Tags:
Node Thumbnail

ธนาคารแห่งชาติอินโดนีเซีย หรือ Bank Indonesia (BI) เริ่มบังคับใช้เครือข่ายการจ่ายเงินผ่าน QR ของตัวเองที่ชื่อว่า QRIS ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา โดยผู้ให้บริการ e-Wallet ทุกรายในอินโดนีเซียต้องรองรับ QRIS ทั้งหมด และเก็บค่าธรรมเนียมเท่ากัน

อัตราค่าธรรมเนียมของ QRIS อยู่ที่ 0.7% ไม่ว่าผู้จ่ายและผู้รับจะอยู่บนผู้ให้บริการเดียวกันหรือต่างกัน แม้จะถูกกว่าค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตที่อาจจะสูงถึง 3% แต่ค่าธรรมเนียมรับบัตรเครดิตกรณีผู้รับและผู้จ่ายอยู่ธนาคารเดียวกันในอินโดนีเซียมีค่าธรรมเนียมเพียง 0.15% เท่านั้น แต่ค่าธรรมเนียมต่างธนาคารอยู่ที่ 1% สำหรับการใช้ QRIS เฉพาะทาง เช่น ค่าใช้จ่ายการศึกษาจะคิดค่าธรรมเนียม 0.6% ค่าน้ำมันคิดค่าธรรมเนียม 0.4% และหากเป็นเงินบริจาคจะไม่มีค่าธรรมเนียมเลย

หนังสือพิมพ์ The Jakata Post อ้างแหล่งข่าวเป็นผู้บริหาร e-Wallet ที่ไม่เปิดเผยตัว ระบุว่าการล็อกค่าธรรมเนียมเช่นนี้อาจจะสร้างปัญหาให้วงการ e-Wallet เพราะที่ผ่านมาผู้ค้ารายย่อยแทบไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ แต่ผู้ให้บริการมักไปเก็บรายได้เอาจากผู้ค้ารายใหญ่ เช่น Starbucks ที่อาจจ่ายค่าธรรมเนียมถึง 2% นอกจากนี้ QRIS ยังบังคับให้ผู้ให้บริการ e-Wallet ต้องแบ่งค่าธรรมเนียมข้ามค่าย แต่ละการใช้จ่ายจะจ่ายทั้งฝั่งผู้จ่าย, ผู้รับ, และ National Electronic Transaction Settlement ที่เป็นบริษัทร่วมทุนของธนาคารขนาดใหญ่ในฐานะตัวกลางเชื่อมต่อ จากเดิมก่อนหน้านี้แต่ละ QR ต้องใช้แอปเฉพาะในการรับจ่าย ผู้ให้บริการแอปนั้นๆ ก็ได้ค่าธรรมเนียมไปทั้งหมด

แนวทางของอินโดนีเซียนับว่าต่างจากของไทยที่แม้จะมี QR มาตรฐานกลางแต่ก็ไม่ได้บังคับให้ใช้งานร่วมกัน หรือ สิงคโปร์ที่มีโครงการ SGQR ให้ใช้งานร่วมกันได้ แต่ก็ไม่บังคับให้เชื่อมต่อเครือข่ายเข้าด้วยกัน ร้านค้าต้องเลือกเองว่าจะรับจ่ายจากบริการใดบ้าง โดยตัวมาตรฐาน QRIS นั้นเป็นมาตรฐานที่พัฒนาจากมาตรฐาน EMVco เหมือนกัน

ที่มา - Kr-ASIA

No Description

ภาพจาก วิดีโอนำเสนอ QRIS ของธนาคารแห่งอินโดนีเซีย

Get latest news from Blognone

Comments

By: Wang_Peter
iPhone Android
on 13 January 2020 - 09:23 #1143540
Wang_Peter's picture

ต่างคนต่างทำ ใช้ในประเทศ เป็นเรื่องดีแต่พอจะใช้ข้ามชาติ สุดท้ายก็จะแพ้พ่ายให้กับ การที่ไม่มี ตัวกลางชัดเจน

By: whitebigbird
Contributor
on 13 January 2020 - 09:29 #1143542
whitebigbird's picture

ไทยก็น่าจะเอาอย่างรวมศูนย์ ทุกวันนี้แอพจ่ายเงินเต็มไปหมด

By: Mypandacm on 13 January 2020 - 09:43 #1143545 Reply to:1143542
Mypandacm's picture

ถึงมีแยกมากมาย แต่เราก็ยังมีพร้อมเพย์ที่เทพพอสมควรเลยนะครับ แถมฟรีด้วย

By: lew
Founder Jusci's WriterMEconomics Android
on 13 January 2020 - 10:01 #1143550 Reply to:1143542
lew's picture

ผมไม่แน่ใจว่าแบบอินโดนีเซียนี่จะน่าตามนะครับ อย่างที่เขียนคือหลายบริการมันฟรี (ผู้ให้บริการกะไปกินค่าธรรมเนียมจากรายใหญ่) แต่พอต้องข้ามเครือข่ายแบบนี้ก็ให้บริการฟรีไม่ได้ ของเราที่ใช้มีรวมศูนย์ให้เลือกใช้ แต่ไม่บังคับ (True Money ก็จ่ายได้แล้ว) อาจจะดีสุด

แต่การบังคับ "ตัว QR" แบบสิงคโปร์นี่น่าสนใจ เพราะตลาดยังแข่งขันกันได้ ค่าธรรมเนียมอะไรก็ไม่เกี่ยว แค่หนึ่งร้านหนึ่งป้ายเท่ากันหมดเท่านั้นเอง


lewcpe.com , @wasonliw

By: whitebigbird
Contributor
on 13 January 2020 - 10:35 #1143560 Reply to:1143550
whitebigbird's picture

ผมชอบทั้งการรวมศูนย์แอพ และรวม data interface เลยครับ

ความหลายมาตรฐานของเราไม่ได้ช่วยเรื่องกลไกการแข่งขันในตลาด แต่กลายเป็นความกระจัดกระจายเกินไป

แต่ผมเห็นด้วยกับเม้นบนเรื่องพร้อมเพย์นะครับ อันนี้ใช้สบายจริงๆ