บริษัทด้านการลงทุนบล็อกเชน Galaxy Digital ออกรายงานเกี่ยวกับโครงการภาพ NFT หลายราย โดยสาระสำคัญส่วนหนึ่งระบุว่ามีโครงการจำนวนมากที่ไม่ได้จัดการถ่ายโอนลิขสิทธิ์เหนือภาพเหล่านั้นให้กับเจ้าของ NFT อย่างถูกต้อง
โครงการที่ Galaxy Digital กล่าวถึงนี้เน้นไปที่โครงการใหญ่ๆ อาทิ Bored Ape Yacht Club (BAYC), VeeFriends, World of Women รวมทั้งแพลตฟอร์มอย่าง Decentraland และ Sandbox โดย Galaxy Digital ระบุว่าจาก 25 โครงการ NFT ใหญ่ๆ นั้น มีเพียงแค่รายเดียว คือ World of Women ที่พยายามจะจัดการถ่ายโอนความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เหนืองานศิลปะไปให้แก่ผู้ซื้อ NFT อย่างถูกต้องจริงจัง
Galaxy Digital ระบุลงในรายงานว่า
โครงการ NFT ส่วนใหญ่มากๆ ไม่ได้ส่งมอบความเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาเหนือผลงานที่มาพร้อมโทเคนเลยแม้แต่น้อย
พร้อมระบุว่าผู้พัฒนาโครงการ NFT หลายราย (รวมทั้ง Yuga Labs) ได้สร้างความเข้าใจผิดต่อผู้ซื้อ NFT เกี่ยวกับลิขสิทธิ์เหนือผลงานสร้างสรรค์ด้วย โดยบางโครงการพยายามใช้วิธีป้องกันความสับสนโดยยกเอาการให้สิทธิ์อนุญาตแบบ Creative Commons มาใช้งาน แต่ดันเลือกใช้ไม่เหมาะสมจนกลายเป็นว่ากฎเกณฑ์ของสิทธิ์อนุญาตแบบ Creative Commons ที่ถูกเลือกใช้นั้นทำให้การอ้างลิขสิทธิ์ของผลงานถูกแยกออกจากสิทธิ์การครอบครองตัว NFT ซึ่งผลลัพธ์อาจจบลงด้วยการไร้ซึ่งหนทางที่ผู้ซื้อ NFT จะอ้างสิทธิ์เหนือผลงานสร้างสรรค์นั้นไว้แต่เพียงผู้เดียว
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ถึงแม้คุณจะเป็นเจ้าของโทเคนแต่คุณไม่อาจห้ามคนอื่นในการทำสำเนา, แก้ไข, ดัดแปลง, แผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ได้เลย ตราบเท่าที่ผู้กระทำการเหล่านั้นได้ดำเนินการตามเงื่อนไขการใช้งานตามกติกา Creative Commons อย่างถูกต้อง
และในกรณีที่ไม่ได้มีการนำเอาสิทธิ์อนุญาตใช้งานแบบ Creative Commons มาใช้ เมื่อไม่มีการถ่ายโอนความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อ NFT นั่นย่อมหมายความว่าลิขสิทธิ์จะยังคงเป็นของผู้สร้างผลงานนั้นขึ้นมาแต่แรกและนั่นแปลว่าผู้สร้างสรรค์ผลงานแต่แรกเริ่มสามารถกำหนดสิทธื์การใช้งานหรือหาประโยชน์จากการใช้ผลงานสร้างสรรค์นั้นได้
ตัวอย่างปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เหนือผลงานสร้างสรรค์ที่น่าสนใจกรณีหนึ่งคือโครงการ Moonbirds ซึ่งทางผู้สร้างผลงานได้มีการประกาศเปลี่ยนสิทธิ์การใช้งานภาพเป็นแบบ "CC0" ภายหลังจากที่มีการขายภาพ NFT ออกไปแล้ว การให้สิทธิ์ CC0 นี้หมายความว่า "ไม่มีการคุ้มครองลิขสิทธิ์แต่อย่างใด" ซึ่งหมายถึงใครก็ได้บนโลกใบนี้จะทำสำเนา, แก้ไขดัดแปลง, เผยแพร่ หรือเอาภาพเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นใดรวมถึงเชิงพาณิชย์ได้อย่างอิสระ และแน่นอนว่างานนั้นสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ซื้อ NFT เป็นอย่างมาก
