Tags:
Node Thumbnail

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมการยุโรป (European Commission หรือ EC) หน่วยงานรัฐบาลของสหภาพยุโรป (EU) ประกาศเริ่มสอบสวนแอปเปิลอย่างเป็นทางการ ในข้อหา "ผูกขาด" แยกเป็น 2 กรณีคือ App Store และ Apple Pay

กรณีของ App Store เริ่มมาจากเรื่องร้องเรียนของ Spotify และผู้ให้บริการอีบุ๊กอีกราย (ที่ EC ไม่ได้ระบุชื่อ) ซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงกับแอปเปิลในบริการ Apple Music และ Apple Books

ประเด็นที่เป็นปัญหาคือ เงื่อนไขการหักส่วนแบ่งรายได้ 30% เมื่อจ่ายเงินสมัครบริการผ่าน in-app purchase (IAP) และเงื่อนไขที่แอปเปิลห้ามไม่ให้มีลิงก์หรือข้อความชวนไปจ่ายเงินนอกแอพ

EC ระบุว่าสอบสวนเบื้องต้นแล้ว เป็นไปได้ที่กฎของแอปเปิลจะมีผลต่อการแข่งขันในธุรกิจสตรีมมิ่งเพลง เพราะแอปเปิลเป็นทั้งเจ้าของ App Store และ Apple Music ในขณะที่คู่แข่งอย่าง Spotify เสียเปรียบกว่าตั้งแต่แรก

ส่วนกรณี Apple Pay เป็นเรื่องการผูกขาดวิธีจ่ายเงินด้วย NFC บนอุปกรณ์ iOS ที่แอปเปิลไม่ยอมให้บริการจ่ายเงินรายอื่นๆ เข้ามาใช้งาน NFC สำหรับ "แตะเพื่อจ่าย" ได้เลย จึงอาจถือเป็นการกีดกันไม่ให้บริการจ่ายเงินบนมือถือรายอื่นๆ ได้เกิด ทำให้ผู้บริโภคไม่มีตัวเลือกอื่นเลย

ขั้นถัดไป EC จะสอบสวนในเชิงลึกว่าแอปเปิลทำผิดตามกฎหมายด้านต่อต้านการผูกขาดของ EU หรือไม่ (ประกาศนี้เป็นการบอกให้ทั้งแอปเปิลและสาธารณะทราบว่า EC กำลังสอบสวนเรื่องนี้อยู่)

ที่มา - EC (App Store) , EC (Apple Pay) ภาพจาก European Commission

No Description

Get latest news from Blognone

Comments

By: zerocool
Contributor iPhone Android
on 22 June 2020 - 15:28 #1163783
zerocool's picture

ถ้าไม่หักส่วนแบ่งจาก Spotify แล้ว Apple จะได้อะไรจากการอนุญาตให้ Spotify ใช้ platform และสินค้าอื่น ๆ ของ Apple ในการเข้าถึงฐานผู้ใช้งานจำนวนมากทั่วโลก กรณีนี้ส่วนตัวผมคิดว่าไม่ว่าอย่างไร Spotify ก็ต้องจ่ายเงินให้กับ Apple เป็นสัดส่วนแปรผันตรงกับรายได้ที่ Spotify หาได้ แต่ควรจะถึง 30% หรือไม่ อันนั้นน่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องกลับไปคิด

ในทางกลับกันเรื่อง NFC ผมกลับคิดว่า Apple น่าจะมีความพยายามในการผูกขาดอยู่จริง เว้นเสียแต่ว่ามีเหตุผลเชิงเทคนิคอื่นมาหักล้าง ผมว่าผู้บริโภคควรมีสิทธิ์เข้าถึงบริการด้านการเงินจากตัวเลือกอื่น ๆ ในตลาดอย่างเหมาะสม


That is the way things are.

By: arth
iPhone Windows Phone Windows
on 22 June 2020 - 15:51 #1163792 Reply to:1163783

เรื่อง Spotify นี่ Apple เก็บ 30% เฉพาะที่จ่ายค่าบริการผ่าน in-app เท่านั้นนะครับ ถ้าหากไปสมัครจากช่องทางอื่นก็ไม่เสียตรงนี้ แต่น่าจะมีประเด็นที่ว่าไม่สามารถแปะ Link ให้ไปจ่ายช่องทางอื่นใน app ได้นั่นแหละครับ

หลาย ๆ ค่ายก็มีจ่ายช่องทางอื่นเหมือนกัน อย่าง Adobe CC, PS, LR นี่ก็โหลดฟรีจาก App Store และใน App ก็มีให้ Login ถ้ามี Account ที่สมัครสมาชิกอยู่แล้ว หรือไม่ก็สามารถเลือกจ่ายผ่าน in-app ได้เช่นกัน

