ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณ Yaj Malik รองประธานกรรมการภูมิภาคอาเซียน Citrix ที่ประจำอยู่ที่สิงคโปร์และแวะมาดูธุรกิจที่ประเทศไทย หัวข้อการสนทนาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มตลาดไอทีโลกในฝั่งองค์กร ยุทธศาสตร์ของบริษัท และมีเรื่องการทำธุรกิจในประเทศไทยอีกนิดหน่อย
Citrix เป็นบริษัทไอทีชื่อดังในฝั่งองค์กร แต่กลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในฝั่งคอนซูเมอร์เท่าไรนัก ดังนั้นเพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้น ก็มารู้จัก Citrix กันก่อน
รู้จัก Citrix
Citrix ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1989 (อายุ 23 ปีแล้ว) โดยอดีตพนักงานของไอบีเอ็ม ชื่อบริษัทมาจากคำว่า Citrus (พืชตระกูลส้ม) + Unix เดิมทีเน้นตลาด remote access สำหรับองค์กรเป็นหลัก
ปัจจุบัน Citrix มีพนักงาน 7,000 คนทั่วโลก รายได้ต่อปีคือ 2.2 พันล้านดอลลาร์ (ตัวเลขปี 2011) ส่วนธุรกิจมีหลากหลาย ในภาพรวมเน้นตลาดไอทีองค์กร บริษัทเรียกตัวเองว่าขาย complete end-to-end virtualization (จะกล่าวต่อไป) ลูกค้าสำคัญคือบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกทั้งหลาย กลุ่มบริษัทที่ติดชาร์ท Fortune 500 ใช้ผลิตภัณฑ์ของ Citrix กันถ้วนหน้า
ผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทคือ virtualization ที่มีความหมายครอบคลุมมากกว่า OS virtualization โดยผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ใช้ชื่อนำหน้าว่า Xen (อ่านว่า "เซ็น")
- XenAppคือระบบ virtual application หรือการรันแอพพลิเคชันขององค์กร (เน้น Win32) จากเซิร์ฟเวอร์กลางของบริษัท แทนที่จะรันจากเครื่องของพนักงาน อันนี้คือสินค้าหลักของบริษัทตั้งแต่ต้น และยังเป็นสินค้าหลักในปัจจุบัน
- XenDesktopคือระบบ virtual desktop infrastructure (VDI) ที่กำลังนิยมในช่วงหลัง มันคือการรันเดสก์ท็อปทั้งอันจากเซิร์ฟเวอร์เลย (พีซีเป็นแค่เทอร์มินัล รับข้อมูลจากคีย์บอร์ด-แสดงออกจอ)
- XenServerคือระบบ OS/platform virtualization แบบเดียวกับพวก Hyper-V หรือ VMware ถ้าใครเคยเล่น Xen ของบริษัท XenSource มันคือตัวเดียวกัน ( Citrix ซื้อ XenSource เมื่อปี 2007 ) มีเวอร์ชันโอเพนซอร์สด้วย
ผลิตภัณฑ์อย่างอื่นของบริษัท ที่เด่นๆ และน่าสนใจ ได้แก่
- NetScalerซอฟต์แวร์ด้านเครือข่ายที่ช่วยรีดประสิทธิภาพของการส่งข้อมูลแบบ HTTP เอาไว้ใช้คู่กับพวกเว็บแอพให้ทำงานเร็วขึ้น
- CloudStackซอฟต์แวร์สำหรับสร้างกลุ่มเมฆ ได้มาจาก การซื้อ Cloud.com ในปี 2011 ปัจจุบัน เปิดเป็นโอเพนซอร์สภายใต้โครงการ Apache และเป็นคู่แข่งกับ OpenStack
- ผลิตภัณฑ์กลุ่ม GoToสำหรับการประชุม สัมมนา เทรนนิ่ง ซ่อมคอม ฯลฯ จากระยะไกล มีด้วยกันหลายตัว เช่น GoToMeeting, GoToMyPC, GoToTraining ซึ่งทาง Citrix บอกว่าตัว GoToMeeting มีส่วนแบ่งเป็นอันดับสองของซอฟต์แวร์ประชุมทางไกล เป็นรองแค่ Cisco WebEx เท่านั้น
Yaj Malik รองประธานกรรมการภูมิภาคอาเซียน Citrix
แนวโน้มของตลาดไอทีองค์กร