ในบรรดาโครงการ NFT ใหญ่ๆ Galaxy Digital ระบุว่า World of Women คือโครงการเดียวที่พยายามจัดการเรื่องการถ่ายโอนความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เหนือผลงานสร้างสรรค์ให้แก่ผู้ซื้อ NFT อย่างถูกต้อง
ข้อมูลจากรายงานของ Galaxy Digital นี้อาจสะท้อนให้เห็นว่าความจริงแล้วบรรดาผู้พัฒนาและผู้ซื้อ NFT จำนวนมากไม่ได้เข้าใจและใส่ใจเรื่องลิขสิทธิ์ของงานภาพศิลปะอย่างแท้จริงเลย
ผู้ที่สนใจอยากอ่านรายงานตัวเต็มของ Galaxy Digital สามารถเข้าไปอ่านได้ ที่นี่
ที่มา - The Verge
Comments
//ทำหน้าช็อค
แต่เอาจริง ๆ ก็ไม่แปลกใจเท่าไร เพราะของพวกนี้มันไม่มี proof ว่าเราเป็นเจ้าของจริง ๆ
Coder | Designer | Thinker | Blogger
หน้าปิกาจูใช่มั้ยครับ
ส่วนถ้าเป็นผมคือนึกถึงรูป display คุณ PaPaSEK ครับ
ไม่แปลกใจ มีแต่เฟมินิสโลกสวยเท่านั้นแหละ
มันเกี่ยวกับ feminist ยังไงหว่า
นึกว่าเป็นเรื่องที่รู้ๆกันอยู่แล้วซะอีก
ถ้าในหมู่ "คนวิจารณ์" น่าจะรู้กันเยอะนะครับ ถ้าในหมู่ "คนลองลงทุน" นี่น่าจะไม่รู้เยอะมาก เพราะงานสัมมนาไหนๆ ก็พูดกันแต่ว่า "เป็นเจ้าของ"
lewcpe.com , @wasonliw
ก็งงกับconcept ของการขายรูปNFTแต่แรกแล้วว่า ไม่ได้แสดงถึงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของรูปเลย ไม่มีสัญญาการถ่ายโอนสิทธิ์ นอกจากตัวtoken ซึ่งไม่ต่างจากการซื้อitem ในเกมออนไลน์ ซึ่งถ้าจะไปใช้ข้างนอก ก็ทำได้ง่ายๆ แค่เซฟรูป ไปใช้ต่อ โดยที่คนซื้อtokenก็ห้ามไม่ได้ เพราะไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์
แต่ก็เห็นกลุ่มcreative หลายคนพยายามชูว่า การขายNFTคือเปิดโลกและโอกาสในการขายรูป เหมือนการขายลิขสิทธิ์ จริงๆต้องบอกว่า เหมือนการขายรูปพิมพ์จำนวนมากซะมากกว่า(แบบการทำpostcard พิมพ์ซ้ำๆแล้วใส่ running numberเพื่อแยกชิ้นได้)
ถ้าอ้างอิงจากการซื้อขายงานศิลปะที่เป็นภาพวาดจริง ๆ จะพบว่า งานแบบนั้นก็ไม่มีการถ่ายโอนลิขสิทธิ์เหมือนกัน ต้องเขียนสัญญาณมอบให้ต่างหาก ซึ่งปรกติก็ซื้อขายกันต่างหาก
ถ้าเราไปซื้องานวาดจากนักเขียนภาพคนนึง เราก็จะได้เป็นเจ้าของ "ภาพวาดชิ้นนั้น" แต่ลิขสิทธิ์ยังอยู่กับเขา เค้าสามารถสร้างภาพแบบเดิมเป๊ะ ๆ หรือจะพิมพ์ภาพถ่ายของภาพนั้น หรือจะเอาไปทำเสื้อขาย ฯลฯ ได้หมดเลย ในขณะที่เรามีสิทธิแค่ตัวภาพที่อยู่กับเราเท่านั้นว่าจะเอาไปขายต่อหรือเอามาดูเล่น อะไรแบบนี้ครับ
พอดีเราอยู่ในยุคที่ข้อมูลที่สำเนาไปมาได้ง่าย เราเลยรู้สึกว่า ตัวงานมันแทบไม่มีค่า สิ่งที่มีค่าคือลิขสิทธิ์ อาจจะทำให้เราคิดว่าเฮ้ยเราต้องได้ลิขสิทธิ์ติดมากับตัวงานด้วยสิ หรือเปล่า อันนี้ผมไม่แน่ใจนะ?
