สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงานสัมมนาประจำปีเรื่อง "ปฏิรูปรัฐ ปฏิวัติข้อมูล" หลักการโดยรวมคืออยากให้ภาครัฐกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อจัดการข้อมูล พร้อมทั้งเสนอแนวทางจัดเก็บและเชื่อมโยงข้อมูลข้ามหน่วยงานเพื่อความสะดวกในการให้บริการประชาชน เปิดข้อมูลเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้ภาคประชาชนนำข้อมูลไปประมวลผลต่อได้
ที่สำคัญ ระบบการศึกษาต้องสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการข้อมูลโดยเฉพาะออกมามากกว่านี้ เพราะปัจจุบันยังมีปัญหาคุณภาพคนกับความต้องการทักษะงานยังไม่สอดคล้องกัน
ในงานสัมมนาแบ่งเป็น 4 หัวข้อใหญ่ Blognone จะสรุปสาระสำคัญให้อ่านกันเป็นรายหัวข้อไป
ข้อมูลกับการพัฒนาเศรษฐกิจสารสนเทศ
ข้อมูลสามารถเพิ่มผลิตภาพและปัจจัยการผลิตได้ทวีคูณ เมื่อมีข้อมูลและการจัดการที่ดี ก็สามารถจัดการได้ทั้งวัตถุดิบ เครื่องจักร และแรงงาน ยกตัวอย่างบริษัทสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นในระดับโลก ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นมาได้เพราะการจัดการข้อมูลทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ที่พัก แชร์รถ ฟินเทค สุขภาพ ข้อมูลจึงช่วยสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ได้มากมาย
ในประเทศไทยมีโมเดลที่ใช้การจัดการข้อล สามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์ ลดต้นทุน และสร้างรายได้เพิ่มมาแล้ว เช่น
- ธุรกิจ cold chain บริษัท SCGเก็บสินค้าแช่เย็น มีต้นทุนพลังงานสูง สามารถนำข้อมูลมาช่วยลดต้นทุนได้ โดยวัดอุณหภูมิแต่ละจุดว่าต้องใช้อุณหภูมิเย็นเท่าไร ป้อนข้อมูลใส่โปรแกรมเครื่องทำความเย็น ให้อุณหภูมิในแต่ละจุดที่เหมาะต่อสินค้าที่จัดเก็บ ไม่ต้องแจกจ่ายอุณหภูมิเท่ากันทุกจุด
- อุตสาหกรรมน้ำตาล ไร่อ้อยบริษัทมิตรผลใช้ระบบสมาร์ทฟาร์มมิ่ง และจัดเก็บข้อมูลโดยโดรนประเมินปริมาณอ้อยที่จะป้อนเข้าโรงงาน คาดการณ์จำนวนสินค้าล่วงหน้าได้
- ด้านบริการแท็กซี่มี All Thai Taxiที่ใช้การจัดการข้อมูลมาแก้ปัญหา โดยใช้การติดตามจีพีเอสที่รถ บันทึกข้อมูลปั๊มน้ำมัน ทำให้เปลี่ยนกะรถที่ปั๊มน้ำมันได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาวิ่งรถเปล่า
- ในวงการรับเหมาก่อสร้าง ที่ผู้รับเหมาประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในงาน เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์ต้นทุนการก่อสร้างได้อย่างแม่นยำ จนกระทั่งมีแอพ Builkระบบฐานข้อมูลวัสดุก่อสร้าง ตั้งแต่ร้าน ราคา ต้นทุน มีโปรแกรมคำนวณต้นทุนให้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมธุรกิจไทยยังจัดการข้อมูลได้ไม่ดีพอ ไทยยังมีประสิทธิภาพการผลิตต่ำ ส่วนหนึ่งเพราะยังไม่มีการใช้ข้อมูลอย่างที่ควรจะเป็น อุตสาหกรรมและธุรกิจรายเล็กจำนวนมากยังไม่ทำบัญชีให้เป็นระบบ ทำให้สูญเปล่าทั้งต้นทุน-เวลา
ในขณะที่รัฐบาลส่งเสริมไทยแลนด์ 4.0 และสตาร์ทอัพ ก็ควรส่งเสริมให้ใช้ข้อมูลสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจในทุกวงการอุตสาหกรรมด้วย จะเป็นทางลัดที่ดีกว่าในการยกระดับเศรษฐกิจไทย
