ทีมนักวิจัยจาก Nottingham Trent University (NTU) เผยแพร่งานวิจัยพัฒนาชิป RFID ที่มีขนาดเล็กจิ๋ว เล็กเสียจนนำมันไปแทรกไว้ในเส้นด้ายเพื่อใช้ในการทำสิ่งทอได้สำเร็จ
ชิป RFID ที่ถูกพัฒนาขึ้นมานี้มีขนาดยาวเพียง 1 มิลลิเมตร และกว้างครึ่งมิลลิเมตร ตัวชิปมีขนาดเล็กจนสามารถนำไปฝังเอาไว้ใน แท่งเรซินขนาดเล็ก โดยแท่งเรซินนี้ก็เป็นผลงานที่ NTU คิดค้นขึ้นมาเพื่อการบรรจุชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในเนื้องานสิ่งทอโดยเฉพาะ มันจะทำหน้าที่ปกป้องชิ้นส่วนเหล่านั้นจากความชื้นและความร้อนในขณะที่เสื้อผ้าถูกนำไปซักหรืออบแห้ง โดยตัวชิปจะถูกเชื่อมต่อกับเส้นทองแดงฟั่นเกลียวขนาดเล็กทั้ง 2 ด้าน ซึ่งเส้นทองแดงนี้จะถูกปั่นรวมอยู่ในเนื้อด้ายและทำหน้าที่เป็นเสาอากาศให้แก่ชิป RFID นั้น
ไม่เพียงแต่การพัฒนาชิป RFID เท่านั้น งานวิจัยของ NTU นี้ยังสามารถทำชิป NFC ใส่ในเส้นด้ายได้ด้วย และด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำ (หากผลิตเป็นจำนวนมากจะตกราคาชิ้นละไม่กี่เพนนีเท่านั้น) เทคโนโลยีของงานวิจัยนี้จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย เป็นต้นว่า ชิปในเสื้อผ้านี้สามารถใช้เป็นสิ่งยืนยันตัวผลิตภัณฑ์ว่าเป็นของแท้จากผู้ผลิต, ห้างสรรพสินค้าก็ไม่จำเป็นต้องติดแท็ก RFID ที่สินค้าทุกชิ้นเพื่อป้องกันขโมยอีกต่อไป, หรืออย่างในกรณีที่มีการบริจาคเสื้อผ้าหลากหลายประเภทมาคละรวมกันเป็นจำนวนมาก ก็จะทำให้การคัดเลือกเสื้อผ้าเพื่อแยกแยะประเภทของมันให้เหมาะสมกับพื้นที่รับการบริจาคสามารถทำได้รวดเร็วสะดวกยิ่งขึ้น กระทั่งการผลิตเสื้อผ้าที่สามารถสื่อสารกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้ก็เป็นไปได้เช่นกัน
NTU ยังมีผลงานอื่นๆ สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีวงการสิ่งทอที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง อาทิเช่น เส้นด้ายเรืองแสงได้ในตัวเองเมื่อได้รับพลังงานไฟฟ้า (ไม่ต้องใช้หลอดไฟไปติดกับเสื้อผ้าอีกต่อไป), เสื้อผ้าที่มีแถบทำความร้อนในตัวเพื่อช่วยอบอุ่นร่างกายด้วยเทคโนโลยี ThermoKnit , เส้นด้ายที่ทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิร่างกายได้ในตัว เป็นต้น
ที่มา - ElectronicsWeekly.com , NFC World
Comments
เอ่อยิ่งนึกถึงCloth road ไปใหญ่ ยิ่งตรงที่ว่า "ตัวชิปมีขนาดเล็กจนสามารถนำไปฝังเอาไว้ในแท่งเรซินขนาดเล็ก" นี่นึกถึงกระดุมแกนที่เป็นชิพควบคุมเสื้อผ้าในเรื่องเลยแฮะ
"โดยตัวชิปจะถูกเชื่อมต่อกับเส้นทองฟั่นเกลียวขนาดเล็กทั้ง 2 ด้าน ซึ่งเส้นทองแดงนี้"
ตกลงใช้เส้นทองหรือทองแดงเป็นเสาอากาศครับ
มิลลิมเตร => มิลลิเมตร
เจ๋งดี ..