ช่วงนี้มีคนแชร์ข่าวเรื่อง "Google/Facebook ยอมจ่ายภาษีในออสเตรเลีย กว่า 2 พันล้านเหรียญ" ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนในรายละเอียดอยู่พอสมควร บวกกับกระแสความพยายามเก็บภาษีบริษัทออนไลน์ต่างชาติของบ้านเรา ทาง Blognone จึงคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะขยายความในเรื่องนี้ครับ
อย่างแรกเลยคือข่าวการเก็บภาษีของออสเตรเลียไม่ใช่ข่าวใหม่ เพราะกฎหมายผ่านสภาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2017 และเพิ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2017 มันจึงถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง
อย่างที่สองคือ Google/Facebook ไม่ได้จู่ๆ หันมา "ยอมจ่ายภาษี" ให้กับออสเตรเลียแบบง่ายๆ แต่จริงๆ แล้วมันคือกฎหมายฉบับใหม่ของออสเตรเลีย ที่พยายามเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติทุกราย ไม่ใช่แค่ Google/Facebook ตามที่เป็นข่าว
รู้จักกฎหมาย Diverted Profits Tax
กฎหมายฉบับนี้ชื่อว่า Diverted Profits Tax(เรียกกันย่อๆ ว่า DPT) มันคือกฎหมายที่เพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการภาษี (Commissioner of Taxation) มีอำนาจเรียกเก็บภาษีของบริษัทข้ามชาติที่เลี่ยงการจ่ายภาษีในออสเตรเลีย โดยหันไปจ่ายภาษีในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่า
The Diverted Profits Tax, announced in the 2016-17 Budget, targets multinationals that enter into arrangements to divert their Australian profits to offshore related parties in order to avoid paying Australian tax.
บริษัทที่เข้าข่ายจะต้องมี รายได้ทั่วโลกมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียต่อปี (คิดตามค่าเงินปัจจุบันคือ 2.6 หมื่นล้านบาท) และมี รายได้ในออสเตรเลียมากกว่า 25 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (650 ล้านบาท) โดยจะต้องเสียภาษีในอัตรา 40% ซึ่งสูงกว่าอัตราภาษีนิติบุคคลของออสเตรเลียที่กำหนดไว้ 30%
กฎหมายนี้ไม่ครอบคลุมถึงกองทุนของต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในออสเตรเลีย รวมถึงบริษัทที่มีรัฐบาลต่างชาติเป็นเจ้าของ
ตัวอย่างบริษัทที่เข้าข่ายก็คือบริษัทที่เราคุ้นชื่อกันดีอย่าง Apple, Google, Facebook ไปจนถึงบริษัทข้ามชาติในอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่าง Chevron ตัวเลขของทางการออสเตรเลียระบุว่ามีทั้งหมด 175 บริษัท
ภาพประกอบจาก Pexels
ทำไมต้องเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ
ออสเตรเลียพยายามเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติมานานแล้ว โดยมีมาตรการต่างๆ หลายอย่าง ทั้งการออกกฎหมาย และการสอบบัญชี ในส่วนของกฎหมายนั้น ออสเตรเลียมีกฎหมายอีกฉบับคือ Multinational Anti-Avoidance Law (MAAL) ใช้งานอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถครอบคลุมได้กับบริษัทข้ามชาติทุกราย จึงต้องออกกฎหมาย DPT มาเพิ่มเติม
