Blognone เสนอข่าวสารผลงานของ EGA หรือ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) มาเรื่อยๆ และเคยมีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ EGA ในหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่ EGA พยายามทำอยู่ขณะนี้
เมื่ออาทิตย์ก่อนทาง EGA จัดงานพบปะสื่อออนไลน์ บล็อกเกอร์ สตาร์ทอัพบางราย มีประเด็นพูดคุยเกี่ยวกับบริการอิเล็กทรอนิกส์และผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ทาง Blognone เห็นว่าน่าสนใจและมีประโยชน์ จึงเก็บประเด็นมาฝาก
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ EGA
GovChannel ศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน
ดร.ศักดิ์ เน้นเป็นพิเศษเรื่องบริการภาครัฐที่ประชาชนเข้าถึงได้อย่างแท้จริง เห็นควรจัดหมวดหมู่การบริการเป็นเรื่องๆ ไป เช่น การคมนาคม สาธารณสุข เกษตร แรงงาน
ภาครัฐต้องเปลี่ยน บริการต้องใช้แนวทางและภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจได้ ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนจังหวัดทะเบียนรถ คนมักไปเสิร์ชหาวิธีการใน Pantip แทนที่จะเป็นเว็บไซต์หน่วยงานรัฐ แสดงให้เห็นว่าภาครัฐควรทำบริการที่ง่ายต่อประชาชนให้มากที่สุด ไม่อย่างนั้นประชาชนจะไปหาทางเลือกอื่นแทน
Open Data ภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูล
การทำ Open Data ต่างจากการสร้างเว็บไซต์หน่วยงานต่างๆ เพราะแนวคิด Open Data เป็นการเปิดฐานข้อมูล เปิดมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าภาครัฐมี accountability มีความน่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบได้ เพราะเราไม่แน่ใจว่าข้อมูลของเราในฐานข้อมูลของรัฐมันถูกหรือไม่ การเปิดข้อมูลเป็นฟอร์แมตอะไรก็ได้ PDF,Excel หรือจะให้ดีก็ควรเปิดเป็น API ให้เรียกใช้ได้
ที่ผ่านมา การไปร้องขอให้หน่วยงานภาครัฐเปิดฐานข้อมูลอาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร EGA จึงทำโครงการ Community Engagement กระตุ้นให้ภาครัฐเปิดข้อมูลเรื่องใหญ่ๆ ก่อน เช่น คอร์รัปชั่น เกษตร ข้อมูลภัยพิบัติ ขนส่ง จากนั้นเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี กำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจนว่าจะทำเมื่อไร หน่วยงานไหนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นแล้วต้องการ API ทาง EGA จะเข้าไปช่วย
ประโยชน์อีกอย่างของการเปิดข้อมูลภาครัฐคือ ภาคเอกชน ภาคประชาชนสามารถนำไปต่อยอดได้อีกเยอะ
ต้องทำตัวเป็น Google ภาครัฐ
ข้อมูลอย่างที่ตั้งโรงเรียน ที่ตั้งร้านขายยา ที่ตั้งสถานที่ราชการต่างๆ ต้องถูกนำมารวมกัน และเปิดให้เป็นแหล่งค้นหาที่เชื่อถือได้ มีลิงค์เว็บไซต์ มีพิกัด โดยข้อมูลเหล่านี้เอกชน สตาร์ทอัพ สามารถนำไปต่อยอดความคิดได้ อย่างเช่นในภาพนี้ มาจากเว็บไซต์ ศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน (govchannel.go.th)
