ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมา วงการ NFT ค่อนข้างเป็นที่คึกคัก ได้รับความสนใจทั้งในระดับประเทศและระดับโลก โดยเฉพาะการถูกนำมาเป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายผลงานศิลปะ ให้ศิลปินมีช่องทางการขายและสร้างชื่อเสียงได้ง่ายขึ้น ขณะที่นักสะสมก็สามารถแสดงเป็นเจ้าของผลงานศิลปะนั้นได้จริงๆ
แต่หากกลับมามองในประเทศไทย ก่อนหน้านี้ทั้งศิลปินและนักสะสม ยังต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างประเทศแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งก็อาจมีอุปสรรคและปัญหาในหลายๆ ส่วน ไม่รวมวงการศิลปะเองที่กำลังเผชิญปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ ผลงานถูกขโมยและนำไปวางขายในแพลตฟอร์มต่างประเทศ ยากแก่การดำเนินเรื่อง ขณะที่แพลตฟอร์มเองก็ยากที่จะพิสูจน์ว่าผลงานดังกล่าวเป็นของผู้ที่วางขายจริงหรือไม่
วันนี้วงการศิลปะไทยกำลังจะผ่าทางตันนี้ไปได้แล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ทาง KASIKORN X หรือ KX บริษัทภายใต้ KBTG ได้เปิดตัว Coral แพลตฟอร์มซื้อขาย NFT ของตัวเองไปตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และวันนี้ Coral ก็เตรียมสร้างอิมแพ็คให้วงการศิลปะไทยไปไกลระดับโลก ด้วยการเปิดขายงานศิลปะจากศิลปินชั้นนำทั่วฟ้าเมืองไทย ที่ถูกนำมาจัดแสดงโชว์ที่งาน Thailand Digital Arts Festival 2022 หรือ TDAF 2022 ที่ ICONSIAM ผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาศิลปินถูกละเมิดลิขสิทธิ์และช่วยให้ผลงานของคนไทยเข้าถึงชาวต่างชาติมากขึ้น แต่ยังทำให้คนไทย เข้าถึงและเป็นเจ้าของผลงานศิลปะได้ง่ายขึ้นเหมือนการช็อปปิ้งออนไลน์
งานนี้เป็นความร่วมมือระหว่างพิพิธิภัณฑ์บ้านดำ ของ ดร. ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ, บริษัท แพลนบีจำกัด, บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด และ KASIKORN X ที่นำ Coral มาเป็นผสมผสานศิลปะ ดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน
ความพิเศษของงานนี้คือเป็นครั้งแรกที่งานศิลปะถูกนำมาจัดแสดงและซื้อได้ทั้งในรูปแบบออฟไลน์ ที่ ICONSIAM บนพื้นที่กว่า 1,200 ตารางเมตรและออนไลน์บน Coral โดยศิลปินที่ถูกนำมาแสดงมีมากกว่า 1,300 ชิ้นงาน จากศิลปินทุกรุ่นทุกสาขากว่า 130 ท่าน ตั้งแต่ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินชั้นเยี่ยม ศิลปินรุ่นใหญ่ ไปจนถึงศิลปินรุ่นใหม่ และศิลปินมืออาชีพทั่วไทย