Scott Morrison รัฐมนตรีการคลังของออสเตรเลีย ระบุว่ากฎหมาย DPT จะช่วยให้รัฐบาลออสเตรเลียเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ได้ง่ายขึ้น และลดการต่อต้านของบริษัทข้ามชาติลงไป (เช่น อ้างว่าไม่มีกฎหมายครอบคลุม) ส่งผลให้ระยะเวลาการเรียกเก็บภาษีลดลงไปได้ด้วย
ออสเตรเลียไม่ใช่ประเทศแรกที่มีกฎหมายเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ เพราะสหราชอาณาจักรก็มีกฎหมายชื่อ Diverted Profits Tax แบบเดียวกัน
เว็บไซต์ The Conversation ของออสเตรเลีย แสดงความเห็นต่อกฎหมายฉบับนี้ว่ายังเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน และต้องรอดูว่าในทางปฏิบัติแล้ว หน่วยงานเก็บภาษีของออสเตรเลียจะบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ได้อย่างไร
สรุป
กล่าวโดยสรุปคือ ปัญหาบริษัทข้ามชาติเลี่ยงภาษี เป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลทั่วโลกต้องเจอ และรัฐบาลแต่ละประเทศก็มีมาตรการที่แตกต่างกันไป ในข่าวนี้เป็นตัวอย่างของรัฐบาลออสเตรเลีย ที่ใช้กระบวนการทางกฎหมาย ออกกฎหมายมาเพิ่มอำนาจให้หน่วยงานเก็บภาษี พร้อมกับการใช้การเจรจากดดันให้บริษัทข้ามชาติยอมมาเสียภาษีด้วยนั่นเอง
ดังนั้นในข่าวนี้คงไม่ได้แปลว่า "Google/Facebook ยอมจ่ายภาษีให้ออสเตรเลียแล้ว" แต่เป็น "ออสเตรเลียออกกฎหมายใหม่เพื่อเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ" ซึ่งบริษัทข้ามชาติจะยอมจ่ายหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป เพราะเพิ่งมีผลในปีภาษีปีนี้ (2017)
ปัญหาการเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติที่โด่งดังเมื่อปีที่แล้วคือ คณะกรรมาธิการยุโรปตัดสิน แอปเปิลเลี่ยงภาษีในไอร์แลนด์นาน 11 ปี มูลค่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งแอปเปิลก็มีปัญหานี้ในประเทศอื่นๆ เช่น นิวซีแลนด์ , ญี่ปุ่น , อิตาลี
ที่มา - กระทรวงการคลังออสเตรเลีย Australian Taxation Office , Baker McKenzie , Sydney Morning Herald , The Independent
Comments
ถ้าจะทำมาหากินกับคนในประเทศไหนก็ต้องจ่ายภาษีป่ะ คือเราไม่ได้เลือกเชียร์ตามคน แต่เชียร์ตามผิดถูกจริงไทยควรมีกฎหมายแบบเดียวกันได้แล้ว
อันนี้แล้วแต่กรณีเลยครับ เรามีข้อตกลงมากมายที่ "ลดภาษี" ไปจนถึง "ยกเว้นภาษี" ให้กับสินค้าและบริการที่มีต้นทางในชาติต่างๆ
ตอนอยากได้ภาษีนี่ทุกชาติอยากได้กันหมด (เช่นเดียวกับที่อยากควบคุม อยากจำกัดไม่ให้ต่างชาติเข้ามา ฯลฯ) แต่กฎพวกนี้จะออกก็คิดหน้าคิดหลังกันดีๆ คุยกับให้รอบคอบ ตอนที่เราไปลงนามข้อตกลงต่างๆ ไว้เราก็ได้จากเขามาเหมือนกัน พอเห็นเขามาได้จากเราแล้วโวยออกกฎไม่คิดหน้าคิดหลัง ถ้าโดนตอบโต้แล้วจะกระทบหนัก
lewcpe.com , @wasonliw
หลักๆคือบริษัท ไปตั้งในที่เสียภาษีน้อยๆ ส่งรายได้ไปคิดภาษีในอีกประเทศ จริงๆคือการเลียงภาษีคับ ผมรู้จักบริษัท Online ใหญ่ระดับโลก ที่ทำแบบนี้ไม่ต่ำกว่า 3 บริษัท แบบที่คุณบอกนะมีแต่ส่วนน้อยครับแล้วยังไม่ร่วมภาษีที่เมือก่อนหนักว่านี้คือไม่เสียอะไรเข้ามาในไทยเลยเป็นอีกไม่รู้กี่ปีครับ ซึ่งภาษีสามารถคิดย้อนหลังได้ถ้าไม่ได้จ่าย
ใครคิดภาษีใครครับ?
