AWS ประเทศไทยจัดงานเสวนาออนไลน์ Building Thailand’s first Unicorn: The Technology Powering the Nation’s Startup Innovation เน้นแลกเปลี่ยนกันเรื่อง อนาคตและความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น รวมถึงความท้าทายที่สตาร์ทอัพต้องเจอ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งจากฝั่งสตาร์ทอัพและฝั่งนักลงทุนประกอบด้วย
คุณกรวัฒน์ เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Amity (เจ้าของ Eko สตาร์ตอัพไทยที่พัฒนาแอพแชทสำหรับตลาดองค์กร), คุณยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท ไลน์แมน วงใน จำกัด และ คุณปารดา ทรัพย์ประเสริฐ ผู้อำนวยการ 500 Start-ups โดยมีผู้ดำเนินรายการคือ ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย, บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย)
ข้อมูลเปิดเผย Blognone เป็นบริษัทในเครือ ไลน์แมน วงใน จำกัด
Image by StartupStockPhotos from Pixabay
สตาร์ทอัพไทย ติดกับดักความคิดที่ว่าให้บริการในไทยก็เพียงพอแล้ว
คุณกรวัฒน์จาก Amity ให้ภาพรวมสภาวะปัจจุบันของสตาร์ทอัพในไทยว่ายังไม่ mature เท่าไรนัก เมื่อเทียบกับจีดีพี และประเทศเพื่อนบ้าน สตาร์ทอัพไทยติดกับดักความคิดที่ว่า เจาะตลาดคนไทยก็เพียงพอแล้ว ซึ่งจากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับสตาร์ทอัพในมาเลเซีย, สิงคโปร์ พวกเขารู้ตัวตั้งแต่แรกแล้วว่าตลาดในประเทศนั้นเล็กเกินไป ต้องเป็น regional player เท่านั้นถึงจะอยู่ได้ ทำให้ตอนนี้มาเลเซียมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นมากพอสมควร
ส่วนประเทศไทย เนื่องจากขนาดประชากรเยอะพอและใหญ่พอ ทำให้เกิดสภาวะก้ำกึ่งระหว่าง อยู่ในประเทศ หรือบุกต่างประเทศ
จากซ้าย
- ทัชพล ไกรสิงขร CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง ConvoLab และรองประธานกรรมการและหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี (Vice President, Head of Technology) ของ Amity
- กรวัฒน์ เจียรวนนท์ ซีอีโอของ Eko/Amity
- ณัฐพล ไกรสิงขร CFO และผู้ร่วมก่อตั้ง ConvoLab
COVID-19 ทำสตาร์ทอัพต้องพึ่งตนเองมากกว่านักลงทุน
คุณยอดจาก ไลน์แมน วงใน ให้มุมมองว่า ปีที่ผ่านมาสำหรับสตาร์ทอัพนั้น เหนื่อยมาก ยาก ลำบาก โดยเฉพาะสตาร์ทอัพที่ทำเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ เราจึงมองเห็นสภาวะที่เกิดขึ้นเป็นสองกลุ่ม
กลุ่มแรกคือ จำศีล จากการลดคน หรือเปลี่ยนธุรกิจไปทำอย่างอื่นชั่วคราว เพื่อรักษากระแสเงินสดให้ได้มากที่สุด ส่วนสตาร์ทอัพอีกกลุ่มคือ Thrive Under Covid-19 หรือมีการเติบโตสูง เช่น Food Delivery, E- commerce
อย่างไรก็ตาม COVID-19 บังคับให้สตาร์ทอัพที่จากเดิม สามารถระดมทุนทุนหรือเข้าหานักลงทุนเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้ ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะเราไม่สามารถบินไปหานักลงทุนได้ การสร้างความสัมพันธ์เป็นไปได้ยาก ดังนั้น สตาร์ทอัพต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวเองมากขึ้น เป็นปีที่ต้องปรับตัวเยอะ ที่อยู่ได้ก็ต้องโฟกัสที่ความสามารถในการทำเงินอย่างแท้จริง
