Bukalapak สตาร์ทอัพสายอีคอมเมิร์ซ ที่เป็นสตาร์ทอัพรายล่าสุดของอินโดนีเซียที่เพิ่มทุนจนทำให้มีมูลค่ากิจการสูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ กลายเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นเมื่อปีที่แล้ว ต่อจาก Tokopedia, Go-Jek และ Traveloka โดยล่าสุดบริษัทได้ประกาศรับเงินทุนซีรี่ส์ D เพิ่มอีก 50 ล้านดอลลาร์ จากกองทุน Mirae Asset-Naver Asia Growth ที่เป็นการร่วมทุนระหว่าง กองทุน Mirae Asset และ Naver จากเกาหลีใต้
รายชื่อผู้ลงทุนก่อนหน้านี้ใน Bukalapak ก็มีทั้ง Ant Financial บริษัทการเงินเครือ Alibaba, Emtek ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในอินโดนีเซีย และกองทุน GIC ของประเทศสิงคโปร์
ถ้าพูดถึงอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในอินโดนีเซียก็ต้องเป็น Tokopedia ซึ่ง เพิ่งรับทุนก้อนใหญ่ กว่าพันล้านดอลลาร์เมื่อปลายปีที่แล้ว แม้ Bukalapak จะมีขนาดเล็กกว่า แต่ก็มีแนวทางในการดำเนินงานที่น่าสนใจเช่นกัน
Bukalapakเป็นภาษาอินโดนีเซียแปลว่า เปิดร้านขายของก่อตั้งเมื่อ 9 ปีที่แล้ว มียอดขายสุทธิ (GMV) ในปีที่ผ่านมาราว 4 ล้านล้านรูเปีย หรือเกือบ 9 พันล้านบาท มีจำนวนร้านค้าในแพลตฟอร์มกว่า 4 ล้านราย และผู้ใช้งานเป็นประจำกว่า 50 ล้านคน
แนวทางของ Bukalapak คือเป็นให้มากกว่าอีคอมเมิร์ซ โดยต้องการเป็นแพลตฟอร์มแนวไลฟ์สไตล์ มีสินค้าที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน อาทิ บัตรโดยสารเครื่องบิน รถไฟ ไปจนถึงสินค้าด้านการเงินการลงทุน นอกจากนี้ยังพยายามเพิ่มช่องทางการขายแบบออฟไลน์ โดยมีโครงการชื่อ Mitra Bukalapak เพื่อเป็นพันธมิตรกับร้านค้ารายย่อย สำหรับเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าดิจิทัล เจาะกลุ่มคนที่ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต และให้เปอร์เซ็นต์กับร้านค้า ปัจจุบันมีร้านค้าเข้าร่วมกว่า 5 แสนราย และตัวแทนอิสระอีกกว่า 7 แสนคน
อีกทิศทางที่น่าสนใจของ Bukalapak คือการพัฒนาสินค้าด้านการลงทุน โดยผู้ใช้งานสามารถซื้อกองทุนรวมได้ผ่าน Buka Reksa ที่ตอนนี้มีคนซื้อหน่วยทุนหลายแสนราย โดยผลิตภัณฑ์ทางการที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ก็คือการซื้อกองทุนทองคำ
นอกจากนี้ Bukalapak ยังมีแผนในอนาคตซึ่งเป็นไปในทิศทางเหมือนสตาร์ทอัพรายใหญ่ของภูมิภาคนี้ ก็คือการเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่ง Tokopedia ได้ทำอยู่แล้ว แต่ Bukalapak มาผิดจังหวะเวลา ทำให้ยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาล แต่ก็ได้เริ่มร่วมมือกับพาร์ทเนอร์สาย FinTech หลายรายในประเทศไปก่อน
สำหรับเงินทุนรอบล่าสุดนั้น Bukalapak บอกว่าจะนำไปใช้ในการขยายพาร์ทเนอร์ร้านค้ารายย่อย รวมทั้งนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ การซื้อประกันภัยออนไลน์ และกระเป๋าเงินดิจิทัล
ที่มา: TechCrunch และ KrASIA
Comments
ยูนิคอร์นไทยมีบ้างรึยังครับหรืออยู่ในไข่ไดโนเสาร์ที่หวงเอาไว้อยู่
ไม่เข้าใจครับ ช่วยอธิบายเพิ่มได้มั้ยครับ ?
ไม่มีไรหรอกค่ะ เค้าแค่อยากแซะประเทศตัวเอง
ลองใช้คำแดกดันที่คนทั่วไปเข้าใจไปในทางเดียวกันดูครับ คำแดกดันบางคำมันเข้าใจแค่ส่วนตัว อ่านแล้วไม่เข้าใจครับ
ผมพอจะตีความได้ แต่ถูกรึเปล่าไม่รู้
ฉะนั้นแล้วเขียนให้เคลียร์จะช่วยให้สื่อความหมายที่ต้องการจะส่งสาส์นได้ดีกว่าครับ
อินโดโหดมาก ตอนนี้มากที่สุดในอาเซียนเลยเปล่าเนี่ย
อินโดประเทศนี้มาแรงเหลือเกินgrab lazada แรกเริ่มก็มาจากอินโดด้วยใช่ไม๊
จำนวนประชากร 264 ลานคน market size ไม่ได้ธรรมดานะครับ โอกาสเกิดยูนิคอนสูงอยู่แล้ว ผมว่าที่น่าสนใจน่าจะเป็นสิงคโปร์มากกว่า โมเดลน่าจะแข่งขันในตลาดโลกได้ดีกว่า
เยี่ยมครับ