อย่างกรณีในบทความนี้ การส่งรายได้ไปคิดภาษีในประเทศภาษีต่ำ "เป็นเรื่องถูกกฎหมาย" ก่อนหน้ากฎหมายนี้นะครับ แม้แต่หลังจากนี้ก็น่าจะทำได้อยู่แต่มีมาตรการกำแพงเพิ่มเติม (ซึ่งชวนให้ลงบัญชีเสียภาษีในประเทศ)
lewcpe.com , @wasonliw
อันนี้คือโดยรวมแล้วถ้าสามารถเก็บภาษีได้นี่เป็นเรื่องดีนะครับ แต่อย่างกรณีนี้นี้ออสเตรเลียดูจะมุ่งเป้าการลงบัญชีไปที่ไอร์แลนด์หรือสิงคโปร์ (ซึ่งภาษีต่ำกว่า) ผมไม่แน่ใจว่าในแง่ของไทยเรามีข้อตกลงต่างหรือเหมือนกันอย่างไรบ้างที่ทำแบบเขาได้ไหม
แต่ผมไม่คิดว่ามันจะมองง่ายๆ ว่าเขาไม่ยอมเสียภาษีบ้านเราแล้วก็ไปบังคับให้เขามาเสีย
lewcpe.com , @wasonliw
ผมว่า ภพ.36 ที่คล้ายๆ หัก ณ.ที่จ่ายหรือ vat (ผมไม่ค่อยแน่ใจ) เวลาซื้อ services จากต่าวประเทศก็พอมั๊ง
ออกกฎหมายต้องนึกถึงผลกระทบด้วย เพราะในโลกนี้มีหลายประเทศนะ
ประเทศทั้งหลายในโลกต้องร่วมมือกันจัดตั้งหน่วยดูแลด้านภาษีของบริษัทข้ามชาติที่มีรายได้ในหลายๆประเทศโดยหน่วยงานนี้จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนสรรพากรของแต่ละประเทศ ช่วยเก็บภาษีแทนแล้วค่อยแจกจ่ายภาษีให้ประเทสต่างๆอีกที
ถ้ายังแยกกันเก็บภาษีมันแบบปัจุบันก็จะมีประเทศหัวหมอแบบประเทศไอร์แลนด์ที่ทำกับEU คือให้บริษัทต่างๆไปตั้งในไอร์แลนแล้วส่งรายรับจากประเทศต่างๆในEUมาที่ไอร์แลนด์อีกที โดยไอร์แลนด์จะยอมเก็บภาษีบริษัทน้อยๆแลกกับการที่ได้อัตราการจ้างงานเพิ่มเพราะมีบริษัทมาตั้งสำนักงานในประเทศ แล้วยังมีพวกประเทศเกาะต่างๆที่เป็น Tax Haven อีกเพียบอย่างที่เป็นข่าวก็ ปานามา เป็นต้น
จริงๆเรื่องภาษี+การกำกับดูแลนี่ผมเห็นด้วยว่าควรมีแต่บ้านเราติดที่ชอบมาโมเดล Extreme ไม่ฟังเสียงใครเกินไป
จริงๆ มันก็กำกับดูแลกันทั้งโลกแหล่ะ ไม่มีประเทศไหนปล่อยธุรกิจข้ามชาติหรอก เพียงแต่ว่า วิธีกำกับดูแลมันจะโดนคติ/อคติในชาติหรือต่างชาติ ทำให้ดูดีเกินจริงหรือแย่เกินจริง
สุดท้ายเรื่องพวกนี้มันอยู่ที่โมเดลผลประโยชน์เสียมากกว่า ... ถ้าประเทศเรา "ฐานลูกค้า" น้อยในระดับ "ทิ้งก็ได้" เขาก็จะทิ้งไป แต่ถ้าประเทศเรามีลูกค้าเยอะในระดับที่ "ไม่ควรทิ้ง" เขาก็จะยอมตัดกำไร จากเดิมได้ 100 เหลือได้ 50 ก็ดีกว่าได้ 0 .... ยอมหยวนๆบางเรื่อง ดีกว่าเสียธุรกิจ... การเจรจาต่อรองมันก็เป็นแบบนั้น
