ทาง AIS เปิดตัวเครือข่าย NB-IoT นับเป็นเครือข่ายสำหรับอุปกรณ์ IoT โดยเฉพาะครั้งแรกๆ ในไทย หลังจากประกาศออกมา ผมก็ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการส่วนงานวางแผนและปฏิบัติการส่วนโครงข่ายวิทยุของ AIS ได้ข้อมูลสำหรับธุรกิจหรือแม้แต่เมกเกอร์ที่สนใจจะใช้งานเครือข่ายเหล่านี้เพิ่มเติมจากประกาศก่อนหน้านี้
ข้อมูลเบื้องต้นเครือข่าย NB-IoT เป็นมาตรฐานกลางจาก 3GPP สำหรับการใช้ช่องสัญญาณวิทยุที่ความความกว้างแถบความถี่แคบๆ เพียง 180KHz เครือข่ายผู้ให้บริการ สามารถเลือกใช้ช่องสัญญาณ ร่วมกับบริการ LTE, ช่องสัญญาณแยกเดี่ยว (stand-alone), หรือแม้แต่ไปใช้ช่องสัญญาณที่เคยเป็น guard band ของ LTE ก็ได้เช่นกัน โดยแบนด์วิดท์การส่งข้อมูลจะอยู่ที่อัพโหลด 60kbps และดาวน์โหลด 30kbps
ในฝั่งของเซิร์ฟเวอร์ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT (Application Server - AS) มาตรฐาน NB-IoT เปิดให้ผู้ให้บริการสามารถเลือกได้ว่าจะเปิดให้บริการเชื่อมต่อไอพีโดยตรงหรือจะเชื่อมต่อผ่านเกตเวย์ของผู้ให้บริการ (Service Capability Exposure Function - SCEF) ทำให้อุปกรณ์ขนาดเล็กไม่ต้องรองรับไอพีด้วยตัวเอง โดย NB-IoT เรียกกระบวนการส่งข้อมูลแบบไม่ใช้ไอพีนี้ว่า Non-IP Data Delivery (NIDD)
ทำไมทาง AIS ถึงเลือกติดตั้งเครือข่าย NB-IoT
NB-IoT เป็นมาตรฐานกลางที่มีผู้ผลิตจำนวนมากสามารถผลิตชิปและอุปกรณ์ที่ทำงานบนเครือข่ายได้ ในอนาคตเมื่อผู้ผลิตมีจำนวนมากอุปกรณ์ก็จะราคาถูกลง
การประกาศเปิดตัวครั้งนี้อยู่ในสถานะระดับใด ทดลองใช้งานหรือเปิดบริการไปแล้ว
ตอนนี้อยู่ในระดับเปิดบริการไปแล้ว (on service) อย่างไรก็ดี เครือข่าย IoT มีหลายส่วน ได้แก่ ส่วนเครือข่ายที่ตอนนี้เปิดใช้งาน, ส่วนแพลตฟอร์มตอนนี้ก็เปิดใช้งานแล้วเช่นกัน, ยังมีเฉพาะส่วนของชิปเซ็ตอุปกรณ์ที่ตอนนี้ยังอยู่เป็นบอร์ดเดโมอยู่
เครือข่ายตอนนี้ครอบคลุมเพียงใด
ตอนนี้อุปกรณ์ LTE ของ AIS พร้อมจะรองรับ NB-IoT อยู่แล้ว เพียงแต่ยังเปิดใช้งานไม่ทั้งหมด เมื่อมีความต้องการในอนาคตก็สามารถเพิ่มพื้นที่ครอบคลุมได้
ความสามารถในการรองรับอุปกรณ์ IoT รับได้มากน้อยแค่ไหน
ตามสเปคของ NB-IoT คือเสาแต่ละต้นจะรองรับอุปกรณ์ได้ถึงหนึ่งแสนตัวที่รัศมี 10 กิโลเมตร แต่เครือข่ายของ AIS มีเสาถี่กว่านั้นอยู่แล้ว เมื่อเปิดใช้งานจริงเราก็อาจจะค่อยๆ เปิดเครือข่าย NB-IoT บนเสาบางส่วนไปก่อนหากมีความต้องการมากขึ้นก็สามารถเพิ่มเสาที่รองรับได้มากขึ้นเรื่อยๆ
