ผู้อ่าน Blognone คงเคยได้ยินชื่อของ ITU หรือชื่อเต็มๆ คือ International Telecommunication Unionกันมาบ้าง เพียงแต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าหน่วยงานนี้ตั้งขึ้นมาทำไม และมีเป้าหมายอย่างไร
ช่วงนี้เราเห็นข่าวเรื่อง "ข้อตกลงการสื่อสารระหว่างประเทศ" (ITR) กันพอสมควร เนื่องจากใกล้งานประชุมเพื่อแก้ไข ITR ในเดือนธันวาคมเข้ามาเรื่อยๆ และตัวร่างของ ITR ที่เสนอเข้ามาก็มีประเด็นขัดแย้งหลายจุด (ข่าวเก่า สหรัฐฯ ประกาศคว่ำข้อตกลงการสื่อสารระหว่างประเทศฉบับใหม่ และ สรุปประเด็นเรื่องการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตของ ITU )
เพื่อความเข้าใจอันดี บทความชิ้นนี้จะแนะนำประวัติความเป็นมาและบทบาทหน้าที่ของ ITU ในเบื้องต้นก่อน จากนั้นเราจะเข้าสู่รายละเอียดของ ITR ในบทความตอนต่อไปครับ
หมายเหตุ: บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Mozilla Foundation เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับข้อตกลง ITR แก่ชุมชนผู้ใช้ไอทีในประเทศไทย
ประวัติของ International Telecommunication Union
International Telecommunication Union หรือแปลเป็นภาษาไทยคือ "สหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ" เป็นหน่วยงานระดับนานาชาติเฉพาะทาง (specialized agencies) ที่อยู่ภายใต้สหประชาชาติ โดยมีศักดิ์ฐานะเท่ากับองค์กรอื่นๆ ที่เราอาจคุ้นชื่อกันดีอย่าง UNESCO, IMF, WHO หรือ FAO
ITU ก่อตั้งมานานมากตั้งแต่สมัยโทรเลข (ชื่อเดิมคือ International Telegraph Union) คือตั้งแต่ปี 1865 หรือนับมาถึงวันนี้ก็เกือบ 150 ปีแล้ว ตั้งแต่ก่อนมีสหประชาชาติด้วยซ้ำ โดยรูปแบบองค์กรก็วิวัฒนาการมาตามกาลเวลา โดยเปลี่ยนชื่อเป็น International Telecommunication Union ในปี 1932 เพื่อขยายภารกิจขององค์กรให้ครอบคลุมโทรศัพท์ด้วย และภายหลังก็เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติในปี 1947
ITU มีสมาชิกเป็น "ประเทศ" จำนวน 193 ประเทศ เท่ากับประเทศที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ และเปิดรับสมาชิกแบบองค์กรภาคเอกชน สมาคม และหน่วยงานการศึกษาด้วย สำนักงานใหญ่ของ ITU อยู่ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมีสำนักงานระดับภูมิภาคอีก 12 แห่งทั่วโลก
ปัจจุบันขอบเขตงานของ ITU ขยายจากโทรเลขและโทรศัพท์ มาเป็นการสื่อสารผ่านดาวเทียม มือถือ อินเทอร์เน็ต การสื่อสารในช่วงภัยพิบัติ และการใช้งานไอซีทีโดยทั่วไปอีกด้วย
ภาพสำนักงานใหญ่ของ ITU ที่เจนีวา (ภาพจาก itupictures@Flickr)
โครงสร้างของ ITU
ITU แบ่ง "กลุ่มงาน" หรือ sector ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
