วันนี้สื่อหลายเจ้าเผยแพร่รีวิว Intel Core 12th Gen Alder Lake ที่เริ่มวางขาย ผลออกมาค่อนข้างตรงกันว่า Core i9-12900K ซีพียูรุ่นท็อปสุด (8+8 คอร์, ราคาขายปลีก 650 ดอลลาร์) สามารถเอาชนะคู่แข่ง Ryzen 9 5950X (16 คอร์, ราคาขายปลีก 799 ดอลลาร์) ได้ทั้งแบบซิงเกิลคอร์และมัลติคอร์ เป็นสัญญาณว่าอินเทลกลับมาแล้ว (สักที)
สถาปัตยกรรมใหม่ การทดสอบจึงซับซ้อนขึ้น
อย่างไรก็ตาม Alder Lake ถือเป็นการเปลี่ยนสถาปัตยกรรมครั้งใหญ่ของอินเทลในรอบหลายปี ทำให้มีปัจจัยหลายอย่างในการทดสอบที่ซับซ้อนกว่าเดิมมาก
- การผสมผสานคอร์ 2 ขนาดคือ P-core และ E-core ทำให้การวัดผลเบนช์มาร์คซับซ้อนขึ้น
- คอร์ไฮบริดต้องมีตัวช่วย Intel Thread Director ที่ระดับฮาร์ดแวร์ แต่ Windows 10 และ Windows 11 รองรับไม่เท่ากัน
- Alder Lake รองรับทั้งแรม DDR5-4800 และ DDR4-3200 ในขณะที่คู่แข่งยังรองรับเฉพาะ DDR4
การทดสอบบางของสำนัก เช่น AnandTech จึงต้องแบ่งซีนาริโอในการทดสอบ เช่น คอร์ใหญ่อย่างเดียว vs คอร์เล็กอย่างเดียว vs เปิดใช้ทั้งสองคอร์, วัดผล Windows 10 vs Windows 11, DDR5 vs DDR4 เป็นต้น
ผลการทดสอบเบนช์มาร์ค
ผลการทดสอบที่สำคัญมีดังนี้
- การทดสอบเบนช์มาร์คแบบซิงเกลคอร์ 12900K เอาชนะ Ryzen 5950X ได้ในทุกการทดสอบ ที่ราว 6-16% และถ้าเทียบกับซีพียูอินเทลรุ่นก่อนคือ 11900K (Rocket Lake) เอาชนะได้แบบทิ้งห่าง 18-20%
- การทดสอบเบนช์มาร์คแบบมัลติคอร์ 12900K เอาชนะ Ryzen 5950X ได้ในการทดสอบส่วนใหญ่ แต่มีข้อแม้ว่า 12900K ต้องใช้กับแรม DDR5 ด้วย ถ้าเป็น DDR4 เท่ากัน Ryzen ยังเหนือกว่า
- การทำงานของ P-core ที่ใช้สถาปัตยกรรม Golden Cove ดีขึ้นกว่าสถาปัตยกรรม Cypress Cove (11th Gen)
- การทำงานของ E-core ที่ใช้สถาปัตยกรรม Gracemont ได้ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ 6th Gen Skylake แล้ว โดยใช้พลังงานต่ำกว่ามาก ถึงแม้รากเหง้ามาจากสาย Atom แต่ประสิทธิภาพไม่ได้แย่เลย
- ระบบปฏิบัติการ Windows 10 vs Windows 11 ไม่ต่างกันมากนัก ในทางทฤษฎี ประสิทธิภาพสูงสุดของทั้งสองระบบปฏิบัติการเท่ากัน แต่ Windows 11 จัดการคอร์ที่รันงานได้ดีกว่าเล็กน้อย
- แรม DDR5 ให้ผลลัพธ์ดีกว่า DDR4 อย่างเห็นได้ชัดในการรันเบนช์มาร์ค แต่ในการเล่นเกมแทบไม่ต่างกัน
พลังงาน = ร้อนกว่าเดิม
ในประเด็นเรื่องพลังงาน การมีคอร์ 2 แบบทำให้การวัดค่าพลังงานยากขึ้นมาก
- เปิดเฉพาะคอร์เล็ก E-core อย่างเดียว 8 คอร์ ใช้พลังงาน 48 วัตต์
- เปิดเฉพาะคอร์ใหญ่ P-core อย่างเดียว 8 คอร์ ใช้พลังงาน 239 วัตต์
- เปิดคอร์ทุกตัว 8+8 คอร์ ใช้พลังงาน 259 วัตต์ (โหลดจริงสูงสุดที่ 272 วัตต์)
เมื่อเทียบกับ Ryzen 9 5950X (16 คอร์เท่ากัน) ใช้พลังงาน 141 วัตต์ เท่ากับอินเทลใช้พลังงานเยอะกว่ามาก (แต่ 12900K ไม่ได้เยอะกว่า 11900K รุ่นก่อนหน้ามากนัก ใช้ 241 วัตต์)
ประเด็นอื่นๆ
- อินเทลบอกว่าปิดชุดคำสั่งเวกเตอร์ AVX-512 ใน P-core เพราะ E-core ไม่มี กลัวระบบปฏิบัติการสับสน แต่ AnandTech พบว่าปิดไม่จริง ยังสั่งเปิดใช้ที่ระดับ BIOS ได้
