Tags:
Topics: 
Node Thumbnail

ต่อจาก ตอนที่แล้ว ใน Section นี้มีคนที่ทำงานวงในอุตสาหกรรมเกม มีชื่อเสียงระดับโลกมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และยังมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศรีปทุมในสาขาที่สอนเรื่องเกมโดยเฉพาะ เริ่มจาก คุณกานต์ ศุภบรรพต Co-Founder Game Art – Hive Studioเล่าที่มาและข้อมูลบริษัทให้ฟังว่า สร้าง Hive Studio เพราะอยากเห็นคนไทยเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตงาน ไม่ใช่แค่เกม แต่ยังรวมการ์ตูน ศิลปะ ของเล่น ระดับโลก ผลงานบริษัทที่ผ่านมาได้แก่ ร่วมงานทำการ์ตูนกับ Marvel

alt=

วิทยากรคนที่ 2-6 จากซ้ายไปขวา กานต์ ศุภบรรพต Co-Founder Game Art – Hive Studio, สุรศักดิ์ วินิจ Thailand Partnership Manager ที่ Switch, ตรีภพ เที่ยงตรง หรือแชมป์ เจ้าของฉายา Xyclopz บนแพลตฟอร์ม Switch, สมชาย พัฒนแหวว Manager Director จาก Chess Game, สืบสกุล ศรีสาคร ผู้ก่อตั้ง Imotion-Simulator

ตอนแรกที่เริ่มทำค่อนข้างลำบาก เพราะไม่มีใครเข้าใจสิ่งที่เราทำ ไม่มีใครยอมรับ ไม่มีอะไรชัดเจน สมัยนั้นมีหนังสือมากมายแต่มีไม่กี่เล่มที่เป็นเรื่องเกมปัจจุบันสดใสขึ้นเพราะการเกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ทำให้เกมเป็นที่ยอมรับมากขึ้น และสายงานอาร์ต การ์ตูน กราฟิก ก็เป็นที่ต้องการของตลาดเกมอยู่แล้ว

ต่อมาคือ คุณสุรศักดิ์ วินิจ Thailand Partnership Manager Switchเล่าให้ฟังว่า Twitch เป็นสังคมคนเล่นเกมที่ใหญ่มาก และยังสร้างรายได้ให้คนเล่นเกม และสร้างการยอมรับจากสังคม เริ่มจากคนเล่นเกมอยาโชว์เกมใหม่ๆ พรีเซนต์ตัวเองโดยไม่ต้องผ่านนายหน้า รายได้มาจากคนดู ค่าโฆษณาที่แพลตฟอร์มแบ่งให้ และสปอนเซอร์อื่นๆ ในอนาคตจะทำให้แพลตฟอร์มมีปุ่มซื้อเกม โดยแบ่งรายได้ให้ผู้เล่น (Streamer)

Switch เป็นอีกช่องทางรายได้ของคนเล่นเกม หลายคนคิดว่าเล่นเกมจะได้เงินก็ต่อเมื่อแข่งชนะ ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะ แพลตฟอร์มสตรีมช่วยสร้างรายได้ให้เกมเมอร์ในอีกทางหนึ่ง

ตรีภพ เที่ยงตรง หรือแชมป์ เจ้าของฉายา Xyclopzเกมคอมเมนเตเตอร์ชาวไทย ที่มีผู้ติดตามจากทั่วโลกบนแพลตฟอร์ม Swicth เล่าว่ามาเป็นนักพากย์เกมได้เพราะอยากจัดการแข่งเกม แต่ไม่มีเงินไปจ้างคนพากย์ เลยต้องพากย์เอง ตอนแรกพากย์เกมเป็นภาษาไทยก็โดนโจมตีมาก ทำให้ต้องปรับตัวมาพากย์ภาษาอังกฤษซึ่งตอนนั้นมีพื้นฐานอยู่บ้างแต่ไม่มาก โชคดีที่คนบน Twitch ใจกว้าง จึงพากย์มาเรื่อยๆ จนเก่งขึ้น ปัจจุบันบินไปพากย์เกมในหลายประเทศ มีคนติดตามทั้งชาวไทยและต่างชาติหลายหมื่นคน

นอกจากได้ทำงานเกมที่ชอบแล้ว ภาษาอังกฤษก็พัฒนาขึ้นมาก เกมให้ทักษะหลายอย่าง การพากย์เกมเป็นทางเลือกสร้างรายได้ด้านเกมที่ดีทางหนึ่งเลยทีเดียว การพากย์เกมมีเสน่ห์คือได้เสนอความเป็นตัวเราให้คนทั่วโลกเห็น

