ในช่วงไม่กี่ปีหลังจีนเดินหน้าลงทุนในโครงการเกี่ยวกับพลังงานสะอาดเป็นจำนวนมาก โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่จีนให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าแบบอื่นคือระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม
โครงการระบบไฟฟ้าพลังงานลมแห่งล่าสุดที่กำลังจะเริ่มก่อสร้างคือฟาร์มผลิตไฟฟ้านอกชายฝั่งที่เมือง Chaozhou ซึ่งโครงการนี้เรียกได้ว่าใหญ่สะท้านโลกเลยทีเดียว เพราะกำลังการผลิตไฟของฟาร์มนี้สูงถึง 43.3 GW ใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีการสร้างมา
หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพมากขึ้นว่ากำลังการผลิตไฟของฟาร์มไฟฟ้าพลังงาน Chaozhou นั้นมากมายแค่ไหน ลองเปรียบเทียบกับกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงงานไฟฟ้าในประเทศไทยอาจช่วยให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น
ข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของทั้งประเทศในเดือนกันยายน 2022 อยู่ที่ 42.3 GW (ไม่นับรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ซื้อจากโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน) โดยแบ่ง กำลังการผลิตของ กฟผ. และ กำลังการผลิตของภาคเอกชน ได้ดังนี้
- โรงไฟฟ้าของ กฟผ. 16.9 GW
- ผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ (IPP) 16.1 GW
- ผู้ผลิตเอกชนรายเล็ก (SPP) 9.3 GW
จึงเท่ากับว่าโครงการฟาร์มผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Chaozhou นั้นมีกำลังการผลิตไฟมากกว่าโรงไฟฟ้าทุกแห่งในประเทศไทยรวมกัน
ความใหญ่ของโครงการนี้หากเทียบกับฟาร์มผลิตไฟฟ้านอกชายฝั่งแห่งอื่นแล้วถือว่าใหญ่กว่ากันมาก ในปัจจุบันนี้ฟาร์มที่ดำเนินการผลิตไฟอยู่ที่มีกำลังการผลิตสูงสุดคือโครงการ Hornsea Project Two ในสหราชอาณาจักร ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟเพียง 1.4 GW เท่านั้น
สำหรับโครงการยักษ์ใหญ่ของจีนนี้จะสร้างฟาร์มผลิตไฟในพื้นที่ช่องแคบไต้หวัน ห่างออกไปจากชายฝั่งเมือง Chaozhou ไปทางตะวันออกเป็นระยะทาง 75 และ 185 กิโลเมตร โดยทางการจีนระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวมีลมแรงที่สามารถปั่นกังหันลมได้ 3,800-4,300 ชั่วโมงต่อปี (หรือคิดเป็น 43% - 49% ของระยะเวลาใช้งาน) ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนเวลาใช้งานที่สูงมากหากเทียบกับฟาร์มไฟฟ้าพลังงานลมทั่วไป ทั้งนี้ทางการจีนมีแผนจะก่อสร้างฟาร์มแห่งนี้ให้แล้วเสร็จในปี 2025
ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานลมได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในช่วง 5 ปีหลังมานี้หากรวมกำลังการผลิตไฟของฟาร์มไฟฟ้านอกชายฝั่งประเทศอื่นๆ ทั่วโลกรวมกันยังไม่เท่ากับฟาร์มนอกชายฝั่งที่จีนสร้างขึ้นภายในปี 2021 ปีเดียว โดยในปัจจุบันกำลังการผลิตไฟของฟาร์มไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งทั่วโลกรวมกันเท่ากับ 54 GW ซึ่งในจำนวนนั้น 26 GW เป็นกำลังการผลิตจากฟาร์มของจีน
จากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานลมในจีนก็ได้มีความพยายามพัฒนาระบบสำรองพลังงานเพื่อเก็บพลังงานส่วนเกินที่ผลิตได้เอาไว้ใช้ในภายหลัง โดยเมื่อต้นเดือนก็มีการเปิดใช้งาน ระบบเก็บพลังงานแบบอัดอากาศขนาด 400 MWh ซึ่งก็ถือเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดในโลกเช่นเดียวกันสำหรับระบบเก็บพลังงานลักษณะนี้
ที่มาภาพ: pixabay: aitoff , License CC 0)