1) กลุ่มงานสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุ (Radiocommunication) หรือ ITU-R
รับผิดชอบงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุ ทั้งการบริหารความถี่ของคลื่น และวงโคจรของดาวเทียม งานของกลุ่มนี้จะครอบคลุมถึงวิทยุสื่อสาร วิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ด้วย ใครที่ตามข่าวเรื่อง ทีวีความละเอียด 4K และ 8K ก็อาจจำกันได้ว่า ITU-R นี่แหละเป็นคนดูแลและอนุมัติมาตรฐานการแพร่ภาพของทีวีความละเอียดสูงมากเหล่านี้
รายละเอียดเพิ่มเติมดูจากเว็บไซต์ ITU-R
2) กลุ่มงานมาตรฐานโทรคมนาคม (Telecommunication Standardization) หรือ ITU-T
กลุ่มงานนี้ทำหน้าที่กำหนด "มาตรฐาน" (standard) ของวงการโทรคมนาคมแทบทุกเรื่อง เช่น อินเทอร์เน็ต โพรโตคอลการส่งข้อมูล กระบวนการบีบอัดเสียงและวิดีโอ เป็นต้น และประเด็นเรื่อง ITR ก็อยู่ภายใต้การดูแลของ ITU-T นั่นเองครับ
มาตรฐานวงการไอทีหลายอย่างที่เราใช้กันทุกวันนี้ ก็เป็นผลงานการกำหนดมาตรฐานของ ITU-T (มาตรฐานส่วนใหญ่พัฒนาขึ้นโดยหน่วยงานอื่น แล้วค่อยให้ ITU-T รับรอง) เช่น JPEG, H.262, H.263, H.264, 3G, LTE, WiMAX ถ้าเก่าหน่อยก็เป็นเรื่องของ ISDN, SIM card, PKI X.509, xDSL ประเภทต่างๆ เป็นต้น
ITU-T เป็นกลุ่มงานที่เก่าแก่ที่สุดของ ITU และตัว ITU เองก็ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์เรื่องการกำหนดมาตรฐานโทรคมนาคมเป็นหลัก รายละเอียดดูจากเว็บ ITU-T
วิดีโอแสดงตัวอย่างมาตรฐานที่ออกโดย ITU-T และถูกใช้งานในชีวิตประจำวัน
3) กลุ่มงานด้านพัฒนา (Development) หรือ ITU-D
กลุ่มงานนี้เน้นงานเชิงสังคมเสียเยอะ เช่น ส่งเสริมการใช้งานไอซีทีในประเทศกำลังพัฒนา ช่วยประเทศต่างๆ พัฒนาแผนบรอดแบนด์ สนับสนุนการสื่อสารช่วงภัยพิบัติ ความปลอดภัยไซเบอร์ ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส การใช้เทคโนโลยีไอซีทีกับวงการสาธารณสุข เป็นต้น
ITU-D เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นหลังสุดคือปี 1992 รายละเอียดดูในเว็บ ITU-D
หน้าที่ของ ITU โดยสรุป
- เป็นหน่วยงานนานาชาติที่ทำหน้าที่ออกมาตรฐานด้านโทรคมนาคมและคลื่นความถี่
- ไม่สังกัดประเทศใดๆ แต่เป็นหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ
- ทำงานระดับ "ชาติต่อชาติ" คือสมาชิกต้องเป็น "ประเทศ" ด้วย
- ข้อตกลงของ ITU บางอย่างมีผลผูกพันกับประเทศสมาชิก ในฐานะ "สนธิสัญญา" (treaty)
ข้อตกลง ITR
รู้จักกับ ITU กันไปแล้วก็มาเข้าประเด็นเรื่อง ITR กันบ้างครับ
International Telecommunication Regulations หรือ ITR คือ "แกนกลาง" ของประเด็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับ ITU และอินเทอร์เน็ต ในช่วงนี้