ที่สุดแล้วมันอยู่ที่ความมั่นใจของคนในประเทศด้วยว่าใหญ่พอหรือเปล่าที่จะรั้งเค้าไว้แล้วต่อรอง (บ้างเรา ดูๆแล้วไม่เชื่อว่ายอดขายสูงกำไรสูง ทั้งที่บริการสองอย่างนี้บ้านเราก็ต้นๆ จ่ายต้นๆลงทุนโฆษณาต้นๆ เทียบกับประเทศอื่น) ดังนั้นความไม่มั่นใจของเรา จะเป็น "พลัง" ให้เขามีอำนาจต่อรองสูงขึ้นเรื่อยๆเอง (ดูจากการประท้วงโวยวาย แค่บล๊อควันเดียวหรือล่มวันเดียวสิ ถ้าผมเปิดบริการให้ใช้แล้วคนผูกติดขนาดนี้ผมนั่งยิ้มอ่ะ เพราะกฎหมายประเทศต้นทางคงทำอะไรผมไม่ได้ มีโล่มนุษย์อยู่)
และถ้าในระดับประเทศลูกค้ายังไม่เยอะพอ ... ก็จับระดับภูมิภาค ระดับทวีป ... ถ้าสุดท้ายมันได้กันทุกประเทศ จะมีใครไม่อยากได้ ... แต่สุดท้ายบ้านเราจะ "กลัวเค้าไป" "กลัวเค้าไม่ให้ใช้" .... มันขัดกับโมเดลธุรกิจบริการมากนะ ที่ยิ่งมีคนใช้ยิ่งดีสิ
เหมือนคอรัปชั่นที่รากลึกในบ้านเรา ... ถามว่าเจ้าของธุรกิจ/คนติดต่องานไม่รู้เหรอว่ามันผิด เข้าแล้วออกยาก ก็รู้ทั้งนั้น แต่ทำไมยอมจ่ายกัน ก็เพราะสุดท้ายแล้วพอมองประโยชน์ในวงแคบมันคุ้มค่ากว่าไง (รอประสานงาน รอตามคิวสามวันอาจจะยังไม่ได้ แต่ถ้าใส่เงินไปข้างใต้สองชั่วโมงเสร็จ ... ตรวจของนำเข้าภาษีถูกต้องแต่ของออกไม่ได้ รอตรวจ รอสุ่มตรวจ รอตรวจ รอสุ่มตรวจ ดึงให้ดีเลย์ไปสักเดือนสองเดือน) พอสุดท้ายก็ยอมกันอยู่ดี
ยิ่งมีคนใช้ยิ่งดีมันจะใช้ได้ในลักษณะที่จำนวนคนใช้แปลเป็นรายได้ แปลเป็นกำไรได้โดยตรงครับ
ส่วนเรื่องโล่มนุษย์ ผมว่ามันก็เป็นกันทุกฝ่ายนะ ทั้งรัฐทั้งเอกชนทั้งเอกชนข้ามชาติ อย่างรัฐเองที่กล้าออกกฎหมายก็เพราะมีประชาชนเป็นตัวประกันเหมือนกัน
Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)
ไม่เข้าใจคนที่ปกป้อง ไม่ให้รบ.เก็บภาษีจากบ.พวกนี้ซักเท่าไหร่เก็บมาได้ก็เป็นเงินของประเทศ เป็นของทุกคน ดันหลอนกลัวนั่นกลัวนี่
ผมว่าไม่มีคนไม่อยากให้เก็บภาษีมาใช้หรอกครับ เพียงแต่ว่าวิธีเก็บภาษีมันต้องมีหลักการ ต้องให้คนอื่นยอมรับ ไม่ใช่ไปเก็บดื้อๆคิดอยากจะเก็บก็เก็บ ไม่งั้นมันจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี เช่น 4.0 ที่กำลังผลักดัน แทนจะมีเงินไหลเข้ามาให้ เกิดต่างชาติใช้วิธีนี้กับเราบ้างเราก็จบแล้วครับ
รวมถึงวิธีใช้ภาษีก็เช่นกัน ต้องใช้ให้คนยอมรับ ไม่ใช่คิดอยากจะสร้างอะไรก็เซ็นๆๆอนุมัติไม่ผ่านขั้นตอนหรือหลักการอะไรเลย
Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)
ทำอะไรก็ต้องคิดถึงผลกระทบ จะมองว่าเราได้อะไรบ้าง แต่ไม่มองส่วนเสียไม่ได้ ถ้าจะทำก็ต้องรอบคอบ ให้แน่ใจว่าได้ประโยชน์ ไม่ใช่กลายเป็นขาดทุน
ตอนนี้คือ fb, gg, yt มีรายได้จากไทยแต่รบ.ไทยไม่ได้ภาษีเลย
