เทรนด์ของโลกยานยนต์ตอนนี้กำลังมุ่งหน้าไปยังรถยนต์ไฟฟ้า และ Connected Car หรือรถยนต์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย และมีปฏิสัมพันธ์กับรถยนต์คันอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่ง Renault–Nissan–Mitsubishi Alliance ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ อันดับ 1 ของโลก ก็ไม่พลาดที่จะจับรถไฟไปกับเขาด้วย เห็นได้จาก Nissan LEAF ที่ออกรุ่นแรกมาตั้งแต่ปี 2010 และตามมาด้วยรุ่นที่สองที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา รวมถึง Nissan IMx รถยนต์ครอสโอเวอร์ต้นแบบที่เปิดตัวในงาน Tokyo Motor Show 2017
Nissan LEAF รุ่นที่สองนอกจากจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าล้วน ยังใส่ความเป็น Connected Car เข้ามาด้วย และนิสสันระบุว่าต่อไปรถยนต์ของนิสสันจะเดินตามแนวทางนี้ทั้งหมด ซึ่งเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา นิสสันได้เชิญสื่อไปเยี่ยมชม Nissan Advanced Technology Center ณ เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อรับฟังวิสัยทัศน์เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าและ Connected Car รวมถึงยุทธศาสตร์ของนิสสันเกี่ยวกับรถยนต์ในอนาคต
เริ่มแรกนิสสันพูดถึงภาพรวมก่อน โดยบอกว่า ณ ตอนนี้เราอยู่ในขั้นของ “Connected" เช่นมีตัวช่วยบางส่วน หรือสามารถควมคุมรถจากรีโมทได้ และต่อไปในขั้น Personal จะมี Virtual Personal Assistant หรือผู้ช่วยส่วนตัวเสมือนในรถยนต์ (คิดว่าคล้ายๆ Google Assistant) และสุดท้ายในปี 2022 (Predictive) ก็จะเป็นผู้ช่วยส่วนตัวขั้นสูง รวมถึงรถยนต์จะขับอัตโนมัติได้
ต่อมานิสสันพูดถึง Nissan Intelligent Driving โดยบอกว่าผู้ใช้รถจะสามารถเลือกโหมดการขับได้ คือสามารถขับเองก็ได้ หรือให้รถขับอัตโนมัติก็ได้ ซึ่งรถยนต์จะสามารถตรวจจับสภาพรอบรถและใช้ AI เข้ามาช่วยด้วย
ระบบตรวจจับสภาพรอบรถของนิสสันที่เอื้อให้รถยนต์ขับอัตโนมัติเต็มรูปแบบได้จะใช้เรดาร์ทั้งหมด 9 ตัว, กล้อง 12 ตัว, Laser scanner 6 ตัว และ Sonar 12 ตัว
หากผู้ใช้รถเลือกขับเอง รถจะมีระบบช่วยเหลือหลายอย่าง เช่นช่วยบอกช่องทางเวลาทางแคบ หรือระบบช่วยเบรกฉุกเฉินที่ใช้ AI เข้ามาช่วยทำนายเหตุการณ์ก่อนจะเกิดขึ้นจริง
และหากเลือกให้รถขับอัตโนมัติ รถสามารถโชว์ข้อมูลของร้านค้าต่างๆ รอบตัว ขึ้นมาบนกระจกได้ด้วย (Augmented Reality)