ฝั่งผู้ลงทุน คุณปารดา จาก 500 Startups บอกว่า อีโคซิสเต็มไทยเดินช้ากว่าประเทศอื่นจริง แต่ยังยืนยันว่าเรายังเดินต่อได้อย่างแข็งแรง โดยจากสถิติการลงทุน 80 บริษัท มีไม่ถึง 15% ที่ไม่รอด และมี 60% ยังระดมทุนรอบต่อไปได้
ในปีที่ผ่านมาพบว่าดีลการลงทุนน้อยลงจริง เพราะเราต้องดูอนาคต ว่าธุรกิจนี้ยังอยู่ได้หรือไม่ นักลงทุนกลั่นกรองมากขึ้น ทำให้ดีลน้อยลง แต่ไม่ใช่ไม่มีเลย ยังพอมองเห็นดีลใหญ่บ้าง และมีหลายเจ้าที่กำลังจะ IPO ภายใน 3-5 ปี ดังนั้นสิ่งที่อยากเห็นคือ คนช่วยกันภายในประเทศ ทั้งรัฐ เอกชน และสตาร์ทอัพด้วยกันเอง
แนวโน้มสตาร์ทอัพในอาเซียน ยังหนีไม่พ้น B2C
ในวงเสวนามีการพูดคุยกันด้วยว่า สูตรสำเร็จสำหรับสตาร์ทอัพคืออะไร ซึ่งผู้เข้าร่วมทั้งสามตอบตรงกันว่าไม่มีสูตรสำเร็จใดๆ เลย แต่หากโฟกัสเฉพาะตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สตาร์ทอัพที่ให้บริการแบบ B2C ยังคงเป็นเทรนด์หลัก ในขณะที่การบริการแบบ B2B นั้น ตลาดในภูมิภาคนี้ยังเล็ก
คุณยอดบอกว่า ไม่มีสูตรสำเร็จที่ชัดเจนขนาดนั้น แต่พื้นฐานเลยคือ ขนาดตลาดต้องใหญ่พอ ไม่เป็นแชมป์ในประเทศไปเลยก็ต้องไปเป็น regional หรือ global player ซึ่งไลน์แมน วงในเลือกทางแรก เพราะเราคิดว่ามันใหญ่พอ มีการใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน แต่อาจต้องใช้เวลาสร้างฐานผู้ใช้งาน และยังโฟกัสที่ B2C เป็นหลัก
ที่สำคัญคือ การสร้างคุณค่าเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคต้องมากพอ ถ้าทำได้ ก็จะหาวิธีหาเงินจากกลุ่มผู้บริโภคเหล่านั้นได้
คุณกรวัฒน์ ระบุว่า ตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไงก็ยังต้องเป็น B2C แม้ในตลาดโลก ขนาดตลาด B2B ใหญกว่ามาก แต่ในภูมิภาคของเรายังเล็กเกินไป ส่วนสูตรก็ไม่มีตายตัว แต่เท่าที่พยายามศึกษาบริษัทที่ประสบความสำเร็จคือ ทำผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งให้ดีจนเป็น best in class ไปเลย คือต้องมีโฟกัสสำคัญว่าสตาร์ทอัพต้องการทำอะไร แก้ปัญหาอะไร การมีเมนเทอร์ที่ดีก็สำคัญ บางทีอาจสำคัญกว่าเงิน เพราะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงความผิดพลาดได้
ด้านคุณปารดาให้คำแนะนำว่า อย่าไปยึดติดกับการเป็นยูนิคอร์นมาก เพราะการเป็นยูนิคอร์นคือได้รับการลงทุน แต่ในช่วงเวลาที่เราไม่สามารถเดินทางไปหานักลงทุนได้ และนักลงทุนเองก็คิดเยอะมากขึ้น จึงอยากให้โฟกัสที่ความยั่งยืนของธุรกิจตัวเองมากกว่า
ความคาดหวังจากภาครัฐ
คุณปารดาแลกเปลี่ยนในมุมมองนักลงทุนว่า อยากให้รัฐบาลเปลี่ยนกฎบางข้อในเรื่องการระดมทุน บางกฎยังทำให้มันทำไม่สะดวก ต้องให้สตาร์ทอัพหนีไปจดทะเบียนต่างประเทศ
ส่วนคุณยอดระบุว่า อยากให้สร้างสิ่งแวดล้อมในประเทศเหมาะสม และได้เปรียบในการแข่งขัน กฎหมายเป็นเรื่องหนึ่งเลย เรายังมองเห็นแพลตฟอร์มต่างชาติบางราย ยังไม่เสียภาษีในไทยในขณะที่บริษัทไทยต้องเสีย จึงอยากให้สร้างสิ่งแวดล้อมที่เท่าเทียมกัน
Comments
หน้าลุงตู่นี่ลอยมาเลย
ย่อหน้าสุดท้ายอย่าไปหวังอะไรมาก ประเทศเช่าเขาอยู่Based ต่างประเทศ work กว่า
คุณยอดหลุดจากกรอบประเทศไทยแล้วใช่ไหมครับ :)
[S]
คนนึงมีฐานะ บิดามี connection กับหลายองค์กร ทำไปไม่เสี่ยง โอกาสในการขายสูงคนนึงมีบ.แม่ยักษ์ใหญ่ back ไม่,uห่วงเรื่องเงินทุน และ resource