เมื่อพูดถึงสตาร์ตอัพชั้นแนวหน้าของไทย ชื่อของแพลตฟอร์มอีบุ๊ก Ookbee ย่อมโผล่มาเป็นอันดับแรกๆ ที่ผ่านมา Ookbee ประสบความสำเร็จทั้ง ในแง่ส่วนแบ่งตลาด การระดมทุน และ การขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน (ปัจจุบันมีสำนักงานในเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และกำลังอยู่ระหว่างตั้งสำนักงานในอินโดนีเซีย)
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมมีโอกาสได้ไปเยือนสำนักงานของ Ookbee พร้อมสัมภาษณ์ คุณหมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัท ซึ่งก็พาทัวร์ทั้งบริษัทอย่างเต็มที่ เพื่อไขความลับความสำเร็จของ Ookbee ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
อะไรคือเคล็ดลับของ Ookbee
จากที่ได้ไปเยือนสำนักงานใหญ่ย่านพัฒนาการของ Ookbee ผมได้คำตอบว่าความสำเร็จของ Ookbee มาจากหลายๆ ปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น
- การที่ทีมผู้ก่อตั้งเคยมีประสบการณ์เปิดบริษัทซอฟต์แวร์ระบบลายนิ้วมือ IT Works มาก่อน (ปัจจุบันยังดำเนินการอยู่ แต่โฟกัสที่ Ookbee เป็นหลัก) จึงรู้ว่าจะบริหารงานบริษัทได้อย่างไรไม่ให้ล้มเหลวหรือผิดพลาด
- วิสัยทัศน์การมองเห็นช่องว่างทางการตลาดสื่อดิจิทัลที่ยังว่างอยู่ในภูมิภาคนี้ เนื่องจากยักษ์ใหญ่ในโลกอีบุ๊กภาษาอังกฤษยังไม่ให้ความสนใจ แต่เป็นตลาดใหญ่ที่มีฐานลูกค้าจำนวนมาก
- การเป็นเจ้าของเทคโนโลยีของตัวเอง สร้างอำนาจต่อรองทางการตลาดได้
แต่ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ Ookbee ประสบความสำเร็จอย่างมากมี 2 อย่างคือ เข้าใจผู้ใช้และ เข้าใจคู่ค้าอย่างลึกซึ้งทีเดียว
ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า Ookbee ทำตัวเป็นแพลตฟอร์มสำหรับอีบุ๊กและสิ่งพิมพ์ดิจิทัล เป็น "คนกลาง" ระหว่างสำนักพิมพ์และลูกค้าที่ซื้อหนังสือ รูปแบบธุรกิจของ Ookbee จึงเป็นแบบ B2B2Cนั่นคือระหว่าง Ookbee กับสำนักพิมพ์เป็น B2B ส่วน Ookbee กับลูกค้ารายย่อยคือ B2C
สิ่งที่ Ookbee ทำได้ดีมากคือบริหารความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสำนักพิมพ์และลูกค้า
เข้าใจลูกค้า
ถ้าเรามองที่ลูกค้ารายย่อยที่ซื้อหนังสือของ Ookbee สิ่งที่ลูกค้าเหล่านี้ต้องการคือ "มีหนังสือให้เลือกเยอะๆ มีหนังสือชื่อดังขาย ในราคาสมเหตุสมผล มีประสบการณ์การใช้งานที่ดี"
ในแง่ประสบการณ์การใช้งาน Ookbee พบว่าลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์อ่านอีบุ๊กมาก่อน คนกลุ่มนี้ไม่เคยใช้ Kindle หรือ iBooks ด้วยเหตุผลหลายอย่างทั้งด้านภาษา ความรู้ กระบวนการจ่ายเงิน ฯลฯ ดังนั้นเมื่อคนกลุ่มนี้ให้ความสนใจอ่านอีบุ๊กผ่าน Ookbee บริษัทจึงมี "โอกาสครั้งเดียว" ที่ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้ได้ประสบการณ์ที่ดีกลับไป มิฉะนั้นลูกค้าเหล่านี้จะเข็ดและไม่สนใจอ่านอีบุ๊กอีกเลย ส่งผลให้อุตสาหกรรมอีบุ๊กไทยในภาพรวมแย่ไปด้วยในระยะยาว
Ookbee จึงเลือกใช้การอ่านอีบุ๊กผ่านแอพของตัวเองเท่านั้น ไม่เปิดให้ดาวน์โหลดไฟล์อีบุ๊กแยกเองต่างหาก (อีกเหตุผลหนึ่งคือเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย) เพื่อให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดีแบบ end-to-end คือโหลดแอพมา สมัครสมาชิก แล้วอ่านจากในแอพได้เลย ช่วยลดขั้นตอนการซื้อหนังสือ ดาวน์โหลดไฟล์ แล้วนำไปอิมพอร์ตเข้ากับระบบอ่านอีบุ๊กตัวอื่นๆ