ยุทธศาสตร์และเทคโนโลยีด้านรถยนต์ไฟฟ้า
นิสสันบอกว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของนิสสันเพิ่มขึ้นมาตลอดตั้งแต่เปิดตัว LEAF รุ่นแรกในปี 2010 โดยขายได้ราวหนึ่งแสนคันทั่วโลก ต่อมาในปี 2014 ก็เปิดตัวรถตู้ไฟฟ้าขนาดเล็ก e-NV200 ทำยอดขายได้สองแสนคัน จนมาถึงปี 2017 ที่นิสสันตั้งเป้าไว้ว่าจะขาย LEAF รุ่นใหม่ให้ได้สี่แสนคัน
วิศวกรระดับสูงของนิสสันระบุว่าปัญหาหลักของรถยนต์ไฟฟ้ามีด้วยกันสามอย่าง คือวิ่งได้ไม่ไกล, ใช้เวลาชาร์จนาน และสถานีชาร์จมีน้อย ซึ่งนิสสันได้พยายามแก้ปัญหาทั้งสามนี้มาตลอด
1. เรื่องระยะทางตั้งแต่เปิดตัว LEAF รุ่นแรก รถใช้แบตเตอรี่ขนาด 24 kWh วิ่งได้ไกล 200 กม. (วัดตามมาตรฐาน JC08 ของญี่ปุ่น) จากนั้นในปี 2013 อัพเกรดให้วิ่งได้ไกลขึ้นเป็น 228 กม. ด้วยแบตเตอรี่เท่าเดิม ต่อมาในปี 2015 เพิ่มขนาดแบตเตอรี่เป็น 30 kWh ทำให้รถวิ่งได้ 280 กม. และขณะนี้ปี 2017 LEAF รุ่นที่สองใช้แบตเตอรี่ขนาด 40 kWh ซึ่งนิสสันเคลมว่าวิ่งได้ 400 กม.
นิสสันแก้ปัญหาความจุแบตเตอรี่น้อยด้วยการจัดเรียงสารเคมีในแบตเตอรี่ใหม่ให้เป็นชั้นๆ ส่งผลให้ความหนาแน่นของพลังงานมากขึ้น รวมถึงจัดวางเซลล์แบตเตอรี่ในแพ็คใหม่ด้วย
2. เรื่องระยะเวลาในการชาร์จนิสสันบอกว่าแก้ปัญหานี้ด้วยแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพการชาร์จดีขึ้น รวมถึงใช้สถานีชาร์จกำลังสูง โดย LEAF รุ่นแรกต้องใช้เวลาชาร์จเกือบ 30 นาที ถึงจะวิ่งได้ระยะทาง 100 กม. แต่ใน LEAF รุ่นใหม่ใช้เวลาชาร์จเพียง 15 นาที ก็ได้ระยะทางวิ่งเท่ากัน (ใช้หัวชาร์จเร็ว 50 kW เหมือนกัน เริ่มชาร์จที่ 30%)
3. สถานีชาร์จน้อยอันนี้ก็แก้ปัญหาแบบตรงไปตรงมา คือทยอยเพิ่มสถานีชาร์จเรื่อยๆ โดยนิสสันจะเริ่มตั้งสถานีชาร์จด่วน (กำลังไฟ 100 kW) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2018 ทั้งในญี่ปุ่นเอง, สหรัฐอเมริกา และยุโรป
นิสสันยังได้โชว์รูปถ่ายดาวเทียมของประเทศญี่ปุ่น แสดงความหนาแน่นของสถานีชาร์จไฟ โดยในเดือนมกราคม 2014 มีสถานีชาร์จด่วน 1,899 สถานี และสถานีชาร์จสาธารณะ 4,766 สถานี พอเดือนสิงหาคม 2017 สถานีชาร์จด่วนเพิ่มขึ้นเป็น 7,218 สถานี (3.8 เท่า) และสถานีชาร์จสาธารณะ 21,338 สถานี (4.4 เท่า)
ขณะนี้นิสสันมีเทคโนโลยีด้านรถยนต์ไฟฟ้าอยู่สองแบบ คือไฟฟ้าล้วน (Pure EV) และ e-POWER คือรถยนต์ถูกขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าล้วนๆ แต่มีเครื่องยนต์สันดาปขนาดเล็กคอยปั่นไฟไปเก็บในแบตเตอรี่ ผลที่ได้คือรถจะให้แรงบิดได้สูง และมาทันทีเหมือนรถยนต์ไฟฟ้า แต่ไม่ต้องห่วงเรื่องชาร์จไฟ ปัจจุบันใช้ใน Nissan Note e-POWER
