สัปดาห์ที่แล้ว มีงาน Echelon Thailand 2014 ซึ่งเป็นงานสัมมนาเกี่ยวกับแวดวงสตาร์ตอัพ ทั้งจากในบ้านเราและจากสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จในระดับเอเชีย
ผมได้เข้าร่วมงาน Echelon ครั้งนี้ด้วย หัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจในงานคือการบรรยายของคุณ Kent Liu ซีเอฟโอของ Viki สตาร์ตอัพด้านวิดีโอจากสิงคโปร์ที่ประสบความสำเร็จระดับโลก จึงเก็บประเด็นมาเล่าในที่นี้ครับ
Viki เป็นบริษัทวิดีโอออนไลน์คล้าย Netflix หรือ Hulu แต่หันไปเน้น "ละครซีรีส์" จากฝั่งเอเชียเป็นหลัก โดย Viki ใช้วิธีซื้อลิขสิทธิ์ละครซีรีส์เกาหลีหรือไต้หวันมาฉายผ่านเน็ตให้กับผู้ชมในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ภายหลังยังขยายเนื้อหามาเป็นเพลง มิวสิควิดีโอ สารคดี รายการทีวีอีกด้วย
Viki ก่อตั้งในปี 2007 โดยทีมผู้ก่อตั้งชาวเกาหลี แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ย้ายมาอยู่สิงคโปร์แทนเพราะเหมาะสำหรับการทำสตาร์ตอัพมากกว่า พอมาถึงปี 2013 ก็ขายกิจการให้ Rakuten บริษัทไอทียักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นด้วยมูลค่าสูงถึง 200 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นบริษัทสตาร์ตอัพฝั่งเอเชียที่ประสบความสำเร็จสูงมากๆ อีกรายหนึ่ง
คุณ Kent Liu ซีเอฟโอของ Viki ที่มีส่วนร่วมในบริษัทมาตั้งแต่ยุคแรกๆ จึงมาเล่าประสบการณ์ของเขาให้ฟังว่าบริษัทสตาร์ตอัพจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถเติบโตขึ้นเป็นบริษัทระดับโลกได้อย่างไร
ตัวของคุณ Kent Liu เองเคยทำงานกับ EA มาก่อน และเคยเปิดสตาร์ตอัพมาแล้ว 3 บริษัทก่อนจะมาร่วมงานกับ Viki (หนึ่งในบริษัทที่เขาเคยทำงานด้วยคือ JAMDAT ที่ถูก EA ซื้อมาเป็น EA Mobile ในปัจจุบัน)
กรณีของ Viki นั้นได้รับเงินจากนักลงทุนชื่อดังในซิลิคอนวัลเลย์อย่าง Greylock Partners และ Andreessen Horowitz ด้วย
เป้าหมายของ Viki คือเป็นเว็บสำหรับดูรายการทีวี เน้นไปที่รายการทีวีดังๆ จากช่วงไพรม์ไทม์ของสถานีทีวีทั่วโลก โดยเปิดให้แฟนของแต่ละรายการช่วยกันทำซับไตเติลกันได้เอง (อารยธรรมแฟนซับนั่นเอง) จริงๆ แล้วชื่อ Viki นั้นมาจากคำว่า Video + Wiki
สถิติปัจจุบันของ Viki คือมีคนดูวิดีโอไปแล้ว 3 พันล้านครั้ง มีเนื้อหารวมกันมากกว่า 20,000 ชั่วโมงจาก 100 ประเทศ และมีซับไตเติล 200 ภาษา
Viki เปิดให้บริการในหลายประเทศมาก และอัตราการเติบโตของภาษาที่รองรับก็รวดเร็วมาก
ข้อมูลที่น่าสนใจคือประวัติการถือกำเนิดของ Viki และประวัติการระดมทุนในอดีต
เดิมที Viki ถูกตั้งขึ้นโดยนักศึกษา MBA จากฮาร์วาร์ดและสแตนฟอร์ด โดยช่วงแรกมันเป็นแค่ "งานอดิเรก" เท่านั้น แต่พอทำไปทำมาชักรุ่ง ก็เลยตัดสินใจทำเป็นธุรกิจจริงจัง ระดมทุนและย้ายบริษัทมาเปิดที่สิงคโปร์
บริษัทระดมทุน Series A ในปี 2010 และระดมทุน Series B ในปี 2012 ก่อนจะขายให้ Rakuten ในปี 2013
เนื่องจาก Viki เคยระดมทุนทั้งจากซิลิคอนวัลเลย์และจากนักลงทุนสิงคโปร์ เลยเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการระดมทุน 2 แบบ