เรามีสิทธิจะเรียกภาษีถ้าไม่เห็นด้วยกับโมเดลนี้ ก็ควรเสนอโมเดลอื่นสิครับ
แต่ที่ดาหน้ากันออกมา ได้ฟิลเหมือนจะให้ บ.เหล่านี้ไม่ต้องเสียภาษีเพราะบริการเค้ามาโปรดให้ประเทศด้อยพัฒนาของเราได้ใช้ นะครับ
อันนี้ผมเขียนไว้บางส่วนแล้วที่ กระทู้เก่า หน่ะครับ
คือ Tax ที่อยากจะได้กันตอนนี้เนี่ย ไม่ใช่ VAT นี่สิครับ แต่ดันอยากได้เป็น Tax ที่เกิดจากรายได้หรือ Coporate Tax ซึ่งส่วนนี้มันต้องทำตาม Treaties เช่น Treaty ของ สิงคโปร์ ซึ่งถ้าเราอยากได้ Tax ตัวนี้เราต้องไปตกลงความร่วมมือกับชาติต่างๆครับ ซึ่งเอาเข้าจริงๆไม่มีใครจะอยากมาให้ความร่วมมือหรอก เนื่องจากไม่ได้ผลประโยชน์
ส่วน Tax ที่เป็น VAT นี่ผมว่าเก็บหรือไม่เก็บก็ไม่สำคัญอะไรนะ เพราะบริการเหล่่านี้เรามีแต่ VAT ขาออกอยู่แล้วไม่มี VAT ขาเข้า ซึ่ง VAT ขาออกพวกนี้สุดท้ายก็มาหักลบปกติกับ VAT ที่เก็บกับ end user อยู่ดี
ส่วนเรื่องที่ agency ไม่ต้องเสียภาษีนี่ก็คงไม่ใช่นี่ครับ ถ้า agency ทำบัญชีถูกจริง มันต้องมีรายได้มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นอยู่แล้ว ถ้าเป็นที่ agency ไม่จ่ายให้ถูก ก็ควรจะไปลงที่ agency มากกว่าลงที่บริการนะ ยกเว้นแต่จะเป็น agency ต่างประเทศที่ไม่ต้องจ่ายให้ไทย(แต่จ่ายที่ประเทศปลายทาง)นั่นแหละ
Edit: พึ่งหาข้อมูลเจอว่า เอาจริงๆเรื่อง treaties นี่เค้าก็มีความร่วมมือ MLI กันนะครับ เมื่อเดือนที่แล้วเค้าก็ไป เซ็นต์ลงชื่อ กันมา
Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)
ข่าวนี้ต้องเข้าใจ UK ก่อนนะครับ
UK เป็นประเทศที่เก็บภาษีได้เก่งเสียสติมาก อันดับต้นๆของโลก
ถ้าเทียบฝีมือก็เรียกได้ว่าเป็นชั้นอ๋องของวงการการเก็บภาษีโลก
มันถึงได้เกิด DPT หรือ Diverted Profits Tax
ในปี 2015 เพราะ บ. ชั้นนำ ดันไปเสียภาษีในประเทศภาษีถูก
ใน Zone EU จนโดนด่าว่า "โยกหลบภาษีขนาดนี้ ละอายใจบ้างนะ"
หลังจากจ่ายภาษี "ละอายใจบ้างนะ" ย้อนหลัง ดื้อๆ ไปประมาณ
£130 ล้าน ตกปีละ £13 ล้าน จนรัฐบาล UK ประกาศ
"สำเร็จแล้ว !!!" ในปี 2015
แล้วปี 2016 เป็นยังไง มาดูกันครับ
Alphabet ซึ่งเป็น บ.แม่ของ google ประกาศยอดขาย
(ขอใช้คำไทยนะครับ) ที่สหรัฐ ว่าในเขต UK มียอดขายราวๆ
£6 พัน ล้าน แต่ครับ
Google UK ไปจ้างนักบัญชีระดับมหาเทพชั้นมีแสงออกมาจากเท้า LV.99
ที่ไหนมาก็ไม่รู้ โดนยื่นภาษี อย่างนี้ครับ รายได้ £1.06 พันล้านกำไรก่อนคิดภาษี £148 ล้าน ตกลงต้องจ่ายภาษี
corporation tax 24% ก็ £36 ล้าน ครับ