ภายในปี 2022 70% ของรถยนต์ที่ผลิตโดย Renault–Nissan–Mitsubishi Alliance (ใช่ครับ เขาเป็นพันธมิตรกัน) จะใช้แพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้าของนิสสัน คือแพลตฟอร์มเดียวใช้ได้ตั้งแต่รถเล็กยันรถ SUV, เอื้อต่อการมีห้องโดยสารขนาดใหญ่, โครงสร้างมีความปลอดภัยสูง, ขับอัตโนมัติได้เต็มรูปแบบ, วิ่งได้ระยะทางไกล และเกาะถนน
เทคโนโลยีมอเตอร์ของนิสสันให้อัตราเร่งที่ดีและนุ่มนวล โดยให้ทั้งแรงบิดและอัตราเร่งมากขึ้นจาก LEAF รุ่นแรก นอกจากนี้ CPU ควบคุม inverter ก็อัพเกรดให้ทำงานเร็วขึ้นเท่าตัว รวมถึงระบบระบายความร้อน inverter ก็ปรับปรุงใหม่
ฟีเจอร์ใหม่อีกอย่างที่นิสสันใส่เข้ามาใน LEAF และ Note e-POWER คือ e-Pedal โดยเปลี่ยนการควบคุมรถให้ใช้แป้นคันเร่งอย่างเดียว ไม่ต้องใช้เบรก (รถยังมีแป้นเบรกอยู่ เราจะเปิดใช้ e-Pedal หรือไม่ก็ได้) เมื่อเราถอนคันเร่ง รถจะเริ่มเบรกด้วยแรง 0.2 g จนกระทั่งหยุดนิ่ง นิสสันระบุว่า e-Pedal เหมาะมากกับการขับในเมืองที่การจราจรเคลื่อนตัวสลับหยุดนิ่ง
นิสสันบอกว่าทีมวิศวกรจูนการเบรกให้คล้ายกับพฤติกรรมของผู้ใช้รถให้มากที่สุด โดยครอบคลุมลักษณะการเบรกถึง 90% ของการใช้รถใช้ถนนในปััจุบัน กล่าวคือ 90% นี้เป็นการเบรกแบบปกติทั่วไป ส่วนอีก 10% น่าจะเป็นการเบรกกะทันหันนั่นเอง) ทำให้ระหว่างการใช้ e-Pedal แทบจะไม่ต้องแตะแป้นเบรกเลย
การทำงานของ e-Pedal จะเริ่มทันทีที่ผู้ขับเริ่มถอนคันเร่ง โดยจะเริ่มเบรกโดยใช้ engine brake ก่อน (ใช้มอเตอร์หน่วงรถไว้) จากนั้นเมื่อใกล้หยุดนิ่งจึงจะใช้เบรกที่ล้อจริงๆ
ฟีเจอร์ใหญ่อีกอย่างคือ ProPILOT และ ProPILOT Park เป็นฟีเจอร์ระดับเริ่มต้นของ autonomous driving ซึ่งขณะนี้มีใช้แล้วในรถยนต์ของนิสสัน 3 รุ่นในตลาดญี่ปุ่นคือรถแวน Serena, X-Trail และ LEAF ส่วนในตลาดสหรัฐอเมริกามี 1 รุ่นคือ Rogue รุ่นปี 2018 (มันคือ X-Trail)
นิสสันเริ่มทดสอบการขับอัตโนมัติมาตั้งแต่ปี 2013 ในโตเกียว เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังได้ไปทดสอบที่ Silicon Valley เมื่อปี 2016 และที่ลอนดอนในปีนี้
โร้ดแมพของนิสสันคือปัจจุบันสามารถขับอัตโนมัติในเลนตัวเอง และปีหน้าจะขับเปลี่ยนเลนได้ จากนั้นในปี 2020 จะเข้าทางแยกเองได้ สุดท้ายปี 2022 จะขับอัตโนมัติได้เต็มรูปแบบ
