Tags:
Node Thumbnail

กลุ่มเคลื่อนไหวในเมียนมาร์ ประกอบด้วย Phandeeyar ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศ เขียนจดหมายเปิด วิจารณ์ Facebook ว่าปล่อยให้ข่าวปลอมใส่ร้ายชาวโรฮิงญาในพม่าอยู่บน Facebook โดยไม่แก้ปัญหาเท่าที่ควร

เพียงวันเดียวหลังกลุ่มเคลื่อนไหวเขียนจดหมายเผยแพร่ Mark Zuckerberg ก็เขียนอีเมลตอบกลับ โดยขอโทษที่ไม่ได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าองค์กรของกลุ่มเคลื่อนไหวช่วยให้ Facebook เข้าใจสถานการณ์ในเมียนมาร์อย่างไร และยังบอกอีกว่านอกจากพัฒนาเทคโนโลยีแก้ปัญหาแล้วยังใช้คนมากขึ้นเพื่อดูแลปัญหานี้

ทางกลุ่มเคลื่อนไหวตอบกลับอีเมลของ Zuckerberg ระบุว่าขอบคุณที่ตอบกลับด้วยตัวเอง มันมีความหมายมากจริงๆ และยังถามข้อมูลเชิงลึกว่า Facebook มีการรายงานโพสต์ที่เป็นเท็จในเมียนมาร์กี่โพสต์, มีบัญชีผู้ใช้กี่รายที่ถูกรายงาน และมีกี่รายที่เป็นบัญชีปลอม, ในองค์กรมีผู้ที่เข้าใจภาษาเมียนมาร์กี่ราย และมีคนที่ทำหน้าที่ดูแลปัญหาในเมียนมาร์แบบเต็มเวลากี่ราย เป็นต้น

No Description
ภาพชาวโรฮิงญาจาก Wikipedia

ปัญหาข่าวปลอมระบาดในเมียนมาร์มีมาหลายปี และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และ Facebook ก็ยังไม่ดำเนินการจัดตั้งออฟฟิศที่เมียนมาร์เพื่อแก้ปัญหา และอีเมลตอบกลับของ Zuckerberg ก็ยังไม่เพียงพอจะบรรเทาความกังวลของกลุ่มเคลื่อนไหว ซึ่งทางกลุ่มมองว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนไม่พอ แต่ปัญหาคือตัวแพลตฟอร์ม Facebook เองต่างหาก

ก่อนหน้านี้ UN วิจารณ์ ว่า Facebook ได้เป็นตัวเร่งในการกระจาย hate speech และแนวคิดด้านความรุนแรงเกี่ยวกับชาติพันธุ์ในเมียนมาร์

ที่มา - The New York Times

Get latest news from Blognone