ปัจจุบันศัตรูขององค์กรคือความไม่แน่นอนสารพัดชนิดที่อาจทำให้ธุรกิจสะดุด โดยคุณ Yaj ได้ใช้คำว่า VUCA (volatility, uncertainty, complexity and ambiguity) ซึ่งเป็นศัพท์ในแวดวงการทหารมาอธิบายสถานการณ์แบบนี้ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่องค์กรไทยคงซาบซึ้งแก่ใจกันดีคือน้ำท่วมในปี 2554 ที่องค์กรหลายแห่งต้องหาวิธีปรับตัวเพื่อให้พนักงานทำงานต่อไปได้ และธุรกิจต้องเดินหน้าได้ต่อเนื่อง
โอกาสทางธุรกิจของ Citrix จึงอยู่ตรงนี้ ว่าจะช่วยให้องค์กรต่างๆ เดินหน้าทางธุรกิจได้อย่างไรในสภาวะแบบนี้
กรณีของน้ำท่วมไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น ประเทศออสเตรเลียก็เจอกับน้ำท่วมใหญ่หลายครั้งในปี 2010-2011 ปัญหาคือบริษัทประกันภัยดันโดนน้ำท่วมไปด้วย พนักงานไปทำงานไม่ได้ การเบิกจ่ายเงินประกันให้ผู้ประสบภัยจึงมีปัญหา แต่มีบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งคือ Suncorp เตรียมตัวเรื่องนี้ไว้ดี (แน่นอนว่าใช้โซลูชันจาก Citrix) จึงให้บริการได้แม้พนักงานไปทำงานไม่ได้ ผลระยะยาวคือ Suncorp ผงาดขึ้นมาเป็นบริษัทประกันภัยอันดับหนึ่งของออสเตรเลียหลังงานนี้
ฝั่งเทคโนโลยีไอทีก็เจอการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เรากำลังก้าวข้ามจากยุคพีซีสู่ยุคของคลาวด์ (เท่าที่ผมไปคุยมากับผู้บริหารไอทีหลายบริษัท พูดคล้ายๆ กันหมดในประเด็นนี้)
ไอทีองค์กรเริ่มเจอความท้าทายใหม่ๆ ที่แต่ละอย่างดันไปในทิศทางตรงข้ามกัน เช่นพนักงานอยากใช้อุปกรณ์ของตัวเอง (BYOD = bring your own devices) ในที่ทำงาน ซึ่งองค์กรที่มีนโยบายนี้จะจูงใจพนักงาน แต่บริหารจัดการยาก และค่าใช้จ่ายสูง สวนทางกับการลดต้นทุนที่ใช้พีซีเหมือนๆ กันหมดแต่ไม่จูงใจให้มาทำงานการการมุ่งสู่คลาวด์ เก็บข้อมูลทุกอย่างไว้บนคลาวด์ จะมีปัญหากับแอพพลิเคชันเก่าๆ ขององค์กรที่ไม่ได้เขียนมาสำหรับคลาวด์
ตลาดไอทีองค์กรกำลังเปลี่ยนไป เดิมทีพอเราพูดถึงไอทีองค์กร ก็มักนึกถึงเครื่องพีซีตั้งโต๊ะ เชื่อมเครือข่ายไร้สาย รันแอพพลิเคชันขององค์กร ถือเป็นรูปแบบมาตรฐาน (assumption) ที่องค์กรส่วนใหญ่ต้องมี ในขณะที่อุปกรณ์พกพา เชื่อมเครือข่ายไร้สาย ทำงานกับคลาวด์ ใช้แอพขนาดเล็กจากสโตร์ เป็นอุปกรณ์กลุ่มที่แทรกตัวเข้ามาในองค์กร ในสายตาของการบริหารจัดการ ถือเป็นข้อยกเว้นพิเศษ (exception)
แต่ทุกวันนี้ ตลาดอุปกรณ์กำลังกลับข้างกัน อุปกรณ์พกพาที่เคลื่อนย้ายสะดวกกำลังกลายเป็นมาตรฐาน (assumption) ส่วนพีซีแบบเก่าที่ทำงานเฉพาะด้าน กำลังลดความสำคัญลงและจะกลายเป็นข้อยกเว้นพิเศษ (exception) ของฝ่ายไอทีองค์กรในอีกไม่ช้า
องค์กรสมัยใหม่มีนโยบายใหม่ๆ อย่าง BYOD รวมไปถึงการทำงานแบบไม่ต้องเข้าออฟฟิศ-ไม่มีเวลาตายตัว (workshifting) ตรงนี้เป็นหน้าที่ของ Citrix ที่ช่วยให้พนักงานเข้าถึงไฟล์งาน-แอพพลิเคชันขององค์กรจากที่ไหนก็ได้ โดยที่ยังคงความปลอดภัยของข้อมูล รักษาความลับขององค์กรได้อยู่
ในฝั่งเซิร์ฟเวอร์ Citrix มีผลิตภัณฑ์ตระกูล Xen ดังที่กล่าวไปแล้ว (สำหรับ private cloud) มีผลิตภัณฑ์กลุ่ม GoTo, CloudStack และ Netscaler สำหรับกลุ่มเมฆ (public cloud)ส่วนฝั่งไคลเอนต์ก็สามารถเข้าใช้งานผลิตภัณฑ์กลุ่ม GoTo จากอินเทอร์เน็ตได้โดยตรงได้จากอุปกรณ์สารพัดชนิด และเชื่อมกับเดสก์ท็อป-แอพพลิเคชันขององค์กร (ที่รันบน Xen) ผ่านแอพตระกูล Receiver ได้เช่นกัน
หมายเหตุ: คุณ Yaj ท้าผมว่า Citrix มีผลิตภัณฑ์ฝั่งไคลเอนต์บนอุปกรณ์พกพาแทบทุกชนิด ฝั่งของ Android/iOS/BlackBerry คงไม่มีปัญหา ผมกลับบ้านมาค้นดูก็พบว่าบน Windows Phone และ webOS ก็มีจริงๆ แถมคุณ Yaj ก็บอกว่า Citrix จะเป็น launch partner ของ Windows 8 และ WP8 ด้วย
ธุรกิจในประเทศไทย
ปัจจุบัน Citrix มีลูกค้าในประเทศไทย 650 บริษัท ตั้งแต่องค์กรขนาดใหญ่อย่างธนาคาร โอเปอเรเตอร์ ไปจนถึงองค์กรขนาดเล็กที่มีเครื่องไม่เยอะนัก
Citrix มีสาขาประเทศไทยแล้ว ปัจจุบันมีพนักงานประมาณ 6 คน ทำหน้าที่ด้านงานขายและซัพพอร์ตเป็นหลัก ตัวเลขพนักงานอาจดูน้อยแต่จริงๆ แล้วขายผ่านบริษัทคู่ค้าอื่นๆ มากกว่า ไม่ได้ขายเองโดยตรง คู่ค้าสำคัญในไทยคือ Metro Systems ซึ่งตัวบริษัท Metro เองก็ใช้ผลิตภัณฑ์ของ Citrix หลายอย่าง
ส่วน Citrix สำนักงานประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่สิงคโปร์ มีพนักงาน 190 คน ในภูมิภาคนี้ตลาดสิงคโปร์มีมูลค่าสูงสุด ส่วนไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย อยู่ระดับรองลงมาที่มียอดขายใกล้เคียงกัน
ผลิตภัณฑ์ที่ขายในไทยยังเป็น XenApp เสียมาก แต่ช่วงหลังๆ XenDesktop ก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ตามกระแส VDI ที่กำลังมาแรง
คุณ Yaj บอกว่าน้ำท่วมไทยในปี 2554 ช่วยกระตุ้นให้องค์กรไทยตื่นตัวเรื่องการดำเนินธุรกิจให้ต่อเนื่อง (business continuity) กันมากขึ้น ส่งผลต่อยอดขายของ Citrix ในรอบปีที่ผ่านมา
Comments
ผลิตภัณฑ์น่าสนทั้งนั้นเลยครับ
เป็นสินค้าที่อนาคตต้องการมากมายหลายตัวเลยครับ ผมว่าบริษัทผมก็อยากใช้บริการเลย
บริษัทผมใช้แล้วครับ เพิ่งได้ใช้ปีนี้
พอมาอ่านบทความนี้ดูถึงได้รู้ว่า Citrix มีความเป็นมายังไง แล้วเขาทำธุรกิจอะไรบ้าง
ตอนแรกก็เข้าใจว่ามันเป็น service remote desktop ธรรมดาเสียอีก
ผมใช้มาตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว โดยตัวหลักเป็น XenApp โดยจะล๊อกอินเข้าเวปไซท์ของบ.ก่อน (ใช้ RSA Key ร่วม) จากนั้นก็จะรัน App ผ่านเวปโดยเวลาเลือกแอปก็จะโหลดไฟล์ ica ลงมาเปิดโดย Citrix Client
ซอฟท์แวร์ที่ใช้ก็มีตั้งแต่ Office ยัน Remote Desktop Client ต่อไปยัง VMWare ก็อยากรู้เหมือนกันว่าถ้าใช้ XenDesktop แทนมันจะดีกว่าวิธีนี้มั้ย ผมว่า RDP ต่อไป VMWare มันกระตุกแปลก ๆ 555
ประมาณ 6 คน - - ไม่เยอะทำไมยังต้องประมาณหว่า
May the Force Close be with you. || @nuttyi
อาจจะอยู่ช่วง รับเพิ่ม ปลดออกก็ได้
ล้ำสมัยมากเลย กับแนวคิด...มาถึงยุคนี้ เป็นผู้นำได้แบบไม่ต้องเหนื่อยมาก
..: เรื่อยไป
ผมเข้าใจว่า Netscaler เป็นฮาร์ดแวร์ในรุ่น MPX และ SDX และเป็นซอฟต์แวร์ในรุ่น VPX นะครับ
https://www.citrix.com/English/ps2/products/product.asp?contentID=21679&ntref=prod_cat