ซัมซุงแถลงสาเหตุของ Galaxy Note 7 ระเบิดอย่างเป็นทางการ เกิดจากปัญหาแบตเตอรี่อย่างที่คาดกันตั้งแต่แรก แต่ที่น่าสนใจคือแบตเตอรี่ล็อตแรกสุด กับแบตเตอรี่ล็อตที่สองจากอีกบริษัทที่ใช้แทนล็อตแรก กลับระเบิดทั้งคู่ แต่มาจากคนละสาเหตุกัน (จะเรียกว่าซัมซุงซวยซ้ำซ้อนก็คงได้)
กระบวนการตรวจสอบของซัมซุงมีทั้งการตรวจสอบโดยคนในเอง และใช้ผู้เชี่ยวชาญภายนอก 3 บริษัท ได้แก่ UL, Exponent, TÜV Rheinland โดยสองรายแรกตรวจสอบตัวแบตเตอรี่ในทางวิศวกรรม ส่วน TÜV Rheinland ตรวจสอบกระบวนการผลิตและการขนส่งแบตเตอรี่ จากโรงงานในเกาหลีใต้และในเวียดนาม
ผลการตรวจสอบจากทั้งซัมซุงเอง (แบตเตอรี่ 3 หมื่นก้อน โทรศัพท์ 2 แสนเครื่อง) และผู้เชี่ยวชาญภายนอก UL/Exponent ได้ผลออกมาตรงกันว่าปัญหาเกิดจากทั้ง การออกแบบและ กระบวนการผลิตแบตเตอรี่ จากผู้ผลิตทั้งสองราย ส่วนการตรวจสอบของ TÜV Rheinland ไม่พบความผิดปกติ
ซัมซุงไม่ได้เปิดเผยชื่อของผู้ผลิตแบตเตอรี่ (แม้จะรู้กันว่ารอบแรกใช้บริการของ Samsung SDI) โดยเรียกแบตเตอรี่ล็อตแรกว่า Battery A และแบตเตอรี่ล็อตที่สองหลังเปลี่ยนเครื่องรอบแรกว่า Battery B
Battery A
ปัญหาของ Battery A ตรงกับ ข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ของบริษัท Instrument ว่ามุมขวาบนของแบตเตอรี่ถูกแรงกดแล้วส่งผลให้เลเยอร์ภายในบิดงอ และตัวแผงกั้น (separator) บางมากจนขั้วของแบตเตอรี่กระทบถูกกันและไฟลัดวงจร
การตรวจสอบของ UL จากหลักฐานเครื่องที่ระเบิด เห็นชัดเจนว่าสาเหตุมาจากมุมขวาบน
การตรวจสอบของ Exponent ให้ผลแบบเดียวกัน โดยภาพบนคือมุมขวาของ Battery A ที่บิดงอ ในขณะที่ Battery B ไม่พบปัญหานี้
Battery B
หลังซัมซุงเจอปัญหา Note 7 ระเบิดรอบแรก จึงเปลี่ยนมาเป็นแบตเตอรี่ของผู้ผลิตอีกรายที่เรียกว่า Battery B ที่กลับสร้างปัญหาใหม่ตรงกลางของก้อนแบตเตอรี่แทน ปัญหานี้เกิดจาก defect ที่ขาดฉนวน (insulation tape) ป้องกันระหว่างขั้วบวกลบ (tab) ที่ไม่ดีพอ แบตเตอรี่จึงระเบิดเหมือนกัน แม้จะมาจากคนละสาเหตุกัน
การตรวจสอบของ UL และ Exponent ก็ให้ผลแบบเดียวกัน
การแก้ปัญหาของซัมซุงในอนาคต
ซัมซุงสัญญาว่านำบทเรียนจากการตรวจสอบครั้งนี้ ปรับปรุงกระบวนการผลิตครั้งใหญ่ เริ่มจากเพิ่มการตรวจสอบความปลอดภัยของแบตเตอรี่ 8 ขั้นตอน (8-Point Battery Safety Check) ในการผลิต