เอาจริง ๆ คนซื้องานพวกนี้ควรจะคิดแค่แบบ ซื้อแล้ว ได้ภาพไปดูให้มีความสุข มีปัญหาเรื่องเงินก็เอาไปขายกินได้ ก็พอแล้วหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจแฮะ?
ไม่ได้บอกว่าไม่มีคุณค่านะครับ งานขายภาพพิมพ์ ภาพ print แบบถูกลิขสิทธิ์ หรือแม้แต่งานขายรูปออนไลน์แนวนี้ก็มีนานแล้ว หรือตัวอย่างเช่นการขายรูปในshutterstock ให้คนซื้อเซฟรูปไปใช้ต่อ จริงๆก็ไม่ต่างกัน แค่NFTกำหนดการขายสมมติไว้ปัจจุบันแค่รูปละ1หน่วย แต่อนาคตอาจจะกลับมาเพิ่มก็ได้
แต่ปัญหาคือ แม้แต่community นักวาดยังเข้าใจและชี้ชวนกันผิดๆ ว่าเหมือนการขายลิขสิทธิ์เพราะ NFT สามารถตรวจสอบความเป็นเจ้าของได้ ขโมยไม่ได้ ปลอดภัยมาก คนลงทุนหลายคนก็เข้าใจผิดๆว่าเป็นเจ้าของภาพ(เหมือนรูปวาดแบบกายภาพ) ไม่ได้คิดว่าเหมือนแค่ซื้อขายรูป.jpgในเนทแบบถูกลิขสิทธิ์เฉยๆ
คนซื้อส่วนใหญ่ก็เก็งกำไรนั่นแหละ ก็สงสัยว่าจะซื้อมาเสพรับชมภาพ .jpg แตกๆกันหรือ ไม่ใช่ไฟล์ภาพคุณภาพสูงสักหน่อย แน่นอนคนที่ชื่นชอบการซื้อitemในเกม หรือภาพแนว8bit(ภาพ8bit pixelมันเป็นแนวภาพนะ ไม่ใช่คุณภาพของสื่อที่เก็บ) ก็ไม่ได้ผิดอะไรครับ
อันที่จริงผมว่างาน NFT สร้างศิลปะคุณภาพหยาบมากขึ้นด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการgen ภาพแบบเปลี่ยนนิดหน่อย(แต่อันนี้ก็แค่ความคิดเห็นผมนะ อาจจะมีบางคนชอบก็ได้) เพราะไปพ่วงกับการเก็งกำไรโดยตรงมากเกินไป
และสุดท้ายถ้าตลาดNFTมันล้มตามราคาเหรียญ ก็แสดงว่าเป้าหมายของตลาดคือการเก็งกำไรมากกว่าการเป็นตลาดซื้อขายของผู้รักศิลปะที่เปิดช่องทางการขายแบบใหม่ๆเท่านั้น
ที่เคยคุยกับนักวาดที่วาด NFT บ้าง ได้ยินว่ามันเหมือนเป็นสัญญาใจกันน่ะครับ ว่า เฮ้ยเราปั้มงานนี้ให้คุณแล้วนะ เราจะไม่ปั้มให้ใครอีก (แต่สิทธิการปั้มงานอยู่กับเรานะเออ) ส่วนเรื่องลิขสิทธิ์เข้าใจว่าตัวคนวาดรู้อยู่แล้วว่ายังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่ แต่ถ้าพูดมากไปเดี๋ยวคนซื้อจะสับสนอะไรแบบนี้
ภาพ 8bit คืออะไรครับ ผมนึกว่าเกมเครื่องแฟมมิคอมใช้ cpu 8bit เลยเรียกเกม 8bit