- นักลงทุนจากซิลิคอนวัลเลย์ (ตัวย่อ SV ในภาพ) มีความกล้าเสี่ยงมากกว่า เครือข่ายแน่นอนกว่า ช่วยหาวิธีถอนการลงทุน (exit เช่น เข้าตลาดหุ้นหรือขายกิจการ) ได้ดีกว่า แต่มีจุดอ่อนว่าสนใจเฉพาะตลาดอเมริกาเป็นหลัก ไม่ค่อยมีความรู้ในธุรกิจนอกอเมริกา
- ส่วนนักลงทุนท้องถิ่นมีเงินน้อยกว่า กล้าเสี่ยงน้อยกว่า แต่ก็มีจุดเด่นคือรู้จักสภาพการณ์ทางธุรกิจภายในประเทศ และเข้าถึงได้ง่ายกว่ามาก
ดังนั้นเราควรดูเป้าหมายเชิงธุรกิจของสตาร์ตอัพด้วยก่อนเลือกนักลงทุน เช่น ถ้ามุ่งเน้นเฉพาะตลาดในประเทศ ก็ควรเลือกนักลงทุนท้องถิ่น แต่ถ้าธุรกิจสามารถขยายไปยังตลาดโลกได้ด้วย (เช่น กรณีของ Viki ที่คนดูทีวีออนไลน์ได้ทั่วโลก) ก็ควรรีบไปคุยกับนักลงทุนซิลิคอนวัลเลย์ตั้งแต่ช่วงแรกๆ
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือสตาร์ตอัพฝั่งเอเชียสามารถเติบโตระดับโลกได้มากน้อยแค่ไหน คำตอบก็ขึ้นกับธรรมชาติของธุรกิจอีกเช่นกัน
คุณ Kent Liu บอกว่าการทำตลาดหลายๆ ประเทศพร้อมกันเป็นเรื่องยากและใช้เงินเยอะ เพราะแต่ละประเทศก็มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป ดังนั้นเราต้องพร้อมทั้งเรื่องทีมและเรื่องเงิน แต่เมื่อเจาะตลาดโลกได้แล้ว การขายบริษัทหรือขายหุ้น IPO ก็ย่อมมีมูลค่ามากขึ้นตามไปด้วย เพราะผู้ซื้อมองว่าเรามีศักยภาพเจาะตลาดได้หลายประเทศ
เขายังเล่าถึงสาเหตุที่ Viki ตัดสินใจขายบริษัทให้ Rakuten ว่าเป็นเพราะโมเดลธุรกิจของ Viki ต้องใช้ทุนสูง (ในการซื้อลิขสิทธิ์เนื้อหา) กระบวนการระดมทุนแต่ละครั้งเปลืองพลังมาก ทีมงานไม่อยากมาระดมทุนบ่อยๆ และอยากโฟกัสกับการสร้าง "ทีวีระดับโลก" มากกว่า
เมื่อเจอผู้ซื้อที่มีเงินทุนเยอะอย่าง Rakuten จึงถือเป็นแหล่งทรัพยากรชั้นยอดที่จะทำให้ Viki เดินหน้าไปเป็น "ทีวีระดับโลก" อย่างที่ใฝ่ฝันไว้ได้ โดยไม่ต้องมาระดมทุนเองบ่อยๆ
อย่างไรก็ตาม เขาก็บอกว่าก่อนขายกิจการก็ควรเช็คให้ดีด้วยว่าเคมีตรงกัน มีวิสัยทัศน์ตรงกัน วัฒนธรรมองค์กรไปด้วยกันได้
สุดท้ายเขามีข้อแนะนำสำหรับสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ๆ ดังนี้
- เรื่องคนเป็นเรื่องที่ยากที่สุด อย่ารีบจ้างงานเร็วหรือเยอะเกินไป ให้โตช้าๆ แต่ถ้ามีใครไม่เข้ากับทีมก็ควรรีบไล่ออกทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้
- ช่วงทำสตาร์ตอัพแรกๆ ยังไม่ต้องจ้างคนเยอะ โดยเฉพาะคนสายบัญชีหรือการเงิน สามารถใช้วิธีจ้างเอาท์ซอร์สไปก่อนได้เพื่อให้ประหยัดเงิน
- เมื่อต้องระดมทุนจากนักลงทุน เงื่อนไขในเอกสารการเจรจา (term sheet) เป็นสิ่งสำคัญมาก ควรใส่ใจไปกับมัน
- บริษัทที่มีเงินเยอะๆ อาจมีปัญหาเรื่องจ้างคนเยอะหรือเร็วเกินไปจน "ย่อยให้เข้ากับองค์กร" ไม่ทัน และกลายเป็นปัญหาใหญ่มากกว่าไม่มีเงินเสียอีก
Comments
เว็บที่มีซีรีส์เถื่อนให้ชมมากที่สุด ฮา
ไพร์มไทม์ => ไพรม์ไทม์
สถานทีวี => สถานีทีวี
อยากให้ Blognone สัมภาษณ์ bot บ้างจัง
คุยกับ GTH เอา hormone ไปลงด้วยสิครับ