แนวทางซีพียูประสิทธิภาพสูงในอนาคตจะต้องมี FPGA มาประกอบเพื่อให้รองรับโหลดรูปแบบเฉพาะทางได้เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หลังอินเทล ร่วมมือกับ eASIC และถึงกับ เข้าซื้อ Altera ที่งาน SC15 Diane Bryant รองประธานฝ่ายสินค้าศูนย์ข้อมูลก็ออกมาระบุแล้วว่าสินค้าชุดแรกจะเริ่มส่งมอบให้ลูกค้าไตรมาสแรกของปี 2016
ชิปรุ่นพิเศษนี้จะไม่ได้วางขายทั่วไป แต่ส่งมอบชุดแรกๆ ให้กับผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ หรือผู้มีศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ อย่างเช่น อเมซอน, กูเกิล, ไป่ดู้, เฟซบุ๊ก, ไมโครซอฟท์ เป็นต้น โดยไม่มีรายชื่อแน่ชัดว่าบริษัทใดที่จะได้ชิปไปทดสอบจริง การใช้งานช่วงแรกอาจจะจำกัดในวงเล็ก แต่อินเทลคาดว่าภายในปี 2020 ซีพียูในศูนย์ข้อมูลถึง 30% จะมี FPGA ในตัว
ทางด้านไอบีเอ็มเองก็ประกาศความร่วมมือกับ Xilinx ผู้ผลิต FPGA รายสำคัญ ร่วมกับพัฒนาชิป OpenPower ที่สามารถทำงานร่วมกับ FPGA เพื่อรับโหลดบางประเภท
ผมเข้าใจว่าการเรียนออกแบบไอซีเป็นยาขมสำหรับนักศึกษาสายคอมพิวเตอร์จำนวนมาก แต่หากแนวทางที่อินเทลคาดการณ์ไว้เป็นจริง โอกาสที่โปรแกรมเมอร์ระดับองค์กรต้องไปนั่งออกแบบวงจรไอซีเป็นโค้ด VHDL หรือ Verilog คงสูงขึ้นในอนาคต
ที่มา - eWeek (Intel) , eWeek (IBM)
Comments
โฮ่ๆๆ โดนมาแล้วทั้ง VHDL ทั้ง Verilog เลยครับ วิชา High Level อะไรสักอย่าง ตอนเรียนก็สนุกดีนะครับ แต่แน่นอนว่าลืมไปแล้วครับ orz
ต่อไปอาจใช้ภาษาอื่นแทน VHDL