ข้อมูลเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิต
การเชื่อมโยงข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลภาครัฐช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตได้ทุกช่วงวัย เริ่มตั้งแต่ วัยเด็กในด้านการศึกษา
มีตัวอย่างจากประเทศชิลี เปิดข้อมูลโรงเรียนให้ประชาชนทั่วไปข้าถึงได้ ประชาชนรู้คะแนนสอบเฉลี่ยของนักเรียนทุกแห่งในเมืองนี้ ผลคือจากเดิมที่ผู้ปกครองมักส่งลูกเรียนโรงเรียนรัฐบาล ก็ส่งลูกเรียนที่โรงเรียนมีคุณภาพมากขึ้น มีการเทียบคะแนนสอบของเด็กชิลีในวิชาวิทยาศาสตร์มาตรฐาน PISA ย้อนหลัง 15 ปีพบว่าเด็กมีคะแนนดีขึ้น เมื่อมีการเปิดข้อมูล แต่ละโรงเรียนจะแข่งขันยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนมากขึ้น สร้างความโปร่งใสเพราะประชาชนมีสิทธิตัดสินใจมากขึ้นด้วย
ในช่วงวัยทำงานโดยเฉพาะการรับสมัครคนเข้าทำงาน ประเทศไทยเจอปัญหาขาดความเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษาไทยกับภาคธุรกิจ คนจบมาได้ทำงานไม่ตรงกับสาขาที่เรียน
อุปสรรคด้านข้อมูลที่สำคัญคือ เรายังสำรวจโดยใช้แบบสอบถามอยู่ ข้อมูลที่ได้มักไม่ใช่ข้อมูลจริง และจะถูกนำมาจัดหมวดหมู่เป็นสาขาอาชีพต่างๆ ซึ่งล้าสมัย เพราะปัจจุบันมีอาชีพใหม่เกิดขึ้นมากมาย
ข้อมูลแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการนำข้อมูลประกาศหางานออนไลน์มาวิเคราะห์ว่า นายจ้างต้องการความรู้อะไรบ้าง ช่วยให้รัฐและสถาบันการศึกษารู้ทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการอย่างละเอียด
การเก็บข้อมูลออนไลน์ในลักษณะนี้มีต้นทุนต่ำกว่าใช้แบบสอบถามมาก และยังได้ข้อมูลที่เป็นจริงมากกว่า สามารถจำแนกสาขาอาชีพใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา ช่วยให้ภาคการศึกษาปรับตัวเข้าหาตลาดแรงงานได้มากกว่าที่เป็นอยู่
ข้อมูลเพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความยากจน ลดคอร์รัปชั่น
การกำหนดใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ช่วยภาครัฐสามารถตามหาคนจนได้ถูกคน สามารถกำหนดนโยบายลดความเหลื่อมล้ำได้
เทคโนโลยี Big Data ช่วยระบุพื้นที่ยากจนในต่างประเทศมาแล้ว โดยเก็บข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง ผสานการทำงานกับ Machine Learning จำแนกแยกแยะข้อมูล กำหนดพื้นที่ยากจนที่ส่วนใหญ่มักมุงหลังคาด้วยสังกะสี และหลังคาดินเหนียวที่มีราคาถูก เช่นศรีลังกา เคนย่า
นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลโทรศัพท์มือถือ ดูพื้นที่ที่มีการใช้โทรศัพท์มากน้อย มากำหนดระดับความยากจนได้ เช่นประเทศเซเนกัล วิธีเหล่านี้ตามหาคนจนได้ดีกว่าเปิดให้คนจนมาลงทะเบียนกับรัฐบาล
การเชื่อมโยงข้อมูลช่วยลดการทุจริตได้ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง ไทยมีการจัดซื้อจัดจ้างมากถึง 30% ของงบประมาณประเทศ (ข้อมูลเฉลี่ยปี 2558-2559) แต่มีปริมาณเรื่องร้องเรียนทุจริตจัดซื้อจัดจ้างมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปีละ 6-7 พันเรื่อง (ข้อมูลที่มีการร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.)