- ยังไม่รองรับการทำงานบนลินุกซ์อย่างเต็มที่ จากปัจจัยเรื่อง Thread Director
- บังคับต้องเปลี่ยนบอร์ดใหม่ยกชุด (แถมต้องซื้อแรม DDR5 ด้วยถ้าต้องการประสิทธิภาพสูงสุด)
ที่มา - AnandTech , Ars Technica , PC Gamer
Comments
เร็วกว่าเดิม แต่แ*กไฟเยอะมาก
ถึงยุค สลับขั้ว Intel / AMD แล้วซินะ
ใครต้องการข้อมูลตัดสินใจละเอียดตามไปอ่านแต่ละสำนักครับ ยาวมาก
อ่านดูแล้ว ก็ไม่ได้ดีกว่า AMD เต็มตัว เพราะมีเงื่อนไขว่าต้อง การทดสอบเบนช์มาร์คแบบมัลติคอร์ 12900K เอาชนะ Ryzen 5950X ได้ในการทดสอบส่วนใหญ่ แต่มีข้อแม้ว่า 12900K ต้องใช้กับแรม DDR5 ด้วย ถ้าเป็น DDR4 เท่ากัน Ryzen ยังเหนือกว่า ดังนั้น ถ้า AMD เปิดตัวสินค้าใหม่อีกที ก็มีแนวโน้มที่จะกลับมานำได้
แถมต้องให้เครดิต AMD ด้วยว่าเป็นซีพียูรุ่นของปีที่แล้วด้วยครับ
tomshardware มีทดสอบ i5 แถมเจอว่า win11 มีผลต่อประสิทธิภาพมากกว่า win10 ในบางโปรแกรมhttps://www.tomshardware.com/news/intel-core-i9-12900k-and-core-i5-12600k-review-retaking-the-gaming-crown
ถ้าไม่render 3d แต่เล่นเกมและทำงานทั่วไป หรือตัดต่อvideo โดยเฉพาะสายAdobe ตอนนี้ i5 น่าสนสุดทั้งราคาไม่แพง ความร้อนการกินพลังงานก็คุ้มค่า
เรื่องเล่นเกมฝั่งAnandtech ตัวเลขแปลกๆเหมือนกัน
แต่gen12 ตอนนี้ติดที่แรมนี่แหละยังมีDDR5แต่ตัวแพง แถมข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ กับบอร์ดที่ร้านไทยเปิดตัวแต่แพงๆ ถูกสุดราคา 7พัน น่าจะต้องรอสักพักถึงมีบอร์ดระดับกลางๆ 4-5พันมาขาย?
ยังไงก็ต้องรอสักระยะ เต็มที่สุดก็ครึ่งปีครับ ราคาน่าจะเริ่มลงแน่นอน
แค่มนุษย์คนนึงที่อยากรู้เกี่ยวกับวงการไอที
ครึ่งปีก็ไม่ลง เผลอๆปีเต็มๆ
ผมคิดว่า E-core น่าสนใจมาก ต้องรอดูว่า Alder Lake notebook ออกมาแล้วจะเป็นยังไง ถ้าเป็นรุ่น p น้อย e เยอะ น่าจะเห็นประสิทธิภาพต่อพลังงานดีขึ้นมาก
ถ้าoc5950xใช้ไฟได้ซัก200w ก็คิดว่าคงไม่แพ้12900kดูทรงแล้ว แรงกว่าแต่คงไม่นาน น้าลิซ่าคงออกมาตบด้วยryzenหกพัน
ตัวกลางๆอย่าง 5800x,5900x ยังแทบไม่เห็นOC กันสักเท่าไร ถึงไม่ล็อคตัวคูณ แต่ก็น่าจะOCไม่ง่ายเหมือนฝั่งIntel
ตั้งแต่ยุค Ryzen 3000 มา ถ้าใช้งานทั่วไป (ปนกันทั้งงาน singlethread และ multithread) การ manual oc ดูเหมือนจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ครับ เพราะว่าทำให้เสียคล็อกตอนบูสงาน singlethread ไป
ซึ่งจะใช้การจูนค่า limit ต่าง ๆ แทน อย่างของผม 5900X ถ้าเล่น Curve Optimizer + จูนค่า PBO ให้เหมาะสม ยอมให้ CPU Package Power จาก 142W เป็น 210W ช่วง multithread หนัก ๆ คล็อกเพิ่มขึ้นมีเกือบ 10% เลยครับ (ราว ๆ 4.1 GHz ไป 4.5 GHz)แต่ก็ร้อนและกินไฟขึ้นเยอะเลยเหมือนกัน
AMD ต้องหาอะไรมาตีตื้นแล้วหละครับ ยิ่งตลาดเล็กว่า Intel ด้วย ต่องแข่งให้ได้ของใหม่ออกมาเรื่อยๆ แล้วนะ
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
ดูช่องพี่หลามมา สมมุติว่าถ้ามีการจัดโปรไฟล์ของตัว CPU เสียใหม่ ประสิทธิภาพอย่างของ AMD จะดีขึ้นด้วยไหม?
