ช่วงหลัง วงการกล้องวงจรปิด IP Camera เริ่มขยับตัวขึ้นสู่คลาวด์ จากเดิมกล้องภายในบ้านต้องต่อกับฮาร์ดดิสก์เพื่อบันทึกวิดีโอ แล้วหาวิธีเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อให้ดูภาพจากกล้องได้จากระยะไกลอีกที ยุ่งยากทั้งการติดตั้งและดูแล
กล้องวงจรปิดยุคใหม่แก้ปัญหานี้โดยการส่งภาพผ่าน Wi-Fi ขึ้นไปเก็บบนคลาวด์มันซะเลย จะดูภาพจากแอพหรือเว็บก็ไม่ยาก เพราะเป็นการดูจากคลาวด์อีกต่อหนึ่ง กล้องรายแรกๆ ที่ลงมาเล่นตลาดนี้คือ Dropcam (ปัจจุบันโดน Nest ซื้อไปแล้ว และกลายร่างเป็น Nest Cam แทน) แต่ภายหลังก็มีแบรนด์อื่นๆ บุกสู่ตลาดนี้กันมากมาย
ข้อจำกัดสำคัญของกล้องแบบเชื่อมต่อคลาวด์คือ มันคิดเงินค่าคลาวด์นั่นเองครับ (ถือเป็นโมเดลธุรกิจ ขายกล้องราคาไม่แพง แล้วขายบริการ subscription เป็นรายเดือนหรือรายปี) แต่ในที่สุดก็มีกล้องที่ออกมาทำลายข้อจำกัดนี้ นั่นคือ Netgear Arlo Qที่มาพร้อมกับ "คลาวด์ฟรี 7 วัน"
รู้จักกล้องวงจรปิดแบรนด์ Arlo
แบรนด์ Arlo เป็นแบรนด์ลูกของบริษัท Netgear สำหรับเจาะตลาดกล้องวงจรปิดโดยเฉพาะ สินค้าตัวแรกของบริษัทชื่อว่า Arlo Wire-Freeเป็นชุดกล้องวงจรปิดไร้สาย เชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi และใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ตัวกล้องกันน้ำ เหมาะสำหรับการใช้งานนอกบ้าน (outdoor)
ส่วนกล้อง Arlo Qที่นำมารีวิวครั้งนี้ เป็นกล้องแบบมีสายไฟ เชื่อมต่อเน็ตผ่าน Wi-Fi เหมาะสำหรับการใช้งานภายในอาคารเป็นหลัก ถ่ายภาพความละเอียด 1080p ( สเปกละเอียด )
นอกจากนี้ Netgear ยังมีกล้องรุ่นที่สามกำลังจะวางขายในเร็วๆ นี้คือ Arlo Q Plusที่เป็น Arlo Q เพิ่มฟีเจอร์มาอีก 2 อย่างคือ Power over Ethernet ใช้ไฟจากสายแลนได้โดยไม่ต้องเสียบสายไฟแยก และมีช่องเสียบ SD Card ในตัว สามารถบันทึกภาพไว้ในกล้องได้ด้วย (Arlo Q รุ่นมาตรฐาน ต้องส่งภาพขึ้นคลาวด์อย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีสตอเรจในตัว)
กล้องทุกตัวมาพร้อมกับบริการคลาวด์เก็บวิดีโอได้นาน 7 วัน แต่ต้องชี้แจงให้ชัดว่า ไม่ได้เป็นการบันทึกวิดีโอต่อเนื่องตลอดเวลา แต่เป็นการอัดวิดีโอต่อเมื่อตรวจจับความเคลื่อนไหวเท่านั้น (พื้นที่ฟรีจะใช้งานได้ 1GB) ถ้าอยากอัดวิดีโอต่อเนื่อง (continuous video recording) ก็สามารถซื้อบริการแบบพรีเมียมเพิ่มได้
