ข่าวนี้เกี่ยวข้องกับข่าว [สหรัฐฯ ประกาศคว่ำข้อตกลงการสื่อสารระหว่างประเทศฉบับใหม่](http://www.blognone.com/node/37402) นะครับ ใครยังไม่ได้อ่านควรย้อนไปอ่านข่าวเก่าเสียก่อน
วันนี้ (25 ตุลาคม 2555) กสทช. ได้จัดงานเสวนาในประเด็นข้างต้น (แต่ครอบคลุมหัวข้อกว้างกว่า) ในชื่องานว่า "NBTC Public Forum 9: ITU จะกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต ไทยควรมีท่าทีอย่างไร"
ผมได้ไปร่วมงานนี้มาด้วย เลยสรุปประเด็นที่น่าสนใจของวิทยากรบางท่านมาลง Blognone ครับ
### สรุปประเด็นแบบสั้นๆ
- ที่ผ่านมาอินเทอร์เน็ตไม่เคยมีใครกำกับดูแลเต็มรูปแบบ จะมีองค์กรบางแห่ง เช่น IETF, W3C, ICANN ที่ควบคุมมาตรฐานในบางด้าน แต่องค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรวิชาชีพ ไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐ - ITU หรือสหภาพโทรคมนาคมสากล ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติด้าน __โทรคมนาคม__ พยายามเข้ามากำกับดูแลอินเทอร์เน็ตอยู่เรื่อยๆ - ระเบียบ (หรือข้อบังคับ) ที่สำคัญของ ITU มีอยู่ 1 ฉบับ เรียกว่า __ITR__ หรือ International Telecommunication Regulation ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของวงการโทรคมนาคมโลก เอกสารฉบับนี้แก้ไขครั้งสุดท้ายในปี 1988 (ก่อนอินเทอร์เน็ตถือกำเนิดในเชิงพาณิชย์ด้วยซ้ำ) ซึ่งถือว่าเก่ามากแล้ว - ITU มีแผนการแก้ไข ITR ในที่ประชุมใหญ่ [World Conference on International Telecommunications (WCIT-2012)](http://www.itu.int/en/wcit-12/Pages/default.aspx) ที่ดูไบในเดือนธันวาคมนี้ - สมาชิก ITU __บางประเทศ__ ยื่นเสนอแก้ไข ITR ในบางประเด็นที่กลายเป็นข้อขัดแย้ง - ประเทศไทยจะต้องเสนอจุดยืนผ่าน APT (Asia Pacific Telecomminity องค์กรลูกของ ITU โซนเอเชียแปซิฟิกที่มีสมาชิก 38 ประเทศ) โดยข้อเสนอของ APT ไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเก็บค่าบริการอินเทอร์เน็ต และไม่ได้สนับสนุนให้เพิ่มนิยามคำว่า ICT
### วิเคราะห์ประเด็นแก้ไขของ ITR
คุณดวงทิพย์ โฉมปรางค์ ผู้บริหารอินเทอร์เน็ตโซไซตี้ (ISOC) ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สรุปประเด็นที่มีชาติสมาชิกของ ITU เสนอแก้ไข 6 ประเด็นที่มีความขัดแย้งสูง ดังนี้
1. ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะต้องจ่ายค่าใช้งานแบบ pay-per-click ซึ่งต่างไปจากการจ่ายเหมาเป็นแพกเกจแบบปัจจุบัน 2. กำหนดให้ผู้ให้บริการสารสนเทศ (information service provider) ต้องจ่ายเงินให้เจ้าของเครือข่าย (sender pay model) เสนอโดยกลุ่มประเทศยุโรป (ตรงกับข่าวเก่า [สหรัฐฯ ประกาศคว่ำข้อตกลงการสื่อสารระหว่างประเทศฉบับใหม่](http://www.blognone.com/node/37402)) 3. กำหนดให้เปิดเผยประวัติการใช้งานของผู้ใช้บริการ ทั้งผู้ใช้ทั่วไปและผู้ประกอบการ - เกิดจากความต้องการควบคุม content provider ที่อาจเป็นภัยต่อประเทศต่างๆ เช่น จีน - ถ้าเงื่อนไขข้อนี้ผ่าน อาจมีปัญหาในอนาคตว่ากฎหมายจากประเทศอื่นๆ มีสิทธิเหนือประเทศไทย มานำข้อมูลของผู้ใช้งานในไทยไปได้ - ถ้าข้อเสนอนี้ผ่าน อาจส่งผลให้เกิด 2 network แบบควบคุม (ใหม่) และแบบไม่ควบคุม (ปัจจุบัน) - ไอเดียของอินเทอร์เน็ตแบบควบคุมได้ คือมีองค์กรที่เข้าถึงทราฟฟิกของทุกคน รู้ว่าใครส่งอะไรไปหาใคร 4. กำหนดนิยาม spam และขยายขอบเขตของ cybersecurity ให้ครอบคลุมถึง "สารสนเทศ" (content) ด้วย - การประชุมในปี 2010 เคยตกลงกันไว้ว่าปี 2012 จะไม่คุยกัน 3 ประการคือ content, crime, security แต่ยังมีบางประเทศเสนอประเด็นเข้ามา 5. กำหนดให้มีนิยามของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ "อินเทอร์เน็ต" อยู่ในเอกสาร ITR ฉบับใหม่ เช่น กำหนดนิยามของ ICT, QoS 6. กำหนดให้สนธิสัญญาใหม่เป็นเชิงบังคับ (mandatory) ในขณะที่ของเก่าเป็นสมัครใช้ (non-mandatory) มีข้อยกเว้นเยอะ ของใหม่จะบังคับให้ทำตามทุกอย่าง
__หมายเหตุ mk:__ ในข้อ (1) รายละเอียดเรื่อง pay-per-click ยังไม่ชัดเจนนัก เพราะตัวแทนของกระทรวงไอซีทีที่เข้าร่วมงานสัมมนานี้ด้วย แย้งว่าไม่มีข้อเสนอในเรื่องนี้เข้ามา
### การเมืองเรื่องการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต
โดย อ.กาญจนา กาญจนสุต จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)
อินเทอร์เน็ตยุคบุกเบิกไม่มีการควบคุมโดยรัฐ (governance without governments)
- 20 ปีแรก ไม่ยุ่งกับรัฐบาลให้มากที่สุด เพราะรู้ว่าทำงานกับรัฐบาลต้องใช้เวลา และเป็นปัญหากับนวัตกรรม - มีแค่ 2 องค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแล - IETF - ดูแลมาตรฐานของเทคโนโลยี - IANA - ดูแลทรัพยากรหลัก (core resources) เช่น name & address ของอินเทอร์เน็ต
ยุคที่สองเริ่มมีองค์กรอื่นๆ เกิดขึ้น เช่น __Internet Society (ISOC)__ ตั้งปี 1992 โดยกลุ่ม activist ในฐานะเป็น non-profit educational organization เผื่อผลักดันอินเทอร์เน็ตให้พัฒนาขึ้นในวงกว้าง และ __W3C__ ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับเว็บ
โครงสร้างการกำกับดูแลในยุคที่สอง
- technology - IETF - W3C - resources - IANA - ICANN - จดทะเบียนในปี 1998 ดูแล domain name, address, protocol
โครงสร้างของอินเทอร์เน็ตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ใช้วิธีคิดค่าเชื่อมโยงให้เข้าถึง (access) ขอบของอินเทอร์เน็ตให้ได้เพียงเท่านั้น ส่วนการเชื่อมต่อภายในอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้งานไม่ต้องจ่ายเงินใดๆ โมเดลนี้ทำให้ผู้สร้างแอพพลิเคชันหรือเนื้อหาสามารถเติบโตได้ เพราะต้นทุนต่ำ จ่ายแค่ค่าเชื่อมต่อขั้นต้นเท่านั้น
ส่วน ITU เป็นหน่วยงานด้านโทรคมนาคมระดับนานาชาติ กำเนิดมานานเป็นร้อยปี เดิมที ITU กำกับดูแลกิจการไปรษณีย์ และภายหลังก็ขยับขยายมาดูเรื่องรัฐวิสาหกิจหรือบริการโทรคมนาคมของรัฐ การออกข้อตกลง ITR เมื่อปี 1988 ก็ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของ ITU ในการเปิดเสรีภาคโทรคมนาคมในหลายๆ ประเทศทั่วโลก