ในแง่การออกแบบแบตเตอรี่ ก็จะปรับปรุงมาตรฐานของตัวแบตเตอรี่เอง, การออกแบบตัวเครื่องโทรศัพท์ให้มีพื้นที่ว่างรอบตัวแบตเตอรี่มากขึ้น เพื่อป้องกันการกระแทกจากภายนอก และปรับปรุงซอฟต์แวร์การชาร์จแบตเตอรี่ให้ปลอดภัยกว่าเดิม
ซัมซุงยังเชิญผู้เชี่ยวชาญภายนอก 4 คนมาเป็นคณะที่ปรึกษา Battery Advisory Group เพื่อช่วยกำกับดูแลกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ในภาพรวมด้วย
Comments
ผมว่าปัญหาเป็นมาตั้งแต่การออกแบบแล้วครับแบบนี้เนี้ยนะ
พูดตรงๆผมไม่ค่อยชอบแบรนด์เกาหลีเลย
แต่อ่านแล้วยอมใจ
ซัมซุงยอมรับปัญหาและหาทางแก้และป้องกันปัญหาในอนาคตได้ดี
การพลาดครั้งนี้สร้างให้ซัมซุงกลับมาและแข็งแกร่งกว่าเดิมแน่นอน
อย่างนี้ ปีนี้จะออก Note 7 หรือ 8 ล่ะนี่
คงทิ้งชื่อ note แล้วมั้งครับ
Galaxy S8 with S-Pen
May the Force Close be with you. || @nuttyi
ต่อไปจะเป็น มือถือที่ปลอดภัยแน่นอนครับ ผมเชื่อแบบนี้ เพราะว่าคงจะเข้มงวดมากๆ
จริง บทเรียนจากในอดีตเป็นอะไรที่สำคัญมากๆ และจะทำให้แข็งแกร่งขึ้นได้ในอนาคต (ถ้าเรียนรู้และตั้งใจแก้ไขจริงๆ นะ)
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ซัมซองเรียกมือถือมาทำลายทิ้งนี่ครับ?
รอบนี้ทำดีต้องชมแถลงได้ละเอียดชัดเจนและยอมรับความจริงแบบตรงไปตรงมามากๆ
แข่งกันบางก็งี้แหละน้า รุ่นหน้าเอาพอดีๆ แบตให้เยอะๆ หน่อยละกัน
ผิดพลาด ยอมรับ และแก้ไขน่าชื่นชมครับ
มาถึงขนาดนี้แล้ว ถ้ายังไม่ยอมรับความจิงแบรนด์ก็คงหมดความน่าเชื่อถือ มันเหมือนจนหนทางมากกว่า
ผู้ผลิตแบตน่าจะชื่อ Samsung SDI หรือเปล่าครับ ไม่ใช่ SDS
ซัมซุงสั่งระงับการใช้งานแบตเตอรี่จาก Samsung SDI บน Galaxy Note 7 ชั่วคราว
แก้ตามนั้นครับ
แล้วที่มีข่าว iPhone 7 ระเบิด ทาง Apple ได้ออกมาชี้แจงอะไรบ้างด้วยไหมครับ
เท่าที่ผมติดตามข่าว, ไม่ได้ชี้แจงแถลงข่าวอะไรนะครับ
จริงด้วย
ดูจากจำนวนเคสแล้วผมว่ามันยังไม่ได้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างจนจำเป็นต้องออกมาแถลงแบบเป็นทางการอย่าง Samsung นะ
จำนวนที่เกิดไม่ significant พอน่ะสิ คนใกล้ตัวผมใช้ iPhone7/7 Plus กันเยอะมาก แต่ก็ไม่เห็นระเบิดหรือลุกไหม้สักคน
ถอดแบตได้เถอะนะ ไม่ต้องบางมากก็ได้ เสียดายฟังค์ชั่นดี ๆ ใน Note 7 ดันมาพังเพราะแบต
+1 ไม่ต้องบางให้พอดีกับขนาดเครื่องพอ ที่สำคัญถอดแบตใด้เพราะใช้งานมือถือหนักๆ ออกทริปไม่อยากพ่วงสายแกะกะ เปลี่ยนแบตได้สะดวกกว่า พัฒนาแบตใช้ได้ 5-7 วัน แบตใช้ทนเกิน 5 ปี จะฝังตายก็ไม่ว่า
ยังไงผมก็ยังหวังฟีเจอร์กันน้ำอยู่ครับ ซึ่งเกรงว่าหากถอดแบตได้มันจะไม่กันน้ำซะแล้ว
มือถือถอดฝาหลังเปลี่ยนแบตได้ก็กันน้ำได้ครับ ยกตัวอย่าง XPERIA ZR ผมใช้มือถือญี่ปุ่นมาตั้งแต่ยุคฝาพับ ยุคก่อนสมาร์ทโฟนจะฝังแบต ฝั่งมือถือญี่ปุ่นใช้เป็นซีลยางที่ฝาหลังครอบส่วนแบตกันครับ ก่อน SHARP จะเป็นคนริเริ่มเอาสารเคลือบกันน้ำมาใช้เป็นเจ้าแรกๆ (ไม่ต้องปิด port) แล้วก็ถึงยุคฝังแบต
มาดูความสามารถในการกันน้ำของ Samsung Galaxy S5 กันครับ
เขามีรุ่นที่ถอดได้อยู่แล้วหรือป่าวครับ ตลาดต่ำลงมา
ตลาดบนเน้นพรีเมี่ยม บาง คงไม่กลับไปถอดแบตได้แล้วละครับ
จริง ๆ Note 7 เทรนกำลังมาเผลอ ๆ จะตีตื้น Iphone ได้สบาย ๆ เสียดายแทนซัมซุงจริง ๆ
เหตุการณ์นี้ทำให้ USB Type C จุดติดช้าไปอีก
I need healing.
ผมว่าไม่น่าจะเกี่ยวกันนะ
ผมว่าเกี่ยวนะ คนทั่วไปพอผมถามว่า ใครมีสายชาร์จแบบ Micro USB บ้าง หลายคน งง
พอบอกว่า สายชาร์จ Samsung อ๋อกันใหญ่
อนาคตสายชาร์จ Samsung ก็จะเปลี่ยนไปเป็น Type-C จะทำให้สาย Type-C หาง่ายขึ้นด้วย
เห็นภาพเลยครับ ถ้าในไทยก็คงจะเป็นประมาณนี้แน่ๆ
ผมเห็นด้วยนะ ไม่เกี่ยวกับเรื่องระเบิด
แต่เกี่ยวตรงที่ผลิตภัณฑ์ตัวที่น่าจะยอดขายดี เพิ่มจำนวนมือถือที่ใช้ USB Type-C ได้เยอะ
ออกสู่มือผู้บริโภคช้าไปอีกครึ่งปี
แต่จริงๆตอนนี้ รุ่นกลาง-เรือธงของทุกเจ้าก็ใช้ Type-C กันหมดแล้ว
เพียงแต่ยอดยังไม่เยอะเท่า samsung เท่านั้นเอง
สาเหตุส่วนหนึ่งก็เพราะพยายามทำให้แบตขนาดเล็กลง โดยมีความจุมากขึ้น อะไรๆก็จึงเล็กลงไปด้วย จนทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีปัญหาเพิ่มขึ้น
ในตอนที่ออกแบบ และทำตัวอย่าง คงไม่พบปัญหา จนกระทั่งผลิตแบบ mass production ก็พบปัญหาจนได้ แม้ว่าสัดส่วนที่พบจะน้อย แต่ก็ถือว่าเป็นปัญหามีความร้ายแรงจนรับไม่ได้
ปกติการออกแบบจะต้องมี failure analysis หากเป็นปัญหาที่ร้ายแรง จะไม่ยอมให้ปล่อยผ่านไปง่ายๆ แต่ไม่รู้ทำไมจึงหลุดออกมาได้ สงสัยคิดว่าป้องกันได้ดีพอแล้ว หรือไม่ได้คิดว่าจะเป็นปัญหา ???