ภาพ 8 bit คือภาพที่แสดงผลได้แค่ 256 สีใน 1 Pixel ครับ 2^8 มันก็คือภาพพิกเซลแบบเกม Famicom แหละครับ
ผมว่าต้องแยกกันระหว่างสิทธิทางเศรษฐกิจกับธรรมสิทธิออกจากกันนะครับ
จริงอยู่ว่าการซื้อไปซึ่งภาพเป็นเรื่องที่ขึ้นกับความพึงพอใจของคู่สัญญาโดยแท้ แต่ก็ต้องยอมรับกันด้วยว่าผู้ซื้อก็คงจะมีสิทธิอยู่ด้วยระดับหนึ่ง (โดยเฉพาะกรณีผู้ว่าจ้างให้สร้างสรรค์รูปนั่น กม. กำหนดให้ลิขสิทธิ์โดยทั่วไปเป็นของผู้ว่าจ้างเลยด้วยซ้ำ) ไม่อย่างนั้นมูลค่าที่ผู้ซื้อจะได้รับก็คงน้อยไปมากๆ เหตุเพราะขาดความเป็นเฉพาะตัวไป โดยเฉพาะ NFT นี่ตอนขายก็เน้นกันกับความเป็นเฉพาะตัว คนซื้อเองก็คงต้องคาดหวังในสิทธิเหนือ "สินค้า" ที่ว่ามาให้ตกติดมาด้วย เขาควรจะมีสิทธิทางเศรษฐกิจเหนือ "สินค้า" ในอันที่จะควบคุมการทำซ้ำ เลียนแบบ ฯลฯ ให้อยู่ใต้อาณัติของเขาด้วยน่ะครับ (ตัวผู้สร้างสรรค์เองก็ยังมีธรรมสิทธิที่จะปกป้องการใช้งานงานของตนได้ระดับหนึ่งอยู่แล้ว จะตกลงตอนโอนสิทธิเพิ่มเติมยังได้เลย)
ผมเห็นว่าสุดท้ายการทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ผู้ซื้อควรจะได้ก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นเฉกเช่นสัญญาอื่นนั่นล่ะครับ
บล็อกส่วนตัวที่อัพเดตตามอารมณ์และความขยัน :P
เท่าที่อ่าน เหมือนกับว่า ธรรมสิทธิ์นี่จะคุ้มครองผู้สร้างผลงาน จากการถูกดัดแปลงผลงานโดยผู้ครองครองลิขสิทธิ์จนทำให้เสื่อมเสีย (เช่น สิทธิ์ในการอ้างว่า ตนเป็นผู้สร้างผลงาน และสามารถคัดค้านไม่ให้ทำการดัดแปลงได้)
ตรงนี้ไม่ได้คุ้มครองผู้ซื้อนะครับ คุ้มครองคนขาย ที่สำคัญคือสำหรับ NFT ลิขสิทธิ์ไม่ได้เปลี่ยนมือนะครับ ต้องทำสัญญาเพิ่มเติม ดังนั้นในเมื่อลิขสิทธิ์ไม่ได้เปลี่ยนมือ ผู้ขายยังถือลิขสิทธิ์อยู่ การจะอ้างธรรมสิทธิ์ผมว่ายิ่งไม่เกี่ยวใหญ่เลย เพราะผู้ซื้อไม่มีทั้งธรรมสิทธิ์และลิขสิทธิ์อยู่เลยครับ
ที่เค้าว่า NFT มีลักษณะเหมือนเป็นใบเสร็จนี่ เอาไว้ยืนยันว่าเป็นเจ้าของไฟล์นี่ ผมว่าจริงนะ แต่คือคุณเป็นเจ้าของไฟล์ไม่ได้หมายความว่าคุณจะมีลิขสิทธิ์ไงครับ
