Tags:
Topics: 
Node Thumbnail

เงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (central bank digital currency - CBDC) เป็นข่าวอย่างต่อเนื่องนับแต่ธนาคารกลางของจีนผลักดันหยวนดิจิทัล และทดลองไปแล้วหลายต่อหลายครั้ง ธนาคารกลางของชาติต่างๆ ทั่วโลกเริ่มเข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ และประโยชน์ของการสร้าง CBDC ขึ้นมา แม้จะมีเอกสารจำนวนมากแต่ก็มักเป็นการกำหนดกรอบการออกแบบคร่าวๆ ของ CBDC เท่านั้น ที่ผ่านมามีการเปิดเผยน้อยมากว่า CBDC มีการทำงานภายในเป็นอย่างไร แต่สัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority - HKMA) ก็ออก รายงานด้านเทคนิคของ e-HKD เงินฮ่องกงดอลลาร์แบบดิจิทัล โดยเอกสารระบุถึงทางเลือกต่างๆ ของการออกแบบ CBDC ที่ธนาคารกลางจะต้องเลือกก่อนใช้งานจริง

ตัวเลือกตัวแรกที่ HKMA เลือกคือรูปแบบของการบันทึกบัญชีที่โลกเงินดิจิทัลมี 2 รูปแบบ คือ

  1. แบบดุลบัญชี (account balance) ที่ใช้งานใน Hyperledger Fabric และ Enterprise Ethereum
  2. แบบเงินคงเหลือ (unspent transaction output - UTXO) ที่ใช้ใน Corda

โดยทั่วไปแล้วความปลอดภัยของทั้งสองแบบไม่ต่างกันนัก หากโหนดยืนยันรายการ (validating node) กลายเป็นผู้ร้ายเสียเองก็จะเปิดทางให้คนร้ายใช้เงินเกินที่มี (double spending) ได้ แต่ HKMA ระบุว่ารูปแบบ UTXO นั้นสามารถตรวจพบการจ่ายเงินเกินได้ง่ายกว่า หากเปิด ledger ให้ทุกคนช่วยตรวจสอบ

No Description

ระบบ CDBC ในภาพรวมนั้นจะถูกแบ่งออกเป็นสองชั้น (2-tier) สำหรับธนาคารกลางออกเงินให้กับธนาคาร และธนาคารนำ CDBC ไปให้ผู้ใช้รายย่อยใช้งาน โดยไม่ว่าจะใช้รูปแบบการบันทึกบัญชีอย่างไร ก็ต้องมีกระบวนการให้แน่ใจว่าธนาคารวางเงินในบัญชีผู้ใช้เท่ากับเงินที่มี เอกสารของ HKMA แสดงให้เห็นว่าการบันทึกแบบ UTXO ทำให้การตรวจสอบเงินข้ามวงระหว่างธนาคารและวงสำหรับรายย่อยนั้นทำได้ง่าย เพราะผู้ใช้รายย่อยสามารถตรวจสอบที่มาของเงินจาก UTXO ที่ออกโดยธนาคารกลางได้ แต่ไม่ว่าระบบการเก็บข้อมูลใน ledger จะเป็นอย่างไร ผู้ใช้รายย่อยจะเห็นตัวเลขในบัญชีเหมือนธนาคารทุกวันนี้

No Description

ตัวเลือกต่อมาที่ HKMA ต้องเลือกคือกระบวนการเก็บข้อมูลของธนาคาร ว่าธนาคารจะเก็บข้อมูลทั้งหมด โดยหากธนาคารทุกแห่งเห็นข้อมูลบัญชีทั้งหมดก็จะสามารถไล่ดูว่าเงินของผู้ใช้ใดมาจากบัญชีใดบ้าง แม้บัญชีนั้นจะไม่ใช่ลูกค้าของธนาคารเลยก็ตามที อย่างไรก็ดีการออกแบบอาจจะเลือกให้ข้อมูลภาพรวมอยู่ที่ validator เท่านั้น และข้อมูลที่ธนาคารเห็นจะมองเห็นเพียงแค่บัญชีของลูกค้าตนเองเท่านั้น

No Description

ตัวเลือกการใช้กุญแจสาธารณะ เป็นตัวเลือกสำคัญในการรักษาความเป็นส่วนตัวของระบบ CBDC อีกเช่นกัน แม้ธนาคารกลางจะไม่เห็นข้อมูลระบุตัวตนของผู้ใช้ แต่ก็สามารถมองเห็นรายการโอนเงินทั้งหมดได้ หากในวันหนึ่งสามารถเชื่อมโยงระหว่างหมายเลขบัญชีกับตัวตนของเจ้าของบัญชีได้ก็จะทำให้เปิดเผยรูปแบบการใช้จ่ายได้ ทาง HKMA เสนอแนวทางเปลี่ยนกุญแจสาธารณะไปเรื่อยๆ ได้ โดยเข้าของบัญชีอาจจะเปิดบัญชีใหม่ที่ใช้กุญแจสาธารณะใหม่ได้อิสระ และโอนไปมาระหว่างบัญชีของตัวเองได้ ทำให้ในฐานข้อมูลที่ธนาคารกลางมองเห็นนั้นจะแยกไม่ออกระหว่างรายการโอนเงินระหว่างบุคคลและการโอนเงินของตัวเอง รวมถึงผู้ใช้สามารถสร้างกุญแจสาธารณะใหม่เพื่อรับโอนเงินจากบุคคลอื่นได้เรื่อยๆ เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวในการรับเงิน ในกรณีที่มีคดีความและต้องการสอบสวนเส้นทางทางการเงิน ธนาคารที่ให้บริการก็ยังสามารถเปิดเผยตัวตนผู้ใช้และกุญแจสาธารณะที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้

เอกสาร e-HKD ของ HKMA ครั้งนี้แม้จะมีรายละเอียดการออกแบบมากกว่าเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งอื่นๆ แต่ก็ยังเป็นการตั้งคำถามต่อการออกแบบเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง แม้จะมีการทดสอบในวงจำกัดกันเรื่อยๆ แล้ว แต่การออกแบบที่ยังมีจุดที่ต้องตัดสินใจอีกหลายจุดก็น่าจะทำให้เงินดิจิทัลเหล่านี้มีการปรับเปลี่ยนไปอีกมากก่อนจะที่จะใช้งานจริงเป็นวงกว้างในอนาคต

Get latest news from Blognone

Comments

By: mbdsc28
Android
on 11 October 2021 - 16:44 #1227286
mbdsc28's picture

central bank digital currency - CDBCต้องเป็น CBDC รึเปล่าครับ

By: lew
Founder Jusci's WriterMEconomics Android
on 11 October 2021 - 20:02 #1227304 Reply to:1227286
lew's picture

แก้ไขตามนั้นครับ


lewcpe.com , @wasonliw