ดร.ดอยธิเบศร์ ดัชนี บุตรชายของ อ.ถวัลย์ ดัชนี และ ผอ. พิพิธภัณฑ์บ้านดำ เล่าให้ฟังว่าหนึ่งในการริเริ่มการนำผลงานศิลปะมาขายผ่านทาง NFT ก่อนจะต่อยอดเป็นงาน TDAF 2022 เกิดจากปัญหาที่ผลงานของ อ.ถวัลย์ ถูกละเมิดและนำไปขายในต่างประเทศราว 50 ภาพก่อนจะได้รับการติดต่อมาจากผู้ซื้อว่าผลงานนั้นเป็นของออริจินัลหรือไม่ ซึ่งปรากฎว่าผลเป็นงานละเมิดและเรื่องก็ไปถึงเจ้าของแพลตฟอร์ม NFT ดังกล่าว ทำให้แพลตฟอร์มเบิร์นผลงานของ อ.ถวัลย์ที่ถูกนำมาละเมิดทิ้งทั้งหมด
ดร. ดอยธิเบศร์บอกด้วยว่าหลังจากครั้งนั้นก็ได้รับการติดต่อมาว่าอยากให้นำผลงานของ อ.ถวัลย์ ไปขายบน NFT แต่หากจะนำเฉพาะผลงาน อ.ถวัลย์ไปขาย ก็เหมือนเดินไปข้างหน้าคนเดียว เลยอยากพาศิลปินไทยในประเทศเดินไปข้างหน้าด้วยกัน จนนำมาสู่การจัดงาน TDAF 2022
ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าการเลือก NFT มาเป็นพื้นที่วางขายศิลปะของศิลปินไทย เป็นการช่วยยกระดับวงการศิลปะไทย รวมถึงตัวศิลปินไทยให้สามารถมีพื้นที่ในระดับโลกได้ง่ายมากขึ้น ไม่เพียงแต่เหตุผลว่าแพลตฟอร์ม NFT สามารถเข้าถึงจากทั่วโลกเท่านั้น แต่วงการ NFT เป็นกำลังได้รับความสนใจในวงกว้าง ไม่ใช่แค่วงการศิลปะ แต่ยังมีกรณีเช่น การขายต้นฉบับเนื้อเพลงหรือภาพยนตร์ผ่าน NFT ทำให้เมื่อศิลปะของไทยถูกนำไปวางขายอยู่บนแพลตฟอร์ม NFT ก็ยิ่งเปิดโอกาสได้เข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นด้วย
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการที่งาน TDAF 2022 ถูกนำเสนอและขายผ่านแพลตฟอร์ม Coral ของ KASIKORN X จะไม่เพียงช่วยรักษาทรัพย์สินทางปัญญาของศิลปินไม่ให้ถูกละเมิดเท่านั้น เนื่องจากจุดเด่นของ NFT คือสามารถตรวจสอบ Token แสดงความเป็นเจ้าของได้ แต่ยังทำให้ผู้คนทั่วโลก ทั้งที่เป็นนักสะสมศิลปะตัวยงหรือเป็นนักสะสมวงการอื่น ก็มีสิทธิเข้าถึงศิลปะไทยได้มากขึ้น
เมื่อปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ก็จะเป็นบทบาทของเทคโนโลยีนี้แหละ ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ ลองนึกถึงกรณีของ Spotify หรือ Netflix ที่มีส่วนอย่างมากในการแก้ปัญหาเพลงและภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์ รวมถึงทำให้ผลงานของศิลปินรายย่อย ถูกนำเสนอไปยังประชาคมโลกได้ง่ายมากขึ้นด้วย
คุณธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์ Head of Venture Builder จาก KASIKORN X เกริ่นไปในทิศทางเดียวกับ ดร.ดอยธิเบศร์ ว่าทาง KASIKORN X ก็รับรู้ถึงศิลปินไทยถูกขโมยงาน และถูกนำไปเผยแพร่และวางขายโดยที่ตัวศิลปินก็ไม่รู้ ดังนั้น Coral จึงเป็นโอกาสที่มากมายมหาศาลที่จะช่วย Unlock, Unleash, Enable New Opportunities ให้กับสำหรับทั้งศิลปินและนักสะสมไทยทุกๆ ท่าน
คุณธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์, Head of Venture Builder, KASIKORN X