เรื่องลิขสิทธิ์นะครับ ผมยกตัวอย่างละกันครับ เมื่อวันก่อน ผมซื้อโมเดลมาตัวนึง เป็น Saber Bride ซื้อมาจาก gumroad ราคา 22 เหรียญ ผมได้ไฟล์มาจำนวนนึง (โมเดล ดราฟท์โมเดล ทีโพสต์ ฯลฯ) แต่เค้าไม่ได้ระบุอะไรเลยว่า เอามาทำอะไรได้บ้าง ตรงนี้เข้าใจว่าคือทำอะไรไม่ได้เลย อาจจะเอามาเปิดดูสวย ๆ ได้ แค่นั้น และด้วยความที่ไม่ใช่ NFT ผมจึงไม่สามารถส่งต่อสิทธิ์ความเป็นเจ้าของไฟล์ที่เค้าก๊อปมาให้ผมเนี่ยไปให้คนอื่นได้ ผมก็จะมีแค่โมเดลสวย ๆ เอาไว้เปิดดูตอนที่อยากดู
ซึ่งนั่นไม่ได้ต่างอะไรกับ artbook กว่า 50 เล่มที่กองอยู่ในตู้หนังสือผม ผมไม่มีสิทธิ์อะไรเลย เอามากางดูได้อย่างเดียว อย่างมากก็อาจจะทำสำเนาเก็บไว้ในแฟ้มตัวเอง (น่าจะเข้าข่าย fair use) แต่ถ้าทำหมดเล่มแถมยกให้คนอื่นก็อาจจะโดนเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ได้เหมือนกัน
ผมคิดว่า แน่นอนว่าการทำให้มันชัดเจนมันก็เป็นเรื่องที่ดีครับ แต่คนรู้เองก็ควรรู้ด้วยว่า ถ้าไม่ได้มีสัญญาผูกมัด ไม่ได้มีการแจ้งให้ทราบ ไม่ได้มีการระบุเอาไว้ คุณจะมีสิทธิ์ในสินค้าชิ้นนั้นมากน้อยแค่ไหน เรื่องกฎหมายเราอ้างไม่ได้ครับว่าไม่รู้ โดนฟ้องก็จ่ายค่าเสียหายแค่นั้นแหละ
เรื่องธรรมสิทธิก็ตามที่คุณเข้าใจนั่นถูกแล้วครับ ผมยกขึ้นมาเพื่อแย้งเรื่องสิทธิของผู้สร้างสรรค์เมื่อได้จำหน่ายไปซึ่งลิขสิทธิ์ไปแล้ว ("เค้าสามารถสร้างภาพแบบเดิมเป๊ะ ๆ หรือจะพิมพ์ภาพถ่ายของภาพนั้น หรือจะเอาไปทำเสื้อขาย ฯลฯ ได้หมดเลย") ว่าจริงๆ ก็มีเพียงแต่สิทธิ์ในระดับหนึ่งเท่านั้นเอง ในไทยก็มีคำพิพากษาศาลฎีกาสนับสนุนเป็นคุณกับเจ้าของสิทธิทางเศรษฐกิจ เช่นฎีกาที่ 15453-15454/2558 เป็นต้น
เรื่องลิขสิทธิ์กับกรรมสิทธิ์ก็เช่นกันครับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงสัญญาต่อกันอย่างที่ว่าไป หรือแม้แต่สัญญาประธานที่ก่อให้เกิดงานเป็นสัญญาประเภทใด อย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2219/2531 หรือ 4076/2533 ก็ระบุเรื่องนี้ไว้ชัดเจนว่าการซื้อไปเพียงกรรมสิทธิในภาพวาด การจะทำซ้ำยังต้องขออนุญาตผู้สร้างสรรค์อยู่ดี (ส่วนการทำซ้ำในงานศิลปกรรมอย่างที่ยกตัวอย่างนั่นก็เป็นข้อยกเว้นที่ กม. อนุญาตภายใต้เงื่อนไขอยู่แล้วก็เช่นกันครับ)