คุณหมูบอกว่าแนวคิดของ Ookbee เหมือนกับ Kindle ของ Amazon คือสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองที่ครบวงจร เพื่ออำนวยความสะดวกกับลูกค้ามากที่สุด หนังสือของลูกค้าเก็บอยู่บนเซิร์ฟเวอร์ของ Ookbee เสมอ อ่านจากที่ไหนก็ได้ขอเพียงแค่มีแอพ Ookbee ซึ่งก็พยายามทำลงทุกแพลตฟอร์ม (ไม่เว้นแม้แต่ Windows Phone และ Windows 8)
ในส่วนของการจ่ายเงิน Ookbee ก็พยายามรองรับการจ่ายเงินทุกรูปแบบที่เป็นไปได้ ตั้งแต่บัตรเครดิต PayPal ผ่านโอเปอเรเตอร์ (AIS) หรือแม้กระทั่งการไปจ่ายที่ 7-Eleven เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าทุกระดับ
ประเด็นเรื่องความหลากหลายของหนังสือถือเป็นเรื่องใหญ่ คนไทยจำนวนไม่น้อยไม่สนใจซื้ออีบุ๊กด้วยเหตุผลว่าไม่มีหนังสือที่ต้องการ หนังสือหรือนิตยสารชื่อดังไม่สนใจขายแบบอีบุ๊ก ส่งผลให้ยอดขายของแพลตฟอร์มอีบุ๊กน้อยลงไปด้วย คำตอบของปัญหานี้อยู่ที่ "สำนักพิมพ์" ที่เป็นเจ้าของหนังสือ
ตัวอย่างนิตยสารและหนังสือขายดีของ Ookbee
หมายเหตุผมเพิ่งทราบเหมือนกันว่า Ookbee มีการ์ตูนญี่ปุ่นขายเป็นอีบุ๊กด้วย เท่าที่เห็นมีของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจและบูรพัฒน์ ใครสนใจก็ไปอุดหนุนกันได้
เข้าใจสำนักพิมพ์
คุณหมูเล่าว่า Ookbee เข้าใจดีถึงความสำคัญของจำนวนคอนเทนต์ที่มีขายในระบบ แต่สิ่งที่พบในความเป็นจริงคือสำนักพิมพ์ในไทยยังไม่มีความพร้อมสำหรับการทำอีบุ๊กมากนัก ถึงแม้สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่นำระบบจัดหน้าด้วยคอมพิวเตอร์มาใช้กันหมดแล้ว แต่ workflow หรือกระบวนการจัดหน้าก่อนพิมพ์ยังออกแบบมาเพื่อสิ่งพิมพ์กระดาษเพียงอย่างเดียว การจะหาสำนักพิมพ์ที่เตรียม soft file สำหรับขายแบบดิจิทัลด้วยเป็นเรื่องยากมากๆ
แนวคิดของสำนักพิมพ์ในไทยส่วนใหญ่ยังมองว่าการทำฟอร์แมตดิจิทัลเพื่อขายออนไลน์ มีรายได้กลับมาไม่เยอะ ไม่คุ้มลงทุน หรือบางสำนักพิมพ์ก็เก่าแก่จนไม่สนใจโลกดิจิทัลเลย
เมื่อไม่มีทางเลือกอื่น สิ่งที่ Ookbee ทำก็คือ "ใช้พลังถึก" เข้าช่วยเพื่อให้ได้คอนเทนต์มา
Ookbee แปลงสภาพตัวเองจากแพลตฟอร์มไอทีสำหรับแลกเปลี่ยนไฟล์อีบุ๊ก กลายมาเป็น "คู่คิดสำนักพิมพ์" ในเรื่องดิจิทัล โดย Ookbee จะทำทุกอย่างที่ต้องทำเพื่อให้ได้สิ่งพิมพ์ดิจิทัลมา เช่น
- กรณีนิตยสาร ขอไฟล์ PDF ก่อนพิมพ์จากโรงพิมพ์ (โดยได้รับคำยินยอมจากสำนักพิมพ์แล้ว) นำกลับมาดัดแปลงเป็นฟอร์แมต PDF ที่เหมาะกับการอ่านบนจอด้วยทีมงาน Ookbee เอง (มีโรงงานนรก นั่งสแกนหนังสือ ตัดไฟล์ PDF ใหม่ ใส่ความเป็นอินเตอร์แอคทีฟเข้าไป เพื่อขายบน Ookbee)
- กรณีหนังสือเล่ม ถ้าไม่มีไฟล์จริงๆ Ookbee มีทีมนั่งพิมพ์ใหม่ ย้ำ! พิมพ์ใหม่ทั้งเล่ม เพื่อให้ได้ไฟล์อีบุ๊กที่ทำ text reflow ได้ เหมาะกับการอ่านบนหน้าจอ (ภาพด้านล่างเป็นโรงงานพิมพ์หนังสือลง Word)
- อัดเสียง สำหรับการขายหนังสือเสียง (audiobook) บริษัทมีทีมงาน 20 คนทำหน้าที่อ่านข้อความในหนังสือเป็นเสียง และมีทีมวิศวกรเสียงคอยตัดต่อเสียงให้เหมาะกับการฟังของลูกค้า ทำงานกันเต็มเวลาเพื่อผลิตหนังสือเสียงเข้ามาในระบบให้มากที่สุด
- ส่วนสำนักพิมพ์ที่อยากมีแอพของตัวเองสำหรับขายอีบุ๊กในสังกัด แต่ไม่มีทักษะด้านการพัฒนาแอพเลย Ookbee ก็เข้าไปช่วยทำแอพให้เสร็จสรรพ สำนักพิมพ์ไม่ต้องทำอะไรเลย
เป้าหมายของ Ookbee คือเพิ่มจำนวนคอนเทนต์ในระบบให้มากที่สุด เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาซื้อคอนเทนต์เยอะๆ เป้าหมายปลายทางคือลูกค้าถูกใจ ซื้อหนังสือเพิ่มขึ้น สำนักพิมพ์ก็ได้รายได้เพิ่ม (โดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่มมากนัก) และ Ookbee ก็ประสบความสำเร็จในระยะยาว
