เมื่อพูดถึง "การลงทุน" คนจำนวนมากมักคิดถึงการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นหลัก หรืออาจจะเป็นการลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ ที่นำเงินไปซื้อหุ้นอีกที แต่การเติบโตของเงินคริปโตโดยเฉพาะบิตคอยน์ที่เริ่มได้รับความสนใจในวงกว้างตั้งแต่ปี 2011 เมื่อตลาดมืด Silk Road เปิดตัว ทำให้มีผู้สนใจใช้เงินคริปโตเหล่านี้มาระดมทุน ก่อเกิดเป็นการลงทุนแบบใหม่ที่มีชื่อเรียกทุกวันนี้ว่า Initial Coin Offering (ICO) ล้อมาจากการนำหุ้นเสนอขายต่อสาธารณะ (Initial Public Offering - IPO)
ICO ครั้งแรกๆ ของโลกคือ Mastercoin เมื่อปี 2013 (เปลี่ยนชื่อเป็น Omni ภายหลัง) และ Ethereum เมื่อปี 2014
ลงทุนไม่ได้หุ้น แต่ได้อย่างอื่นมาแทน
การลงทุนในหุ้นนั้นมักจะหมายถึงเรามีสิทธิ์ออกเสียงควบคุมบริษัทอยู่บ้าง แม้หากเราเป็นผู้ถือหุ้นรายเล็กแล้วเสียงควบคุมบริษัทของเราอาจจะไม่มีผลต่อทิศทางบริษัทนัก แต่ก็มีสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นตามกฎหมาย เช่น การได้รับส่วนแบ่งหากมีการขายบริษัท หรือขายทรัพย์สินบริษัททอดตลาด
การระดมทุน ICO ต่างจาก IPO โดยสิ้นเชิงในแนวคิดเช่นนี้ ยกตัวอย่างเช่น การระดมทุนของ Ethereum เมื่อปี 2014 นั้นเป็นการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงการ Ethereum ต่อไป โดยผู้ร่วมระดมทุนต้องจ่ายเงินลงทุนเป็นบิตคอยน์ และจะได้รับเงิน Ethereum เท่านั้น ไม่ได้สิทธิ์ในการควบคุมโครงการ Ethereum หรือได้รับส่วนแบ่งหากโครงการสร้างรายได้ขึ้นมาแต่อย่างใด
ราคาระดมทุนของ Ethereum เริ่มต้นที่ 2,000 ETH ต่อ 1 BTC ทุกวันนี้ราคา Ethereum ประมาณอยู่ที่ 10 ETH ต่อ 1 BTC เท่านั้นไม่นับค่าเงินคริปโตที่พุ่งขึ้นมาในช่วงหลัง ผู้ที่ลงทุนตั้งแต่ช่วงแรกหากแลกกลับเป็นบิตคอยน์ในัวันนี้ก็จะกำไรประมาณ 200 เท่าตัว
Ethereum ระดมทุนได้บิตคอยน์เป็นมูลค่าประมาณ 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการระดมทุนสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2014 มีบัญชีบิตคอยน์เข้าร่วมระดมทุนกว่า 8,000 บัญชี ผลของการระดมทุนคือ Genesis Block หรือ บล็อคเริ่มต้นของ Ethereum จะใส่เงินไว้ให้บัญชีเหล่านั้น ตั้งแต่ Ethereum เริ่มต้นขึ้นมา
Smart Contract, ERC20, และการกระจายตัวของ ICO
การระดมทุน ICO ในช่วงแรกมักต้องการการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ซับซ้อนเพื่อมารองรับการระดมทุน เช่น Ethereum เองก็เป็นการสร้างเงินคริปโตตัวใหม่แยกจากบิตคอยน์โดยมีความสามารถในการรันโค้ดในระดับ Turing-complete ฟีเจอร์สำคัญคือเขียนสคริปต์มี loop ได้ และสามารถอ่านค่าสถานะของบล็อคเชนออกมาได้ และเรียกการวางโค้ดบนบล็อคเชนเช่นนี้ว่า Smart Contract