ITR เทียบได้กับ "สนธิสัญญา" ที่เกี่ยวข้องกับด้านโทรคมนาคม ซึ่งประเทศสมาชิกของ ITU จะต้องช่วยกันเขียนและอนุมัติ เพื่อบังคับใช้กับประเทศสมาชิกต่อไป เนื้อหาภายใน ITR ครอบคลุมเรื่องหลักการทั่วไปและคำนิยามของกิจการโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และกำหนดเงื่อนไข แนวทาง ข้อห้าม การบังคับใช้ ฯลฯ เอาไว้เพียบ
เนื่องจาก ITU เป็นองค์กรที่เก่าแก่มาก ดังนั้น ITR ซึ่งเปรียบเสมือน "กฎหมาย" ของ ITU จึงมีความเก่าแก่ไม่แพ้กัน โดยเอกสารระดับนี้ฉบับแรกถูกเขียนในปี 1865 พร้อมกับการก่อตั้ง ITU โดยบังคับใช้สำหรับกิจการโทรเลข ถูกแก้ไขมาเรื่อยๆ ตามกาลเวลา
ITR ฉบับที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ถูกเขียนและอนุมัติในปี 1988 (เป็นเอกสารที่อายุ 24 ปีแล้ว) ในการประชุม World Administrative Telegraph and Telephone Conference (WATTC) ที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย
การออกเอกสารที่มีความซับซ้อนสูงและมีประเทศเข้าร่วมมากขนาดนี้ ต้องใช้เวลาเตรียมการมากๆ เอาแค่จัดประชุม WATCC-88 ก็ต้องใช้เวลาเตรียมประชุมนานถึง 6 ปี (เริ่มคิดจะประชุมในปี 1982) สุดท้ายความพยายามก็ประสบความสำเร็จ คลอดออกมาเป็น ITR ฉบับปัจจุบันได้ในที่สุด (ผมจะเขียนถึงเนื้อหาของ ITR ในบทความตอนต่อไป ใครใจร้อนเข้าไปอ่าน ITR ฉบับปัจจุบัน (PDF) ก่อนได้)
ภาพการประชุมเตรียมงาน WCIT-12 และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดที่ดูไบทั้งหมด (ภาพจาก itupictures@Flickr)
งานประชุม WCIT-12
ชื่อเต็มๆ ของงานนี้คือ World Conference on International Telecommunications (WCIT-12) เป็นงานประชุมอย่างเป็นทางการระดับเดียวกับ WATCC-88 (แต่เปลี่ยนชื่อเพื่อสะท้อนเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป) มีกำหนดจัดขึ้นที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 3-14 ธันวาคม 2012 นี้
เป้าหมายของการจัด WCIT-12 คือปรับแก้ข้อตกลง ITR ที่เก่ามากแล้วให้มีเนื้อหาทันสมัย ใช้ได้กับเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคมในปัจจุบัน โดยผู้เข้าร่วมก็คือตัวแทนของประเทศสมาชิก ระดับ "รัฐมนตรีด้านการสื่อสาร" มาในฐานะตัวแทนของประเทศทั้ง 193 ประเทศ (ตัวแทนของประเทศไทยคือกระทรวงไอซีที)
งานประชุม WCIT-12 ถือเป็นงานใหญ่ที่ประเทศสมาชิกจะเข้ามา "ลงมติ" อนุมัติข้อเสนอปรับแก้ ITR อย่างเป็นทางการ แต่กระบวนการทั้งหมดเพื่อแก้ไข ITR ไม่ได้มีแค่งาน WCIT-12 เพียงงานเดียว เพราะชาติสมาชิกและคณะทำงานของ ITU ต้องเตรียมตัวจัด WCIT-12 มากันหลายปี เช่น ตั้งคณะทำงานสำหรับเตรียมงาน WCIT-12 มาตั้งแต่ปี 2009 และกลุ่มชาติสมาชิกของ ITU ในแต่ละภูมิภาคก็ต้องประชุมกันเอง คุยกันเอง เพื่อหามติขอแก้ไข ITR ในประเด็นที่ภูมิภาคนั้นๆ ให้ความสนใจ