ปัจจุบัน Ookbee มีนิตยสารในระบบทั้งหมด 900 หัว โดยแบ่งเป็นนิตยสารไทยประมาณ 600 หัว ที่เหลือเป็นนิตยสารของประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่บุกไปทำตลาด
สู่ชุมชนนักเขียน-นักวาด
ในเมื่อเป้าหมายของ Ookbee คือการเพิ่มจำนวนคอนเทนต์ การพึ่งพาสำนักพิมพ์แบบเดิมเป็นเรื่องจำเป็น แต่ยังไม่พอ ดังนั้นก้าวต่อไปของ Ookbee คือการสนับสนุนผู้สร้างคอนเทนต์อิสระ ทั้งนักเขียนและนักวาดการ์ตูน
สำหรับนักเขียนรุ่นใหม่ที่เผยแพร่ผลงานของตัวเองบนอินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างชื่อ และหวังว่าจะมีสำนักพิมพ์ติดต่อมาเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ไปพิมพ์ขาย Ookbee เล็งเห็นตลาดนี้จึงเตรียมการโดยตั้งเว็บ Ookbee Writer เชิญชวนนักเขียนอิสระทั้งหลายมาเผยแพร่ผลงาน และช่วยกระตุ้นตลาดช่วงเริ่มต้นด้วยข้อเสนอว่า Ookbee ไม่ขอหักส่วนแบ่งใดๆสำหรับนักเขียนที่ขายงานของตัวเองเป็นอีบุ๊กบน Ookbee
ในส่วนของนักวาดการ์ตูน Ookbee กำลังจะเปิดช่องทางการจัดพิมพ์การ์ตูนสำหรับนักวาดอิสระ Ookbee Comics ทั้งการขายการ์ตูนเป็นอีบุ๊ก และการพิมพ์หนังสือขายเป็นเล่ม ถ้านักวาดอยากพิมพ์หนังสือขาย Ookbee ก็ยินดีทำตัวเป็นสำนักพิมพ์ให้ โดยเป็นแพลตฟอร์มช่วยระดมทุนจากนักอ่าน แล้วช่วยสนับสนุนกระบวนการพิมพ์หนังสือให้ด้วย
ในอนาคต Ookbee กำลังจะก้าวไปทำการ์ตูน 3 มิติที่ใช้การขึ้นโมเดล และยังจะจัดจำหน่ายการ์ตูนญี่ปุ่นบางค่ายผ่านแพลตฟอร์มของตัวเองด้วย
หลังบ้านเข้มแข็ง
อีกจุดที่น่าประทับใจคือ Ookbee ให้ความสำคัญกับระบบไอทีมาก มีทีมซอฟต์แวร์เป็นจำนวนมากทั้ง front-end และ back-end ไหนเลยไปบุกถึงสำนักงาน Ookbee แล้วก็ขอเก็บภาพมาฝากกันสักเล็กน้อยครับ
ปัจจุบัน Ookbee มีพนักงานมากถึง 200 คน (รวมจากสำนักงานทุกแห่งแล้ว) แต่วัฒนธรรมองค์กรของ Ookbee ก็ยังอยู่กันแบบสตาร์ตอัพ ตัวสำนักงานใหญ่เป็นบ้านทาวเฮาส์ที่ดัดแปลงเป็นออฟฟิศ อยู่กันแบบสบายๆ มีเลี้ยงข้าวกลางวันฟรีตามแบบสตาร์ตอัพต่างประเทศ
เท่าที่ผมได้เยี่ยมชมสำนักงานก็พบว่าทุกคนทำงานกันอย่างตั้งใจ เหมือนมีความรู้สึกว่ากำลังทำงานเพื่อเปลี่ยนโลก (อย่างน้อยก็แถบอาเซียนแหละนะ) อยู่ ถือเป็นสปิริตในที่ทำงานที่ดีมาก
โมเดลธุรกิจ
ปัจจุบัน Ookbee มีโมเดลธุรกิจ 2 แบบ อย่างแรกคือขายเป็นรายชิ้น กับการจ่ายเหมารายเดือนแบบบุฟเฟต์ (อย่างหลังเรียกว่า Ookbee Me) ซึ่งตอนนี้ยังมีเฉพาะนิตยสารและหนังสือพิมพ์เท่านั้น แต่อนาคตก็อยากขยายไปเป็นหนังสือด้วย
คุณหมูบอกว่าแนวโน้มของตลาดคอนเทนต์ดิจิทัลนั่นชัดเจนว่าเป็นแบบ "จ่ายเหมา" มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากโมเดลของเพลงออนไลน์ (Spotify) และหนัง-ซีรีส์ออนไลน์ (Netflix) ที่ผู้บริโภคหันมาจ่ายเหมากันแล้ว ดังนั้น Ookbee Me จึงน่าจะตอบโจทย์แบบเดียวกันกับผู้บริโภคที่ต้องการอ่านสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร
ในแง่ธุรกิจแล้ว การจ่ายเหมาจะเวิร์คต่อเมื่อมีฐานลูกค้าเป็นจำนวนมาก ซึ่ง Ookbee ก็หวังว่าถ้าลูกค้าเล็งเห็นประโยชน์ว่าจ่ายเหมาแล้วถูกกว่า อ่านได้ไม่อั้น (ตอนนี้คิดราคา 199 บาทต่อเดือนสำหรับนิตยสาร และ 299 บาทต่อเดือนสำหรับนิตยสาร+หนังสือพิมพ์) หันมาสมัครสมาชิกแบบนี้กันเยอะๆ ตลาดสิ่งพิมพ์ดิจิทัลบ้านเราก็น่าจะเติบโตได้อีกมาก
ทิ้งท้าย
