึกษาผู้เคยทำงานให้กับ IBM อยู่ 2 ปี งานที่เขาทำให้ IBM คือการสร้างฮาร์ดแวร์ส่วนหนึ่งที่นำไปใช้เพื่อรัน Watson เขาควรจะเฉลียวใจกับชื่อของ Ms.Watson แต่ก็มิได้นำพา
Ms.Watson นั้นสามารถใช้ภาษาได้ชนิดที่ชวนให้คนที่ได้อ่านอีเมลไม่รู้สึกระแคะระคายเลยว่าเธอไม่ใช่คนจริงๆ การพิมพ์คำสแลง อย่าง "Yep!" หรือใช้ข้อความไม่เป็นทางการแต่เป็นลักษณะของภาษาพูดอย่าง "we’d love to" เพื่อออกตัวว่าเป็นการกล่าวในนามของทีมงานผู้ช่วยอาจารย์ เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่น้อยคนจะคาดถึงว่าหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์จะสามารถร้อยเรียงข้อความและประโยคในระดับนี้ได้
แล้วเบื้องหลังเรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร? เหตุใดอยู่ดีๆ ก็มีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาทำหน้าที่เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ช่วยอาจารย์คอยให้บริการนักศึกษาหลายร้อยชีวิตได้? คำตอบนั้นอยู่ที่ Ashok Goel ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์แห่ง Georgia Tech เขาเป็นผู้คัดเลือก Ms.Watson ให้มารับหน้าที่เป็นผู้ช่วยอาจารย์คอยให้บริการตอบคำถามเหล่าผู้เรียน
Goel มองว่าภาระความรับผิดชอบของผู้ช่วยอาจารย์ที่จะต้องเจอกับพายุคำถามจากนักศึกษาไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะคำถามซ้ำซากเรื่องเดียวกันที่ต้องคอยตอบและอธิบายเรื่องเดิมซ้ำๆ ลักษณะนี้เหมาะแก่การให้หุ่นยนต์ทำงานแทนเป็นที่สุด เขาตั้งเป้าว่า Ms.Watson จะสามารถตอบคำถามทั่วไปราว 40% ของคำถามทั้งหมดได้ (ซึ่งเฉลี่ยแล้วเหล่านักศึกษาจะถามคำถามรวมกันประมาณ 10,000 คำถามต่อหนึ่งภาคเรียน) โดยปล่อยให้คำถามที่ลึกซึ้งและมีความละเอียดอ่อนเป็นหน้าที่ของผู้ช่วยอาจารย์ที่เป็นคนจริงๆ มาทำหน้าที่ไขข้อข้องใจ ซึ่งนี่ถือเป็นการทดลองที่ควรค่าแก่การศึกษาสำหรับเขาว่าคอมพิวเตอร์จะทำงานโต้ตอบกับคนจริงๆ ได้ดีแค่ไหน
แน่นอนว่างานนี้เหล่าผู้ช่วยอาจารย์ตัวจริงอีก 8 ชีวิตนั้นต่างก็ให้ความร่วมมือเต็มที่ในการช่วยอำพรางตัวตนที่แท้จริงของ Ms.Watson มาโดยตลอด ที่น่าตลกคือหนึ่งในคนที่เป็นผู้ช่วยอาจารย์กลับเคยถูกสงสัยว่าเป็นบอทตอบคำถามเสียด้วย
ทีมงานที่ Georgia Tech ได้เริ่มออกแบบและประยุกต์ใช้ Watson กับระบบผู้ช่วยอาจารย์กันเองมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยที่ IBM นั้นเพียงแต่รับรู้และดูอยู่ห่างๆ ไม่ได้เข้ามาให้การช่วยเหลือแนะนำหรือพัฒนาระบบการวิเคราะห์ของ Ms.Watson แต่อย่างใด กระบวนการวิเคราะห์ของ Ms.Watson นั้นได้มาจากการถูกสอนด้วยคำถามกว่า 40,000 รายการบนกระดานสนทนาของ Georgia Tech จนกระทั่งปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Ms.Watson ก็เริ่มตอบคำถามต่างๆ ด้วยตนเอง ทั้งนี้ Ms.Watson จะยอมตอบคำถามก็ต่อเมื่อระดับความมั่นใจสูงเกิน 97% เท่านั้น
