Tags:
Node Thumbnail

Facebook เป็นโซเชียลมีเดียที่มีคนใช้มากเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน แม้จะมีฐานผู้ใช้ที่แข็งแกร่งแต่กลับไม่มีสำนักงาน Facebook ตั้งอยู่ เช่นในประเทศกัมพูชา เมียนมาร์ หรือไทยก็มีเพียงสำนักงานเล็กๆ ทั้งที่ Facebook มีอิทธิพลมากถึงขนาดสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองหรือแม้กระทั่งจุดชนวนขัดแย้งได้ เจ้าหน้าที่รัฐยังใช้ Facebook เป็นหลักฐานสำคัญในการจับกุมนักเคลื่อนไหวนักกิจกรรมทางการเมือง ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าถึงเวลาหรือยังที่บริษัท Facebook จะเข้ามามีบทบาทการจัดการนโยบายมากกว่านี้ในอาเซียน

No Description
ภาพชาวโรฮิงญาจาก Wikipedia

Christina Larson จาก Foreign Policy เขียนวิเคราะห์ บทบาท Facebook ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศเมียนมาร์ ว่า Facebook ได้กลายเป็นอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้ใช้ไปแล้ว ประชาชนเมียนมาร์ 86% เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและทุกคนใช้ Facebook อินเทอร์เน็ตนอกจากจะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ยังทำให้แนวคิดฝังลึกของคนเมียนมาร์กลายเป็นกระแสหลักที่เสียงดังมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็คือการไม่ยอมรับชาวโรฮิงญา และ Facebook ยังเป็นช่องทางกระจายข้อมูลปลอมเช่น ชาวโรฮิงญาเผาบ้านตัวเอง และเข้าทำร้ายชาวพุทธ ซ้ำร้าย ข่าวปลอมพวกนี้ยังปรากฏบนหน้าเพจของรัฐบาลด้วย

"เมื่อเกิดเหตุการณ์ชาวพุทธเข้าโจมตีชาวโรฮิงญาจากข่าวปลอม Facebook ทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีตัวแทน Facebook อยู่ที่นั่น" Phil Robertson รองผู้อำนวยการแผนกเอเชียของ Human Rights Watch กล่าว ด้านโฆษก Facebook ระบุว่า Facebook มีนโยบายเรื่องเนื้อหาอยู่แล้ว แต่ภายในเดือนนี้ จะส่งทีมเข้าไปทำการให้ข้อมูลคนในพื้นที่อาเซียนเรื่อง Hate Speech

No Description
ภาพจาก Pixabay

ประเทศไทยเองก็มีกรณีคนโพสต์และแชร์ข่าวผ่าน Facebook และถูกจับไปหลายราย ทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า Facebook ซึ่งเป็นพื้นที่เสรีกลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจรัฐได้อย่างไร อาจเป็นเพราะนโยบายต้องใช้ชื่อจริงบน Facebook และต่อให้พยายามสร้างชื่ออื่นระบบก็ดูจะรู้จักผู้ใช้ อย่างเช่น กรณีที่เคยเกิดกับผู้หญิงค้าบริการทางเพศ ที่อยากปกปิดตัวตนใน Facebook แต่ไม่สำเร็จ แม้ Facebook จะเป็นพื้นที่เปิดกว้างเข้าถึงคนมากมาย แต่ความเป็นส่วนตัวก็ต่ำมากเช่นกัน

บทบาท Facebook ในกัมพูชาไม่สร้างผลกระทบทางลบเหมือนอย่างในเมียนมาร์และไทย กลุ่มพระในกัมพูชาใช้ Facebook เป็นช่องทางกระตุ้นให้พระสนใจสิทธิของประชาชน ให้ตื่นตัวทางการเมือง และค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ เป็นความเคลื่อนไหวสำคัญตั้งแต่ปี 2014-2016 Facebook ยังเป็นช่องทางที่นักกิจกรรมแพร่ข่าวสารการเมืองไปยังประชาชน จนรัฐบาลสั่นคลอนเพราะสื่อเก่าที่อยู่ในมือไม่มีผลต่อประชาชนอีกต่อไป แม้นักกิจกรรมบางคนจะถูกจับ แต่ Facebook ในกัมพูชายังสร้างแรงกระเพื่อมเชิงบวก มากกว่าจะไปเพิ่มความขัดแย้งที่มีอยู่แล้วให้รุนแรงขึ้น

กรณีสามประเทศเป็นตัวอย่างสำคัญที่ Facebook ต้องเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจังให้เหมาะกับบริบทของแต่ละประเทศ เพราะปัญหานั้นเกิดขึ้นกับชีวิตคนโดยตรง

ที่มา - Foreign Policy

Get latest news from Blognone