นอกเหนือจากผู้เล่นหลักอย่าง IBM และกูเกิลแล้ว ไมโครซอฟท์เองก็มีศูนย์วิจัยคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่ก่อตั้งอย่างเงียบๆ มาตั้งแต่ปี 2005 ใน UC Santa Barbara นาม Station Q โดยเน้นไปที่งานวิจัยด้านคอมพิวเตอร์ควอนตัมแบบ topological ซึ่งไมโครซอฟท์เชื่อว่าทนต่อการรบกวนของสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าแบบอื่น
ล่าสุด เมื่อ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ประกาศอย่างเป็นทางการว่า จะยกระดับการวิจัยจากเดิมไปสู่การสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมทั้งในระดับฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ โดยสนับสนุนด้านทุนวิจัยเพิ่ม และดึงเอา Todd Holmdahl มาบริหารงานในตำแหน่ง corporate vice president เขาเคยอยู่ในตำแหน่งบริหารงานผลิตภัณฑ์สำคัญๆ ที่สร้างชื่อให้ไมโครซอฟท์ทั้ง Xbox, Kinect, และ HoloLens มาแล้ว
Todd Holmdahl ผู้บริหารของไมโครซอฟท์ (ที่มาภาพ - Next at Microsoft )
นอกจากนี้ ทางไมโครซอฟท์ยังได้นักวิจัยด้านการประมวลผลควอนตัมระดับแนวหน้าเข้ามาร่วมงานอีก 4 คน ได้แก่
- Charles Marcus ประจำสถาบันวิจัย Niels Bohr Institute แห่ง University of Copenhagen ประเทศเดนมาร์ก
- Leo Kouwenhoven ประจำศูนย์วิจัย QuTech แห่ง Delft University of Technology ประเทศเนเธอร์แลนด์
- Matthias Troyer ประจำสถาบันวิจัย Institute for Theoretical Physics แห่ง ETH Zurich ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
- David Reilly ประจำศูนย์วิจัย Centre for Quantum Machines, University of Sydney ประเทศออสเตรเลีย
(ซ้าย) Leo Kouwenhoven (ขวา) Charles Marcus (ที่มาภาพ - Next at Microsoft )
นักวิจัยเหล่านี้จะยังคงทำงานวิจัยประจำสถาบันของตนเองไปพร้อมๆ กับทำงานให้กับทางไมโครซอฟท์ด้วย (Station Q ของไมโครซอฟท์มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงสี่สถาบันที่กล่าวมา)
บทสัมภาษณ์เกี่ยวกับโครงการของทั้ง 5 คนสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในที่มา ช่วงหนึ่งที่น่าสนใจคือ Marcus เปรียบเทียบการมาของคอมพิวเตอร์ควอนตัมกับรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง ครอบครัวของเขาเคยมีรถยนต์ระดับท็อป (top-of-the-line car) ที่มีเครื่องดูดเถ้าบุหรี่ (ash sucker) เขาคิดว่านั่นคือที่สุดของเทคโนโลยีรถยนต์แล้ว
“ณ ช่วงนั้นไม่มีใครคิดถึงรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติกันเลย” เขากล่าว “ผู้คนส่วนใหญ่คิดว่าคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สุดยอดแล้ว ผมว่าพวกเขายังอยู่ในยุคที่รถยนต์มีเครื่องดูดเถ้าบุหรี่อยู่นะ”
คลิปแนะนำการประมวลผลควอนตัมของไมโครซอฟท์ ชื่อ Station Q น่าจะอุปมาได้ว่าเป็นสถานีรถไฟที่ขบวน Computer Science กับ Quantum Physics มาบรรจบกัน
ที่มา - Next at Microsoft , The New York Times , Station Q
Comments
อีกกี่ปี่ถึงจะได้ใช้งานจริงๆนะเนีย
ดูคลิปแล้วเข้าใจง่ายขึ้นเลย
อยากเกิดใหม่อีกที 200 ปีข้างหน้า มนุษย์เราจะก้าวหน้าไปถึงไหนแล้วนะ
คห.ข่าวถัดไป 300 ปีข้างหน้า
จริงๆ ตอนแรกว่าจะเขียน 500 - 1000 ปีข้างหน้าด้วยนะ 5555