ป.ล. ที่จริงก็ใช่ว่าทุกคนจะประหลาดใจกับเรื่องนี้ Tyson Bailey นักศึกษารายหนึ่งที่ไม่ได้คิดว่าเรื่องนี้น่าตกใจอะไรมากมายบอกความเห็นของเขาว่า "เรากำลังเรียนเรื่องปัญญาประดิษฐ์กันอยู่ในชั้นเรียน" ฉะนั้น "มันก็ต้องมีปัญญาประดิษฐ์อยู่ที่นี่สิ"
ที่มา - The Wall Street Journal via CNET
Comments
อนาคตชื่อ Watson อาจจะเป็นชื่อเรียก AI แทนก็ได้
"เฉลี่ยแล้วนักศึกษาแต่ละคนจะถามประมาณ 10,000 คำถามต่อหนึ่งภาคเรียน""students in the class typically post 10,000 messages a semester"
ในหนึ่งภาคการศึกษา นักเรียนในวิชานี้จะโพสต์คำถามประมาณ 10,000 คำถาม
กำลังจะท้วงเลยว่าไม่มีทางเป็นไปได้แน่ๆ
มันอาจจะเป็นไปได้ก็ได้นะครับ มี TA ตัวจริงตั้ง 8 คน แค่วิชาเดียว... กรณีที่เป็นไปได้อาจจะประมาณว่าเป็นตัวพื้นฐานแล้วทุนคนในคณะต้องเรียน
หมายถึงก่อนแก้ไขน่ะครับ
"เฉลี่ยแล้วนักศึกษาแต่ละคนจะถามประมาณ 10,000 คำถามต่อหนึ่งภาคเรียน"
ประมาณให้เวอร์ก็เทอมนึง 4 เดือน 120 วัน นักศึกษาทุกคน แต่ละคนถามทุกวัน วันละ 83.33 คำถาม
อาจารย์ครับอยู่ไหม
ถามอะไรหน่อยได้ไหมครับ
.....มันยังไงต่อครับ
แล้วถ้า.....
...
ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในบ้านเรานี่ จะมีคำถามประมาณเท่าไหร่กันนะ
T : ใครมีอะไรสงสัยจะถามตรงไหนไหม?S : ..............
Watson คือหนึ่ง 9 ผู้ช่วยอาจารย์ -> 1 ใน 9?
The Dream hacker..
อีเมล์ => อีเมล
คอเคซอยน์ => คอเคซอยด์
อาจารย์ : Hey Watson ตรวจการบ้านแทนฉันหน่อยWatson : ได้เลย ฉันจะ ....
ในอนาคตน่าจะเปลี่ยนจาก"ตรวจ"เป็น"ทำ"นะครับ
ทำการบ้านกับอาจารย์ ?
คงต้องมี Watson ที่เป็น hardware กันละ
ตามด้วย Silicone ชั้นดียืดหยุ่นได้ให้ความรู้สึกจริงเหมือนจับผิวมนุษย์
เตรียมเรือ!!!!
หมายถึงอันไหนที่ ms.watson ไม่เข้าใจตอบไม่ได้ก็โยนให้ผู้ช่วยที่เป็นคนตอบให้ หรือเปล่า
เดี๋ยวเจอ Microsoft Tay มาเป็นครูแล้วจะหนาว 5555
Microsoft คงส่ง Dr.Watson มาต่อกร
เอ๊ะหรือว่าเป็นญาติกัน ?
อย่าเพิ่งเก่งภาษาไทยนะ กลัวตกงาน.(ว่าแต่พักหลังไม่ค่อยเห็นคุณบอท Blognone เลยนะฮะ)
Ms. Watson ทำการบ้านแทนฉันหน่อย /^3^
อยากรู้ว่าตอบไปกี่คนแล้วอะเห็นบอกแค่ ความมั่นใจ 97%+ ตั้งเป้า 40%
เอามาใช้กับมหาลัยไทยบ้างก็ดีนะ บางทีก็ไม่ได้อยากถามคำถามทั่วไปหรอก แต่มันหาข้อมูลยากจริงๆ เว็บมหาลัยนึกว่าเขาวงกต