เครื่องวัดความดันในปัจจุบันถือเป็นเวชภัณฑ์ที่มีราคาค่อนข้างสูง แม้เป็นเครื่องราคาถูกก็อยู่ที่หลักพันบาทขึ้นไป แถมพกพาไม่ค่อยสะดวก เพราะขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ ทำให้ล่าสุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก (UCSD) ตีพิมพ์งานวิจัยเป็นเครื่องวัดความดันโลหิตขนาดเล็ก ในรูปแบบคลิปหนีบสมาร์ทโฟน ใช้งานง่ายโดยใช้เพียงปลายนิ้วเท่านั้น ที่สำคัญคือราคาถูก โดยต้นทุนการผลิต 1,000 ชิ้น อยู่ที่เพียง 0.8 ดอลลาร์ หรือราวๆ 30 บาทเท่านั้น
ตัวเครื่องถูกเรียกว่า BPClip โดยอาศัยคุณสมบัติของเลือด ที่ดูดซับแสงเป็นกลไกลหลัก ซึ่งด้านหนึ่งของตัว BPClip จะหนีบอยู่กับหลอด LED ที่เป็นแฟลชของสมาร์ทโฟน เพื่อให้แสงแฟลชเป็นตัวสะท้อนการไหลเวียดของเลือดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อหัวใจส่งเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย เซ็นเซอร์ก็จะตรวจจับได้ว่าหัวใจกำลังบีบตัว เพราะมีเลือดดูดซับแสงได้เยอะ ขณะที่เมื่อหัวใจคลายตัว แสงก็จะถูกดูดซับได้น้อย
การจับจังหวะการเต้นของหัวใจจะยังไม่เพียงพอกับวัดค่าความดันโลหิต แต่ต้องหาอัตราการไหลเวียนของเลือดในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ ผ่านแรงบีบด้วย (ลักษณะเดียวกับที่เครื่องวัดความดันแบบสวมแขนที่บีบแขนเรา) ตัว BPClip เลยใส่สปริงมาให้ด้วยบริเวณเซ็นเซอร์ที่วางนิ้ว เมื่อกดสปริงค้างไว้ (พร้อมๆ กับการใช้แสงดูอัตราการเต้นของหัวใจ) เพื่อดูการไหลเวียนของเลือด ระบบก็จะสามารถคำนวนออกมาเป็นความดันโลหิตได้
แน่นอนว่าตัว BPClip จะต้องทำงานร่วมกับแอปบนสมาร์ทโฟน เพื่อการคำนวนค่าต่างๆ และแสดงผลให้กับผู้ใช้ โดย Yinan Xuan หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยเปิดเผยปัจจุบัน BPClip สามารถวัดค่าได้แตกต่างจากเครื่องวัดแบบสวมแขน สูงสุดถึงราว 8 มิลลิเมตรปรอท ทำให้ยังไม่ได้แม่นยำพอที่จะวิเคราะห์อาการของโรคได้ (diagnostic level) แต่ก็เพียงพอที่บ่งชี้ความผิดปกติได้ (screening level)
นอกจากเรื่องการวัดค่าแล้ว BPClip ยังต้องปรับปรุงให้รองรับสมาร์ทโฟนหลากหลายรุ่นเพิ่มขึ้นด้วย โดยตัวต้นแบบในงานวิจัยนี้ ถูกออกแบบมาให้รองรับเฉพาะ Pixel 4 เท่านั้น ซึ่งทีมผู้ร่วมวิจัยได้ก่อตั้ง Billion Labs ขึ้นมาเป็นสตาร์ทอัพ ที่จะพัฒนาต่อยอด BPClip ออกสู่ตลาดจริงแล้ว
Comments
อ่านข่าวขณะใช้เครื่องวัดความดันพกพาราคา 999 บาทพกพาง่าย ใช้ถ่าน ไม่ต้องเสียบปลัีก
หรือเครื่องวัดความดันของเรามันคนละอย่างกันนะครับ 😅
แต่ถ้าใช้แสงวัดความดันได้จริง ก็น่าจะเปลี่ยนการวัดความดันไปเลยจริง ๆ นะ
พวกนี้ เป็นใช้แรงบีบ น่าจะนับเป็นเครื่องต้นทุนสูงนะ บางทีวันไหนนอนไม่พอก็เจ็บแขนอีก (ความดันสูงยิ่งบีบแน่น)
ผมก็ใช้เครื่องแบบนั้นอยู่ ก็ว่ามันไม่ได้ราคาแพง และก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไรขนาดนั้นนะ
ความน่าเชื่อถือก็น่าจะสูงอยู่ เพราะเห็นใช้ตามคลีนิคและโรงพยาบาลทั่วไปด้วย
ชอบมาก เคยเห็นอันนี้วัดน้ำตาลในเลือดแบบ real time แต่ราคายังแรงอยู่น่าสนใจมาก
ไอพวกนาฬิกาจีนที่บอกว่าวัดความดันได้นี่หลอกหมดใช่ไหมครับ
เกาหลีก็มีนะครับ ต้องดูช่องนี้เทียบกับเครื่องวัดเฉพาะ
วัดโดยไม่มีการเจาะเลือด แต่ผ่านผิวปลายนิ้วมือ
ถ้าคนผิวดำมากๆ ที่แม้แต่ปลายนิ้วก็มีสีผิวคล้ำกว่าคนทั่วไป
จะวัดได้ไหม
พวกนี้ถูกออกแบบมาเพื่อ compensate เรื่องพวกนี้แล้วครับ ในยุคแรกก็มีปัญหาอย่างที่ท่านคิดอยู่ครับ ตอนนี้ทุกอย่างถูกแก้ไขได้เกือบทั้งหมดแล้วครับ สินค้าแนวนี้พัฒนามานานเกินกว่า 10 ปีแล้ว
แบบที่มีแสงแบบนี้หรอที่ทำมาสิบปีแล้วอันนี้ผมไม่รู้จริงๆ แต่ถ้าเป็นแบบวัดแขนน่ะใช่
ผมว่าเค้าพูดมีประเด็นนะ เพราะอย่างโปรมแกรม auto ปรับสีหรือปรับแต่งเกี่ยวกับภาพบุคคลยังทำงานเอนเอียงเลยได้เลย เพราะตัวอย่างตอนทำวิจัยมีไม่มากพอ(มััง)
วัดความดันมันไม่ต้องเจาะเลือดอยู่แล้วครับ
จากประสบการณ์ใช้เครื่องวัดความดันมาเยอะแยะ ทุกวันนี้เครื่องวัดความดันแบบวัดข้อมือก็ยังให้ค่าที่แตกต่างจากแบบวัดต้นแขนอยู่ ความน่าเชื่อถือหรือยังอยู่แค่ใช้ในการ follow up เท่านั้น
พวกนาฬิกาไม่ต้องพูดถึงครับเป็นได้เต็มที่แค่ของเล่น ข่าวนี้พอมาถึงตัวนี้ ความน่าเชื่อถือด้วยหลักการน่าจะยังน่ากังลครับ
แค่เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือด กับนาฬิกาวัดระดับน้ำตาล แบบ ไม่เจาะเลือด ได้ค่าต่างกันในระดับจากคนที่เป็นค่าวิกฤตออกผลเป็นค่าปกติได้เลย ทั้งๆที่หลักการมันไม่ซับซ้อนเท่าการวัดความดันด้วยซ้ำไป
เอาแค่วัดอัตราการเต้นของหัวใจโดยเฉพาะตอนออกกำลังกาย ทั้ง Garmin ทั้ง Apple ยังวัดให้ตรงพอไม่ได้เลยครับ
ถึง Apple จะมีวัดคลื่นไฟฟ้าจริงมาช่วยแก้แล้วก็ตาม แต่มันเป็นครั้งๆ ไม่สะดวกและวัดตอนออกกำลังแทบไม่ได้ก็ตาม
มันน่าจะไม่แม่นยำเลยนะ ขนาดเครื่องวัดความดันที่ต้นแขนที่เป็น gold standard ถ้าให้เป๊ะ ยังต้องคาดที่ตำแหน่งระดับราวนม (หัวใจ) ถ้าเป็นข้อมือยังต้องวางให้ตำแหน่งให้สูงระดับหัวใจเหมือนกัน ถ้าดันทะลึ่งไปวางแขนราบไปกับโต๊ะนี่ก็ไม่ใช่แล้ว
แต่อันนี้วัดจากเส้นเลือดปลายนิ้ว ลำพังแรงดันเลือดที่หลอดเลือดฝอย ไม่ค่อยผันแปรระหว่าง Dia/Sys น่าจะใข้วัดเป็นค่าสมบูรณ์ไม่ได้ แต่อย่างเก่งก้อาจจะใช้วัดเพื่อดูแนวโน้ม (trend/relative) ของแต่ละคนอาจจะได้ แต่ถ้ามีอะไรแปลกๆ ก็ต้องไปพึ่งเครื่องวัดจริงจังอยู่ดี
ไปดูวิดิโอสาธิตตัว prototype กันได้https://digihealth.eng.ucsd.edu/bpclip