ที่มา - Electrek
Wow – China just built more offshore wind capacity, in 2021 alone, than the rest of the world had managed in the last 5yrs put togetherIts 26GW now accounts for half of the world's 54GW totalAlso, it added twice as much in 2021 as IEA had forecast in…December 2021 pic.twitter.com/yFpctkI1Zd
— Simon Evans (@DrSimEvans) January 25, 2022
Comments
พลังงานลมพวกนี้ scale ใหญ่ๆ มันจะขวางทางลมธรรมชาติไหมเนี่ย
เข้าใจว่าพัดลมจะหมุนได้ก็ต้องมีลมผ่านไปได้นะ
พอแรงลมเคลื่อนผ่านกังหันแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า แรงมันก็เสียไปนะครับ ลมคงไม่ได้ผ่านได้เร็วเท่าเดิมแน่ๆ ยกเว้นจะหักล้างกฏบางข้อออกไป
ในอ่าวไทย น่าทำมากๆ ยังสงสัยว่า ทำไมถึงไม่ไม่ใครลงทุนกัน (ถ้าใช้กับหันแนวตั้งด้วย เกิดแน่ๆ)
https://webkc.dede.go.th/testmax/sites/default/files/Bib14378.pdf
ถ้าอ่านในรายงานที่คุณแนะนำ จะเห็นได้ชัดว่า ความเร็วลมในอ่าวไทยยังต่ำไปสำหรับการผลิตไฟฟ้าให้คุ้มค่า และต่อให้พื้นที่ที่ดูจะดีที่สุด ก็ยังใช้เวลาราว 30 ปีขึ้นไปจึงจะคืนทุน
บอกเคล็ดลับผมหน่อยได้มั้ยครับ ว่าทำไมถึงอ่านรายงานได้เร็วขนาดนี้...อยากรู้จริงๆ นะครับไม่ได้กวน
ผมว่าอ่านเฉพาะสรุปก็ได้นะครับ
พอนึกโครงสร้างออกครับ เลยอ่านสแกนเร็วๆก็ได้
จริงๆ มันไม่ใข่ครั้งแรกที่มีคนเสนอรายงานเสนอแนะการสร้างกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าในไทยครับ ซึ่งเท่าที่จำได้ เหมือนกับความเร็วลมในอ่าวไทยมันต่ำจนไม่คุ้มค่าเชิงพาณิชย์
พอมีตัวรายงาน ก็เลยอ่านแบบสแกนเร็วๆ ก็เจอจริงๆครับ
เอาเข้าจริง ต้องคิดเรื่อง maintanace ระหว่างทาง เช่นการซ่อมบำรุงใบพัด หรือตัวกำเนิดไฟฟ้า เพราะอย่างใบพัดที่โดนแดด โดนลม สามารถเสื่อม กรอบ แตกร้าวได้ (แม้กระทั่งโดนนกชน!) ไม่ใช่ตั้งทิ้งไว้ไม่ต้องดูแลตลอด 5-10 ปี อาจจะต้องซ่อม หรือแม้แต่เปลี่ยนใบพัดด้วย
ซึ่งเอาจริงๆ ค่าความคุ้มค่าจะแย่ลงไปอีก
ผมว่าบ้านเราเหมาะกับฟาร์มโซล่าเซลล์มากกว่า
แดดออกตลอดทั้งปีเยี่ยงนี้
เคยอ่านนะครับ เขตร้อนชื้นแบบประเทศไทยยิ่งไม่เหมาะ เพราะเมฆเยอะ ภูมิอากาศไม่คงที่ ฤดูฝน ฤดูร้อน ฤดูหนาว ฝนตกได้ทั้งปี ไม่เกี่ยงช่วงเวลา โซลาร์เซลล์ไม่ได้ต้องการแดดร้อน แต่ต้องการแดดที่สม่ำเสมอ ร้อนมากประสิทธิภาพก็ลดลงด้วยซ้ำ ภูมิประเทศแบบทะเลทรายเหมาะสมกว่ามาก
ที่ควรต้องผลักดันอย่างไม่โลกสวยก็คือ
1. ถ่านหิน
2. นิวเคลียร์ (ขนาดไหนก็ได้)
ทุกวันนี้เทคโนโลยีไปไกลแล้ว จัดการปัญหาได้ดี
มีเสถียรภาพทาง ราคา ต้นทุนถูกมาก ค่าไฟลงได้ครึ่งๆเลยล่ะ
อ่าวไทยยังไม่มี แต่เรียบชายฝั่งอ่าวไทยต้้งแต่นครศรี ยันสงขลา กังหันลมไฟฟ้าเพียบเลยครับ ปากพนัง-หัวไทร-ระโนด-สทิงพระ รวม ๆกันน่าจะหลาย Megawatt อยู่
ใหญ่ระดับจีนมันก็ต้องสร้างขนาดนั้นแหละไม่งั้นจะพอใช้ได้ไง
เห็นว่าโรงงานไฟฟ้านิวเคลียขนาดเล็ก อาจจะกลับมาเป็นตัวเลือกอีกครั้งถ้าเกิดอะไรขึ้นจะไม่เสียหายแบบฟุกุชิมะ หรือเชอร์โนบิลอีกต่อไปแล้ว
ฟุกุชิมะนี่ เหตุมันเกิดเพราะซึนามิเจ้าหน้าที่ลี้ภัยหมด เลยไม่มีใครอยู่จัดการ
อันนึงเกิดจากความประมาทและลดต้นทุน อีกอันเกิดจากภัยธรรมชาติที่เหนือการควบคุม แค่คนส่วนใหญ่ก็ยังโทษนิวเคลียร์อยู่ และมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การกลับมาอาจจะยากในพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ที่คนต่อต้านเยอะอยู่
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
ซ้ำ
ถ้าได้เทคโนโลยีพระอาทิตย์เทียม จีนคงมีพลังงานใช้เหลือเฟือเลย