ชาติสมาชิกของ ITU แบ่งเป็น 5 ภูมิภาค ( รายละเอียด ) ได้แก่
- เอเชียแปซิฟิก (APT) ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มนี้
- ยุโรป (RCC)
- แอฟริกา
- อเมริกา
- กลุ่มประเทศอาหรับ
ข้อมูลเพิ่มเติมของ WCIT-12 อ่านได้จาก Background Briefs and FAQs
สำหรับบทความตอนนี้ก็ขอปิดท้ายด้วยสไลด์แนะนำงาน WCIT-12 และ ITR ซึ่งมีเนื้อหาคาบเกี่ยวระหว่างตอนนี้กับตอนต่อๆ ไปครับ
Comments
ช่วงปีนี้ ITU ร่วมกับกสทช. จัดงานสัมมนาให้ความรู้กับผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ที่สนใจครับ เดือนหน้านี้จะมีเกี่ยวกับ Internet Regulation ภาษาอังกฤษล้วน ไม่มีค่าใช้จ่ายครับ
(แอบโฆษณาต่อเลย -_-;)
เห็นทาง Google ก็มีให้ไปลงชื่อเหมือนกันกับเรื่องแบบนี้ Google Take Action
ถ้าจุดกระแสแค่เรื่อง #freeandopen นี่พอโอเคอยู่หรอก แต่ข้อความที่โยงไปยัง ITU นี่อ่านแล้วแอบตะหงิดๆ ละ.. จาก "การแอนตี้ผู้ที่คิดปิดกั้น #freeandopen" จะกลายเปน "การแอนตี้ ITU/UN" รึป่าว (ถ้า ITU/UN มีการปิดกั้น #freeandopen แล้วจะแอนตี้ในส่วนนั้นนี่ไม่มีปัญหาอะไร แต่ต้องดูแยกส่วนกันไปด้วย ไม่ควรกลายเปนการแอนตี้ ITU/UN แบบเหมารวมไปเลย ไม่นับว่ายังชี้ชัดไม่ได้เลยว่า "ITU/UN มีการปิดกั้น #freeandopen" มั้ย เหมือนยังเปนข้อสงสัยหรือข้อกล่าวหาซะมากกว่า)
อีกเรื่องที่กูเกิลควรต้องเคลียร์ คือเรื่องความเกี่ยวข้องกับ Vint Cerf .. ช่วงลงท้ายนี่ประโยคแรกฟังดูดี "พวกเขาควรให้คนหลายพันล้านคนทั่วโลกที่ใช้อินเทอร์เน็ต" แต่ประโยคถัดมาที่บอกว่า "และผู้เชี่ยวชาญที่สร้างและบำรุงรักษาอินเทอร์เน็ตมีส่วนร่วมด้วย" นี่คือ Vint Cerf รึป่าว
ซึ่งจากที่เคยอ่านเนื้อหาที่ Vint Cerf กล่าวต่อสภาสหรัฐฯ ซึ่งต่อมากลายเปนส่วนนึงในข้อสรุปของสภาสหรัฐฯ ที่ให้พยายามขัดขวาง ITRs ใหม่ของ ITU/UN .. ซึ่งส่วนตัวเหนด้วยกับ Vint Cerf ในบริบทที่ Vint Cerf มอง แต่ว่าบริบทของ Vint Cerf กับ ITU/UN นั้นต่างกัน หากมองตามบริบทของ ITU/UN แล้วค่อนข้างจะไม่เหนด้วยกับคำกล่าวของ Vint Cerf อย่างมาก (ที่เอ่ยถึง ITU/UN ไม่ใช่แค่ ITU นั้น เพราะเรื่องเกี่ยวกับ IG ในส่วนของ UN นี่ยังมี IGF กับ WSIS ด้วยอีกส่วนนึง ซึ่งสองส่วนหลังนี่รุสึกว่า #freeandopen มาก เผลอๆ จะมากเกินไปด้วยซ้ำ)
pay per click
แล้วข่าวที่เขาว่ากันว่า ทุกคนต้องจ่ายค่าเข้าเวปทุกครั้งที่คลิ๊กเข้าเวปนี้มาจากที่นี้หรือป่าว ?
เท่าที่เคยคุ้ยเอาไว้ เข้าใจว่าต้นตอของการโยงคำว่า pay-per-click เข้ากับ ITR น่าจะมีที่มาตามเม้นทที่ผมเคยโพสเอาไว้.. รบกวนดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากโพสเดิมแล้วกันนะครับ เพราะโยงๆ ข้อมูลข้างเคียงอื่นๆ ประกอบอยู่ด้วย
https://www.blognone.com/node/36847#comment-497499