ต้องยอมรับว่าถึงแม้กระแสสตาร์ตอัพบ้านเราจะบูมมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียหรือสิงคโปร์ เมืองไทยยังไม่สามารถสร้างสตาร์ตอัพที่โดดเด่นออกไปนอกประเทศได้มากนัก (ในขณะที่มาเลเซียมี GrabTaxi หรือสิงค์โปร์มี Viki ) ในฐานะคนไทยก็ต้องเอาใจช่วยให้ Ookbee เป็นหนึ่งในหัวหอกบริษัทไทยที่บุกออกไปขยายตลาดอาเซียนให้สำเร็จให้ได้
แต่ในอีกทางหนึ่ง Ookbee เองก็มีภารกิจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวงการสิ่งพิมพ์ในไทยให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลโดยเร็ว จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าวงการสิ่งพิมพ์บ้านเรายังขาดแคลนความเชี่ยวชาญเรื่องนี้อีกมาก ซึ่งถ้า Ookbee สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งฝ่ายเจ้าของเนื้อหาและฝ่ายผู้ซื้อ ทุกคนก็จะได้ประโยชน์ และวงการสิ่งพิมพ์ไทยก็จะพัฒนาอย่างรวดเร็วกว่าเดิม
ภารกิจอันนี้หนักอึ้งยิ่ง
คุณหมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Ookbee
Comments
หนัสือ => หนังสือ
เชียร์ครับ ตอนนี้ซื้อการ์ตูนอ่านอยู่ ราคาถูกกว่าเล่มจริง อยากให้เอาหนังสือการ์ตูนเล่มใหม่ๆ เข้ามาเร็วๆ ด้วยเช่นกันครับ
อยากให้จีบสำนักพิมพ์ WeLearn มาเข้าอุ๊คบีด้วยเหมือนกันครับ หนังสือดีๆ เยอะ ครับ ^0^)/
ถ้าเอานิตยาสาร NG เข้าไปใน อุ๊คบีมีด้วยก็ดีครับ ><
สู้ๆ นะครับ
ค่ายนี้ถ้าให้คะแนนผมให้ Content เต็ม 10 ส่วน Software ผมให้ 2-3 คะแนนเต็ม 10 ครับ
แบบอ่านไปรู้สึกขัดใจแปลกๆ นอกจาก UX ที่ออกแบบมาแบบว่า....ปุ่มที่ไม่จำเป็นก็ยัดมาซะงั้น สิ่งที่ลูกค้าไม่อยากจะรู้ก็ยัดมาให้ด้วย (บอก type เอกสาร PDF เพื่อ?)
หรือการเขียน Software ที่ไม่รัดกุดเช่นเวลา Zoom แล้วเจอ Space (ทั้งๆ ที่มันควรเขียนล็อคไว้ตั้งกะ GestureRecognizer) หรือการโหลดที่ค่อนข้างช้า แต่อย่างว่าแค่เปิดอ่านแบบ Curl พี่แกยังไม่ทำเลย เน้นมักง่ายเข้าว่าบางหน้าก็ไม่ล็อคความกว้างให้หลุดขอบซะงั้น ขนาดเข้าไปลองใช้ได้แป๊ปเดียวตอบได้เลยว่าเก็บงานได้ค่อนข้างแย่ Software bug กระจายครับ -__-")
อันนี้ภาพตัวอย่าง bug ที่พบเจอหลังจากลองใช้ไปได้ประมาณ 30 นาที.... อ่านไปอ่านมาหลุดขอบ
เสริมอีกหน่อย ส่วนค่ายหนังสือที่ไปดิวกันไว้ ผมว่าไปทำอะไรได้ตลกมาก เช่น หนังสือใหม่ๆ พี่แกเอายัดไว้ In-App Purchases เป็นเรื่องๆ เฉยเลย สรุป Update แทบจะไม่ได้ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านทั่วไปเขาใช้ระบบเหรียญเติมเอา ไปทำแบบนี้ข้อเสียเยอะมาก update อะไรทีรอกันเหงือกแห้งกว่า Apple จะ Approve In-App Purchases ทีนึงก็กินเวลาหลายวัน
+1 เรื่องซอฟท์แวร์ครับ คือการเรนเดอร์เป็นอะไรที่ช้ามาก แถมถ้าข้ามไปอ่านส่วนอื่นแล้วกลับมาอ่านส่วนก่อนหน้า มันก็เรนเดอร์ใหม่ แถมบ้างหน้ายังสแกนมาได้คุณภาพหยาบมาก(หน้าปกหยาบเป็นพิกเซล) จนทุกวันนี้ผมหนีไปใช้e-bookจากอินเดียอย่างMagzter ถึงจะบ่นยังไงผมก็คอยเชียร์ คอยให้กำลังใจอยู่นะครับ สู้ๆครับปล.ผมทดสอบแอปทั้งบนWindows 8,Android ส่วนฝั่งแอปเปิ้ลยังไม่ได้ลอง
ทีมเทคนิคของ Ookbee ก็น่าจะเข้ามาอ่านบทความนี้กันเยอะอยู่ครับ มีปัญหาอะไรก็แจ้งไว้ได้ครับ
ส่วนตัวเป็นทั้ง User ที่ดาวน์โหลดหนังสือมา และอัพโหลดหนังสือเข้าสู่ Ookbee ในฐานะนักเขียนด้วย พบว่าเมื่อเราทำ PDF แบบใส่ Link ภายนอก จะโดน Ookbee ตัดออกหมดเลยครับ ไม่ว่าจะเป็น Link ไปยัง Youtube หรือ IG, Facebook โซเชียลต่างๆ ทำให้การลงเนื้อหาแบบอ้างอิงแหล่งที่มาสำหรับผู้อ่านนั้นใช้ไม่ได้เลย อันนี้น่าเสียดาย (ทำลิงก์คลิ๊กจากสารบัญเพื่อไปหาเนื้อหาใน PDF เดียวกันก็กลายเป็นไปหน้าถัดไปแทน ;(