แกะกล่อง Arlo Q
กล้องตระกูล Arlo ออกแบบมาให้ขนาดเล็กกะทัดรัด ดีไซน์ดูน่ารัก และใช้งานง่าย กรณีของ Arlo Wire-Free ต้องมีกล่องควบคุมกลางใช้ร่วมกับกล้องด้วย แต่ Arlo Q เป็นกล้องที่ทำงานแบบสแตนด์อโลน เสียบปลั๊กแล้วต่อ Wi-Fi ทำงานได้ทันที ไม่ต้องต่อเชื่อมกับใคร
ตัวกล้องมีลำโพงและไมโครโฟนให้ในตัว สามารถตรวจจับเสียงดังได้ และสามารถพูดผ่านแอพให้ออกไมโครโฟนของกล้องได้ด้วย (ใช้เป็น baby monitor หรือกล้องสำหรับคุยกับแขกที่มากดออดหน้าประตูได้)
อุปกรณ์ที่แถมมาให้ นอกจากตัวกล้องแล้วก็มีสายไฟยาว 3 เมตร (หัวต่อกับตัวกล้องเป็น Micro USB แปลว่าเราสามารถเอาสายชาร์จมือถือมาเสียบได้) และตัวเมาท์ติดกำแพง กับสกรูเจาะผนังอีก 4 ตัว
ตัวฐานของกล้อง Arlo Q เป็นแม่เหล็กอยู่แล้ว ถ้าวางไว้บนวัตถุที่เป็นโลหะ (เช่น หลังตู้เก็บเอกสารที่เป็นโลหะ) ก็ถือว่ามีความมั่นคงแข็งแรงในระดับนึง อาจไม่จำเป็นต้องใช้เมาท์หรือติดเทปยึดเลยด้วยซ้ำ
การติดตั้ง
กล้องสมัยนี้ใช้การติดตั้งผ่านแอพทั้งหมดแล้ว วิธีการติดตั้งถือว่าง่ายมากๆ เพียงแค่เสียบสายไฟเข้ากับกล้อง รอกล้องบูตสักระยะหนึ่ง แล้วดาวน์โหลดแอพชื่อ Arlo บนมือถือมาใช้งาน (มีทั้งบน iOS/Android แอพตัวนี้ใช้ได้กับกล้องแบรนด์ Arlo ทุกตัว)
แอพจะให้เรากรอกข้อมูล Wi-Fi ที่ใช้งานว่าชื่ออะไร รหัสผ่านอะไร จากนั้นบนจอมือถือจะแสดง QR Code ขึ้นมา ให้เรากดที่ปุ่ม Sync ด้านข้างกล้อง แล้วเอากล้องไปจ่อที่ QR Code จนได้ยินเสียง "ติ๊ด" กล้องก็จะต่อเชื่อมกับ Wi-Fi ให้อัตโนมัติ
ในการใช้งานครั้งแรก แอพ Arlo จะให้เราสมัครสมาชิกบริการคลาวด์ด้วย ตัวแพ็กเกจปกติ สามารถเก็บคลิปวิดีโอได้นาน 7 วัน ต่อเชื่อมกล้องได้สูงสุด 5 ตัว (พื้นที่รวม 1GB ต่อบัญชี)
ส่วนบริการแบบพรีเมียม จะเพิ่มเนื้อที่เป็น 10GB, กล้อง 10 ตัว, คลาวด์เก็บข้อมูลนาน 30 วัน ราคา 9.99 ดอลลาร์ต่อเดือน ( รายละเอียด ) แต่เท่าที่ลองดู เหมือนว่าในไทยยังสมัครบริการแบบพรีเมียมไม่ได้นะครับ
การใช้งาน
ตัวกล้อง Arlo เมื่อเราติดตั้งเสร็จแล้วก็ลืมมันไปได้เลย เพราะการควบคุมจะใช้ผ่านแอพทั้งหมด ตัวแอพ Arlo มีด้วยกัน 3 แท็บ ได้แก่