(ส่วนที่เหลือ ประมาณ 5 พันล้าน อยู่ที่เกาะ Irish ส่วนที่เป็น
เขตของ Republic of Ireland ครับ
ทางด้านซ้ายของแผนที่ UK ฮะ อยู่ในกลุ่มประเทศ EU ซะด้วย)
ก็คงต้องด่ากันต่อไป
ส่วนตัวชอบอ่าน เรื่อง Style นี้ มากเลยครับ
ตั้งแต่ Tax Heaven คนคิดได้นี่มันสุดยอดจริงๆ
เหมือนโครตเก่งเก็บภาษี มาเจอโครตเก่ง ลงบัญชีหลบภาษีข้ามโลก มาเจอกัน
โดยมีเงินเดิมพัน ระดับหลัก $ล้านล้าน กองอยู่ตรงหน้า
สนุกกว่าดูเกาจิ้ง จั่วไพ่เยอะเลยคุณ
โคตรเซียนตัดเซียนโคตร 55
คงด้วยเหตุผลการเก็บภาษีเก่งนี่ทำให้เขากล้าลดภาษี (ตอนนี้ 20% กำลังลดเหลือ 17%)
lewcpe.com , @wasonliw
บ้านเราก็เอาอย่างเค้า ในการลดภาษี แต่จะรีดภาษีได้เก่งเหมือนกับเค้ารึป่าวครับ 555
ผมอยากสอบถามเป็นความรู้เพิ่มเติมหน่อยครับว่าอย่างในกรณีนี้เรียกเก็บภาษีได้อย่างไร
หลายคนบอกว่าได้เงินจากประเทศไหนไปก็ควรเสียภาษีให้ประเทศนั้นด้วย พอผมฟังแล้วก็คิดเทียบไปกับการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ เราได้เงินจากประเทศคู่ค้าแต่ไม่เห็นว่าผู้ส่งออกจะต้องเสีย "ภาษีเงินได้" ให้กับประเทศคู่ค้าแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่ผู้ส่งออกได้เงินจากประเทศคู่ค้าตรง ๆ
ยกตัวอย่างเช่น
บริษัท A ที่ประเทศไทยส่งออกยางพาราไปยังบริษัท B ใน USA มูลค่า 10,000,000 บาท บริษัท A ก็ต้องนำทำบัญชีนำรายได้หักค่าใช้จ่ายมานำส่งภาษีเงินได้ (หรือเรียกว่าภาษีนิติบุคคลผมก็ไม่แน่ใจนะ ไม่ค่อยรู้เรื่องชื่อแต่คิดว่าหลักการก็คือเหมือนภาษีเงินได้) ให้กับประเทศไทย ส่วนบริษัท B ก็ต้องเสียภาษีนำเข้าที่ประเทศคู่ค้า (ถ้ามี) และเสียภาษีเงินได้ที่ประเทศคู่ค้าเช่นกัน ไม่เคยเห็นว่าบริษัท A จะต้องเสียภาษีเงินได้ที่ประเทศคู่ค้าแต่อย่างใด
พอย้อนมามอง Google, Facebook ทั้ง 2 บริษัทนี้ให้บริการบน Internet ขาย "บริการ" โฆษณาให้กับ agency ในประเทศไทยซึ่ง agency ก็ไปเอาเงินมาจาก brand ต่าง ๆ อีกทีหนึ่ง เมื่อหักลบรายได้กับค่าใช้จ่ายแล้ว agency ก็ต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทย ส่วน Google, Facebook ก็ต้องเสียภาษีที่อเมริกาในฐานะที่ส่งออก "บริการ" มายังประเทศไทยแล้วก่อให้เกิดรายได้ หากมองแบบนี้แล้ว Google, Facebook ก็ไม่เห็นควรที่จะต้องเสีย "ภาษีเงินได้" ให้กับประเทศไทยเลยนี่ครับ
ผมเข้าใจแบบนี้ หากผิดพลาดตรงไหน รบกวนช่วยอธิบายด้วยครับ อยากรู้จริง ๆ
That is the way things are.