และก็แอพไม่อนุญาติให้อ่านแบบออฟไลน์ อันนี้ก็เสียดาย ... และควรปรับปรุงให้ดูหนังสือได้จากบราวเซอร์ (ไม่ใช่แค่กดซื้อแต่หมายถึงอ่านได้เหมือนแอพ) น่าจะดีมาก มีฟีเจอร์สั่งพิมพ์หนังสือเป็นเล่มจริงได้ ซึ่ง Ookbee ให้ฟรีเล่มแรก กดสั่งไปแล้วเป็นเดือนๆๆ ก็ยังไม่ได้รับ คือ เหมือน Ookbee จะรีบอัดฟีเจอร์มาเยอะ ให้เหนือกว่าคู่แข่ง อะไรทำได้ทำก่อน แล้วค่อยมาแก้ไข แต่กลายเป็นว่าทำไปข้างหน้าเรื่อยๆ ไม่ได้กลับมาแก้ไขอะไรสักทีครับ ;(
my blog
แอบเชียร์มาตั้งแต่ตอนแรกๆ มาได้ถึงระดับนี้ต้องนับถือพี่หมูจริงๆ นะ
แฟนพันธุ์แท้สตีฟจ็อบส์ | MacThai.com
ก็อยากซื้อหนังสือเหมือนกัน แต่แอป ookbee นั้นจนปัญญาที่จะอ่านบนโทรศัพท์มือถือ ต้องเป็น tablet ถึงจะอ่านได้สบายตา - -'a
ชอบร้านหนังสือ hytexts.com มากกว่า ซื้อแล้วเลือกอ่านบนแอปที่เราชอบได้ - -)v แต่หนังสือไม่หลากหลายเท่าไหร่ T-T
~ HudchewMan's Station & @HudchewMan ~
เคยได้ลองใช้สักพักหนึ่งก็รูปสึกดีออกพวกนิตยสารใหม่ๆ แต่ดันไม่มีที่เราอยากอ่านสักเท่าไร ถ้าอ่านเป็นหนังสือผมก็ยังชอบของจริงมากกว่า
ว่าแล้วกลับมาลองใช้ใหม่อีกรอบดีกว่า
แอบเชียร์อย่างห่างๆสำหรับตัว e-book ที่ผมสนใจจริงๆคือ Ookbee Comic อยากให้ดันตรงจุดนี้มากๆ ทำเป็นแอพออกมาเลยก็ดี (ถึงจะไม่เหมือน pixiv แต่ก็โอเคอยู่ละนะ)
Mekokung's Story บล็อกส่วนตัวที่ย้ายไป Blogger แล้วนะ
ไม่ค่อยวางใจของไทยทำเท่าไหร่ว่าจะอยู่ได้นานไหม
email หรือเว็บ hosting ฟรีสมัยก่อนอย่าง thaimail thai.net ตอนนี้ก็ไม่มีแล้ว
ปัญหาที่ผมพบของ Ookbee เหมือนกันกับที่คนอื่นๆ เจอครับ คือหนังสือที่ต้องการดันไม่มี (ความผิดสำนักพิมพ์ส่วนหนึ่ง), ซอฟต์แวร์ไม่ได้มอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีนัก, โหลดช้า, และตัวของหนังสือถูกบีบอัดไฟล์จนเสียคุณภาพต้นฉบับไปมากๆ คือ ภาพแตก เป็นหยักเป็นเหลี่ยมบ้าง ไม่ชัดบ้าง ในกรณีถ้าเป็นหนังสือที่เป็นตัวอักษรก็คงไม่รู้สึกอะไรมากนัก แต่ถ้าเป็นภาพแบบนิตยสารหรือการ์ตูนเล่มจะเห็นชัดและเสียความรู้สึกตรงนี้ไปพอสมควร คิดว่าคงต้องพัฒนากันอีกนานกว่าจะเข้าที่และเป็นที่ยอมรับกันได้ในตลาดวงกว้าง
+1 ผมรอเขาพัฒนามานานแล้ว ก็ยังไม่พัฒนาเหมือนเดิม
อ่านแล้วรู้สึกว่าวิสัยทัศน์ดีจังครับ
เป็นสมาชิกอยู่เหมือนกัน เคยซื้อการ์ตูนกระบี่เย้ยยุทธจักรยกชุด(ลดราคาด้วยแหละ) แต่เล่มอื่นยังไม่ค่อยได้ซื้อเท่าไรอยากให้มีนิยายสืบสวนสอบสวนเยอะๆ หน่อยครับ เข้าไปดูมีแต่เรื่องไม่น่าสนใจ (ผมชอบเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ,คินดะรุ่นปู่,แล้วก็นิยายสืบสวนอีกหลายเจ้า จำชื่อไม่ได้ แต่เป็นพวกแปล unputdownable mystery น่ะ ส่วนใหญ่หาอ่านจากห้องสมุดที่ทำงาน)
loadช้า
คิดว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะใช้azure เวลาloadอะไรวิ่งไป สิง หมด
จริงๆ could ในไทย ที่ performance ดี มีเยอะ ไม่เลือกใช้
ยิ่งเดือนก่อน ช่วง azure ล่มไปสองวันเต็มนี่ ง่อยกินเลย
เว็บผมก็ใช้ Azure นะแต่ไม่เจอปัญหาเรื่องช้า ตอนสร้างจะมีโซน Server ให้เลือกอยู่แล้วครับ
ถึงเลือกzoneใกล้สุดก็อยู่ที่ สิงในไทยเคยถาม ms บอกไม่คิดจะมาตั้ง
อ่านจบแล้วอยากลอง อ่านตอมเมนต์แล้วอืม...เอาไว้ก่อน
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
ลองก็ดีนะฮะ มันมีให้โหลดหนังสือฟรีรายสัปดาห์
ผมลองเข้าไปดูผ่านเว็บ ใจจริงคืออยากซื้อการ์ตูน ระลึกความหลังสมัยเป็นเด็ก แต่ที่ไม่ซื้อเป็นเล่มเพราะปัจจุบันไม่มีที่เก็บ (อยู่ที่บ้านนอกเป็นพันเล่มแล้ว) เลยเข้าไปดูในเว็บว่ามีการ์ตูนให้เลือกอ่านมากแค่ไหน...