ต่อมาคือ คุณสมชาย พัฒนแหวว Manager Director จาก Chess Gameแพลตฟอร์มนำเข้าเกมหลากหลาย พูดถึงการรับสมัครคนมาร่วมงานกับบริษัทว่า ไม่จำเป็นต้องเรียนสูงขอแค่ใจรักในเกม คุณสมชาย เล่าว่าในการมองหาเพื่อนร่วมงาน เราต้องการประสบการณ์เพื่อมาตอบสนองของลูกค้าซึ่งก็คือคนเล่นเกม บุคลากรในบริษัทตอนนี้ส่วนใหญ่เรียนไม่จบ แต่ไม่ได้หมายความว่าเล่นเกมแล้วเรียนไม่จบ เพราะมันอาจมาจากหลายปัจจัย เช่น เศรษฐกิจและครอบครัว คนเรียนจบสูงมีความสามารถก็ไม่ได้หมายความว่าจะมาทำธุรกิจเดียวกับเราได้ดี

คุณสืบสกุล ศรีสาคร ผู้ก่อตั้ง Imotion-Simulatorเริ่มเส้นทางการงานของตัวเองด้วยคามอยากรู้อยากเห็นว่า ถ้าเกมตู้ เกม Simulator มาตั้งที่บ้านจะเป็นอย่างไร คุณสืบสกุลเคยทำงานการบินไทยแผนก Simulator จึงมีพื้นฐานด้านนี้ แต่ถ้านำเข้าเราจะสู้บริษัทที่สายป่านยาวไม่ได้ จึงทำเองประกอบเองเลย ยืนยันว่าวงการน้ไม่มีอะไรง่าย แต่ถ้าใครอยากมาทำงานด้วยกัน ก็ไม่จำเป็นต้องจบสูง ขอแค่คุยกันรู้เรื่อง ทักษะฝึกได้ แต่ passion ฝึกไม่ได้

การเรียนการสอนเรื่องเกมในสถาบันอุดมศึกษาไทย

วงการ e-Sport มีทั้งไปแข่งในระดับโลก เรียกได้ว่าไม่ต่างจากแข่งกีฬานานาชาติ และยังมีสายอาชีพที่เกี่ยวกับเกมมากมาย แล้วภาคการศึษาของไทยทุกวันนี้ตอบโจทย์สายอาชีพนี้แล้วหรือยัง ในช่วงสุดท้ายได้พูดคุยกับ ดร.อติเทพ แจ้ดนาลาว หัวหน้าสาขาการออกแบบอินเตอร์แอคทีฟและเกม คณะดิจิตอลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุมเป็นมหาวิทยาลัยลำดับแรกๆ ที่เริ่มเปิดสาขาวิชาด้านเกม และ คุณจัตุพร รักไทยเจริญชีพ นักพัฒนา Mad VR Studio ผู้พัฒนาเกม Araya

alt=

ดร.อติเทพ เล่าภาพรวมการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยว่า มีหลักสูตร Digital Media ประกอบด้วยอีก 4 หลักสูตรย่อยคือ Digital Art, Graphic Design, Animation Visual Effect และ ออกแบบ interactive เกม ผู้สอนส่วนใหญ่ เป็นคนในอุตสาหกรรมเกม สอนนักศึกษาและพัฒนาหลักสูตรมาจากประสบการณ์จริง และหนึ่งในนักศึกษาของสถาบันคือ ณจัตุพร รักไทยเจริญชีพ หรือ กอล์ฟจาก เกม Araya นั่นเอง

กอล์ฟ เล่าว่าไปเรียนตอนอายุมากแล้ว เพราะสมัยก่อนไม่มีสถาบันสอนเรื่องเกม ตอนมาเรียนก็กู้เงิน กยศ.มาเรียน โดยกอล์ฟเข้าเรียนสาขา Interactive เกม ตอนแรกก็คาดหวังว่าเรียนแล้วจะทำเกมได้เลย จนไเ้มาเรียนรู้ว่าการทำเกมมันมีหลายส่วนประกอบกัน คือ art, animation, coding, sound และการตลาด อีกสิ่งที่คุณกอล์ฟได้เรียนรู้คือ การทำงานเป็นทีม และคอนเนคชั่นจากอาจารย์ที่มีประสบการณ์ตรงในอุตสาหกรรมเกม

คุณกอล์ฟ เพิ่มเติมว่า การทำเกมไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว อยากให้เปิดใจการทำงานเป็นทีม เรื่องทักษะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

ดร.อติเทพ เล่าต่อว่า สาขาเกมเปิดสอนมากว่าสิบปีแล้ว ล่าสุดมีรายวิชา e-Sport สอนเกี่ยวกับการเป็น ผู้เล่น ผู้จัดการ การแคสติ้ง การจัดการแข่งขัน และคอสเพลย์ด้วย ฝากถึงอุตสาหกรรมเกมว่า อยากให้ภาคการศึกษาผลิตคนแบบไหนจะได้ตอบโจทย์ ก็ให้เข้ามาช่วยกันสร้างและพัฒนาหลักสูตร และฝากถึงนักศึกษาที่สนใจอยากมาเรียน ว่า ต้องชอบการทำเกมจริงๆ ไม่ใช่แค่ชอบเล่นเกม เพราะการทำเกมมีทั้งงานออกแบบ เขียนโค้ด ถ้าไม่ได้ชอบมากขนาดนั้นอาจทำให้เรียนลำบาก ไม่มีความสุข

Get latest news from Blognone