สิ่งที่ผมจะสื่อคือ การซื้อขาย NFT มันมีการโฆษณาให้เข้าใจไปว่าเมื่อได้ซื้อไปซึ่งกรรมสิทธิงาน (Token หรือที่คุณว่าเป็นใบเสร็จ) ที่เป็นเฉพาะตัว (Non-Fungible) ในงาน ก็จะผูกพันไปถึงลิขสิทธิ์ จะไม่ทำซ้ำในงานเช่นว่านั้นอีกต่อไปด้วย ผู้ซื้อจะซื้อโดยผิดหลงไปก็คงไม่เป็นเรื่องแปลกหรอกครับ ซึ่งว่ากันตามจริงก็คงเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาลที่น่าสนใจดี (ถ้ามันจะมีคนฟ้องร้องกันน่ะนะครับ)
สุดท้ายตราบใดที่ไม่มีการจัดการซึ่งลิขสิทธิ์ในการซื้อขายฯ NFT ก็คงเป็นได้แค่ซื้อไฟล์ JPG อย่างที่เค้าแซวๆ กันหรอกครับ 😅
บล็อกส่วนตัวที่อัพเดตตามอารมณ์และความขยัน :P
มูลค่างานศิลป์ที่เป็นวัตถุจริงจำพวกรูปวาดนี่ ผมว่าตัวผู้ซื้อเขาก็เข้าใจว่าเขาซื้อวัตถุนะครับไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์ มีไม่กี่รายที่ซื้อลิขสิทธิ์อาจเพื่อไปใช้เชิงพานิชย์อื่นๆ แต่กรณีแบบนั้นเขาก็ไม่จำเป็นต้องไปซื้อภาพวาดก็ได้ และมูลค่าของภาพวาดต่อให้วาดซ้ำมา มันก็ยากที่จะเหมือนเดิมเป๊ะ และต่อให้วาดเหมือนกันมากๆ แต่งานวาดซ้ำลำดับถัดไปมูลค่าก็ไม่เท่ากับชิ้นแรก ดังนั้นมูลค่ามันก็อยู่ในตัววัตถุนั่นแหละครับ แต่ข้อมูลดิจิทัลที่สำเนาได้ 100% มูลค่ามันไม่ได้อยู่ที่ตัวข้อมูลมันอยู่ที่สิทธิ์ และผู้ค้าเขาก็สื่อสารว่าผู้ซื้อจะได้สิทธิ์ไปด้วย ผู้ซื้อ NFT เขาก็หวังว่าสิทธิ์ในข้อมูลดิจิทัลนั้นจะมีมูลค่าเพิ่ม การไม่ได้สิทธิ์จริงก็แสดงว่าไอ้มูลค่าที่มันเกิดในตลาดก่อนนี้มันมาจากความเข้าใจผิดของผู้ซื้อนั่นแหละ
ผมว่า ถ้าคนขายบอกว่า "ให้ลิขสิทธิ์ไปด้วย" แบบนี้ก็ไม่น่ามีปัญหานะ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่มีสัญญาอะไรก็ตามครับ
แต่ตอนฟ้องร้องกันเรื่องก็คงยาว
ปล. จริง ๆ พวกงานภาพวาด ถ้าไม่ใช่ผ้าใบนี่ น่าจะเป็นดิจิทัลหมดแล้วครับ สำเนาได้ 100% เหมือนซีดีเพลงนั่นแหละ
ตอนมาใหม่ ๆ มีแต่คนมาฟุ้งว่าเป็นเจ้าของแท้จริง ดีกว่า อันนั้น อันนี้ พวกไดโรเสาร์ ตามไม่ทันโลก บลา ๆอย่างเบียว