Smart Contract เปิดทางให้ทุกคนที่ถือเงินเพียงพอเป็นค่าธรรมเนียมการวางโค้ดและรันโค้ด (ใน Ethereum เรียกว่าค่าแก๊ส) สามารถสร้างเงินสกุลใหม่ซ้อนขึ้นมาอยู่บน Ethereum โดยง่าย และในการเรียนรู้การพัฒนา Smart Contract ก็มักใช้ตัวอย่างการสร้าง “โทเค็น” เป็นสกุลใหม่เป็น (ที่อาจจะไม่มีใครใช้ด้วย) โดยผู้สร้าง Smart Contract สามารถออกโทเค็น (mint) นี้ให้กับใครก็ได้ และคนที่ได้รับไปก็สามารถโอนไปมายังบัญชีอื่นๆ ในระบบบล็อคเชนของ Ethereum เป็นเหมือนหลักทรัพย์อีกตัวหนึ่ง
เมื่อมาถึงช่วงปี 2015 ก็มีการพูดคุยกับถือรูปแบบมาตรฐานของการสร้างอินเทอร์เฟซมาตรฐานของการสร้างโทเค็นบน Ethereum จนได้เป็น มาตรฐาน ERC-20 โดยซอฟต์แวร์ต่างๆ ไม่ต้องมาแก้ไขเพื่อรองรับฟังก์ชั่นพื้นฐาน เช่น การโอนเข้าออกใหม่ทุกครั้งที่มีการเขียน Smart Contract เพื่อสร้างโทเค็น
ERC-20 เปิดทางให้ผู้คนสามารถสร้างโทเค็นใหม่ๆ ขึ้นมาโดยตลาดซื้อขายและซอฟต์แวร์ Wallet สามารถรองรับได้ทันที เพียงกำหนด address ของ Smart Contract สำหรับโทเค็นนั้นๆ ตัวอย่างโทเค็นที่ดังๆ เช่น EOS , หรือ OmiseGo ที่ทีมงานอยู่ในไทย เราสามารถเข้าไปสำรวจความเป็นเจ้าของโทเค็นและรายการโอนโทเค็นไปมาได้แบบเดียวกับการโอนเงินคริปโต โดยไม่ต้องเสียเวลาสร้างเครือข่ายบล็อคเชนขึ้นมาใหม่
รายงานสำรวจล่าสุดการระดมทุน ICO กว่าครึ่งในปี 2017 ทำผ่าน Ethereum จากทั้งหมดกว่า 400 ICO รายการ ICO ที่เป็น ERC20 อาจดูได้จาก เว็บ eidoo
คูปองแลกสินค้าหรือหลักทรัพย์
ผู้ร่วมระดมทุน ICO นั้นส่วนมากจะหวังกำไรเป็นหลัก การระดมทุน ICO เปิดทางให้ผู้ลงทุนสามารถทำกำไร (หรือขาดทุน) ได้โดย ICO เปิดทางให้ผู้ลงทุนได้รับโทเค็นสองรูปแบบหลักๆ ไม่นับแบบแปลกๆ เช่น UET ที่เอาไปทำอะไรไม่ได้เลย ได้แก่
- คูปองซื้อสินค้า (utility token) ระบุว่าโทเค็นที่ได้ไปสามารถซื้อสินค้าหรือบริการบางอย่างได้ เช่น Filecoin ระบุว่าเมื่อได้โทเค็นไปจะสามารถซื้อพื้นที่เก็บไฟล์ได้ หรือ Ethereum เองก็ประกาศว่า ETH ที่ได้ไปจะใช้เป็นค่าธรรมเนียมในสร้างแอปพลิเคชั่นและเรียกใช้แอปพลิเคชั่นบน Ethereum
- หลักทรัพย์ (security token) ที่อิงมูลค่าจากภายนอก เช่นโทเค็นบางตัวสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนของกิจการที่ลงทุนไป และจะคืนกำไรให้ผู้ลงทุนด้วยการจ่ายปันผลหรือ หรือนำกำไรมาซื้อโทเค็นคืนเพื่อดันราคาให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ
ทำเยอะ เจ๊งเยอะ หลอกเยอะ
การระดมทุน ICO แรกๆ อาจจะทำกำไรได้มหาศาล เช่น ถ้าใครลงทุน ETH ไว้ตั้งแต่แรก ที่ 2000 ETH ต่อ 1 BTC (ราคา ณ ตอนนั้นประมาณ 500 ดอลลาร์ต่อ BTC) ตอนนี้ก็จะได้กำไรกว่า 2,000 เท่าตัวไปแล้ว แต่ในความเป็นจริง โครงการที่เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องจนเป็นซอฟต์แวร์ที่มีคนใช้จริงอย่าง Ethereum กลับมีไม่มากนัก
