ทีมนักวิจัยจาก University of California ใน San Diego ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการวิจัยคิดค้นเทคนิคการส่งข้อมูลผ่านเส้นใยแก้วนำแสงจนทำให้สามารถส่งข้อมูลในระยะที่ไกลขึ้นกว่าที่เคย แถมยังลดการพึ่งพาอุปกรณ์ช่วยปรับปรุงสัญญาณอย่าง repeater ลงด้วย ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการใช้งานระบบส่งข้อมูลผ่านเส้นใยแก้วนำแสงทำได้ดีขึ้นโดยใช้เงินลงทุนในการติดตั้งน้อยลง
พฤติกรรมตามธรรมชาติของระบบส่งข้อมูลผ่านเส้นใยแก้วนำแสงนั้น หากมีการเพิ่มกำลังที่ตัวส่งสัญญาณ ก็จะทำให้สัญญาณเดินทางได้ไกลขึ้น ทว่าด้วยเหตุที่มีการเพิ่มกำลังในการส่งก็กลับทำให้มีสัญญาณรบกวนเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกันอันจะส่งผลให้ปลายทางฝั่งตัวรับสัญญาณได้ข้อมูลที่ผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น
ด้วยเหตุนี้การออกแบบระบบการส่งข้อมูลผ่านใยแก้วนำแสงในปัจจุบัน จึงมีการจำกัดค่ากำลังของตัวส่งสัญญาณไว้ที่ค่าหนึ่ง ผลที่ได้ทำให้ขีดจำกัดในการส่งสัญญาณผ่านใยแก้วนำแสงนั้นทำได้ที่ระยะทางราว 6,000 กิโลเมตรเท่านั้น โดยตลอดระยะทางดังกล่าวจะต้องมีอุปกรณ์ repeater ติดตั้งอยู่ที่ระยะทุก 100 กิโลเมตร โดย repeater นี้จะทำหน้าที่ช่วยปรับปรุงสัญญาณให้แรงขึ้นเพื่อให้ตัวรับสัญญาณที่ปลายทางได้รับข้อมูลไม่ผิดเพี้ยน
แต่งานวิจัยจาก University of California ใน San Diegoได้ทลายข้อจำกัดข้างต้นนี้ลง โดยอาศัยเทคนิคการสร้าง "frequency comb" ซึ่งวิธีการนี้คือการปรับแต่งสัญญาณก่อนส่งแทนที่จะส่งข้อมูลอย่างที่มันเป็นไปตามกรรมวิธีที่ใช้กันอยู่แบบเดิม โดยการปรับแต่งสัญญาณที่ว่านี้จะมีการเลือกเอาชุดความถี่ของสัญญาณในช่องต่างๆ ที่มีการส่งผ่านเส้นใยแก้วนำแสงมาทำการ synchronize กัน ส่งผลให้ข้อมูลที่จะส่งไปนั้นได้รับผลกระทบจากสัญญาณรบกวนตาม ปรากฏการณ์ Kerr (หมายถึงการที่เส้นใยแก้วมีค่าดรรชนีหักเหของแสงเปลี่ยนไปอันเป็นผลมาจากค่าสนามไฟฟ้าที่กระทำต่อตัววัสดุเส้นใยแก้วนั้น) น้อยลงมาก
ผลการทดลองของทีมวิจัยที่ใช้เทคนิค "frequency comb" มาประยุกต์ใช้ ทำให้สามารถส่งข้อมูลผ่านเส้นใยแก้วนำแสงได้เป็นระยะทางไกลถึง 12,000 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าไกลกว่าเดิมเป็น 2 เท่า ที่สำคัญการส่งข้อมูลที่ว่านี้ไม่ต้องอาศัย repeater มาช่วยปรับปรุงสัญญาณระหว่างทางด้วย
ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้โดยไม่เกินเลยไปนักว่า ผลการวิจัยของ University of California ใน San Diego ทำให้เรามีหนทางใช้งานเส้นใยแก้วนำแสงได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเมื่อลดการพึ่งพาอุปกรณ์ repeater ที่มีราคาแพง นั่นย่อมหมายถึงการลงทุนติดตั้งระบบที่ใช้เงินน้อยลงซึ่งจะส่งผลสะท้อนให้ผู้คนมีโอกาสเข้าถึงการใช้งานระบบการรับ-ส่งข้อมูลผ่านเส้นใยแก้วนำแสงได้มากขึ้นเช่นกัน
ที่มา - Popular Science via Slashgear
Comments
ส่งผลข้อมูล => ส่งผลให้ข้อมูล
เรื่อง Frequency Comb ของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ครับ อ่านแล้วแอบมึนนิดๆ แต่ก็พอเข้าใจได้
บล็อกส่วนตัวที่อัพเดตตามอารมณ์และความขยัน :P
ผมเอาลิงก์ไปแทรกในข่าวแล้วคับ ขอบคุณมาก
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
univ. of california มันมีหลายแห่งอ่ะ เขาระบุไหมว่าที่ไหน
ตามไปหาต้นตอข่าว UCSD นี่เอง วันหลังอย่าลืมระบุนะจ๊ะ เขาแย่ง ranking กันอยู่ รู้มั้ยจ๊ะ
ไม่รู้จ้ะ เดี๋ยวผมแก้ให้นะ
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
น่ารักจัง
/me มาเป็นร่วมเป็นสักขีพยาน
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
ขอบคุณสำหรับข่าวนี้ครับ ยอดเยี่ยมมากๆ
เจ๋งอ่ะ
..: เรื่อยไป
อื้อหือ ช่วงนี้มีข่าวนวัตกรรมเยอะแฮะ
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
เดี่ยวนี้ไม่เรียกว่า ทวนสัญญาณ แล้วหรอครับ
ปรับปรุงสัญญาณ ฟังแปลกๆ ดีฮ่าๆ
ว่าแต่ ส่งแบบเดิมส่งได้ 6000 แต่ทำไมต้อง ตั้ง repeater ทุก 100 ไม่ตั้งทุก 6000 หรือ 5000 , 5500 หว่า