ไม่แน่ใจว่าจะตอบตรงคำถามมั๊ย
ลองไล่ดูโมเดล นำเข้าส่ง-ออก ปกติ ดูนะครับ
1) บ.ผลิต ต้องจ่ายภาษี เงินได้จากกำไร บ. ให้ ประเทศต้นทาง(อเมริกา)
2) บ.นำเข้า ต้องจ่ายภาษี นำเข้า ให้ ประเทศปลายทาง(ไทย)
3) บ.นำเข้า ต้องจ่ายภาษี เงินได้จากกำไร บ. ให้ ประเทศปลายทาง(ไทย)
4) ผู้บริโภค ต้องจ่ายภาษี vat ให้ ประเทศปลายทาง(ไทย)
แล้วดู โมเดล fb, gg ปัจจุบัน
1) fb กำไร ต้องจ่ายภาษี เงินได้จากกำไร บ. ให้ ประเทศต้นทาง(อเมริกา)
2) เอเจนซี่ จ่ายให้ fb ... ไม่เสียภาษีอะไร
3) เอเจนซี่ จ่ายภาษี เงินได้จากกำไร บ. ให้ ประเทศปลายทาง(ไทย)
4) fb ยิงโฆษณาตรงมาที่ผู้บริโภค ... ไม่เสียภาษีอะไร
ดังนั้น รายได้ประเทศปลายทาง(ไทย) หายไปคือ 2), 4)
ซึ่ง 4) ผู้บริโภคไม่ได้จ่ายให้ fb ก็คงหวัง vat ไม่ได้จึงเหลือ 2) ซึ่งจะต้องหาทางดึงกลับมาให้ได้
เลยเป็นที่มา ของความพยายามจะรีดภาษีจาก fb
ซึ่งมองกันกว้างๆ มันก็มีหลายแบบ
1> เก็บจาก agency ถ้าไปซื้อโฆษณาจาก บ.ที่ไม่ได้อยู่ในไทย (เหมือนภาษีนำเข้า)แต่วิธีนี้ อาจโดนจวกว่ากีดกันการค้าได้ เพราะเหมือนเลือกปฏิบัติ บ.ใน/นอกประเทศ
และมีโอกาสจะโดนตอบโต้ทางการค้ามากที่สุด
2> เก็บจาก fb โดย base จากเงินที่ fb ได้จาก บ.ในไทยที่ไปซื้อโฆษณา fb
ถึงจะซื้อเพื่อยิงไปโฆษณาที่ประเทศอื่น ก็โดน (มีช่องโหว่ หนีไปซื้อจากประเทศอื่น?)
3> เก็บจาก fb โดย base จากเงินที่ได้จากโฆษณาที่ fb ยิงเข้ามาใส่ผู้บริโภคในประเทศไทย
โดยไม่สนว่าคนซื้อโฆษณาที่ยิงใส่ประเทศไทย เป็นประเทศไหน
(ส่วนตัวเชียร์แบบนี้ เพราะหนีไม่ได้ รายได้ที่เก็บก็เกิดในประเทศไทย ดูยุติธรรมดี
แต่จะตรวจสอบ fb ยังไงว่าเค้ายิงเข้ามาเท่าไหร่? รายได้แต่ละ ad ขนาดไหน?
ยกเว้นแต่ fb จะให้ความร่วมมือแบบซื่อตรง)
ซึ่งเข้าใจว่าทั้ง 2>,3> ต้องลาก fb ให้มาจดทะเบียนมีตัวตนในไทย จึงจัดเก็บได้อะไรประมาณนี้(มั๊ง)
ถ้าเป็นแบบนี้ผมคิดว่าควรเก็บจาก agency และไม่คิดว่าเป็นการกีดกันทางการค้าแต่อย่างใด เพราะทุกวันนี้เราก็มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ต่างกันระหว่างของในประเทศกับของจากต่างประเทศอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ brand นำเข้าก็ต้องเสียภาษีนำเข้าแพงกว่า brand ที่ผลิตในประเทศ ซึ่งประเทศต้นทางของ brand นำเข้าก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกกีดกันทางการค้าแต่อย่างใด
That is the way things are.
ปัญหาของแนวทางนี้คือ ต้องตกลงกันก่อนเพราะประเทศอื่นยังไม่ทำ
ถ้าเราทำก่อนโดยไม่ตกลง
จะเป็นข้ออ้างขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอื่นของเรา
แล้วผลกระทบจะสูงและเยอะ
ผมว่าน่าจะนึกถึงเรื่องความได้เปรียบด้วยน่ะ
สมมุติมีคนไทยสร้างบริการเหมือน fb ggก็เสียเปรียบเรื่องภาษีแล้ว
ถ้าเก็บฝั่งนู้นไม่ได้ก็น่าจะลดภาษีบริการในประเทศให้เท่าเทียมน่ะ
เอ๊ะ เค้าไม่เสียภาษีที่เราเค้าก็ไปเสียที่ประเทศรับเงินไม่ใช่เหรอครับ?
มองกลับไปที่แนวทางของ OTTเอิ่ม! มั่นใจละ ไม่ได้ออกมาเพื่อต้องการเก็บภาษีแล้วล่ะ น่าจะเป็น"ยาคุม"ซะมากกว่า