ส่วนเรื่องช่องทางจ่ายเงินผ่าน NFC ฝั่ง Android ผมเข้าใจว่าน่าจะเปิดให้ใช้ NFC API ได้ แต่เรื่องความปลอดภัยในการนำมาใช้ทำธุรกรรมต่าง ๆ มีรองรับหรือยังครับ (นอกจากเจ้าของค่ายหรือเจ้าของ OS ทำเอง อย่าง Samsung Pay, Google Pay) ถ้าจะทำให้ใช้งานได้จริง ควรจะเป็น Payment API เฉพาะเลยมากกว่าที่จะมีเปิดให้ใช้งาน NFC API แบบกลาง ๆ ครับ อย่างการลงทะเบียนครั้งแรก จะติดต่อกับ Server ฝั่ง Payment ยังไงว่า NFC ของเครื่องนี้เป็น ID ไหน, การจ่ายจะต้องผ่านการยืนยันรหัสผ่านหรือการยืนยันตัวตนอย่างไรว่าเจ้าของเครื่องเป็นคนทำธุรกรรมจริง อันนี้ผมไม่แน่ใจว่ามีแล้วหรือยังเพราะผมก็ไม่ได้ตามตรงนี้ด้วย

By: tom789
Windows Phone
on 22 June 2020 - 16:21 #1163799 Reply to:1163792

ฝั่งดรอย ก็ใช้ แบบ QR ไป ใครมีแบบ nfc ก็ใช้ไป

By: arth
iPhone Windows Phone Windows
on 22 June 2020 - 16:37 #1163804 Reply to:1163799

NFC นอกจาก Samsung Pay และ Google Pay มี app ไหนใช้อีกไหมครับ

ถ้า QR ไม่น่าใช่ประเด็นเรื่องผูกขาด เพราะหลาย app ด้านการเงินและ e-Wallet ก็ใช้ QR กันหมดครับ

By: jokerxsi on 22 June 2020 - 18:24 #1163825 Reply to:1163783

ทำไม Apple ต้องมีรายได้จาก Spotify ที่ใช้ Platformในขณะที่ Windows / Android Spotify เสียเงินให้ไหม

เรื่องขาย App ต้องหักส่วนแบ่งรายได้อันนี้เห็นด้วย แต่ถ้าเป็น Service นอก Apple นี่เริ่มลังเล แต่ถ้ามีการใช้ Cloud service ของ Apple เพิ่มเติมก็เก็บเพิ่มคล้ายๆ Firebase ก็ได้นะ

By: checkmate95
Contributor Android
on 22 June 2020 - 19:10 #1163835 Reply to:1163783
checkmate95's picture

ประเด็นมันเกิดจากความไม่เป็นธรรมเพราะ Apple เปิดบริการแข่งแต่ตัวเองไม่ต้องเสีย 30% ครับ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในต้นทุน แถมไม่ให้คู่แข่งจ่ายทางอื่นด้วย ผมว่าถ้าจะเอาแบบแฟร์สุดโดย Apple ไม่ต้องเปลี่ยนกฏ ก็ต้องให้ออกกฏ Apple กำหนดราคาขั้นต่ำสินค้าของตัวเองได้ที่ราคาที่ถูกสุดในอุตสาหกรรม + 30%

By: lew
Founder Jusci's WriterMEconomics Android
on 22 June 2020 - 19:38 #1163838 Reply to:1163783
lew's picture

แอปเปิล (โดยทิมคุก) อ้างว่าธุรกิจของแอปเปิลคือการขายอุปกรณ์ ไม่ใช่ขาย "ผู้ใช้" มาตลอดนะครับ

กรณีแบบนี้ถ้ามีการบังคับออกมาก็สามารถคิดค่าบริการการ host แอป, ค่าธรรมเนียมตรวจสอบแอป ฯลฯ ได้ครับ จ่ายแล้วไม่ต้องไปโดนบังคับค่า In-App เช่นเดียวกับ Android ที่กูเกิลต้องแยก ค่าใช้แอนดรอยด์ออกมาชัดเจน เพื่อให้ผู้ผลิตมีทางเลือกอื่นๆ


lewcpe.com , @wasonliw

By: hisoft
Contributor Windows Phone Windows
on 22 June 2020 - 22:58 #1163871 Reply to:1163783
hisoft's picture

ถ้าไม่หักส่วนแบ่งจาก Spotify แล้ว Apple จะได้อะไรจากการอนุญาตให้ Spotify ใช้ platform และสินค้าอื่น ๆ ของ Apple ในการเข้าถึงฐานผู้ใช้งานจำนวนมากทั่วโลก

เขาก็แจ้งไว้เรียบร้อยแล้วนะครับ

If you’re new to development on Apple Platforms, you can get started with our tools and resources for free. If you’re ready to build more advanced capabilities and distribute your apps on the App Store, enroll in the Apple Developer Program. The cost is 99 USD per membership year.