ปัญหาหนึ่งของผู้มีปัญหาด้านสายตาในการดำรงชีวิตประจำวันคือการเดินไปไหนมาไหนในที่ซึ่งไม่คุ้นเคย ครั้นจะดูแผนผังแผนที่แบบทั่วไปก็มองไม่เห็น ตอนนี้มีคนคิดใช้เทคนิคการพิมพ์ 3 มิติมาทำแผนที่ซึ่งมีพื้นผิวสัมผัสบอกตำแหน่งและเส้นทางต่างๆ สำหรับผู้มีปัญหาด้านสายตาเหล่านี้แล้ว
งานแรกเป็นโครงการฤดูร้อนของ Jason Kim นักศึกษาจาก Rutgers University ในเมือง New Brunswick รัฐ New Jersey ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งร่วมกับอาจารย์ของเขา Howon Lee ทำแผนที่สำหรับผู้มีปัญหาด้านสายตาไว้สำหรับใช้งานใน Joseph Kohn Training Center อันเป็นสถาบันที่ฝึกอบรมและให้การช่วยเหลือ ตลอดจนให้คำปรึกษาแก่ผู้มีปัญหาด้านสายตาใน New Jersey ทั้งในเรื่องการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป โดยแผนที่ดังกล่าวเป็นแผ่นพลาสติกที่ขึ้นรูปด้วยการพิมพ์ 3 มิติ ตัวแผนที่ซึ่งมีขนาดเท่าแท็บเล็ตนี้จะมีการพิมพ์พื้นผิวเป็นแนวบอกให้รู้ตำแหน่งของทางเดินและห้องต่างๆ พร้อมคำอธิบายด้วยอักษรเบรลล์ ซึ่งทีมพัฒนาได้ทำแผนที่ต้นแบบขึ้นมา 3 ชิ้น แต่ละชิ้นเพื่อการใช้งานเป็นแผนที่สำหรับแต่ละชั้นของอาคาร Joseph Kohn Training Center
ผลงานของ Kim และ Lee นั้นทำให้นักศึกษาของ Joseph Kohn Training Center ได้รับความสะดวกมากขึ้นในการสัญจรไปมาภายในอาคาร ซึ่งทั้งคู่ตั้งเป้าจะทำแผนที่ 3 มิติสำหรับพื้นที่ใน Rutgers University และขยายผลทำแผนที่ของ New Brunswick เป็นลำดับต่อไป
อีกงานหนึ่งเป็นผลงานของบริษัทสตาร์ทอัพที่มีชื่อว่า Touch Mapper ผลงานการพัฒนาโดย Samuli Kärkkäinen ชาวฟินแลนด์ โดยธุรกิจของ Touch Mapper นี้คือการรับผลิตแผนที่สำหรับผู้มีปัญหาด้านสายตา โดยแผนที่ Touch Mapper นี้ก็เป็นพลาสติกขึ้นรูปด้วยการพิมพ์ 3 มิติเช่นกัน หรือหากใครที่ต้องการพิมพ์แผนที่ด้วยเครื่องพิมพ์ของตนเอง ทาง Touch Mapper ก็มีบริการไฟล์ 3 มิติสำหรับงานพิมพ์ให้
แผนที่ Touch Mapper นั้นจะแตกต่างจากงานของ Rutgers University ตรงที่ว่าจะเน้นการทำแผนที่สำหรับพื้นที่นอกอาคาร โดยใช้ภาพแผนที่ 2 มิติจาก OpenStreetMap มาเป็นต้นแบบในการขึ้นแบบ 3 มิติสำหรับการพิมพ์แผนที่ โดย Touch Mapper รับผลิตแผนที่เป็นแผ่นพลาสติก 2 รูปแบบ คือแบบที่ใช้อักษรเบรลล์ซึ่งมีขนาดเล็กพกพาสะดวก และแบบที่ไม่ใช้อักษรเบรลล์ซึ่งจะมีขนาดใหญ่ขึ้นสำหรับกลุ่มผู้ใช้ที่ไม่สามารถอ่านอักษรเบรลล์ได้หรือผู้ที่เริ่มมีปัญหาสายตาตอนอายุมากแล้ว
Kärkkäinen ออกแบบการพิมพ์แผนที่ Touch Mapper โดยพยายามเน้นสิ่งสำคัญสำหรับผู้มีปัญหาด้านสายตา อาทิ บนแผนที่มีการพิมพ์นูนแสดงเส้นทางถนนทุกสายในบริเวณนั้น แต่แนวทางเท้า (ซึ่งเป็นแนวสัญจรหลักของผู้ใช้กลุ่มนี้) จะถูกพิมพ์ให้นูนขึ้นกว่าบริเวณที่เป็นผิวถนน หรืออย่างสถานที่ไหนที่สำคัญต่อผู้ใช้ก็จะใช้การพิมพ์ทรงกรวยแหลมที่สถานที่นั้นเหมือนการปักหมุดบนแผนที่ 2 มิติ
Touch Mapper นี้ยังอยู่ในช่วงทดลองให้บริการ ซึ่ง Kärkkäinen ก็หวังว่าจะได้รับข้อเสนอแนะคำติชมจากลูกค้าเพื่อการปรับปรุง Touch Mapper ให้ดียิ่งขึ้น
หวังว่าข่าวสารพัดอรรถประโยชน์ของงานพิมพ์ 3 มิติ จะสะท้อนไปถึงหูผู้มีอำนาจในการพิจารณาหลักเกณฑ์การนำเข้าเครื่องพิมพ์ 3 มิติด้วยก็คงดี
Comments
ประจำวันทั่ว ?
มีแผนที่จะทำแผนที่ ?
คำติดชม => คำติชม
ผมละสงสัยมานานละว่าทำไมเงินถึงไม่พิมพ์อักษรเบล
เงินตราของไทยมีอักษรเบลอยู่แล้วนะครับ อย่าง ธนบัตร ใช้ลายดอกไม้ ส่วนเหรียญกษาปณ์จะมีอยู่บนเหรียญ 10 บาท
ง่ายๆ แต่มีประโยชน์
แต่ จะให้ดีเลิศ ต้องใช้งานร่วมกับ "3d multi-touch screen"(รอ start up อีกเจ้า ที่กำลัง พัฒนา มาเจอกัน?)
Rutgers University อยู่เมือง News Brunswick รัฐNewJersey สหรัฐอเมริกา