Mary Meeker นักวิเคราะห์ชื่อดังที่มีธรรมเนียมออกสไลด์รายงาน Internet Trends ทุกปีตั้งแต่ปี 1995 โดยในปีนี้ Internet Trends Report 2019 ก็ได้เผยแพร่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้ฉายให้เห็นภาพรวมและแนวโน้มที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมไอทีว่าเป็นอย่างไร
ภาพรวมใหญ่ของรายงานในปีนี้สะท้อนว่าอินเทอร์เน็ตโลกนั้นยังคงเติบโต แต่ด้วยแนวโน้มที่ลดลง เนื่องจากมีฐานที่ใหญ่มากจากการเติบโตสูงต่อเนื่องหลายปี อัตราเติบโตจึงลดลง
สไลด์ของปีนี้มีจำนวน 333 หน้า ( ลิงก์สำหรับดาวน์โหลดเอง ) ครอบคลุมทุกหัวข้อในวงการไอทีทั่วโลก ซึ่งมีไฮไลท์น่าสนใจบางส่วนที่คัดมาดังนี้
ภาพรวมผู้ใช้งานและพฤติกรรม
แนวโน้มจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังคงเติบโต แต่เห็นได้ว่าอัตราการเติบโตยังคงลดลง ในปี 2018 โต 6% ซึ่งน้อยกว่าปีก่อนที่ 7%
ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยย้ำการเติบโตน้อยลงคือจำนวนสมาร์ทโฟนใหม่ที่ส่งมอบซึ่งลดลงเป็นครั้งแรก (-4%) เทียบกับปีก่อนที่คงที่ไม่เติบโต
ผู้อ่าน Blognone คงได้ยินเรื่องนี้บ่อย แต่ก็ย้ำอีกที ว่าบริษัทที่มีมูลค่ากิจการใหญ่ที่สุดในโลก 10 อันดับแรกล่าสุดนั้น เป็นบริษัทเทคโนโลยีถึง 7 บริษัท โดยมีบริษัทที่ไม่ใช่คือ Berkshire Hathaway, Visa และ Johnson & Johnson
อีคอมเมิร์ซในอเมริกาตอนนี้ครองส่วนแบ่ง 15% ของอุตสาหกรรมค้าปลีกรวม แต่การเติบโตก็น้อยลงอยู่ที่ 12.4% ซึ่งถึงอย่างนั้นก็ยังโตกว่าภาพรวมค้าปลีกดั้งเดิมซึ่งอยู่ที่ 2%
อินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้น ทำให้รูปแบบการรับสื่อเปลี่ยนไป จำนวนการชมวิดีโอขนาดสั้นแนว Stories ก็เพิ่มมากขึ้น 2 เท่าตัวในปีที่ผ่านมา
จำนวนคนฟัง Podcast ในอเมริกาเองก็เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
รูปภาพเป็นวิธีการสื่อสารทางออนไลน์ที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากความเร็วอินเทอร์เน็ต และกล้องสมาร์ทโฟนที่ดีขึ้น ตัวอย่างหนึ่งคือมากกว่า 50% ของทวีตที่คนให้ความสนใจบน Twitter จะมีรูปภาพประกอบอยู่ด้วยเสมอ จากเดิมที่ Twitter เป็นบริการแบบตัวหนังสือล้วน
กรณีศึกษา ธุรกิจใหม่ นอกอเมริกา
Pinduoduo จากจีน อีคอมเมิร์ซที่มาแรง ใช้วิธีการขายที่เรียกว่า จากลูกค้าตรงไปหาผู้ผลิต โดยให้ลูกค้ารวมกลุ่มกันเสนอสิ่งที่ต้องการ ผู้ผลิตก็สามารถส่งมอบสินค้าได้ตามที่ผู้ใช้กลุ่มนั้นต้องการ
Meituan Dianping แพลตฟอร์ม O2O (Online-to-Offline) จากจีน เป็นบริการเชื่อมต่อผู้ประกอบการรายย่อยไปสู่ลูกค้ากลุ่มที่ใหญ่ขึ้น เพิ่มโอกาสทางธุรกิจของร้านค้า และทำให้ลูกค้าค้นพบสิ่งใหม่มากขึ้น
Tokopedia อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของอินโดนีเซีย เพิ่มโอกาสให้ธุรกิจเพราะเดิมลูกค้ามักไม่อยากสั่งสินค้าที่ผู้ส่งอยู่คนละเกาะ เนื่องจากใช้เวลาขนส่งนาน จึงปรับปรุงจนสามารถส่งได้ระดับไม่กี่วันจนถึงภายในวันเดียวกันเลย
Toss บริการการเงินดิจิทัลของเกาหลีใต้ ที่อาศัยช่องว่างที่คนกลุ่มใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้ เพราะไม่มีระบบประเมินเครดิตที่ดีพอ จึงพัฒนาเป็นแอปเก็บข้อมูลให้คนมีโอกาสเข้าถึงเงินกู้มากขึ้น