test case คงไม่ครอบคลุม แต่หลังจากนี้คงรวมกรณีแบบนี้เข้าไปด้วยแล้วล่ะครับ
ว่าแต่ อาการที่มันกดทับเฉพาะมุมขวาบนนี่น่าจะผิดที่การออกแบบตัวเครื่องด้วยรึเปล่าครับ? ปกติแบตไม่น่าเกิดการกดทับที่มุมเลยนี่นา
ซัมซุงยังเชิญผู้เชี่ยวชาญภายนอก 4 คนมาเป็นคณะที่ปรึกษา Battery Advisory Group แต่ละคน Ph.D. ทุกคนเลย อ่านแล้วรู้สึกน่าเชื่อถือมากขึ้น
ปัญหาเกิดทั้งจากการออกแบบ และกระบวนการผลิตแบคเตอร์รี่ แต่ในแถลงการณ์แทบไม่พูดถึงการออกแบบเลย
ก็พูดถึงนี่ครับ ทั้งเลเยอร์ภายในบิดงอ และตัวแผงกั้น (separator) ที่บางมาก
เพราะออกแบบไม่ดีแต่แรก ต่อให้ผลิตออกมา QC ดีแค่ไหนก็ไม่รอด
พูดถึงออกแบบครับ ถ้าเกิดจากกระบวนการผลิตคือผลิตแล้วไม่ได้ตามที่ออกแบบไว้ แต่นี่คือผลิตได้ตามที่ออกแบบ แต่การออกแบบแบบนี้ทำให้เกิดปัญหาตามรายงาน
อคติทำให้คนรับเหตุผลด้านเดียว
เวลาผู้ผลิตจะทำให้บางลงก็ต้องไปบี้ supplier ให้ผลิตสินค้าตามสเปคใหม่ให้ได้เป็นเรื่องปกตินี่ครับ (ชิ้นส่วนรถเบาลง, แบตบางลง ฯลฯ) แต่ภายใต้สเปคใหม่ก็ต้องรับประกันมาตรฐานให้ได้
lewcpe.com , @wasonliw
ผมสื่อสารไม่ชัดเจนเองน่ะครับ คือคาดหวังว่าในแถลงการณ์จะชี้แจงประเด็นการออกแบบตัวเครื่องด้วยว่าทำให้แบตเตอร์รี่ลัดวงจรง่ายดายขนาดไหน? มีเกณฑ์/มาตรฐานการทดสอบแรงกระแทกที่ดีพอหรือไม่? ตามข่าวคือใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกง หรือวางไว้เฉยๆ (อาจมีสายเข้าแล้วตั้งสั่นไว้)ก็ระเบิดได้ ที่จริงควรจะเจอตั้งแต่กระบวนการทดสอบแล้วแต่คงไม่เข้มงวดพอ
ถ้าพูดก็เหมือนจี้ตัวเองแหละครับในเบื่อบอกว่าผิดแล้ว ก็ไม่รู้จะจี้ให้เจ็บกว่าเดิมทำไม
แต่คนออกแบบนี่เจ็บหนักแน่
ดูเหมือนว่าจะมีปัญหาเรื่องการออกแบบนะ คือภายใต้แบตปริมาตรเท่านั้นและให้มีความจุสูงตามสเป็ค มันเลยต้องอัดเข้าไป
ซึ่งเหมือนบริษัท A ใช้วิธีพับซึ่งส่วนที่พับเลยเป็นจุดอ่อนในโครงสร้าง ส่วนบริษัท B แก้ปัญหาด้วยการยัดเข้าไป ไม่พับ แต่ก็ทำให้เกิดความเครียดทั่วทั้งแผ่นแทน
+1
ผมยังคิดด้วยซ้ำ ตอนออกแบบ ทางซัมซุงคงส่ง engineer sample ให้ดู พอบริษัทคู่ค้าได้ไปก็เกาหัวว่าทำได้ไง ทางต้นทางคงบอกว่านี่ไง engineer sample ยังทำได้เลย
แต่ประเด็นคือ engineer sample มันไม่ได้ถูกตรวจสอบละเอียดว่า งานออกแบบมันไม่สามารถผลิตได้จริงได้อย่างปลอดภัย