ระบบการวิวสับสนมาก ๆ ค่าปริยายมันคือวิวตาม Rank แต่ผมเปิดหน้าถัดไปเรื่อย ๆ ไม่เห็นดาวมันจะเรียงเลย เดี๋ยวสี่ดาวครึ่ง เดี๋ยวสี่ดาว เดี๋ยวสามดาว เดี๋ยวกลับมาสีดาวใหม่ อ่ะ ส่งสัยค่าปริยายังมีปัญหา กดให้เรียงตามชื่อหนังสือละกัน กดปุ๊บ เออ หน้าแรกดูเรียงดี กดหน้าถัดไปปั๊บ กลับมาค่าปริยายที่เรียงตาม Rank ใหม่ ซึ่งมั่วเหมือนเดิม -*- ประสาทเสียมากครับ
เอาวะ มาถึงนี่ละ ลองค้นหาชื่อการ์ตูนที่พอจะนึกออกดูละกัน... มั่วหนักกว่าเดิมอีก เหมือนมันหาไม่เจอแล้วก็สุ่มคำใกล้ ๆ มาอ่ะ ทีแรกลองหา "ฟงอวิ๋น" โอเค ไม่มีเลย งั้นลอง "ขี่พายุ" ดูซิ โผล่มาเต็มเลยครับ... พายุมาเต็ม พายก็มาเต็ม แถมบางอันมีคำว่า "พ่อ" ก็โผล่มาด้วย หนังสือเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวมาเต็มครับ -*- ยิ่งไปกว่านั้น พอกดดูผลการค้นหาหน้าถัดไป ดันกลับมา Home เฉย
สรุปคือขอเบรคโครงการไว้ก่อน ขนาดหน้าเว็บยังเละขนาดนี้ นึกไม่ออกว่าแอพจะเละขนาดไหน...
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
เคยลองๆ ลบๆ ไปหลายรอบปัญหาที่เจอคือหนังสือเปิดหน้าต่อไป แล้วก็รอโหลด ทำไมไม่ pre-load หน้าต่อไปไว้ก่อน
สุดท้ายก็ยังไม่ได้ใช้จริงจังลบไปก่อนทุกที
:: DigiKin8 ::
หวังว่าทีมงานมาอ่านเจอแล้วจะรับไปปรับปรุง นี่คือเสียงของ User จริงๆ
สมัคร Ookbee me ไว้เพราะรู้ตัวเองว่าชอบอ่านนิตยสารมากกว่าและอ่านทีเดียวก็ไม่คิดจะมาอ่านซ้ำแล้ว จึงทำให้เกิดปัญหาหนังสือล้นบ้าน สมัครเป็นบุฟเฟ่ไว้มันก็ดีนะโหลดอ่านได้หลายเล่มเลย แต่ปัญหากลับมาอยู่ที่ไม่มีเวลาอ่านซะงั้น
ผมเป็นลูกค้าประจำของ ookbee นะใช้ผ่าน AIS Book Store แต่ใช้เพราะผมไม่มีที่เก็บหนังสือในห้องแล้วเลยต้องใช้แบบ Digital แล้วยิงขึ้น Apple TV เวลาดู แต่น่าเบื่ออย่างนึงคือใน iOS กับ Android ถ้าเป็นเล่มล่าสุด จะไม่มีแบบซื้อทีละเล่ม เพราะบางหัวผมไม่ได้ซื้อทุกเล่ม แล้วมีช่วงนึงผมไม่ได้เปิดโปรแกรมเพราะงานยุ่ง มันต่อ Auto ตัดเงินเสร็จสรรพ ผมได้หนังสือที่ผมไม่อยากอ่าน มา 2-3 เล่มเลย เข้าใจนะว่าอำนวยความสะดวก แล้วถ้าไม่อยากได้ก็คืนเงิน แต่พอผมเมล์ไปถามว่าเพิ่มฟังก์ชั่นซื้อเล่มเดียวไม่ Auto บน iOS กับ Android ได้ไหม เขาตอบกลับว่า ถ้าอยากซื้อทีละเล่มให้ซื้อผ่านเว็บเอา เงิิบเลย ตอนนี้ผมซื้อมาต้องเข้าไปปิด Auto เองทุกครั้งที่ Account ของ App Store เอาเอง ผมเองอ่านหลายหัวมากเกือบ 10 หัวต่อเดือน โครตลำบากต้องมาปิด Auto ในหัวที่สนใจเฉพาะบางเล่มเนี่ย ส่วนเล่มผมอ่านประจำผมก็ตั้ง Auto อยู่แล้ว ไม่มีอะไร แค่อยากระบาย
ถ้าเลือกได้ มีห้องใหญ่ขึ้น ผมคงกลับไปซื้อเป็นเล่มมาอ่านเหมือนเดิม เพราะผมเคยโดนเจ้านึง สมัครรายปี พอครบปี เลิกทำคร้าบ เล่มเก่าก็เปิดไม่ได้ทั้งที่ download ไว้แล้วเลยยังหลอนไม่หาย เหลือไอคอนเป็นอนุสรณ์อยู่ในปัจจุบัน
ใช้แอพ ookbee ธรรมดาเลยครับ อ่านบน ipad mini retina เวลาซื้อหนังสือจะซื้อผ่านเวปตลอดครับ รู้สึกมันถูกกว่านิดหน่อย ปัญหาที่เจอคือ search นิตยสารบนแอพไม่เจอครับ แต่บนเวปกลับเจอ การ์ตูนญี่ปุ่นก็ค้นหายาก จำนวนไม่เยอะ นิตยสารบางเล่มออกเร็วหรือพร้อมแผงจริง บางเล่มออกหลังแผงจริงสองสัปดาห์ จนต้องขอยกเลิกเอา อันนี้คงแล้วแต่นโยบายสำนักพิมพ ตอนนี้ถือว่าอ่านบนแอพแล้วไม่ค่อยเจอปัญหาแล้วครับ ภาพ ตัวหนังสือชัดดี แอพอ่านออฟไลน์ได้นานแล้วนะครับ