ส่วน ProPILOT Park ก็ไม่มีอะไรมาก เพราะหลายๆ แบรนด์ก็มีใช้กันแล้ว มันคือการจอดเข้าซองและจอดเทียบอัตโนมัติ และการใช้งานก็เหมือนๆ กัน คือเปิดระบบแล้วขับช้าๆ ให้รถสแกนหาช่องว่างที่เหมาะสม เมื่อเจอแล้วก็กดปุ่มเริ่มการทำงานแล้วรถจะถอยเข้าซองเองโดยเล็งจากเส้นแบ่งช่องจอดบนพื้น ซึ่งเทคโนโลยีนี้ใช้กล้อง 4 ตัว และ sonar อีก 12 ตัวรอบคัน
นอกจากนี้ยังมีแอพบนสมาร์ทโฟน ใช้ดูสถานะต่างๆ ของรถ เช่นระดับแบตเตอรี่ และแจ้งเตือนหากมีสิ่งผิดปกติเกี่ยวกับรถ รวมถึงดูประวัติการใช้รถ และวางแผนการเดินทางให้เพียงพอต่อระดับแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ หากไฟไม่พอจะหาจุดชาร์จระหว่างทางให้ด้วย
สุดท้ายนิสสันได้โชว์ระบบชาร์จไฟไร้สายด้วย แต่รถที่เอามาโชว์เป็น LEAF รุ่นเก่านะครับ
Comments
รถไฟฟ้ารุ่นบุกเบิกในไทยควรเป็นรุ่นมีเครื่องปั่นไฟแบบนี้ละครับ
เป็นแบรนด์ที่ผมเชียร์มาตั้งแต่ได้ไปดู Nissan Leaf ในงาน BOI Fair เมื่อ 5-6 ปีที่แล้วรู้สึกว่าเค้าทุ่มเทกับการทำรถพลังงานไฟฟ้ามาก
ต่างกับ EV ตรงไหน ครับ ใช่ไม่เครือ่งปั่นไฟ ปะครับ
หมายถึงตัวไหนครับ ถ้า Leaf นี่คือ EV เลย ส่วน E power นี่กึ่งๆ คือส่วนขับเคลื่อนนี่เหมือน EV เพียงแต่ไฟฟ้าไม่ได้มาจากเสียบปลั๊ก แต่เอาน้ำมันมาปั่นไฟเข้าแบต แล้วเอาไฟจากแบตไปขับมอเตอร์เหมือน EV
อคติทำให้คนรับเหตุผลด้านเดียว
ชอบนะNissin ผมก็ซื้อน้อง March มาด้วยอารมณ์Eco (ตอนโปรสมัยรถคันแรก) แต่เจอศูนย์ไทยนิ... (ในboard pantip มีคนบ่นเยอะมากๆ)อยากให้เจ้านายญี่ปุนลงมาดูเรื่องควบคุมคุณภาพการ ซ่อม/ตรวจเช็คสภาพรถบ้าง.ผมรู้สึกว่างานบริการ ตรวจเช็คสภาพ ที่ไทย ยังตามหลัง Honda/Toyota อยู่มากครับ. (ในด้านmaintenance)
คนใช้นิสสัน อย่างผมเรื่องศูนย์บริการมองว่าปกติไม่ได้แย่ครับ ฮอนด้า เองน้องผมโดนมาหลายแผลลืมเปิดวาล์วแก๊ส น็อตหลวมๆ บ้างEV มาไทยเต็มรูปแบบเมื่อไหร่ ผมก็ยังคงไว้ใจนิสสันเป็นค่ายแรก ทุกวันนีก็เปลี่ยนมาดู Formula E
ปััจุบัน => ปัจจุบัน
ถ้าเกี่ยวกับเรื่องรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ผมก็ชอบนิสสันมากกว่ายี่ห้ออื่น ตรงที่มีผลลัพธ์ที่ชัดเจนและมีโอกาสจับต้องได้มากกว่า นิสสันคือมุ่งเป้าไปที่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าชัดเจนมาก
อยากให้ช่วยเอาทีมออกแบบรถสปอร์ตบางส่วนมาคุมหรือมาเป็นส่วนหนึ่งของทีมรถบ้านบ้างนะ ...
That is the way things are.