รัฐสภายุโรปเตรียมเสนอโหวตกฎหมาย Digital Markets Act (DMA) เพื่อควบคุมพฤติกรรมของแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่ให้ผูกขาดหรือใช้อิทธิพลไปกลั่นแกล้งคู่แข่ง
กฎหมายฉบับนี้ให้นิยาม "ผู้คุมแพลตฟอร์ม" (gatekeeper) ซึ่งหมายถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ขนาดใหญ่ๆ เช่น เว็บค้นหา โซเชียลเน็ตเวิร์ค แพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์ แพลตฟอร์มแชร์วิดีโอ ผู้ให้บริการคลาวด์ ฯลฯ โดยคำนวณจากมูลค่าบริษัทตามราคาตลาดต้องเกิน 8 หมื่นล้านยูโร และมีรายได้ในยุโรปเกิน 8 พันล้านยูโรต่อปี
แพลตฟอร์มที่เข้าข่ายเป็น gatekeeper จะถูกห้ามทำพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรม (unfair) ในหลายด้าน เช่น การนำข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าที่ตัวเองมี ไปรวมกับข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าจากแหล่งอื่น, การบังคับให้ลูกค้าต้องสมัครบริการอื่นของตัวเองพ่วงไปด้วย, ไม่ปรับแต่งอัลกอริทึมให้เอื้อประโยชน์บริการของตัวเอง หรือลดอันดับของบริการคู่แข่ง เป็นต้น หากทำผิดจะโดนคณะกรรมการยุโรป (European Commissions) สั่งปรับตามโทษสูงสุดไม่เกิน 20% ของรายได้รวมทั่วโลก
สถานะของร่างกฎหมาย DMA ตอนนี้ผ่านชั้นของคณะกรรมาธิการ (Internal Market and Consumer Protection Committee) และเตรียมเข้าไปโหวตในที่ประชุมรัฐสภาใหญ่ของยุโรปเดือนธันวาคมนี้
รัฐสภายุโรปยังมีกฎหมายอีกฉบับคือ Digital Services Act ที่ควบคุมพฤติกรรมของผู้ให้บริการออนไลน์ต่อผู้ใช้ เช่น ความปลอดภัย การคัดกรองเนื้อหา การตามรอยผู้ขายสินค้าออนไลน์ ฯลฯ แยกอีกฉบับ ที่กำลังอยู่ในชั้นของคณะกรรมาธิการด้วย
ที่มา - European Parliament , TechCrunch , ภาพจาก European Parliament
Comments
แบบนี้ต้อง สร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน ระหว่าง แพลตฟอร์มดิจิทัล สินะครับ
เพิ่งตื่นสินะ แต่แบบนี้ก็หมดสนุกหรืออีกหน่อยต้องอยู่ในในโลกจำลอง โลกร้อนจนต้องขุดดินอยู่ แล้วอาศัยใน Meta
โลกร้อนเพราะ Climate Change? โลกร้อนเพราะเหมืองคริปโตต่างหาก
I need healing.
เป็นเจ้าของห้างจะทำอะไรก็ได้ ไม่พอใจก็ย้ายไปที่อื่นหรือสร้างห้างขึ้นมาแข่งเองสิ... จะมีคอมเมนต์ราวๆนี้ไหมนะ?
การกำหนดขนาดจากมูลค่าในตลาดและยอดขายแบบตายตัวน่าจะไม่แม่นยำแบบยั่งยืนเท่าไร เพราะเงินเฟ้อขึ้นเรื่อย ๆ ราคาหุ้นในกระดานก็ขึ้นอยู่กับความคาดหวังของนักลงทุนเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายเรื่องการเก็บภาษีสินค้าจากนักท่องเที่ยวที่ไปต่างประเทศ บ้านเราก็กำหนดโดยใช้เลขตายตัวที่ 20,000 บาท ซึ่ง ณ วันที่ร่างกฎหมายออกอาจจะสมเหตุสมผล แต่มาปัจจุบันมีแต่คนเรียกร้องว่าตัวเลขนี้น้อยเกินไป เอาเปรียบเกินไป เรียกร้องให้มีการแก้ไขตัวเลขนี้มาหลายปีแต่ก็ไม่มีใครแก้ เป็นต้น
อีกทั้งการใช้เกณฑ์แบบนี้เท่ากับมองว่า บริษัทขนาด 8 หมื่นล้านมีอำนาจเหนือตลาดพอ ๆ กับบริษัทที่มีขนาด 80 หรือ 800 หมื่นล้าน ซึ่งกลายเป็นว่าจำกัดการแข่งขันของบริษัทใหญ่ (มูลค่ามาก) ที่เล็กกว่าอยู่ดี
ผมคิดว่าควรใช้เกณฑ์ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า เช่น 30% หรือ 40% ที่พอจะเริ่มมีอำนาจควบคุมตลาดแล้ว ส่วนเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ผมค่อนข้างเห็นด้วยนะ แต่ทุกอย่างบนโลกมันไม่ได้มีอะไร 0/1 แบบ digital ที่เราคุ้นชินกัน มันก็ต้องไปตีความกันตามหลักเหตุผลและกฎหมายอีกที ว่าพฤติกรรมแบบไหนเข้าเกณฑ์หรือไม่อย่างไร
That is the way things are.