ผมใช้ Ookbee me อยู่ครับ อยากแนะนำอยู่ 2 อย่าง
เลิกหากินนกับระบบ Auto Renew Buffet เถอะครับ เสียความรู้สึกลูกค้าเปล่าๆ เปลี่ยนเป็นส่ง E-mail ส่ง SMS หรือเด้งเตือนเป็น Notification แทนก็ได้ว่าแพ็คเกจหมดอายุแล้ว เติมเงินได้แล้ว
การจัดหมวดหมู่ในส่วนของ Library หมวดหมู่ที่ตั้งขึ้นมาเองมาต้องย้ายหนังสือแต่ละเล่มเข้าไปเอง ไม่สามารถเพิ่มนิตยสารฉบับเดือนใหม่ๆเข้าไปได้เองอัตโนมัติ ควรทำให้อัตโนมัตินะครับ เช่น ตั้งหมวด Home ขึ้นมา แล้วย้าย Elle Home ไปอยู่ในหมวดนั้น พอ Elle Home ฉบับใหม่มาก็ควรจะเข้าไปอยู่ในหมวด Home เองเลย ไม่ต้องให้มาย้ายเอง
และในส่วนของ Ookbee นั้น มีอยู่ช่วงนึงนิตยสาร Living ETC ขาย 120 บาท แพงกว่าราคาปก 100 บาทอีก งงเลยครับ ถ้าทางสำนักพิมพ์กำหนดราคามาอย่างนี้อย่าเอามาลงใน Ookbee ให้เสียชื่อเลยครับ
ขอบคุณครับ
ของผมก็เพิ่งโดน Auto renew ไป เช็คดูบัตรเครดิต ก็ว่าอะไรมาตัดเงินไป ซึ่งจริงๆอยากจะเปลี่ยนแพ็คเกจก่อนหมดรอบปีนี้ แต่ในระบบตั้งค่าผู้ใช้ My Account ในเว็บ me.ookbee แท็บ My Package, My subscription ไม่มีปุ่มอะไรให้กดได้เลย เหมือนกับหน้านี้ยังทำไม่เสร็จเลยด้วยซ้ำ
ไปอ่านใน FAQ พบว่าการจะยกเลิก เปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ต้องส่งเมล์แจ้งและตอบโต้กันทางอีเมล์เท่านั้น ซึ่งต้องมาบอกว่าชื่ออะไร เลขที่สมาชิกอะไร มีแพ็คเกจอะไรอยู่ ต้องการเปลี่ยนเป็นอะไรบ้าง ฯลฯ ซึ่งไม่สะดวกเลยครับ
กลัวในกรณีเลิกปิดกิจการหรือเลิกทำApp
แบบกรณี App Mars Magazine เลิกทำต่อเอง แล้วไปผูกกับApp อื่น
เล่มที่ซื้อไว้ถ้าลบ จะโหลดใหม่ไม่ได้ แย่มาก
เสียดาย เด็ดๆ ทั้งนั้น ให้ตายเหอะ
อีกเรื่องที่อยากบอกให้แก้ไขคือเรื่องราคาครับ
เนื่องด้วย E-Book เป็นอะไรที่ไม่สามารถแบ่งต่อหรือเอาไปจำหน่ายต่อได้ และไม่เสียค่าตีพิมพ์และจัดส่ง ก็ควรที่จะมีต้นทุนที่ถูกกว่าแบบรูปเล่มพอสมควร แต่ตอนนี้ปัญหาคือราคามันเท่ากัน จนทำให้ขาดความน่าสนใจที่จะซื้อในรูปแบบ E-Book ไปมาก
อย่าง Amazon เองก็มีลิมิตว่า หนังสือทั่วไปไม่ควรมีราคาเกิน 9.99 USD จากรูปเล่มปกติที่ราคา 13.99 USD เพราะเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้น หากตั้งเกอินจะไม่ได้รับการอนุมติให้นำมาขายใน Store อยากให้ Ookbee มีมาตรการที่ชัดเจนแบบนี้บ้าง เพื่อผลประโยชน์ของผู้บริโภค
สำหรับคนขายนะครับ
หนังสือจริงมีข้อเสียตรงต้องมีค่าตีพิมพ์และจัดส่งที่สูงกว่า E-book (ที่มีเหมือนกันแต่น้อยกว่า)E-book มีข้อเสียตรงต้องมีค่าดูแลรักษาหนังสือของผู้ใช้ไปตลอดระยะเวลาแทน (ไม่มากเท่าไหร่แต่ก็มี)
ส่วนตัวเป็น UI/UX Designer ครับ
ได้ลองใช้ Ookbee ตั้งแต่เวอร์ชั่นแรกๆในไอแพด คอยดูความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด
แต่สิ่งนึงที่ไม่เปลี่ยน(ไปในทางที่ดี) คือ usability ครับผมใช้ไม่เคยใช้ app ได้นานเกิน 10 นาที หงุดหงิดในทุกแทบทุก flow