ยังไงนะครับ?
น่าจะหมายถึงว่า ถ้า AMD ทำ big.LITTLE ด้วยมั้งครับ
เท่าที่อ่านรีวิวมา
- ตั้ง pl2 = 150w ได้คะแนน cinebench r23 ~92% คุมความร้อนได้ดีขึ้นเยอะ ที่ตั้งให้กินไฟถึง 2XXW เพื่อเพิ่มคล็อกเอาชนะ AMD ล้วนๆ ใช้จริงลดไฟดีกว่า
- ทดสอบเทียบ DDR4 vs DDR5 ของ anandtech ดูอะไรไม่ค่อยได้เพราะพี่แกใช้ DDR4-3200 CL22 spec JEDEC ทั้งที่ในตลาดมีความเร็วสูงกว่า CL ต่ำกว่านี้ขายให้เพียบ แถมไม่รู้ว่าใช้ gear 1 หรือ 2 (ประมาณพวกนิยมแบบมาตรฐานแบบจัดๆ)
- gen 12 การกินไฟตอนเล่นเกมพอๆกับ AMD แต่ idle กินไฟน้อยกว่าเพราะไม่มีชิป io แยก
- i5 12600k คุ้มค่าสุดใน gen 12 แล้ว ประสิทธิภาพต่อราคาน่าจะดีกว่า i5 ตัวธรรมดาอีกเพราะแว่วมาว่ารุ่นไม่ K จะใช้ Die แบบ 6+0 (ไม่มี e-core) แต่รอจับคู่ B660+DDR4 น่าจะดีกว่าเพราะ Z690 บอร์ดแพง DDR5 ก็หายากแถมแพงอีก
เพิ่มเติม คะแนน CB23 ต่อ power limit ระหว่าง R9 5900X กับ i9-12900Khttps://twitter.com/capframex/status/1456244849477242881
ผมสงสัยมาพักใหญ่เรื่อง power limit ว่าของ intel และ amd ที่เราเห็นในโปรแกรมเช่น HWiNFO หรือ CoreTemp มันเทียบข้ามยี่ห้อกันได้จริง ๆ หรือ
เพราะว่าผมเห็นพวก intel ตอน gen 10-11 ถ้า oc ก็มีไปถึง 300-400W แต่เห็นที่เวลาคนเทส ขนาดกินไฟขนาดนั้นก็ temp 70-90c แต่ amd ที่ผมเจอ แค่ 200-250W นี่ก็ทะลุ 80-90c ได้ง่าย ๆ เลย ชุดน้ำก็อุปกรณ์พอ ๆ กัน (หรือผมเทียบไม่แม่นเอง)
เทียบการกินไฟกับอุณภูมิตรงๆข้ามยี่ห้อไม่ได้ ยังมีปัจจัยอื่นอย่างเช่น ขนาด Die ความเนี้ยบการบัดกรี ขนาดกระบวนการผลิต (ยิ่งหนาแน่นมากยิ่งร้อน) ฯลฯ
ของอินเทลเป็น monolithic ขนาด Die ใหญ่กว่า AMD ที่เป็น chiplets (11th gen = 276 mm² / 12th gen (8+8) = 215.25 mm² / 12th gen (6+0) = 162.75 mm²/ Zen 3 CCD = 83.736 mm² / Zen 2 CCD = 72 mm²) ทำให้มีพื้นที่ระบายความร้อนเยอะกว่า และเป็นเหตุผลที่ทำไม 5800x ที่มี 8 คอร์ 1 CCD จึงร้อนกว่าชาวบ้านเขา
https://www.techpowerup.com/288439/intel-alder-lake-s-comes-in-a-6-0-core-die-varianthttps://wccftech.com/amd-ryzen-5000-zen-3-vermeer-undressed-high-res-die-shots-close-ups-pictured-detailed/
แถม Intel ยังมีการลงทุนลดความหนา Die และ STIM เพิ่มความหนา IHS จาก gen 10 11 ทำให้ถ่ายเทความร้อนออกได้ดีขึ้นไปอีก
https://imgur.com/gnt66Mz
ขอบคุณครับ (รวมทั้งคุณ gololo เม้นล่างด้วยครับ) ผมได้ความรู้กับแนวคิดเพิ่มขึ้น
มันขึ้นอยู่กับขนาดและการออกแบบทรานสิสเตอ กับการออกแบบวงจรของcpuสถาปัตยกรรมนั้นๆ
Intel ดูร้อน(Duron)ไปหน่อยนะครับ ?
