ปัญหา open access เป็นประเด็นขัดแย้งในแวดวงวิชาการมานาน เหตุเพราะวารสารวิชาการที่ตีพิมพ์งานวิจัย มักมีโมเดลธุรกิจคือการคิดเงินค่าอ่าน (ไม่ว่าจะเป็นจ่ายค่าสมาชิกรายปี หรือจ่ายรายชิ้น) ในขณะที่มุมมองอีกด้านคือความรู้ควรเป็นของสาธารณะเพื่อการวิจัยต่อยอด ทำให้นักวิจัยหลายคนใช้วิธีเผยแพร่เปเปอร์วิชาการ (ที่อาจไม่เหมือนกับเวอร์ชันตีพิมพ์ทั้งหมด) ผ่านช่องทางของตัวเองหรือหน่วยงาน หรือวารสารวิชาการบางฉบับก็เปลี่ยนโมเดลมาเป็นคิดเงินกับผู้ตีพิมพ์แทนผู้อ่าน
ปัญหานี้ยิ่งซับซ้อนขึ้นหากเป็นงานวิจัยที่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ แต่กลับต้องจ่ายเงินค่าอ่าน ทำให้หน่วยงานให้ทุนวิจัยในหลายประเทศเริ่มบังคับว่างานวิจัยจะต้องเผยแพร่แบบ open access เช่น UKRI หน่วยงานด้านการให้ทุนวิจัยของสหราชอาณาจักร ที่ออกประกาศในปี 2021 และมีผลบังคับใช้ปี 2022
ล่าสุดฝั่งสหรัฐอเมริกามีความเคลื่อนไหวแบบเดียวกัน โดย White House Office of Science and Technology Policy (OSTP) หน่วยงานนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทำเนียบขาว ออกคำสั่งให้หน่วยงานวิจัยของรัฐทั้งหมดต้องเผยแพร่ผลงานวิจัย (ทั้งที่ทำเองและให้ทุนสนับสนุนภายนอก) แบบ open access ที่ทุกคนเข้าถึงได้ เนื่องจากเป็นเงินจากภาษีประชาชน มีผลตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป
คำสั่งของ OSTP จะมีผลกระทบอย่างมาก เพราะรัฐบาลสหรัฐถือเป็นผู้ให้ทุนวิจัยหลายใหญ่ของโลก (ตัวอย่างคือ US National Institutes of Health ของรัฐบาลให้ทุนวิจัยเยอะกว่าภาคเอกชน 20 รายแรกรวมกัน) และจะมีผลให้งานวิจัยจำนวนมหาศาลเข้าถึงได้จากสาธารณะ
ขั้นถัดไปคือ หน่วยงานวิจัยต่างๆ จะต้องปรับแผนการให้ทุนใหม่ กำหนดเงื่อนไข open access ตามแนวทางของ OSTP และส่งกลับมาที่ OSTP ภายในสิ้นปี 2023 (หน่วยงานบางแห่งอาจมีนโยบายนี้อยู่แล้ว แต่คำสั่งของ OSTP คือมีผลกับหน่วยงานของรัฐทั้งหมด)
ที่มา - ทำเนียบขาว , Ars Technica
Comments
เยียมมากครับ เงินภาษีประชาชน
สาธุตอนนี้ อ่านได้แค่ Abstract สำหรับ paper ส่วนใหญ่
มันก็จะมีมุมที่บางคนบอกว่าภาษีที่ว่ามันของประชาชนชาวสหรัฐเท่านั้นนะ แต่ทั่วโลกเข้าถึงได้เฉย ดังนั้นจริง ๆ ทุกประเทศในโลกครวดำเนินการแบบเดียวกัน ความรู้จะได้ต่อยอดขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!