- Modeปรับเปลี่ยนโหมดการทำงานของกล้องแต่ละตัว
- Camerasดูภาพสดจากกล้องที่ผูกกับบัญชีของเรา
- Libraryคลังคลิปภาพที่กล้องบันทึกให้อัตโนมัติ เมื่อตรวจพบความเคลื่อนไหว
ส่วนของการดูภาพสด คงไม่มีอะไรแปลกใหม่มากนัก กล้องจะแสดงภาพเมื่อเรากดปุ่ม Play เท่านั้น โดยเราสามารถส่งเสียงพูดคุยกับอีกฝั่งของกล้องได้ สามารถบันทึกภาพนิ่งและวิดีโอในขณะนั้นได้
ส่วนของ Library เป็นคลังเก็บคลิปที่กล้องบันทึกไว้ตามโหมดการใช้งาน คลิปสามารถบันทึกได้นานสุดครั้งละ 120 วินาที (ค่าดีฟอลต์คือ 15 วินาที) ทุกครั้งที่กล้องตรวจจับความเคลื่อนไหวได้ มันจะเตือนเราผ่าน notification ของแอพ และส่งอีเมลมาเตือนด้วยอีกทางหนึ่ง ถ้าใช้พีซีอยู่ก็สามารถคลิกลิงก์ในอีเมล เพื่อกดเข้าไปดูคลิปบนเว็บของ Arlo ได้
โหมดการทำงานของกล้อง มีค่าดีฟอลต์มาให้ 3 โหมดคือ
- Armedตรวจจับการเคลื่อนไหวและเสียงดัง
- Disarmedไม่ตรวจจับการเคลื่อนไหวและเสียงดัง (เอาไว้ดูสดได้อย่างเดียว)
- Scheduleตั้งเวลาการทำงานระหว่างแต่ละโหมด
หน้าตาของโหมด Scheduled เราสามารถกำหนดช่วงเวลาได้ละเอียดเป็นหลักนาที โดยตั้งตารางการทำงานได้ตลอด 1 สัปดาห์ ว่าจะให้ทำงานช่วงไหนบ้าง เช่น ตอนเย็นวันทำงาน และวันเสาร์อาทิตย์ทั้งวัน เป็นต้น
ปัญหาของกล้องที่มีระบบตรวจจับความเคลื่อนไหว คือต้องหาจุดสมดุลระหว่างการเตือนภัยจริงๆ กับการเตือนภัยที่อาจเข้าใจผิด (false positive) เพราะถ้าแจ้งเตือนมันทุกอย่าง คนดูแลกล้องก็คงรำคาญและพลอยเลิกดูการแจ้งเตือนไปเลย
Arlo แก้ปัญหานี้โดยมีฟีเจอร์ Activity Zones หรือกำหนดพื้นที่ว่าต้องการตรวจจับความเคลื่อนไหวเฉพาะตรงไหนในภาพที่กล้องมองเห็น เช่น เราอาจไม่สนใจพื้นที่นอกประตูรั้วบ้าน และให้ตรวจจับเฉพาะบริเวณประตูบ้านเท่านั้น
นอกจากนี้ กล้องยังเปิดโอกาสให้เราสร้างโหมดการทำงานเองได้ละเอียด ทั้งการกำหนดระดับ sensitivity ของความเคลื่อนไหว (ผมพบว่าค่าดีฟอลต์ไม่ตรวจจับคนที่เดินอยู่ไกลๆ แต่ถ้าเป็นรถวิ่งจะมองเห็น ซึ่งตรงนี้ปรับได้), กำหนดวิธีการแจ้งเตือน, กำหนดว่าจะให้บันทึกเฉพาะวิดีโอ หรือบันทึกเฉพาะภาพนิ่ง เป็นต้น