AMD จะแก้เกมส์ยังไง จะมีคอน์เล็กคอร์ใหญ่เหมือนอินเทลมั๊ย
E-Core แต่แรงเท่า Gen 6 ..... มองเครื่องตัวเองที่ยั่งติดอยู่ที่ Gen 3 แล้วก็.....อืมมม ปีหน้า ต้องเปลี่ยนเป็น Gen 13 แล้วละ ถึงตอนนั้นราคา Ram DDR5 น่าจะน่ารักขึ้น
AMD เจอหมัดนี้ของ Intel เข้าไปน่าจะจุก
That is the way things are.
ส่วนตัวแล้ว ผมว้าวอยู่นะP-Core แรงมากจริงๆ Single คือหลุดโลกมาก
จริงอยู่ที่ AMD Ryzen 5950X/5900X ยังได้เปรียบที่มีคอร์เยอะและเป็นคอร์ใหญ่ทั้งหมด แต่เราไม่ได้ใช้คอร์จำนวนมากขนาดนั้นตลอดเวลา การที่มีคอร์แรงๆ 6-8 แกนไว้ใช้งานถือว่าดูดีทีเดียว
ผมมองว่า AMD เหนือกว่าอยู่ดี เพราะถ้า intel ไม่ได้ DDR5 มาช่วยก็สู้ไม่ได้ นี่ถ้า AMD รองรับ DDR5 แล้วค่อยมาดูกันอีกที
มีผลทดสอบออกมาหลายที่แล้วนะครับ DDR4 DDR5 ไม่ได้ต่างกันมากเลย
Alder Lake กับ DDR4 ก็ยังแรงอยู่ดี
อันนี้ผมสงสัย CPU Desktop เวลาคนประกอบคอมมาใช้ เขาซีเรียสเรื่องการกินพลังงานกันมากแค่ไหนหรอครับ ?ถ้า Laptop ยังเข้าใจว่าต้องไม่ให้กินไฟเยอะ เพื่อการพกพา
ไม่ซีเรียสเรื่องค่าไฟที่จ่าย แต่เวลาเอามาใช้งาน จะดูว่า power supply สามารถจ่ายไฟได้เพียงพอหรือไม่เมื่อประกอบร่วมกับอุปกรณ์ข้างเคียง และดูว่า M/B มีชุดจ่ายไฟให้กับ CPU เพียงพอและเสถียรหรือเปล่า
สำหรับผมถ้าสมัยก่อนคงไม่อะครับ ยุคนี้รักโลก รักปลั๊ก รักไฟครับ บางทีก็กินไฟเยอะไป
อย่างฝั่ง Apple ขนาดไป Desktop ยังประหยัดไฟเลยนะครับ
ผมซีเรียสระดับนึงนะครับ ทั้งว่ามันเปลืองไฟและมันไม่จบแค่เปลืองไฟคอมเพราะมันถึงขึ้นร้อนขาเลย
กินไฟเยอะ ก็ยิ่งร้อนขึ้น
ต้องหาซิ้งค์ระบายความร้อนที่รองรับกำลังความร้อนสูงๆยิ่งสูงยิ่งหนาว(แพง) แต่คอมก็ไม่ได้ร้อนเท่า laptop อยู่แล้ว
แต่อุณภูมิต่ำๆยังไงก็ดีแว่า
คิดว่าเวลาทำงานจริงอาจจะใช้ E-Core ส่วนใหญ่ P-Core เอาไว้ตอนเครื่องทำงานหนักๆมันคงประหยัดไฟและไม่ร้อนแหละ ถ้าเล่นเกมแรงๆค่อยว่ากัน
ถ้าคอมตั้งโต๊ะไม่นะ จัดเต็ม มีพัดลม มีระบายเยอะ
AMD: Wait for it..
AMD แค่ลดราคา gen5 มาผมก็ดีใจละ 1 ปีราคาไม่ลดลงเลยมีแต่จะหายาก
ถ้าปัจจัยเท่ากันผมว่าประสิทธิภาพไม่แตกต่างครับ แถม AMD มี v cache กับ zen4 รออยู่แล้วแต่ราคา AMD ในไทยนี่ไม่โอเคอยู่ดี