ไดโนเสาร์ตัวจริงไม่มัวมาเถียงให้เมื่อยปาก นอนรอช้อนของถูกจุกๆ เผลอๆ นี่ก็เป็นเกมของเค้า เด็กๆ จะตามทันอะร้าย
nft เหมือนการพนัน มีคนหลอกมีคนถูกหลอก ผมขายรูปใน image stock เหมือนเดิมดีกว่า วินๆ ทั้งผู้ชื้อผู้ขาย
โอ้ว ผมก็มีทิ้งๆ ไว้นิดหน่อย พอช่วง nft กำลังเห่อก็เลยตามๆ เค้าไปมั่ง(แต่ไม่อิน เพราะก็รู้ว่ามันปั่น)สรุปภาพตัดมาตอนนี้ ภาพสต๊อกที่ผมทิ้งไป มันก็ยังได้เรื่อยๆ ของมัน อาจจะไม่มากอะไร แต่ก็สม่ำเสมอตลอด
แต่เป็นงานที่ต้องถึกมากๆ ทำแล้วเหนื่อย 😂
กติการ -> กติกา
บล็อกส่วนตัวที่อัพเดตตามอารมณ์และความขยัน :P
แก้แล้วครับ ขอบคุณฮะ
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
สุดท้ายก็ปั่นเอาแต่เงินกัน ซื้อขายรูปในช่องทางอื่นตามปกติก็ได้มั้ง
จะว่าไป เห็นเรื่อง วิจัยเรื่องทัชสกรีนในรถ แล้วพี่ที่รู้จักกันคนนึงเค้าก็ทักว่า "ต้องทำวิจัยกันด้วยเหรอ" ผมว่า ... กรณีนี้ก็เข้าข่ายนะครับ
การออกแบบทาง Graphic Digital ก็ไม่ได้พึ่งมี การขายสิทธิ์ก็ไม่น่าจะงงนี่นา
อย่างการออกแแบบโลโก้แบรนด์ต่างๆ ก็ถือว่าเทียบเคียงกับกรณีนี้ได้นี่
ก็ใช้วิธีแบบเดียวกัน
ผมว่าปัญหามันไม่ใช่เรื่อง "ขายอะไร" หรือ "ซื้อแล้วได้อะไร" แต่เป็นเรื่องของการสื่อสารที่ทำให้คนเข้าใจผิดมากกว่านะครับ
เพราะรูปแบบการซื้อขายลักษณะนี้มันไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่และมีกันมานานแล้ว ถ้าให้ผมเปรียบเทียบมันก็เหมือนกับเราซื้อ Goods ของผลงานชิ้นนึง ซึ่ง NFT มันก็เป็นแค่ Goods อีกประเภทนึง (ที่เจ้าของบอกว่ามันเป็น Limited มีชิ้นเดียว) เท่านั้นเอง ซึ่งแน่นอนว่าการเป็นเจ้าของ Goods ไม่ได้ทำให้เรามีสิทธิในผลงานต้นฉบับแต่อย่างใด
ปัญหาคือการโปรโมททำนองที่ว่า "เป็นเจ้าของที่แท้จริง" หรืออะไรพวกนี้ที่ทำให้คนเข้าใจผิดเรื่องลิขสิทธิ์มากกว่า เอาจริงๆแค่เรื่องลิขสิทธิ์เดิมทีหลายคนก็เข้าใจกันถูกๆผิดๆอยู่แล้ว (บางคนยังเข้าใจว่าซื้อลิขสิทธิ์=เป็นเจ้าของ=จะทำอะไรกับมันก็ได้อยู่เลย) คนที่ไม่คุ้นชินเรื่องลิขสิทธิ์พอเจอ NFT ก็เลยยิ่งเข้าใจผิดไปกันใหญ่