Tags:
Node Thumbnail

เอสโตเนียเป็นประเทศแรกๆ ที่นำ Blockchain กับบริการดิจิทัลมาบริหารประเทศเต็มตัว บริการภาครัฐทุกอย่างอยู่ในออนไลน์ 99% ธุรกรรมธนาคารอยู่ในระบบบล็อกเชน 99.8% การเลือกตั้ง สั่งจ่ายยาให้คนไข้ก็ทำผ่านออนไลน์แล้วด้วย นอกจากนำระบบมาใช้จนประสบความสำเร็จ เอสโตเนียยังพิสูจน์ให้เห็นว่า Blockchain ยังนำมาใช้บริหารประเทศได้ ไม่ใช่แค่ทำให้ธุรกรรมการเงินง่ายและรวดเร็วขึ้นเท่านั้น

ประเทศไทยมีเป้าหมายอยากจะเป็นรัฐบาลดิจิทัลให้ได้ในอนาคต วันนี้ (21 มีนาคม 2017) กสทช.จึงจัดงานสัมมนา Blockchain ศึกษากรณีตัวอย่างจากประเทศเอสโตเนีย โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้าน Blockchain จากเอสโตเนียมาเป็นวิทยากร ประกอบด้วย Anna Piperal ผู้อำนวยการโชว์รูม E-Estonia ที่ Enterprise Estonia, Jaan Priisalu อดีตอธิบดีหน่วยงานด้านข้อมูลในเอสโตเนีย และ Martin Ruubel รองประธาน European Cyber Security Organization หรือ ECSO

No Description

ภาพจาก Facebook e-Estonia

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและความเชื่อใจในภาครัฐ

Anna Piperal ผู้อำนวยการโชว์รูม E-Estonia ที่ Enterprise Estonia อธิบายพื้นฐานประเทศเอสโตเนียว่าเป็นประเทศเล็กๆ แต่เริ่มลงทุนด้านบริการอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่ปี 2000 โดยเริ่มจาก E-Tax Board ภาษีออนไลน์ และ E-Parking บริการจอดรถผ่านออนไลน์ จนกระทั่งปี 2001 เริ่มทำ X-Road หรือทางเชื่อมข้อมูลภาครัฐ เชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในเอสโตเนียเข้าด้วยกัน พัฒนาระบบมาเรื่อยๆ จน X-Road เป็นกระดูกสันหลังสำคัญของบริการภาครัฐในเอสโตเนียมาจนถึงทุกวันนี้

No Description Anna Piperal ภาพจาก กสทช.

นอกจากนี้ยังมี e-Identity หรือบัตรประชาชนฝังชิพเก็บข้อมูลประจำตัวผู้ถือ ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐได้ทุกอย่าง ส่วน Blockchain มีหน้าที่มาเสริมความปลอดภัยเพราะจารกรรมข้อมูลได้ยากเพราะเก็บตัวก็อปปี้ข้อมูลไว้หลายชุด Blockchain ช่วยยืนยันว่าข้อมูลที่เกิดขึ้นผ่านระบบนี้ เป็นข้อมูลจริง เชื่อถือได้ เพราะมีพยานรู้เห็นเยอะ

ความสำเร็จของเอสโตเนียจึงเกิดจากการทำงานร่วมกัน 3 อย่างคือ X-Road, e-Identity และ Blockchain แต่ลำพังสามระบบไม่เพียงพอ ความสำเร็จต้องมาพร้อมความสามารถของรัฐในการเก็บรักษาความลับของข้อมูล และความโปร่งใสคือประชาชนรู้ว่ารัฐเข้าถึงข้อมูลอะไรบ้าง

No Description

รัฐบาลต้องทำ Blockchain และการบริการดิจิทัลให้เป็นวิถีชีวิตของประชาชนให้ได้

Jaan Priisalu อดีตอธิบดีหน่วยงานด้านข้อมูลในเอสโตเนีย พูดถึงเส้นทางประเทศเอสโตเนียในการนำ Blockchain มาใช้ให้เกิดผล ในอดีตเทคโนโลยีทำนองนี้เป็นของใหม่มาก และความท้าทายที่สำคัญคือ "คน" ต้องเปิดรับเทคโนโลยีใหม่และพร้อมจะทำงานร่วมกัน

ในปี 1998 หน่วยงานข้อมูลต้องโน้มน้าวธนาคารให้ร่วมมือแชร์ข้อมูล ปี 2000 ร่างเป็นกฎหมาย Digital Signature Law อันเป็นจุดเริ่มต้นของสมาร์ทการ์ดที่ประชาชนเอสโตเนียใช้ทุกวันนี้ ภาระอย่างหนึ่งที่รัฐต้องรับคือ ปริมาณข้อมูลมหาศาลจากระบบสมาร์ทการ์ด หรือ e-Identity รัฐบาลต้องลงนามรับรองในส่วนนี้ด้วย

No Description Jaan Priisalu ภาพจาก กสทช.