ดังนั้นบทบาทของ Coral นอกจากจะเข้ามาช่วยเรื่องป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ผ่านกระบวนการยืนยันตัวตนของศิลปินทุกคนที่นำศิลปะมาขาย ที่จะสร้างความอุ่นใจให้นักสะสมอีกต่อหนึ่งด้วยว่าเป็นผลงานแท้จากมือศิลปินแน่นอนแล้วนั้น ทาง Coral ยังใช้ระบบ Lazy Minting คือศิลปินจะยังไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม (ค่า gas) เวลานำผลงานขึ้นไปขายบนแพลตฟอร์มครั้งแรก (minting) แต่จะเสียก็ต่อเมื่อมีผู้ที่สนใจซื้อผลงานเท่านั้น เท่ากับว่าศิลปินจะสามารถนำผลงานขึ้นไปขายบน Coral จำนวนเท่าไหร่ก็ได้ โดยยังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ
อีกหนึ่งจุดเด่นที่เรียกได้ว่าง่ายและสะดวกสำหรับคนไทย คือความเป็น Super Simplay Payment จากการที่ Coral รองรับ fiat money หรือรองรับเงินบาทไทยนั่นเอง ไม่จำเป็นจะต้องจ่ายผ่านคริปโตให้วุ่นวาย ทั้งเรื่องความผันผวนและต้องหาไปหาซื้อเหรียญเหมือนแพลตฟอร์มเมืองนอก นักสะสมสามารถจ่ายเงินซื้อ NFT ได้ทั้งผ่านทาง Mobile Banking / PromptPay QR หรือบัตรเครดิต-เดบิต ได้เลยโดยตรงผ่านแอปหรือเว็บ Coral
อย่างไรก็ตามเนื่องจาก NFT ผูกอยู่กับระบบบล็อคเชน และสิ่งที่ใช้ยืนยันความเป็นเจ้าของคือ Token ที่ก็ผูกกับระบบบล็อคเชนเช่นกัน ดังนั้นแม้จะไม่ได้จ่ายผ่านคริปโต แต่ผู้ที่จะซื้อ NFT บน Coral ยังจำเป็นจะต้องมี wallet เพื่อใช้เก็บ Token ของงานศิลปะนั้นๆ อยู่ โดยทาง Coral จะผูกกับ Metamask ที่เป็น wallet ยอดนิยม ให้นักสะสมทั้งไทยและเทศสามารถถอน Token มาเก็บเอาไว้กับ wallet ของตัวเองได้ โดยตัวบล็อคเชนทาง Coral ก็เลือกใช้ ETH ERC-1155 เป็นที่มาตรฐานที่ถูกใช้ในการวงการ NFT ด้านศิลปะทั่วโลก
นอกจากงานศิลปินดิจิทัลบน NFT แล้ว ภายในงาน TDAF 2022 ทาง Coral ยังมีบทบาทในทางออฟไลน์ด้วย จากการเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างศิลปินและนักสะสมหรือผู้ที่สนใจโดยตรง ผ่าน Coral NFT Walls ที่ถูกนำมาจัดแสดงภายในงาน เพียงผู้ชมนำสมาร์ทโฟนไปสแกน QR ที่ Coral NFT Walls ก็จะสามารถอ่านรายละเอียดของผลงาน หรือรับฟังการบรรยายจากเจ้าของศิลปิน ประหนึ่งเจ้าตัวมายืนบรรยายอยู่ตรงนั้นได้โดยตรง เป็นการเชื่อมโลกคู่ขนานออนไลน์ – ออฟไลน์ และเปิดประตูสู่การเข้าถึงงานศิลปะและประสบการณ์ใหม่ๆ ของศิลปินและนักสะสมได้อย่างดีเลยทีเดียว
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถชมและซื้อผลงานของศิลปินไทยผ่านทางออนไลน์ได้ที่ coralworld.co หรือทางออฟไลน์ ได้ที่งาน Thailand Digital Arts Festival 2022 ซึ่งจะจัดแสดงผลงานมากกว่า 1,300 ชิ้น ระหว่างวันที่ 5 - 20 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 – 22.00 น. ณ เจริญนคร ฮอลล์ ชั้น M และ ICON Art and Culture Space ชั้น 8 ICONSIAM
Comments
^____^