มีหน่วยงานที่พยายามนำข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างมาเปิดคือ EGA แต่ก็ยังมีข้อมูลไม่ครบถ้วน TDRI จึงไปดึงข้อมูลส่วนหนึ่ง (มีปริมาณมหาศาลมาก จึงดึงมาได้แค่ส่วนเดียว) มาประมวลผลต่อ พบว่าในบรรดาการจัดซื้อจัดจ้าง มีผู้รับเหมารายใหญ่ไม่กี่ราย ทีมวิจัยสันนิษฐานสาเหตุว่า วิธีการประมูลในภาครัฐไม่เอื้อให้มีการแข่งขัน ส่วนขั้นตอนการเสนอ และวิจารณ์ TOR ก็เป็นไปอย่างรวบรัดรวดเร็ว ผู้ประกอบการมีเวลาเตรียมตัวน้อย ปิดโอกาสการแข่งขัน
นอกจากต้องเปิดข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างแล้ว TDRI ยังเสนอวิธีประมูลแบบ E-bidding หรือการเคาะราคาผ่านออนไลน์ (นำมาใช้แล้วในกลางปี 2558) ที่เปิดให้มีการแข่งขันในการก่อสร้างมากกว่าและพบว่าวิธีนี้ช่วยรัฐประหยัดงบประมาณมากขึ้น
รัฐเป็นเจ้าของข้อมูลสำคัญของประเทศ รัฐจึงต้องปฏิรูปการเปิดข้อมูล
ในธุรกิจข้อมูล ภาครัฐเป็นผู้เล่นสำคัญที่สุด เพราะเป็นทั้งผู้ผลิตข้อมูล ผู้ใช้ และผู้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
หน่วยงาน Open Data Barometer กำหนด 15 ชุดข้อมูลภาครัฐที่รัฐบาลทั่วโลกควรเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยเปิดเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้เอกชนนำไปต่อยอดและประมวลผลต่อได้ ข้อมูล 15 ชุด ประกอบด้วย
- ข้อมูลเชิงพาณิชย์คือ แผนที่, ตารางเวลาการขนส่งสาธารณะ, การค้าระหว่างประเทศ, สัญญาว่าจ้างภาครัฐ
- นโยบายสังคมคือ การเข้าถึงบริการสาธารณสุข, คุณภาพการศึกษา, ข้อมูลการปล่อยมลพิษในอุตสาหกรรมต่างๆ, ข้อมูลเศรษฐกิจ, ข้อมูลอาชญากรรม
- ความโปร่งใสภาครัฐคือ งบประมาณ, การใช้จ่ายภาครัฐ, กรรมสิทธิ์ที่ดิน, รายชื่อธุรกิจจดทะเบียน, ฐานข้อมูลกฎหมาย, ผลการลงคะแนนเลือกตั้ง
ไทยมีฐานข้อมูลมาก แต่ยังไม่พร้อมนำไปใช้งานเท่าไรนัก และยังมีข้อมูลอีกมากที่รัฐยังไม่เปิดต่อสาธารณะ เช่น ข้อมูลคุณภาพโรงเรียน แผนที่กรรมสิทธิ์ที่ดิน การใช้จ่ายภาครัฐ
อันดับการเปิดข้อมูลของไทยอยู่ที่ 56 ส่วนประเทศที่เปิดข้อมูลมากที่สุดคือสหรัฐฯ ตอนนี้ ประเทศไทยมีหน่วยงานที่พยายามเปิดข้อมูลอยู่แล้วคือ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์หรือ EGA ที่ผลักดันให้เกิด Data.go.th ปัจจุบันมี 873 ชุดข้อมูล ครอบคลุม 200 เรื่อง แต่ยังต้องทำเพิ่มอีกมาก
รัฐบาลมีข้อมูลประชาชนมากตั้งแต่เกิดจนตาย จึงควรเชื่อมข้อมูลข้ามกระทรวงและข้ามหน่วยงาน เพื่อพัฒนาและสามารถกำหนดนโยบายประเทศได้บนฐานข้อมูลจริง การเปิดเผยข้อมูลจะช่วยให้ภาครัฐจะทำงานได้ดีขึ้นด้วย
ตัวอย่างหากรัฐต้องกำหนดนโยบายพัฒนาการศึกษา ก็เชื่อมข้อมูลการศึกษา กับการทำงาน วงการธุรกิจและราชการเข้าด้วยกัน หรือกำหนดนโยบายช่วยเหลือคนจน ก็เชื่อมข้อมูลการทำงาน สวัสดิการแรงงาน ทรัพย์สิน ภาษี ที่อยู่อาศัย เข้ามาไว้ด้วยกัน จะทำนโยบายได้ง่ายกว่าแต่สถานะข้อมูลทุกวันนี้ ต่างฝ่ายต่างแยกกันจัดเก็บ ขาดความเชื่อมโยง
ในส่วนนี้ TDRI เสนอให้รัฐทำนโยบายแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ อาจจะให้สภาพัฒน์ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการกำหนดนโยบายมาดูแลการเชื่อมฐานข้อมูลภาครัฐ นอกจากนี้ยังเสนอให้ทุ่มงบประมาณเพื่อจัดการข้อมูลให้มากกว่านี้ เทียบกับสหรัฐฯแล้ว ไทยยังลงทุนน้อยกว่าหลายเท่า สำนักงานสถิติแห่งชาติได้รับเงินลงทุนเพียง 14.1 บาทต่อจำนวนประชากร ในขณะที่หน่วยงาน Census Bureau ของสหรัฐฯได้รับเงินลงทุน 181.1 บาทต่อจำนวนประชากร
รับชมคลิปเสวนาเต็มและดูรูปกราฟิกประกอบเนื้อหาได้ที่ TDRI
Comments
มีเวลาเตร ?
