Gao Yongjun ผู้อำนวยการฝ่าย medical affair ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว South China Morning Post ระบุว่าบริษัทกำลังยื่นขออนุญาตใช้งานวัคซีน COVID-19 ในเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไปในฮ่องกง และตอนนี้การทดลองในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปก็ยังไม่พบผลข้างเคียงร้ายแรง
ตอนนี้ฮ่องกงมีวัคซีน Sinovac และ Pfizer/BioNTech ให้ประชาชนเลือก โดย BioNTech นั้นได้รับอนุญาตให้ใช้งานในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปแล้ว ส่วน Sinovac ยังจำกัดเฉพาะผู้อายุ 18 ปีขึ้นไปอยู่ ทาง Sinovac ยื่นข้อมูลการทดลองในเด็กเพื่อขอให้ทางการฮ่องกงลดอายุผู้รับวัคซีนลง
กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ประกาศว่าผู้ที่เลือกฉีดวัคซีน Sinovac จะไม่ได้สิทธิ์เข้าร่วมงานต่างๆ โดยไม่ต้องตรวจ COVID-19 ล่วงหน้า หรือ pre-event testing (PET) เหมือนกับผู้ที่รับวัคซีน Pfizer หรือ Moderna และหลังจากนี้คลีนิกที่รับฉีดวัคซีน Sinovac จะต้องแจ้งผู้รับวัคซีนว่าสิทธิ์ต่างๆ จะไม่เท่ากับผู้รับวัคซีนตามโครงการหลักของรัฐบาล
สาธารณสุขสิงคโปร์อนุญาตให้ใช้งานวัคซีน Sinovac-CoronaVac หลังจาก องค์การอนามัยโลกรองรับให้วัคซีนใช้งานได้แบบฉุกเฉิน หลังจากสิงคโปร์เน้นใช้งานเฉพาะวัคซีน mRNA ทั้ง Pfizer และ Moderna
วัคซีน mRNA มีรายงานว่าก่อให้เกิดอาการแพ้รุนแรง (anaphylaxis) ในกลุ่มผู้เป็นภูมิแพ้ที่มีอาการแพ้รุนแรงมาก่อน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ รายงานว่าพบผู้รับวัคซีนที่มีอาการแพ้รุนแรงจำนวน 21 คน คิดเป็น 11.1 รายต่อ 1 ล้านโดส โดยในจำนวนนี้ 17 คนเคยมีประวัติการแพ้รุนแรงมาก่อน นอกจากนี้วัคซีน mRNA ยังอาจจะไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (immunocompromised)
องค์การอนามัยโลกประกาศรับรอง (validate) วัคซีน Sinovac-CoronaVac ที่ตอนนี้นับเป็นวัคซีน COVID-19 ตัวหลักของประเทศไทยให้เข้ารายชื่อวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานแบบฉุกเฉิน (Emergency Use Listing - EUL) เป็นตัวที่ 6 ต่อจาก Pfizer/BioNTech, AstraZeneca, Janssen (Johnson & Johnson), Moderna, และ Sinopharm
กระบวนการรับรองเข้า EUL เป็นเงื่อนไขที่วัคซีนจะสามารถนำไปใช้งานในโครงการ COVAX Facility ได้ โดยกระบวนการพิจารณาอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกมาร่วมพิจารณาข้อมูลทั้ง คุณภาพ, ความปลอดภัย, และประสิทธิผลของตัววัคซีน
Sinovac รายงานประสิทธิภาพรวมในการป้องกันโรค COVID-19 ในการทดสอบเฟส 3 อยู่ที่ 50.4% พร้อมรายงานประสิทธิภาพในการป้องกันอาการระดับเล็กน้อย (mild case) 78% และประสิทธิภาพการป้องกันกรณีปานกลาง (moderate infection) และรุนแรง (severe infection) 100%
ก่อนหน้านี้ Sinovac แถลงข่าวถึงประสิทธิภาพของวัคซีนมาแล้วหลายครั้ง และประสิทธิภาพมักเปลี่ยนไปมา โดยไม่ได้รายงานรายละเอียด เช่น จำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบถ้วน หรือจำนวนผู้ติดโรคในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนจริงและวัคซีนหลอก เฉพาะการทดลองในบราซิลทางบริษัทก็เลื่อนการปล่อยผลการทดสอบเต็มมาแล้วสามครั้ง แต่ครั้งล่าสุดเป็นการส่งผลเพื่อขอรับรองการใช้งาน