ในอดีต ITU ออกมาตรฐานที่แข่งขันกับ "อินเทอร์เน็ต" หลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ เช่น
- มาตรฐาน ITU-T X.25 เกิดขึ้นมาในยุค 70s แต่แพ้ให้กับ TCP/IP - ITU-T พยายามเสนอ ATM ในยุค 80s ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีก เพราะกระบวนการออกแบบช้า เทคโนโลยีราคาแพง - ปี 2009 ITU เข้ามาเสนอตัวช่วยดูแล IPv6 และ NGN (Next Generation Network หมายถึงเครือข่ายเดียวที่ใช้โปรโตคอล IP, MPLS, SIP) - ปี 2012 เข้ามาเรื่อง ITR (เตรียมการมาตั้งแต่ปี 2004 แต่เพิ่งผลักดันได้) ไอเดียหลายอย่างสร้างความขัดแย้ง
ความแตกต่างของไอเดียระหว่างฝั่ง "อินเทอร์เน็ต" กับ ITU
- อินเทอร์เน็ต - end-to-end, dumb network, smart device - connectionless ไม่คิดค่าเชื่อมต่อ - ผู้ใช้จ่ายเงินปลายทางเพื่อเชื่อมกับ internet - ควบคุมโดยรัฐบาลมีส่วนร่วม - ITU - dumb end device, smart network (เพราะต้องการเก็บเงิน) - connection-oriented, virtual circuit - จ่ายเงินตามปริมาณข้อมูลที่ใช้ ตามแนวทาง telcos ในอดีต - ควบคุมแบบ intergovernmental organization มีกฎเกณฑ์มากมาย
### เอกสารอ่านประกอบ
เอกสารเหล่านี้เป็นเอกสารให้ข้อมูลของ ITR และกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มี 2 ฉบับคือจากกระทรวงไอซีที และจาก กสทช. ครับ
เนื่องจากผมได้มาเฉพาะฉบับกระดาษ ดังนั้นก็ต้องสแกนกลับมาเป็นไฟล์ อาจจะไม่ชัดสักเท่าไรนะครับ
__เอกสารจากกระทรวงไอซีที: ขั้นตอนการพิจารณาการแก้ไขข้อบังคับโทรคมนาคมระหว่างประเทศ__
ขั้นตอนการพิจารณาการแก้ไขข้อบังคับโทรคมนาคมระหว่างประเทศ
__เอกสารจาก กสทช: ข้อมูลเกี่ยวกับข้อบังคับโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITRs)__
Comments
pay per click นี่ก็นะ
หมายถึงคิดเป็น Data หรือเปล่าก็พอจะเข้าใจง่ายนะแต่พวกเกมออนไลน์นี่ถึงกับเล่นไมได้เลยนะ ถ้า Perclick จริงๆ
model ธุรกิจหลายอย่างเช่น ร้าน อินเทอร์เน็ตก็อาจจะล่มไปด้วยหรนือเปล่า
end-to-end, dump network, smart device
dump end device, smart network (เพราะต้องการเก็บเงิน)
น่าจะเป็น "dumb" นะครับ
แก้แล้ว ขอบคุณมากครับ
จะควบคุมครอบคลุมไปถึงเนื้อหาเลยเหรอครับ แบบนั้นมันไม่เป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพเหรอครับ ? คนดูแลสายก็ทำสายให้คนเช่าใช้ไปสิ จะไปยุ่งเรื่องในสายทำไมว่าเขาคุยอะไรกัน
กำหนดให้ผู้ให้บริการสารสนเทศ (information service provider) ต้องจ่ายเงินให้เจ้าของเครือข่าย (sender pay model) เสนอโดยกลุ่มประเทศยุโรป
rofl at EU. แหมก็ data flow ของกลุ่มประเทศท่านดันไหลออกเกือบหมด ไหลเข้าแทบไม่มีสินะครับ xD
Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)
อ่านๆดูแล้ว รุ้สึกเหมือน ITU กลัวเสียรายได้จากฝั่งโทรคม เลยพยายามดิ้นเพื่อเข้ามาแทรกแทรงให้ได้
ให้เช่าถนน แต่อยากได้ค่า ขายเนื้อหมู ด้วย เฮ้อ
เหมือนกับให้เช่าถนนแล้วยัง คิดค่าคนเดินถนน บวกกับค่าคนตั้งแผงลอยข้างถนนด้วย
แถมต้องการควบคุมคนเดินถนน ด้วย
เอ๊ะ ระบบคุ้นๆนะ ?