ขอบคุณค่ะ
“เมื่อมีการเปิดข้อมูล แต่ละโรงเรียนจะแข่งขันยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนมากขึ้น“อื้อหือ ทุกวันนี้ก็แข่งกันรุนแรงมาก ๆ อยู่แล้วนะครับ แข่งกันปล่อยเกรด แข่งกันทำห้องคิงห้องพิเศษ แข่งกนัเอารูปเด็กแปะหน้าโรงเรียน มันดีแน่ครับถ้าข้อสอบมันวัดเด็กได้จริง ๆ และหลักสูตรมันถูกปฏิรูปมาดีจริง ไม่งั้นเด็กไทยก็คงเป็นนกแก้งนกขุนทองกันต่อไป
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
+1 ตกใจมาก กับโรงเรียนสมัยนี้ ห้องพิเศษเต็มไปหมด สุดท้ายมันจะพิเศษจริงเหรอ สมัยผมเรียนไม่เห็นมีแบบนี้
ตรงกันข้าม ข้อมูลพวกนี้กลุ่มคนที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆกลับมีแต่กลุ่มนายทุนต่างประเทศ
(หรือรัฐบาลต่างชาติ) ที่มีทุนทรัพย์ในการลงทุนประมวลผล big data / หรือใช้ควอนตัมคอมพิวเตอร์พยากรณ์แนวโน้มผลสรุปในอนาคต
เป็นนโยบายแอบแฝงในการเก็บข้อมูลทรัพยากรของประเทศอื่นๆ. (ในยุคเก่า ใช้ "สถานทูต" ในการสืบหาทรัพยากร)
ซึ่งเทคโนโลยีพวกนี้ก็ถือเป็น "ความลับ" ของประเทศอื่น ซึ่งก็ "มิได้เปิดเผยหรือมอบให้กับประเทศอื่นใดได้ใช้เช่นกัน" หรือ "มีราคาสูงลิ่ว" จนมิได้เป็นสิทธ์แก่ประเทศอื่นใดที่จะจัดซื้อหาไปใช้เช่นกัน
นั่นคือการมอบอำนาจให้นายทุนต่างประเทศ เสาะแสวงหาผลประโยชน์ และสามารถรับรู้สถานการณ์ สามารถกด - สร้างสถานการณ์เพื่อทำลายการค้าของบริษัทสัญชาติไทยได้ง่ายขึ้น . สามารถแสวงหาสถานการณ์ในการ - ทุบหุ้น - กว้านซื้อ ได้ง่ายขึ้น . เพราะทราบการเคลื่อนไหวของประเทศอื่นตลอดเวลา
ข้อมูลของรัฐเป็นสมบัติของรัฐ ไม่ควรเปิดเผยให้แก่ผู้ใด สหรัฐเองก็ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลสำคัญของตนเอง .แต่พยายามช่วงชิงข้อมูลจากประเทศลูกจ๊อก
วาทกรรมของลุงในภาพก็เป็นแค่การล่อลวงให้เปิดเผยข้อมูลอันมิควรจะเปิด. เพื่อประโยชน์ของพรรคพวก นายทุนต่างชาติเพียงกลุ่มเดียว
ข้อกังวลคือ : กลุ่มคณะรัฐบาลในปัจจุบัน เป็นคนในยุค analog ซึ่งอาจรู้ไม่เท่าทันเล่ห์กลของเทคโนโลยีและอาจ ถูกวาทกรรมเหล่านี้ล่อลวง ได้โดยง่าย จนเสียรู้ในที่สุด
ข้อเสนอ : ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลประเภท ทรัพยากร / ข้อมูลเชิงพานิชย์ / กรรมสิทธ์ที่ดิน / การใช้จ่ายของรัฐ
แก่ผู้ใดในลักษณะ digital และไม่จำเป็นต้องใช้อินเตอร์เนตในการรับส่งข้อมูล
ทุกอย่างที่เป็นข้อมูลต้องทำในระบบปิด .
การเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างต้องทำเป็นเอกสารขออย่างเป็นทางการ และต้องมารับเอง ณ หน่วยงาน
มิใช่ไปเปิดเผยอย่างสุ่ม เพราะผู้นำข้อมูลไปใช้ [ ต้องมีความรับผิดชอบ ]
ข้อเท็จจริง : บริษัทต่างๆก็ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลที่ตนเองสำรวจ เพราะเป็นทรัพย์สินจากการสำรวจ ของบริษัทนั้นๆ .
สนับสนุน : ข้อมูลทาง "สังคม" เช่น อาชญากรรม / การศึกษา / ปริมาณขยะ / ปริมาณประชากรต่อพื่นที่ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยตรง
ไม่สนับสนุน : ข้อมูลทางทรัพยากร ข้อมูลเชิงพานิชย์ ข้อมูลการบริโภค
+1บางอย่างควร และบางอย่างไม่ควร
ผมว่านายทุนต่างชาตินี่ไม่ต้องหวังพึ่งข้อมูลของรัฐในการทำสิ่งต่างๆที่คุณว่านะครับ
ข้อมูลของรัฐที่ไม่สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ เก็บไว้กับตัวก็ไม่มีความหมายครับ การกลัวนายทุนและการลงทุน สุดท้ายจะกลายเป็นไม่มีใครมาลงทุน ทำให้สุดท้ายเราไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ครับ
ยกเว้นแต่ว่าเราจะกลัวทุนนิยม(แบบผสม) จนหัวหดแล้วไม่อยากแข่งนั่นแหละครับ ซึ่งผมมองไม่ออกว่าการต่อต้านทุนนิยม(แบบผสม)ในยุคปัจจุบันจะสร้างผลดีอะไรขึ้นมาครับ รังแต่จะทำให้เศรษฐกิจถดถอย คนตกงาน เสียดุลการค้า ซึ่งเป็นผลเสียมากกว่าทั้งนั้น ยกเว้นคนทุกคนจะมี mindset ว่าควรกลับไปทำไร่ทำสวนทำนา เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่เลี้ยงปลา ไม่ต้องมีมือถือไม่ต้องมีรถไม่ต้องมี etc. ซึ่งผมมองว่าเป็นไปไม่ได้ครับ
Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)
พวกตัวใหญ่ๆ เค้าไม่รอรัฐหรอกครับ เค้าสำรวจเองเลย ข้อมูลบางอย่างสำรวจเองยังน่าเชื่อถือกว่าอีก แม้จะมีข้อจำกัดบ้าง แต่ก็ได้รู้สภาพจริงจากข้อมูลปฐมภูมิ ถ้ารอเอาข้อมูลจากรัฐก็จะได้รู้ว่าประชาชนมีความสุขดีทุกคนครับ
คนที่มีทุน เขาไม่รอข้อมูลจากทางรัฐหรอกครับ เขาลงสำรวจเองเลย จะเปิดหรือไม่เปิด ผมว่าไม่แตกต่างอะไร
ผมกลับมองว่า การเปิดข้อมูล เป็นการช่วยผู้ประกอบการไทยที่ทุนน้อยให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้นเพื่อไปสู้ต่างชาติมากกว่า ไม่งั้นผู้เล่นหน้าใหม่ คนที่มี Idea ใหม่ๆ แต่ติดที่ทุนไม่เยอะและต้องการข้อมูลพวกนี้ คงไม่ได้เกิดง่ายๆ อ่ะครับ
ผมว่าทุกวันนี้เผลอๆเลย บางอย่างรัฐต้องขอข้อมูลจากเอกชนนะครับ เดี๋ยวนี้โลกมันเปลี่ยนแปลงไป บางอย่างก็ต้องเกื้อหนุนกันมันถึงจะไปเร็ว
เปิดข้อมูล > ถ่ายเอกสาร
ขนาดทุกวันนี้ เห็นชัดๆ ยังทำอะไรไม่ได้เลยครับแหมะ ญาติเขา