การระดมทุน ICO ในปี 2016 มีประมาณ 64 รายการ และที่ระดมทุนได้เกินล้านดอลลาร์มีเพียงประมาณ 20 รายการเท่านั้น แต่ในปี 2017 ที่มีการรวบรวมมาก็เริ่มขึ้นไปหลายร้อยรายการ และมีการระดมทุนที่ได้เงินไปเกินสิบล้านดอลลาร์นับสิบรายการ รายการใหญ่ๆ เช่น Bancor สามารถระดมทุนไปได้ถึง 153 ล้านดอลลาร์ หรือ Tezos ที่ระดมทุนได้ถึง 232 ล้านดอลลาร์ และ Filecoin ได้ 257 ล้านดอลลาร์
การระดมทุนหลายครั้งแม้จะมีเอกสารและทีมงานที่ดูดี แต่ก็มักไม่ได้รับประกันความสำเร็จของโครงการแต่อย่างใด Tezos ทีมงานทะเลาะกันเองจนกระทั่งไม่สามารถออกโทเค็นอะไรออกมาได้ ตอนนี้เป็นคดี อยู่ระหว่างการสอบสวนของกลต.สหรัฐฯ โครงการจำนวนหนึ่งก็ดูเหมือนจะออกมาหลอกนักลงทุนโดยเฉพาะ เช่น REcoin ที่ถูกกลต.สหรัฐฯ ตั้งข้อหาว่า ไม่ได้นำเงินไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ตามที่แจ้งนักลงทุนไว้จริง และยังแจ้งข้อมูลว่าระดมทุนได้นับล้านดอลลาร์ทั้งที่ได้จริงไม่กี่แสนดอลลาร์เท่านั้น เมื่อปลายปีที่แล้ว Confido ที่ระดมทุนได้ 400,000 ดอลลาร์ ก็ ปิดเว็บหายไปดื้อๆ
การหลอกลวงยังมีอย่างต่อเนื่อง เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Vitalik Buterin ผู้ก่อตั้ง Ethereum ก็ออกมาเตือนว่ามีโครงการระดมทุน อ้างว่าเขาไปร่วมทีม
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจก่อนลงทุน ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่ต้องไม่ยุ่งกับมัน
การลงทุนมีความเสี่ยงคงเป็นเรื่องปกติ (หลายคนอาจจะบอกว่าเก็บเงินไว้เฉยๆ ก็มีความเสี่ยง) แต่ความเสี่ยงหลายๆ อย่างทุกวันนี้เราก็ได้บริการจัดการไปจำนวนมากจากหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ถูกตรวจสอบอย่างหนัก มีกระบวนการตรวจสอบบัญชีที่ค่อนข้างซับซ้อน และการกำกับดูแลไปถึงผู้บริหาร
การลงทุนใน ICO มีความเสี่ยงในหลายชั้นกว่าการระดมทุนแบบเดิมๆ จากธุรกิจที่อาจจะแปลกกว่าธุรกิจทั่วไปจนหลายครั้งคนลงทุนก็อาจจะไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการระดมทุนนี้จะเอาเงินไปทำอะไร, ขั้นตอนการกำกับดูแลที่ยังไม่มีแนวทางแน่ชัด, ความต้องการเข้าใจเทคโนโลยีที่ผู้ใช้อาจจะต้องเข้าใจการใช้งานเงินคริปโตและแนวทางการเข้าระดมทุนที่ถูกต้อง บางโครงการหากใครโอนเงินผิดก็จะยึดไปเลยก็มี รวมไปถึงการเก็บรักษาที่ผู้ลงทุนต้องเก็บรักษาโทเค็นเหล่านี้รูปแบบเดียวกับเงินคริปโตต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญ ก็ทำผิดพลาดได้เรื่อยๆ
สุดท้ายหากพยายามทำความเข้าใจแล้วยังไม่สามารถเข้าใจได้ คำแนะนำคงมีเพียงว่า “อย่าไปยุ่งกับมัน”
Hiring! บริษัทที่น่าสนใจ