จากการลองใช้งานมาเกือบสัปดาห์ ผมพบว่า Arlo Q เป็นกล้องวงจรปิดที่น่าประทับใจมาก ติดตั้งง่าย ไม่ต้องดูแลอะไรเลย แอพใช้ง่ายไม่ซับซ้อน ภาพที่ได้ค่อนข้างโอเค คมชัดและสว่าง มีความสามารถสูงในระดับหนึ่ง (กล้องบางยี่ห้อมีระบบ face detection ด้วย แต่ Arlo ยังไม่มี) แถมมีฟีเจอร์เด็ดอย่างบริการคลาวด์ฟรี 7 วัน ซึ่งพอใช้งานเหลือเฟือสำหรับผู้ใช้ตามบ้านทั่วๆ ไป (ต่อให้ไปต่างประเทศนานๆ ก็คงใช้เกินนี้ไม่มาก บวกกับน่าจะหาอินเทอร์เน็ตมาเปิดดูได้ระหว่างทริปอยู่แล้ว)
ปัญหาที่พบของ Arlo Q คือเฟิร์มแวร์ของกล้องที่ขายในไทย กลับไม่มีเขตเวลา GMT+7 ของบ้านเรา มีแต่ GMT+8 ซึ่งก็พอใช้แทนได้ โดยปรับเวลาในโหมด Scheduled ให้ช้าลง 1 ชั่วโมง (ทางตัวแทนจำหน่าย Netgear บอกว่าแจ้งปัญหานี้ไปแล้ว และน่าจะแก้ไขในเฟิร์มแวร์รุ่นถัดไป) ส่วนการตรวจจับความเคลื่อนไหว อาจต้องใช้เวลาทดสอบจริงสัก 2-3 วันว่าเราอยากได้ sensitivity มากน้อยแค่ไหนถึงจะพอดี
นอกจากนี้ ข้อพึงระวังของ Arlo Q คือมันเป็นกล้องที่ไม่มีสตอเรจในตัว ใช้วิธีส่งข้อมูลไปเก็บบนคลาวด์แทน ซึ่งถ้าเน็ตมีปัญหาระหว่างไม่อยู่บ้าน ก็อาจเป็นจุดตายได้เช่นกัน (ทางแก้ก็อาจอัพเกรดไปใช้ Arlo Q Plus ที่มี SD ในตัวแทน) ใครที่ต้องการเก็บข้อมูลย้อนหลังตลอดเวลา ก็คงต้องพิจารณาทางเลือกอื่นๆ แต่ถ้าเป็นการใช้งานแบบโฮมยูสทั่วไป ผมคิดว่า Arlo Q น่าจะครอบคลุมการใช้งานเกือบทุกกรณี
Comments
อัปขึ้นคลาวด์ แล้วสามารถดาวน์โหลดวิดีโอกลับมาเก็บเองได้ไหมครับ ได้บ่อยแค่ไหน
ดาวน์โหลดแยกเป็นคลิปๆ ไปครับ
ขอบคุณครับ
ขอบคุณที่เขียนข้อมูลรีวิวครับ
กำลังสนใจอยู่พอดี
สนใจมาก แต่ยังหาที่ซื้อไม่ได้เลยครับ
oxygen2.me , panithi's blo g
Device: HP Zbook, iPad Pro, iPhone 15PM, iPhone 16+, Nothing Phone 1
ราคากล้องประมาณเท่าไหร่ครับ
ราคาเมืองนอก 219 ดอลลาร์ครับ ราคาไทยทางร้านบอกว่าประมาณหมื่นนึง
สงสัยว่าถ้ามีการเคลื่อนไหวตลอดเวลาพื้นที่ 1GB ไม่น่าจะพอเพียง ขนาดผมใช้กล้อง 1 ตัวใส่การ์ด 32GB ยังเก็บวีดีโอได้ต่อเนื่องแค่ 2 วันเอง ถ้ากรณีกล้องตัวนี้คงเก็บวีดีโอสำหรับกล้อง 5 ตัวได้แค่ไม่เกิน 15นาทีละมั้ง (แต่เก็บไว้ดูได้นาน 7 วัน)
ราคาโหดเหมือนกันแฮะ
นั่งใช้ Yi IP Cam ต่อไป
ราคาในไทยบวกไปจากใน US มากเลยครับ