มาถึงวันนี้ผู้ใช้ LINE คงคุ้นเคยกับบริการจ่ายเงิน LINE Pay กันเรียบร้อยแล้ว แต่แผนการของ LINE ในตลาดบริการทางการเงินนั้นไปไกลกว่านั้นมาก เพราะมีบริการการเงินครบวงจร ทั้งการลงทุน ซื้อประกัน เงินกู้ รวมถึงการเปิดบริการธนาคารใต้แบรนด์ LINE Bankด้วย
ความน่าสนใจของแผนการ LINE Bank คือบริษัท LINE Corp. เตรียมจับมือกับพาร์ทเนอร์ธนาคารใน 4 ประเทศที่ LINE มีฐานลูกค้าจำนวนมาก คือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินโดนีเซีย และ ไทย
LINE Bank ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่นัก เพราะ LINE เองก็ออกข่าวเรื่องนี้มาได้สักพัก อย่างในไทยเองก็ประกาศ ตั้งบริษัทร่วมทุนกับ KBank ชื่อ ‘บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด’ มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แม้ข่าวเรื่องนี้จะเงียบหายไปสักพักใหญ่ๆ แต่แผนการของ LINE เองก็ระบุว่ามีแผนจะเปิด LINE Bank ในไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 นี้
เรามาดูกันว่าโครงการ LINE Bank ในแต่ละประเทศมีอะไรบ้าง
ญี่ปุ่น: จับมือกับยักษ์ใหญ่ Mizuho Bank
ประเทศฐานใหญ่ของ LINE คือญี่ปุ่น ดังนั้นโครงการ LINE Bank ในญี่ปุ่นจึงต้องเน้นเป็นพิเศษ พาร์ทเนอร์ของ LINE ในญี่ปุ่นคือ Mizuho Financial Group หรือ MHFG กลุ่มธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับสองของญี่ปุ่น (อันดับหนึ่งคือ MUFG ผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาในปัจจุบัน)
LINE ประกาศตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Mizuho ในเดือนพฤศจิกายน 2018 โดยระบุว่าจะตั้ง "ธนาคารใหม่" ที่ใช้คอนเซปต์ "smartphone bank" และขอใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านการธนาคารของญี่ปุ่น มีเงินทุนตั้งต้น 2 พันล้านเยน สัดส่วนหุ้นคือ LINE Financial Corporation ถือ 51% และ Mizuho Bank ถือ 49%
ที่มา - LINE , ภาพจาก Mizuho Facebook
ไต้หวัน: ตั้งกลุ่มพันธมิตรกับ 4 ธนาคาร
แนวทางของ LINE Bank ในไต้หวันแตกต่างออกไป โดย LINE จับมือกับธนาคารพร้อมกันทีเดียว 4 รายเพื่อขอใบอนุญาตเปิดธนาคารออนไลน์ สัดส่วนการถือหุ้นเป็นดังนี้
- LINE Financial Taiwan ถือ 49.9%
- Taipei Fubon Commercial Bank 25.1%
- CTBC Bank 5%
- Standard Chartered Bank (Taiwan) 5%
- Union Bank of Taiwan 5%
LINE Bank Taiwan ได้แต่งตั้ง Morris Huang อดีตผู้บริหารของ Fubon Bank เข้ามานั่งเป็นซีอีโอแล้ว และอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับดูแลด้านการเงินของไต้หวัน (Financial Supervisory Commission)
ที่มา - LINE , LINE , ภาพจาก Fubon Facebook
อินโดนีเซีย: เข้าไปซื้อหุ้นธนาคารมันซะเลย
แนวทางของ LINE Bank ในอินโดนีเซียถือว่าน่าตื่นเต้นที่สุด เพราะ LINE Financial Asia ได้ประกาศเข้าซื้อหุ้นของธนาคาร PT Bank KEB Hana Indonesia เป็นสัดส่วนถึง 20% และกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 2 ของธนาคารไปในทันที
ธนาคาร KEB Hana เกิดจากการรวมตัวกันของธนาคาร KEB Indonesia ของอินโดนีเซีย กับธนาคาร Hana Bank ของกลุ่มทุน Hana Financial Group จากเกาหลีใต้ ทำให้ปัจจุบัน KEB Hana มีสถานะเป็นธนาคารเกาหลีที่ให้บริการอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย
ที่มา - LINE
ไทย: ตั้งบริษัทร่วมทุนกับธนาคารกสิกรไทย
วิธีการของ LINE Bank ในไทยใกล้เคียงกับในญี่ปุ่น นั่นคือการตั้งบริษัทร่วมทุน (joint venture) กับธนาคารยักษ์ใหญ่ของประเทศ โดยบริษัท KASIKORN LINE Company Limited เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทลูก Kasikorn Vision (KVision) และ LINE Financial Asia
เป้าหมายของบริษัท KASIKORN LINE ประกาศตัวชัดเจนว่าจะทำเรื่อง "เงินกู้" โดยตั้งเป้าว่าจะเป็นผู้ให้บริการเงินกู้ Top 5 ของไทยภายใน 5 ปี
ที่มา - LINE
สรุป: LINE Bank มาแน่ แต่ต้องรออีกสักพัก
จะเห็นได้ว่า แผนการ LINE Bank เป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ของ LINE ที่ตั้งใจจับมือกับพาร์ทเนอร์ท้องถิ่นในทุกประเทศ เรียกได้ว่ามาแบบเน้นๆ เพียงแต่ว่าบริการธนาคารต้องผ่านกระบวนการกำกับดูแลอย่างเข้มข้น และต้องขอใบอนุญาตเปิดธนาคารในแต่ละประเทศ ทำให้ต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง กว่าเราจะได้เห็น LINE Bank เริ่มเปิดบริการจริงๆ
และนอกจาก LINE Bank แล้ว LINE ยังมียุทธศาสตร์ด้าน Financial Services ที่ใหญ่กว่านั้นอีกมาก จากแผนภาพเราจะเห็นได้ว่ามีบริการทางการเงินต่างๆ แทบครบวงจรเลยทีเดียว
Comments
สร้าง สกุลเงินแบบ เฟส บุค ? พวก แอพใหญ่ จะมาแนวนี้กันแล้วเหรอ
ดูจากรูปแบบแล้ว ไม่ใช่การสร้างสกุลเงินแต่เป็นการตั้งธนาคารหรือบริการทางการเงินในประเทศนั้น ๆ ครับ
คล้าย ๆ line mobile ที่โค dtac อีกทีนึงต้องดูว่าจะมีอะไรแปลกใหม่ขึ้นน่าสนใจมากแค่ไหน
ปล่อยเงินกู้ผ่านมือถือ รู้ผลอนุมัติทันที พร้อมระบบทวงหนี้ทุกหน้าแชท #มโน
ผมว่าใกล้ความจริงเข้าทุกวันครับ
ฮาตรง ระบบทวงหนี้ทุกหน้าแชท 55555
ก่อนทำก็รบกวนเอา line pay แยกออกจากโปรแกรมหลักด้วย
พอแยกออกมาคงเป็นแอพ LINE BANK เลยละมั้งครับ
ไม่ต้องแยกก็ได้ แต่ขอยกเลิกค่าธรรมเนียมเติมเงินเข้า line pay
MUFJ --> MUFG