ผู้ที่เข้าไปขอใช้งานต้องเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่เท่านั้นหรือไม่
ไม่จำเป็น แม้แต่รายเล็กหรือเมกเกอร์ที่อุปกรณ์ไม่เยอะนักก็เข้ามาใช้งานได้ แต่ตอนนี้การเข้าใช้งานยังเป็นการคุยกันทีละรายก่อน
การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT
การเชื่อมต่อผ่าน API มาตรฐานของ NB-IoT (เข้าใจว่าหมายถึง NIDD) ตอนนี้อาจจะต้องใช้ฮาร์ดแวร์ที่ทาง AIS ทดสอบแล้วกับเครือข่ายแต่ในอนาคตหากมีผู้ผลิตรายอื่นนำอุปกรณ์เข้ามาก็จะมีตัวเลือกมากขึ้น
การเปิดใช้ NB-IoT จะกระทบกับผู้ใช้ LTE อื่นๆ ไหม
ทาง AIS ใช้ NB-IoT บน guard band ทำให้ผู้ใช้ LTE ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ
สำหรับเมกเกอร์โดยทั่วไป เราคงต้องรอประกาศในวันพรุ่งนี้ว่าทาง AIS จะเปิดตัวอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง และพัฒนาการของ NB-IoT จะไปได้เร็วแค่ไหน ในอนาคตเราอาจจะซื้อแพ็กเกจสำเร็จสำหรับการสร้างอุปกรณ์จำนวนมากโดยไม่ต้องติดต่อเป็นกรณีเช่นนี้อีก
Comments
จากนี้ไป อาจจะมีอุปกรณ์วัดสุขภาพติดตามตัว หรือไม่ก็ติดตามรถยนต์แลกเปลี่ยนข้อมูลกันเพิ่มมากขึ้น
ต่อไปทำโทรศัพท์ NB-IOT ก็ได้สินะ เหมาะความต้องการประหยัดไฟขั้นสุด วางสแตนบายได้ 1 ปี
เรียกว่า pager (แบบสองทาง) จะกลับมาก็คงได้ครับ
lewcpe.com , @wasonliw
มันคืออะไรนะผมเกิดไม่ทันจริงๆนะ XD
Pager โอ้ววว ถ้าใช้แนวคิดนี้บน LoT น่าจะมี app เกิดได้หลายอันนะเนี่ย..
ถ้าไปตามดูเอกสารของ NB-IoT จะมีแนวคิดหลายอย่างน่าสนใจครับ เช่น พวก sponsored metering อุปกรณ์สามารถสื่อสารข้อมูลโดยคนที่จ่ายเงินไม่ใช่คนใช้อุปกรณ์ เราอาจจะเล่นเกมออนไลน์ (อย่าง Pokemon Go?) โดยไม่ต้องจ่ายค่าอินเทอร์เน็ต แต่ไปจ่ายกับเกมแทน
lewcpe.com , @wasonliw
น่าสนใจขึ้นมาทันที
น่าสนใจมาก ขอให้โมดูลราคาถูกๆ interface ง่ายๆ เอามาต่อกับ arduino ทำอะไรได้เยอะแยะเลย
^
^
that's just my two cents.
จินตนาการถึงชีวิตในบ้านต่อไปในอนาคตไม่ถูกเลย แล้วโลกทุกวันนี้มันเปลี่ยนแบบมีความเร่งด้วย
แต่ก่อนเปลี่ยนทีอาจจะไปอย่างช้าๆ เดี๋ยวเร่งกันแบบ 3 เท่า 5 เท่า
ขอบคุณสำหรับความรู้ครับผม
..: เรื่อยไป