ในงานพบปะนักลงทุนของอินเทลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากข่าวใหญ่อย่าง Core 8th Gen อินเทลยังเผยยุทธศาสตร์ในระยะยาวของบริษัท ที่ช่วยให้เรามองเห็นทิศทางว่าอินเทลจะมุ่งเน้นไปทางไหนในอนาคต
ภาพรวมของอินเทลคือกระจายธุรกิจไปยังธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ซีพียูสำหรับพีซีไคลเอนต์มากขึ้น โดยอินเทลเรียกตัวเองว่าตอนนี้เราเป็น Data Company ที่จะเติบโตตามการบูมของปริมาณข้อมูลในอนาคต
ในอดีต วิธีการมองธุรกิจของอินเทลแยกเป็น 2 ส่วนคือ ซีพียูสำหรับไคลเอนต์ และซีพียูสำหรับเซิร์ฟเวอร์ ทั้งสองส่วนมีรายได้รวมกัน 45 พันล้านดอลลาร์ต่อปี (TAM = total annual market)
แต่อินเทลยุคปัจจุบัน มองธุรกิจแยกเป็น 5 ส่วน ได้แก่
- พีซีไคลเอนต์ ที่อินเทลครองตลาดได้เกือบหมดแล้ว ขั้นต่อไปคือ segmentation แยกย่อยตามกลุ่มลูกค้าแต่ละส่วน
- ศูนย์ข้อมูล (data center) ที่ไม่ได้มีแค่ซีพียู แต่รวมถึงหน่วยความจำ SSD และชิปสำหรับอุปกรณ์เครือข่ายด้วย
- หน่วยความจำ (non-volatile memory) ทั้งในแง่ชิปหน่วยความจำ 3D NAND และเทคโนโยีหน่วยความจำ Optane
- อุปกรณ์พกพา (mobile) อินเทลเน้นไปที่ชิปโมเด็มเป็นหลัก เนื่องจากถอนตัวจากตลาดซีพียูสำหรับอุปกรณ์พกพาไปแล้ว
- อุปกรณ์ใหม่ (IoT) มีหลายอย่างทั้งรถยนต์ ชิปสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะทางและร้านค้าปลีก
อินเทลมองว่า ขนาดธุรกิจทั้ง 5 ส่วนรวมกันในปี 2021 จะสามารถขยายไปถึง 220 พันล้านดอลลาร์
การจัดลำดับความสำคัญในการลงทุนของอินเทล แยกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
- ด้านศูนย์ข้อมูล: Cloud, AI, Network
- ด้านเทคโนโลยี: Memory, FPGA, โมเด็ม 5G
- ด้านไคลเอนต์และ IoT: เน้นที่อุปกรณ์ใหม่ๆ ที่ส่งข้อมูลจำนวนมาก
สิ่งที่อินเทลจะทำในปี 2017
- ตลาดไคลเอนต์ ไม่เน้นการเติบโตมาก แต่เน้นรักษาความเข้มแข็งและการทำกำไร
- ตลาดศูนย์ข้อมูลและ IoT เน้นการเติบโต (growth)
- ตลาดหน่วยความจำและ FPGA ก็เน้นการดำเนินงานไม่ให้เกิดความผิดพลาด
จากตัวเลขของอินเทลในตลาดไคลเอนต์ (Client Computing Group) จะเห็นว่ารายได้ในปี 2016 เติบโตจากเดิมเพียง 2% แสดงให้เห็นว่าตลาดเติบโตไม่ได้อีกมากนัก แต่ตัวเลขกำไรจากการดำเนินงานกลับเพิ่มขึ้นถึง 30%
ที่มา - Intel (PDF) , Intel (PDF)
Comments
TAM น่าจะเป็น total addressable market ไหมครับ