ปล.ถ้าผ่านมาจริงสมมุติว่าถนนพัง คนใช้ถนน คนตั้งแผงลอบบนถนน สามารถเรียกร้องให้มาเฟียคุมถนนรับผิดชอบได้หรือไม่?
ใครเป็นคนคิด คิดมาได้ไง ถ้าเกิดขึ้นจริงทุกอย่างบนอินเตอร์เนตคงถึงจุดจบ อย่าง Blognone คงเปิดอ่านเฉพาะหน้าแรกไม่สนใจก็ข้าม ไม่ตอบเพราะตอบแล้วเสียเงิน ทุกอย่างมันจะหยุดหมดการค้าการขาย ธรุกิจต่างๆ ผมเชื่อว่ายังไงก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ มีเว็บไหนที่เป็นศูนย์รวมแสดงตัวคัดค้านไหมจะไปกดสักหน่อย
อ่านแล้วไม่เห็นด้วยกับ ITU ทันที เห็นแก่ได้สุดๆ
คงออกมาเพื่อให้คนย้อนกลับไปอ่านข่าวในนสพ.เพิ่มขึ้น ตัดไม้ทำกระดาษให้มากขึ้นกว่าเดิม บางเรื่องเทคโนโลยีก้รักษ์โลกได้ แต่บางคนยังทำให้มันลำบากทำไมไม่เข้าใจ
สงสัยทำจริงก็แยกวงเลยครับ... internet เสรี, กับ internet จำกัดแล้วให้คนใช้เลือกว่าจะเอาแบบไหน ...
pay per click ก็ไม่ยากครับ กดเข้าเว็บปุ๊บ download ทั้งเว็บลงเครื่อง แล้วค่อยมานั่งอ่านในเครื่อง
มาเฟียนี่
อย่างนี้เวปพวกขายของจะทำยังไงล่ะเนี่ย ลูกค้ามาดูของในเวปยังจะต้องมาเสียค่าเลือกดูอีกแล้วใครอยากจะเข้ามาดูบ่อยๆ ยิ่งถ้ามีของเยอะๆ search ทีเจอหลายๆ หน้าพวกที่อยู่หน้าหลังๆ นี่ตายเลยคงไม่มีคนกดเข้ามาดูกัน อย่างมากคงดูแค่ 2-3 หน้าแรกพอ
สมมติ search หารองเท้ายี่ห้อนี้จาก ebay พบว่ามีสิบคนที่ขาย กดเข้าไปดูรายละเอียดของแต่ราย ดูภาพเช็คสภาพรองเท้า ก็เสียไปแล้วสิบคลิ๊ก นี่จะซื้อของยังต้องเสียค่าดูด้วยเหรอเนี่ย orz
ถ้าอย่างนั้นเล่นเกมออนไลน์สมมุติ 330 APM = นาทีนึงเสียไปแล้ว 330 คลิ๊ก
เกมนึงประมาณ 30นาที = 330 * 30 ~= 10000 คลิ๊ก โอ้ววว
นอกจากเสียค่าเกม(DL/Hard Copy) + ค่าเน็ต + ค่าออนไลน์ แล้วยังเสียค่าคลิ๊กอีก
สุดยอดมากกก งี้ต่อไปเล่นเกมผ่านเน็ตแบบเล่นฟรีคงไม่มีแล้ว
ด้วยความหงุดหงิด เหนหลายคนชอบเอาเรื่อง pay-per-click มาพูดกัน แต่ไม่ยักกะมีแหล่งอ้างอิง.. เลยไปคุ้ยๆ ดู เจอแหล่งอ้างอิงเรื่อง sending party network pays ละ (แต่เรื่อง pay-per-click ยังคงหาไม่เจออยู่ดี ถ้าใครเจอวานแชรทีเน้อ)