delete แล้วก็ install ใหม่หลายรอบมากๆ
คงไม่ช่วยชี้จุดที่อยากให้แก้เป็นจุดๆนะครับอยากแนะนำให้ลองหา design lead เก่งๆมาปรับปรุง UI ใหม่ดูครับ
ให้กำลังใจครับ
เคยลองใช้แล้วครับ แต่ติดปัญหาเยอะเหมือนกัน อย่างพวกโหลดช้านี่ อยากให้ลองดูพวก Amazon Kindle หรือ Google Book ก็ได้ครับ ทั้งอนิเมชั่น และความไหลลื่นในการเปิดอ่าน ต่างจากของ Ookbee ที่คล้ายๆ โหลดภาพมาทีละภาพซึ่งเป็นภาพใหญ่พอดู โหลดเสร็จบ้างไม่เสร็จบ้าง เลยทำให้ช้ามั้ง ทั้งๆ ที่ผมใช้เน็ตดูหนัง HD ในเน็ตได้ไม่กระตุก ผมว่าติดแค่เรื่องแอพในเรื่อง ของ Performance และ UI แต่เรื่อง Ebook ที่มี นี่สุดยอดเลยครับ หลายเล่ม ที่ผมอยากเป็นสมาชิกหรือซื้อมาอ่าน แต่ติดแค่ตัวแอพจริงๆ ครับ
สงสัยจัง ถ้าผม(หรือใครก็ตาม) เอาข้อติชมเหล่านี้ไปทำ app มาแข่งกับ Ookbee เสียเอง แบบนี้จะทำได้หรือเปล่า
คุณสามารถไปทำแอฟใหม่ได้ครับ ถ้าไม่ไปละเมิดข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
App ประเภทนี้ชนะกันด้วย Content มากกว่า ความสามารถของ App นะครับ และที่สำคัญ Ookbee ทุนหนามี Backup ใหญ่ แต่ไม่รู้ว่าจะอยู่ยาวๆ ได้นานแค่ไหน เพราะพวกนี้ Hight Risk and Hight Return ถึงเวลาที่ต้องเข้าตลาด หรือต้องคืนทุน ก็ต้องดูตรงจุดนั้นว่าจะไปได้แค่ไหน ผู้ถือหุ้นใหญ่จะทิ้งหุ้นหรือเปล่า เพราะพวกนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของสำนักพิมพ์ด้วย แต่ถ้าสำนักพิมพ์ถอนตัวไปหา App คุณ นั่นแหล่ะผมจะบอกได้ว่าคุณชนะแน่นอน
ส่วนปัญหาที่ผมเจอเรื่อง Auto ตัดเงิน ผมทำธุรกิจอยู่ก็รู้อยู่แล้วเป็นวิธีตุกติกที่ในวงการเขารู้ดีกันมานาน ตอดเล็กตอดน้อยเอา ถ้า User เยอะๆ รวมกันก็จ่ายเงินเดือนพนักงานได้สบาย พบเห็นในวงการโทรคมนาคม วงการแบงค์ใช้เทคนิคนี้กันเยอะ ประเภทมีอะไรก็ Auto อัตโนมัติ ต่อคนเป็นเงินไม่กี่บาท แต่รวมๆ กันก็เยอะ เขาจึงต้องหา User ให้เยอะๆ ผมก็เลยเฉยๆ กับปัญหานี้เพราะรู้เป็นวิธีเอาตัวรอดของเขาอย่างหนึ่ง ธุรกิจมันโหดร้าย ไม่ง่ายอย่างที่คิดหรอก
เท่าที่เคยใช้ ช้ามากๆ โหลดช้า บางทีค้างไปเลย ลบแทบไม่ทัน
ป.ล. เคล็ดลับความสำเร็จของสตาร์ตอัพอีบุ๊กไทย ใช่ข้อที่เป็นเพื่อนกับลูกชายอดีตนายกรึเปล่าครับ
ของไทยนี่ผมชอบ Meb มากกว่าอีก ส่วน Ookbee นี่ผมว่าแอพยังทำมาได้ไม่น่าประทับใจเท่าไหร่เลย โหลดช้า มีค้างอยู่เรื่อย อินเตอร์เฟสสับสน ฟังก์ชันบางอย่างที่ควรมีกลับไม่มี บางเล่มความละเอียดต่ำเกินไป บางแพลทฟอร์มเหมือนทำแบบขอไปที เช่น บน WP นี่ห่วยมาก ชอบอย่างเดียวตรงมีแจกหนังสือฟรีทุกวันพุธ 555
เทียบกับ MEB แล้ว Ookbee แย่มาก เอ๋อและช้า ทั้งเว็บทั้งแอพเลย ดีอย่างเดียวคือระบบจ่ายเงินที่จ่ายด้วยเงินมือถือได้
ของผมบน iPad2 (iOS8) เปิดไม่ขึ้นแล้วครับ สงสัยหนังสือเยอะเกิน ย้ายมาเล่นบน android tablet
ตอนนี้เจอปัญหาซื้อหนังสือบนเว็บ แต่ไม่ยอมโผล่บนแอพซักที แล้วเหมือนบางเล่มเจอแต่บนเว็บ บางเล่มเจอแต่บนแอพ เช่น "หนีกรุง"
--
ใช้อยู่เลยครับ
oxygen2.me , panithi's blo g
Device: HP Zbook, iPad Pro, iPhone 15PM, iPhone 16+, Nothing Phone 1