บริษัทคู่ค้าเลยถูกกดดันให้ต้องหาทางตอบโจทย์ให้ได้ เลยต้องหาทางออกกันเอาเอง ก็เลยออกมาเป็นอย่างที่เห็น และพอตอนรับ ก็ไม่เคยไปดูถึงตรงนั้นว่ามันถูก compromise มารึเปล่า
ก็ยังรู้สึกแปลกๆ ที่ Lot แรก จาก บริษัท A เรียกคืน แล้ว ส่ง Lot 2 โปยแทน โดยไม่ได้ทดสอบอะไร จนสรุประเบิดเหมือนกัน
คงเกิดจากการรีบด้วยนี่แหละ ช่วงนั้นจำได้คร่าวๆ ใช้เวลาแค่เดือนเดียวเองมั้งล็อตสองก็ออกมา
ดีแล้ว ต่อไปจะได้ไม่พลาด
ผมว่าแถลงการแบบนี้ก็โอเคอยู่นะครับคือยอมรับความผิดพลาด
ปล.ไม่ใช่แฟนซังซุงนะ
ถ้าไม่ยอมรับก็ตายครับ เพราะปัญหานี้ตัวเองดันเป็นคนผลิตแบตเองด้วย
การเปลี่ยนแบตได้ มีข้อดีที่คาดไม่ถึงคือถ้าเครื่องตก แบตกระจาย ไม่ต้องกลัวว่าเครื่องจะโดนแบตระเบิดไปด้วย
ผมนึกว่าจะมีโฆษกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวเฉยๆ เท่านั้น แบบนี้แถลงแบบเนื้อหาสาระมากเลย
ออกมาแถลงแบบนี้ ทำดีครับ เยี่ยม
ขอทวนเฉพาะท่อน ปัญหานี้เกิดจาก defect ที่ขาดฉนวน (insulation tape) ป้องกันระหว่างขั้วบวกลบ (tab) ที่ไม่ดีพอ นะครับ จริงๆ ผมว่าคำมันค่อนข้างสับสน (ขาดฉนวนป้องกันที่ไม่ดีพอ??? คงตั้งใจจะพิมพ์ ขาดฉนวนป้องกันที่ดีพอ แต่พอใส่คำต้นทางเยอะๆ เลยงง) แต่ผมว่าก็ไม่ตรงกับสไลด์นะครับ
ในสไลด์บอกว่า Poorly controlled welding of the positive tab in Manufacturer B cells creates sharp, relatively tall welding defect features ที่น่าจะหมายถึงว่ามีการควบคุมการเชื่อม (บัดกรี?) ก้านขั้วบวก (ขาโลหะที่แท็บไฟบวกจากตัวแบตเตอรี่มาให้ขั้วไฟบวก) ที่ไม่ดีพอ ทำให้เกิดจุดเชื่อมที่คมและสูงขึ้นมา ใครเคยบัดกรีมาน่าจะเคยบัดกรีพลาดได้แบบแหลมๆ มาบ้างล่ะมั้งครับน่าจะนึกภาพออก แต่อันนี้คงไม่ถึงขั้นแหลมเปี๊ยวสูงปรี๊ดแต่ก็คือเกิดความไม่สม่ำเสมอที่จุดบัดกรีพอ ไม่เรียบเนียนเป็นสิวเสี้ยน (เดี๋ยวนะ) เพราะชั้นในแบตมันบางมากจึงต้องทำให้เรียบ แล้วข้อถัดๆ ไปก็บอกว่าการบวมและหดตัว ตามปกติของการอัดและคลายประจุไปบีบให้จุดผิดพลาดในการบัดกรีนั่นเข้าไปหาชั้นฝั่งขั้วลบได้ แล้วก็ลัดวงจร แล้วก็ร้อน แล้วก็ บู้มมมม กลายเป็นโ_โก้ครันช์ครับ
หลักๆ คือล็อตหลังนี่ไม่ได้พลาดที่ฉนวนบางหรือไม่ดีพอหรือกระทั่งออกแบบพลาดครับ พลาดที่ควบคุมคุณภาพไม่ดีไปแค่จุดเดียวเท่านั้น
ชื่นชมที่ออกมาแถลงแบบนี้เมื่อพลาดก็ยอมรับว่าพลาด