เนื่องจากเคยคุยๆ บ่นๆ เรื่องนี้ไว้ในอีกโพสนึง เลยขอใส่ลิงกที่ไปเม้นทไว้ในโพสนั้นแล้วกันนะครับ.. https://www.blognone.com/node/36847#comment-496945
ปล. แต่ตามสะดวกนะครับ ถ้าใครจะก้อปข้อความมาใส่โพสนี้ ^^
pay-per-click เป็นคำที่สำนักข่าวต่างประเทศบางสำนักใช้อธิบายเรื่องความพยายามเก็บค่าทราฟิกครับ
สำนักข่าวในไทยนำมาขยายความต่อเรื่อยๆ ก็เป็นอย่างที่เห็น
lewcpe.com , @wasonliw
สรุปว่ามีแค่โมเดลที่ ETNO เสนอเพียงอันเดียว ส่วนโมเดลอื่นๆ นี่เข้าใจผิดกันไปเอง.. ใช่มั้ยครับ?
ต้องตามแก้ความเข้าใจซะใหม่กันยาวเลยคราวนี้.. รวมถึงเรื่องเงื่อนไขการบังคับใช้ ITR ด้วย (ตอนนี้เชื่อว่า คนส่วนมากเข้าใจว่าเมื่อผ่านการประชุมที่ดูไบแล้ว จะมีผลบังคับใช้ในทันที่)
ปล.
ผู้สื่อข่าวไอทีนี่ มีการรวมตัวตั้ง สมาคม/ชมรม มั้ยครับ.. แล้วในกรณีเนื้อข่าวผิด มีมาตรการรองรับอย่างไรอยู่บ้างมั้ยครับ ข่าวไอทีนี่เจอใจความผิดอยู่บ่อยๆ เผลอๆ บางทีถึงขั้นมั่ว (หรือว่านักข่าวแต่ละคนนี่ต่างคนต่างเขียน ไม่มีการรีวิวกันและกัน รวมถึงปล่อยเลยตามเลยหากมีข้อมูลจุดไหนพลาด)
คือหงุดหงิดกับสื่อหลายๆ รายมาพักใหญ่ละ ตั้งแต่เรื่องการขยายตัวย่อของ ITR ว่าคือ Internet Telecommunication Regulation .. แต่ทำได้เพียงแค่หงุดหงิด ส่วนมาตรการอื่นๆ นี่นึกไม่ออกว่าจะทำเช่นไรบ้างดี
เข้าใจว่าเจอต้นตอของการโยงคำว่า pay-per-click เข้ากับ ITR แล้ว (อย่างน้อยก้อขออนุญาตแก้ต่างให้กลุ่มอาหรับซะหน่อย เพราะมีบางคนบอกว่าข้อเสนอดังกล่าวมาจากกลุ่มอาหรับ หรือหากท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติมก้อแย้งได้นะครับ)
ผมโพสต่อเอาไว้ที่เดิม.. ใครสนใจรบกวนดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากลิงกข้างล่างนะครับ
https://www.blognone.com/node/36847#comment-497499
ปล. ถ้าสื่อต่างๆ มีการระบุที่มาไว้กับข่าวเสมอๆ แบบ blognone คงสะดวกและช่วยป้องกันการเข้าใจคลาดเคลื่อนได้มากกว่านี้ +_+