การมีส่วนร่วมของประชาชนในการติดตามโครงการต่างๆ ที่รัฐทำ
EGA มีระบบ ภาษีไปไหน ให้ประชาชนรับรู้ ว่าภาครัฐใช้ภาษีของเราอย่างไร มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างอะไรไปแล้วบ้าง แต่ละหน่วยงานกำลังทำโครงการอะไรอยู่ นี่ไม่ใช่การเปิดข้อมูลมาให้จับผิด แต่เป็นสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้
ยกตัวอย่างโครงการอุทยานราชภักดิ์ที่คนสนใจเยอะ เว็บไซต์นี้แจกแจงการจัดซื้อก่อสร้างวัตถุต่างๆ มีพิกัด มีใครเป็นเจ้าของเงิน วงเงินเท่าไร ตามที่ในเอกสารของราชการระบุเอาไว้ ใครสนใจตรวจสอบก็สามารถเข้าไปดูข้อมูลกันได้
ในอนาคต EGA จะต่อยอดคือทำแอพพลิเคชั่นให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบได้ง่ายขึ้น มีโครงการทำถนน สร้างสะพานตรงไหน สามารถตรวจสอบสถานที่ได้ เพราะข้อมูลมีบอกพิกัด และถ้าโครงการดังกล่าว ประชาชนคิดว่าไม่ควรทำ มีผลเสียหาย ก็ทำประชาพิจารณ์ได้ ก่อนที่โครงการนั้นจะเสร็จสิ้น
หน่วยงานที่มีประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้คือสื่อมวลชน สามารถเอาข้อมูลไปเล่นต่อได้ ข้อมูลเป็นของประชาชน ควรนำไปใช้กันให้เยอะๆ
ไอเดียเรื่อง Big Data
ดร.ศักดิ์ เล่าว่าไปได้ไอเดียเรื่อง Big Data มาจากออสเตรเลีย คิดโจทย์ขึ้นมาว่าเรื่องอะไรควรทำ เช่น จราจร เป็นไปได้ไหม ข้อมูลกล้อง CCTV เอามาไว้บนคลาวด์ของ EGA แล้วเปิดให้นักพัฒนาที่ต้องการไปพัฒนาต่อยอด หรือจับมือกับ NECTEC (ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ) มาพัฒนาให้มี Data ไว้ทดลองเล่น เพราะประเทศไทยยังไม่มี Data ที่ขนาดใหญ่พอจะเอาไปทำ analytics ได้
คำถามที่ยังท้าทายคือทำอย่างไรให้คนไทยเก่งทักษะ analytics โดยที่ EGA ช่วยนำข้อมูลภาครัฐมาเปิด
ภาครัฐต้องคิดแบบสตาร์ทอัพ
เพราะภาครัฐต้องทำบริการดิจิทัลให้ประชาชน แบบเดียวที่ Facebook ทำ Line ทำ Google ทำ
แต่ภาครัฐไม่เคยคิดไอเดียเรื่องสตาร์ทอัพมาก่อน เช่น การเปลี่ยนวิธีคิดอย่างรวดเร็วหากสิ่งที่ทำตอนนี้ยังไม่ได้ผล ไม่ใช่ว่าดันทุรังทำต่อไป หรือทำอย่างไรที่จะทำเพื่อให้ได้ความต้องการของประชาชนที่แท้จริงยกตัวอย่างเวลาใช้งาน Netflix ครั้งแรก ตัวระบบจะถามเราก่อนว่าชอบหนัง 5 เรื่อง เรื่องอะไรมากที่สุด เพื่อแนะนำหนังอื่นๆ ให้เราโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรมากกว่านี้เลย นี่คือบริการที่สร้างมาให้ตรงความต้องการประชาชน คำถามที่ต้องช่วยกันคิดคือเราจะชักชวนให้ภาครัฐทำเรื่องอย่างนี้ได้อย่างไร
Comments
บริกา => บริการ
กลัวแต่จะโดน hack กระจุยกระจาย
ผมอยากให้รัฐเปิดเผยข้อมมูล การใช้เงินของโครงการต่างๆแบบง่ายๆ สักหน่อยนะครับ งบตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป
ผมว่าทุกโครงการจะดีกว่าครับ ไม่ว่าจะถึงหรือไม่ถึงหนึ่งล้านบาท ถ้าไหนๆจะต้องเปิดเผยข้อมูลแล้ว