ต่อมาในปี 2005 เริ่มทำระบบ E-Voting หรือเลือกตั้งออนไลน์ ปี 2007 เกิดสงครามไซเบอร์ครั้งแรก คือ Bronze Riot นำมาสู่การก่อตั้ง Nato CCDCOE กำหนดนิยามอำนาจหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และแนวทางจัดการหากเกิดสงครามไซเบอร์ขึ้น และให้ความรู้แก่ประชาชน เมื่อประชาชนรู้ว่าระบบจะช่วยให้พวกเขาสะดวกสบาย และปลอดภัย บริการดิจิทัลก็จะกลายเป็นวิถีชีวิตของประชาชนไปเอง

Priisalu ลงรายละเอียดเกี่ยวกับ X-Road เพิ่มเติมจากที่ Anna Piperal พูดไว้ในช่วงแรก ว่า X-Road เป็นตัวกลางเชื่อมข้อมูลข้ามหน่วยงาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากสถาบันหนึ่งไปยังสถาบันหนึ่ง แน่นอนว่าระบบทำนองนี้อาจสร้างความหวาดกลัวว่ารัฐจะทำอะไรกับข้อมูลประชาชนหรือไม่ รัฐจึงบริหารความกลัวด้วยการเปิดข้อมูลให้เห็นว่า ข้อมูลที่รัฐเข้าถึงได้มีอะไรบ้าง นอกจากนี้ X-Road ไม่มีศูนย์กลางเก็บข้อมูล จึงปลอดภัยกว่าระบบดั้งเดิมที่เน้นเก็บข้อมูลไว้ที่ศูนย์กลาง

No Description

ความท้าทายต่อ Blockchain คือยังเป็นเรื่องใหม่ ต้องพัฒนาต่อยอดอีกมาก

Martin Ruubel รองประธาน European Cyber Security Organization หรือ ECSO พูดถึงความท้าทายหากจะนำ Blockchain มาใช้คือ กฎหมาย เพราะ Blockchain ยังอายุน้อย เฉลี่ยอายุยังไม่เกินสามปี กฎหมายเทคโนโลยีที่มีก็ยังไม่มีส่วนไหนที่เข้ากับ Blockchain

No Description Martin Ruubel ภาพจาก กสทช.

เรื่องสำคัญอยู่ที่ระบบ Blockchain ต้องปรับให้เข้ากับสเกลข้อมูลที่ใหญ่ขึ้นให้ได้ Blockchain เดิมมีสามส่วน คือพยานรู้เห็นข้อมูล (Widely Witnessed Integrity) ที่เก็บข้อมูล (Storage) และกระบวนการ (Process) มีการวิจัยว่าระบบลักษณะนี้สามารถทำธุรกรรมได้ 7 ครั้งต่อนาที ซึ่งไม่พอถ้าต้องทำธุรกรรมสเกลใหญ่ ดังนั้น Blockchain ต้องสามารถปรับใช้กับขนาดธุรกรรมที่ใหญ่ขึ้นได้

No Description Blockchain แบบดั้งเดิม

Ruubel บอกว่าโมเดลระบบ Blockchain ที่จะรองรับธุรกรรมสเกลใหญ่ได้ ควรประกอบด้วยก้อนพยานรู้เห็น ก้อนเก็บข้อมูลหลายๆ ก้อน และกระบวนการธุรกรรมที่แยกการทำงาน วิธีนี้จะสามารถทำธุรกรรมได้ 12 ครั้งต่อนาที

No Description Blockchain ที่เหมาะกับธุรกรรมขนาดใหญ่

Ruubel ระบุคุณสมบัติ Blockchain นอกจากรองรับสเกลใหญ่ได้แล้ว ยังต้องมีความยืดหยุ่นใช้งานได้หลากหลาย ผู้ใช้ควรมีอิสระในการเลือกใช้ระบบ Blockchain เดิม หรือจะสร้างบริการใหม่ขึ้นมาตามเทคโนโลยีบัญชีแยกประเภท เช่น Hyperledger, KSI Ledger, Ethereum เป็นต้น

Blockchain ควรมีเวลาการลงทะเบียนคงที่ และมีการตรวจสอบข้อมูลน้อยกว่า 100 มิลลิวินาที ด้านความปลอดภัยต้องยืนยันข้อมูลได้ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เคลื่อนย้ายข้อมูลข้ามระบบบัญชีแยกประเภทได้โดยข้อมูลไม่เปลี่ยนแปลง ที่สำคัญต้องวางแผนให้ใช้งานในอนาคตได้ ไม่ล้าสมัย

No Description

Get latest news from Blognone

Comments

By: A4
iPhone Android Red HatSUSE
on 23 March 2017 - 07:15 #976614
A4's picture

สุดยอด

By: tsongkrant
Android
on 23 March 2017 - 11:29 #976663

เอกสารการสัมมนา “บล็อกเชน..เทคโนโลยีพลิกโลก”https://goo.gl/5kGKgq

By: secure on 24 March 2017 - 08:43 #976794 Reply to:976663

ขอบคุณครับ

By: Fukuyo on 24 March 2017 - 00:02 #976761

เทคโนโลยี ฟอกเงิน ??