TOP500.org ประกาศรายชื่อซูเปอร์คอมพิวเตอร์ 500 อันดับแรกประจำรอบเดือนพฤศจิกายน 2021 (ประกาศทุกครึ่งปี) อันดับในกลุ่ม Top 10 ยังแทบไม่เปลี่ยนแปลง โดยแชมป์ยังเป็น เครื่อง Fugaku ของญี่ปุ่น (พัฒนาโดย Fujitsu) เช่นเดิม ถือเป็นการครองอันดับติดต่อกันมา 4 สมัยนับจากรอบเดือนมิถุนายน 2020
อันดับสองและสามคือ IBM Summit อดีตแชมป์เก่า และ Sierra ตามลำดับ ทั้งสองเครื่องใช้สเปกคล้ายๆ กันคือ ซีพียู IBM Power9, จีพียู NVIDIA Volta GV100, เครือข่าย Mellanox
อันดับสี่คือ Sunway TaihuLight อดีตแชมป์เก่าของแชมป์เก่าจากจีน และอันดับห้าคือ Perlmutter ที่ HPE Cray ร่วมกันสร้างกับ NVIDIA
Fugaku แชมป์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์โลก 4 สมัย
ในกลุ่ม Top 10 มีเครื่องใหม่ติดอันดับเข้ามาเครื่องเดียวคือ Voyager-EUS2 ของไมโครซอฟท์ ซึ่งไม่ใช่เครื่องของมหาวิทยาลัยหรือศูนย์วิจัยแห่งชาติ (เหมือนกับเครื่องอื่นๆ ใน Top 500) แต่เป็นเครื่องที่ไมโครซอฟท์ใช้ให้บริการ Azure กับลูกค้าจริงๆ โดยเครื่องนี้ใช้ซีพียู AMD Epyc 7V12, จีพียู NVIDIA A100 80GB เอาไว้ให้บริการ VM ชนิด NDm A100 v4 เน้นแรมจีพียูเยอะๆ สำหรับประมวลผล AI โดยเฉพาะ
Top500 ระบุว่า Fugaku ยังมีสมรรถนะ 442 Pflop/s ซึ่งแรงกว่าอันดับสอง Summit ถึงสามเท่า แต่ก็ยังห่างไกลกับคำว่า exascale (Eflop/s) ทำให้โลกซูเปอร์คอมพิวเตอร์คงต้องรอกันอีกสักพักถึงมีเครื่องที่ก้าวข้ามกำแพงนี้ได้ ซึ่งมีเครื่องที่ประกาศทำอยู่หลายเครื่อง ทั้งฝั่งอเมริกาคือ Aurora , Frontier , El Capitan และเครื่องจากฝั่งจีนอีกจำนวนหนึ่ง
Comments
อันนี้ใช้งานเพื่อการวิจัยและประมวลผลทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะเลยหรือเปล่า เพราะสเป็คดูอลังการมาก และกินไฟเอามากๆ
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
อันดับ 1 ของ Top500 เป็นอันดับที่ 26 ของ Green500 ก็ไม่ได้น่าเกลียดนะครับ
พูดถึงเรื่องกินไฟ ผมก็อดที่จะเอาไปเทียบกับการขุดเหมืองไม่ได้ ... แต่เอาเถอะผมว่าอย่าไปทางนั้นเลย
อีกอย่าง มันไม่ได้เปิดทุกคลัสเตอร์ด้วย
ส่วนใหญ่ก็ใช้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา อย่าง Fugaku ก็ใช้วิจัยเกี่ยวกับโควิด 19 ด้วย
ญี่ปุ่นกวาดทุกรางวัลเลย ทั้งจัดอันดับแบบคลาสสิคของ Top500 (LINPACK) หรือแบบ HPCG กะ HPAI ชนะโดย Fugaku ส่วน Green500 ชนะโดย MN-3 ของญี่ปุ่นเหมือนกัน