อีกไม่ถึง 72 ชั่วโมงก็จะถึง กำหนดการชนของยาน DART ซึ่งเป็นการทดสอบเทคโนโลยีปกป้องโลกด้วยการเอายานอวกาศพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย โดยภารกิจนี้จะมีการใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb (JWST) และกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble ร่วมเก็บข้อมูลจากการทดสอบด้วย
การทดสอบของโครงการ DART นี้เป็นการส่งยานอวกาศไปชนดาวเคราะห์น้อย Dimorphos เพื่อจำลองเหตุการณ์ในกรณีที่มีเทหวัตถุเคลื่อนที่พุ่งเข้าหาโลกว่าจะสามารถส่งยานอวกาศไปชนมันเพื่อเบี่ยงทิศทางการเคลื่อนที่ให้เบนออกไม่พุ่งหาโลกได้หรือไม่ ซึ่งการทดสอบนี้จะมีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อมาศึกษาและวิเคราะห์พัