Tags:

บริษัท Kleiner Perkins Caufield & Byers (KPCB) ถือเป็นนักลงทุนแบบ Venture Capital (VC) อันดับต้นๆ ของโลกไอที บริษัทเปิดมาตั้งแต่ปี 1972 โดยมีผลงานลงทุนในบริษัทไอทีชื่อดังมากมาย เช่น AOL, Amazon, Google, EA, Lotus, Netscape รวมถึงบริษัทรุ่นใหม่อย่าง Nest, Facebook, Twitter, Uber, Groupon

Mary Meeker นักวิเคราะห์คนดังของบริษัทนี้มีธรรมเนียมออกสไลด์ชุด Internet Trends เป็นประจำทุกปี (ทำมาตั้งแต่ปี 2001 ตั้งแต่เธอทำงานกับ Morgan Stanley) เอกสารชุดนี้มีชื่อเสียงมาก เพราะให้ "ภาพมุมกว้าง" ของอุตสาหกรรมไอทีว่ามีแนวโน้มอย่างไร มีผลกระทบต่อธุรกิจอื่นๆ หรือชีวิตประจำวันของคนอย่างไร

เอกสารฉบับปี 2015 ถูกนำเสนอในงาน Code Conference ของเว็บไซต์ Re/code เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้สนใจสามารถอ่านได้จากสไลด์ที่แปะไว้ด้านล่างนี้ หรือดาวน์โหลดไฟล์-เข้าดูเอกสารย้อนหลังได้จาก KPCB

ผมมีโอกาสอ่านสไลด์นี้มาได้สักพักแล้ว และคิดว่าควรค่าแก่การเขียนถึง โดยจะคัดเฉพาะสไลด์บางหน้าที่ผมเห็นว่าสำคัญมาแสดงไว้ในบทความนี้ครับ (สไลด์มีทั้งหมดประมาณ 200 หน้า)

No Description

การเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

ภาพรวมคือจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเติบโตเริ่มช้าลงจากสไลด์ด้านล่างจะเห็นว่าอัตราการเติบโตของผู้ใช้เน็ตในปี 2014 คือ 8% เทียบกับปี 2013 คือ 10%, ปี 2012 คือ 11%

อย่างไรก็ตาม ในบางภูมิภาคยังมีอัตราการเติบโตที่สูงอยู่ เช่น อินเดียที่เติบโตถึง 33% ถือเป็นอีกภูมิภาคใหม่ที่น่าจับตามอง

alt=

ผลกระทบต่อแวดวงธุรกิจ

อัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เติบโตขึ้นอย่างมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลายแขนงไม่เท่ากัน ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคอนซูเมอร์โดยตรงนั้นได้รับผลกระทบมาก ในขณะที่แวดวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานรัฐบาล ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก (แต่ก็คาดเดาได้ว่าในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงตามกัน)

alt=

ฝั่งของโลกธุรกิจขนาดใหญ่ (enterprise) ผลกระทบจากไอทีเริ่มเปลี่ยนจากการเป็นแค่เครื่องมือช่วยให้ทำงาน (แบบเดิมๆ) ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กลายมาเป็นการเปลี่ยนกระบวนการของธุรกิจ (business process) ไปแล้ว

alt=

ข้อความทวีตของ Aaron Levie (ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Box) พูดเรื่องเดียวกันว่าซอฟต์แวร์ฝั่งองค์กร เคยมีหน้าที่ช่วยทำงานเดิมๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ปัจจุบันมันเข้ามาเปลี่ยนตัวเนื้องานโดยตรง

alt=

ตัวอย่างซอฟต์แวร์ที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีการทำงานแบบเดิมๆ เช่น ซอฟต์แวร์สื่อสารองค์กร Slack ( แนะนำ Slack โต๊ะกลางวางงาน สื่อประสานทุกโปรเจกต์ให้ลุล่วง ) กำลังเข้ามาแทนระบบอีเมลแบบเดิม

ในสไลด์ยังมีตัวอย่างอื่นๆ อีกหลายอัน เช่น Square เข้ามาเปลี่ยนระบบคิดเงินตามร้านค้า ฯลฯ พวกนี้ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญของบรรดาสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ทั้งหลาย

alt=

แนวโน้มแบบนี้กำลังเกิดขึ้นกับทุกวงการ (เซกเมนต์) ถ้าเราดูภาพรวมของสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ เราจะเห็นการซ้อนทับกันของการใช้โมบายล์ + การให้บริการในพื้นที่มากขึ้น

สิ่งที่เหมือนกันของ Uber, Airbnb, Instacart แอพจองคิว แอพสั่งของแล้วส่งเลยทั้งหลายทั้งปวง ก็คือฟีเจอร์ด้าน on-demand fulfilment หรือการให้บริการภายในระยะเวลาที่การันตีไว้กับลูกค้า

alt=

ในวงการอีคอมเมิร์ซ ถ้าเราดูภาพรวมของบริษัทอีคอมเมิร์ซรุ่นแรกอย่าง Amazon, eBay, Alibaba, Rakuten ภาพรวมของบริษัทเหล่านี้คือขาย "ผลิตภัณฑ์" (products) โดยส่งสินค้าถึงบ้านด้วยวิธีเดิมๆ

alt=

แต่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรุ่นที่สอง จะย้ายมาเป็นการขาย "บริการ" (services) ด้วยวิธีการส่งแบบออนดีมานด์ และเน้นการใช้งานบนโมบายล์เป็นหลัก

ตัวอย่างของบริษัทรุ่นที่สองก็อย่างเช่น Airbnb, Etsy, Uber, Instacart

alt=

การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเดิม

แอพยอดฮิตอย่าง Uber, Airbnb, Instacart เจาะอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน นั่นคือ ที่พัก (housing), คมนาคม (transportation) และอาหารสด (food) แต่ในภาพรวมแล้ว แอพทั้งสามตัวเลือกเจาะตลาดที่มีมูลค่าสูงมาก ทุกครอบครัวต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการเหล่านี้เป็นมูลค่าสูงอยู่แล้ว ถ้าสามารถเจาะได้สำเร็จ นั่นคือครอบครองตลาดที่ใหญ่มาก

alt=

นอกจากตลาดมีขนาดใหญ่ ยังมีอัตราการใช้งาน (engagement) สูง เช่น คนเราต้องหาที่นอนทุกวัน ต้องเดินทางทุกวัน ต้องซื้อของสดเข้าบ้านทุกสัปดาห์

alt=

แถมยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีประสบการณ์ใช้งานแย่ (weak user experience) เช่น คิวแท็กซี่ยาว หาที่จอดรถหน้าซูเปอร์มาร์เก็ตยาก เป็นต้น การนำแอพเข้ามาใช้จึงได้เปรียบกว่าคู่แข่งดั้งเดิมในอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น

alt=

การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมดั้งเดิม ทำให้โครงสร้างการกำกับดูแลแบบเดิมๆ เสียไป ในอดีต เราจะเห็นว่ามีสมดุลระหว่างผู้เล่นรายเดิม (incumbents), ผู้เล่นรายใหม่ (innovators), หน่วยงานกำกับดูแล (regulators)

alt=

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือกลุ่ม innovators สามารถสร้างนวัตกรรมได้มาก จนคนที่อยู่ในแวดวงทั้งลูกค้า (consumers) และคนทำงาน (workers) เข้ามาใกล้ชิดกับ innovators มากขึ้น โครงสร้างสมดุลเดิมจึงเสียไป และนี่คือสิ่งที่ Uber หรือ Airbnb กำลังประสบอยู่

alt=

การเปลี่ยนแปลงของคนทำงาน

ภาพรวมของหน้าที่การงาน และพฤติกรรมของคนทำงานก็เริ่มเปลี่ยนไป อันเป็นผลจากคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นจนมาเป็นแรงงานกลุ่มหลักแล้ว

alt=

สิ่งที่น่าสนใจคือคนรุ่นใหม่ (millennials) ให้คุณค่ากับอะไรบ้างที่นายจ้างจัดให้ คำตอบอันดับหนึ่งคือต้องการให้นายจ้างสนับสนุนเรื่องการเทรนนิ่งและพัฒนาทักษะ (training and development) ตามด้วยชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น (flexible working hours) และโบนัสที่จ่ายเป็นเงินสด (cash bonus)