แนวโน้มของ Freemium
บริการที่ใช้วิธีหารายได้แบบ Freemium กล่าวคือให้ใช้งานฟรี แต่จำกัดฟีเจอร์ หากต้องการเต็มรูปแบบต้องจ่ายเงินเพิ่ม มีแนวโน้มที่ดี ผู้ใช้งานเลือกจ่ายเงินกันมากขึ้น ตัวอย่างแรกคือ G Suite ของกูเกิล ที่ลูกค้าระดับองค์กรมีจำนวนมากขึ้น
บริการฟังเพลง Spotify เป็นภาพที่ชัดเจนมากกว่านั้น ขณะที่จำนวนผู้ใช้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่อัตราส่วนผู้ใช้ที่จ่ายเงินรายเดือน ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
การเติบโตของบริการแบบ Freemium ยังทำให้บริการคลาวด์เติบโตมากขึ้นเพื่อรองรับ ปีที่ผ่านมาองค์กรเก็บข้อมูลมากกว่าลูกค้าทั่วไป และอนาคตคลาวด์จะขึ้นมาแซง
กรณีศึกษาจากจีนที่ใช้ Gamification
มีกรณีศึกษาบริการรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นจากฝั่งจีนหลายอย่างในรายงานฉบับนี้ โดยเน้นไปที่วิธีพัฒนาบริการด้วย Gamification หรือระบบกึ่งเกมสร้างการแข่งขัน หัวข้อแรกคือ Mini-Program ที่อยู่ในแอป WeChat ซึ่งเปิดตัวด้วยเกม Jump Jump ที่มีผู้เล่นกว่าร้อยล้านในช่วงไม่กี่สัปดาห์แรก
เชนร้านเครื่องแต่งกายอย่าง Belle กับ TopSports ก็ทำแอปแทร็กยอดขายสำหรับพนักงานหน้าร้าน
นอกจากนี้รายงานยังชี้ให้เห็นทิศทางการเป็นซูเปอร์แอป แอปที่รวมบริการทุกอย่างในแอปเดียว ตัวอย่าง WeChat ที่เริ่มจากเราติดตามบัญชีธุรกิจ จากนั้นก็ต่อยอดมาเป็นการขายสินค้า พร้อมระบบจ่ายเงินจบในแอป
แนวโน้มนี้เห็นได้ว่าเกิดขึ้นกับหลายแอป ไม่ว่าจะเป็น Kakao, LINE หรือ Instagram ที่ใส่ระบบจ่ายเงินเพิ่มเข้ามา
ตัวอย่างซูเปอร์แอปที่ชัดเจนมากคือ Meituan ภาพนี้ทำให้เห็นว่าหน้าแรกของแอป อัดบริการต่าง ๆ ที่เทียบกับของฝั่งอเมริกาถึง 9 ตัว แต่อยู่ในแอปเดียวเลย
หลายแอปก็เริ่มเป็นซูเปอร์แอปมากขึ้น อาทิ Grab, Rappi หรือแม้แต่ Uber
นอกจากนี้รายงานยังนำเสนอรูปแบบที่เริ่มจากจีนคือไลฟ์สดขายของ ซึ่งได้รับความนิยมสูงมาก
สุดท้ายด้วยจักรวาล New Retail ของเครือ Alibaba ให้เห็นว่าตอนนี้ Alibaba มีร้านค้าออฟไลน์เป็นจำนวนมาก
ที่มา: Recode
Comments
หัวข้อธุรกิจใหม่นอกอเมริกาน่าสนใจดีครับ กรณีของ Tokopedia นี่ก็น่าสนใจว่าทำได้ยังไง
operation management อีกรึเปล่าหว่า
ผมเดาเรื่อง Tokopedia ว่าที่ส่งสินค้าวันเดียวได้ คงต้องมีระบบ matching ที่ดีเลย ว่าแต่ละ container ที่จะส่งหรือเที่ยวรถที่จะไป มีที่ว่างพอ destination ที่เดียวกัน เข้าใจว่า 3rd parties อย่าง Grab/Go-Jek คงต้องร่วมด้วยระดับ partnership ครับ
อธิบายได้น่าสนใจดีครับ ถ้าถึงขนาดรับประกันข้ามเกาะได้ใน 1 วันนี่ผมอยากรู้เลยว่าใช้ AI, ใช้อะไรช่วย หรือว่ามีวิธีการยังไง
ของมันไม่ได้ข้ามเกาะได้ภายในหนึ่งวันครับ แต่เค้าใช้วิธีเอาของของ sellers ไปเก็บไว้ที่ warehouse แต่ละเกาะ ล่วงหน้า โดย forecast จาก orders ครับ
น่าสนใจดีครับ แบบนี้ถ้าเป็นสินค้าที่ไม่ได้เตรียมไว้ก็มากกว่า 1 วันใช่มั้ยครับ
China Trends Report 2019
+1 พูดถึงของจีนเยอะมาก
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
แต่ต้องดูก่อน ว่า ใตรเป็นคนทำ report เนื่องจากประเทศจีน ยังปกปิดรายงานอยู่ ที่มีอยู่ทุกวันนี้ คือการคาดเดา