ส่วนสิทธิประโยชน์แบบเดิมๆ อย่างบริการฝากเลี้ยงเด็ก สิทธิการรักษาของบิดามารดา เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ กลับไม่ใช่เรื่องสำคัญนักในสายตาของคนรุ่นใหม่

alt=

เปรียบเทียบ "คุณค่า" ระหว่างคนกลุ่มที่เป็นผู้จัดการ (managers) กับคนรุ่นใหม่ (millenials) จะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ให้ค่ากับ "งานที่มีความหมาย" (meaningful work) มากที่สุด ในขณะที่กลุ่มผู้จัดการสนใจเรื่องค่าตอบแทนมากกว่า

การมองคุณค่าที่แตกต่างกันของคนสองรุ่น จึงส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในที่ทำงาน และนายจ้างเองก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับแรงงานรุ่นใหม่ที่มองโลกต่างไปจากเดิม

alt=

พัฒนาการของแอพแชต

Meeker วิเคราะห์การเติบโตของแอพแชตทั้งหลายว่าได้รับความนิยมสูง เพราะมีข้อดีหลายอย่าง เช่น ส่งข้อความได้รวดเร็ว แต่ก็แสดงออกถึงอารมณ์ของผู้ส่งได้ง่าย (expressive yet fast), ไม่จำเป็นต้องเฝ้ามันตลอดเวลา แต่ก็ส่งข้อความหากันได้ทันที (asynchronous yet instant)

alt=

แอพแชตที่ได้รับความนิยมสูงมี 6 ตัว ได้แก่ WhatsApp, Facebook Messenger, Snapchat, WeChat, LINE, KakaoTalk

alt=

จุดเด่นของแอพแชตฝั่งเอเชียคือทำตัวเป็นแพลตฟอร์ม มีทุกอย่างตั้งแต่การจ่ายเงิน สติ๊กเกอร์ เกม เพลง เรียกแท็กซี่ สั่งอาหาร

ตัวอย่างฟีเจอร์ของ WeChat ที่มีแทบทุกอย่าง ส่งผลทางอ้อมช่วยให้คนจีนเข้ามาใช้งานอินเทอร์เน็ตสะดวกขึ้น เพราะเข้าถึงบริการสำคัญๆ ทั้งหมดได้จาก WeChat เลย

alt=

เปรียบเทียบแอพแชตฝั่งเอเชียกับแอพแชตจากโลกตะวันตก จะเห็นว่าแอพฝั่งเอเชียเป็นผู้นำด้านการสร้างแพลตฟอร์ม

alt=

alt=

อย่างไรก็ตาม Meeker บอกว่าเรื่องส่วนแบ่งตลาดแอพแชตยังไม่รู้ผลแพ้ชนะโดยง่าย เพราะพฤติกรรมของผู้ใช้เองก็ใช้แอพแชตมากกว่า 1 ตัวอยู่แล้ว และผู้ใช้แต่ละคนก็มีรสนิยมการใช้งานแอพแชตที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้ตลาดนี้ยังเติบโตต่อได้อีกมาก

เนื้อหาในสไลด์ยังมีอีกมาก (อย่างที่บอกคือ 200 หน้า) ผู้สนใจก็สามารถอ่านเพิ่มได้จากลิงก์ที่ให้ไว้ข้างต้นครับ

Get latest news from Blognone

Comments

By: echo
Windows Phone
on 24 July 2015 - 20:50 #829601
echo's picture

+10

By: Kittichok
Contributor
on 24 July 2015 - 21:14 #829604

ขอบคุณสำหรับบทความครับ

By: cartier
iPhone Android
on 24 July 2015 - 21:14 #829605
cartier's picture

ขอบคุณ​ครับ มีประโยชน์​มาก

By: LinkWii1GT
iPhone Android Windows
on 25 July 2015 - 03:58 #829646
LinkWii1GT's picture

+1 ขอบคุณ​มาก​ครับ​

By: pb98
iPhone Android
on 25 July 2015 - 06:01 #829650

+1

By: jarujit
Contributor iPhone Android
on 26 July 2015 - 00:38 #829760
jarujit's picture

LINE food delivery launched beta in Thailand 2015!?


:-)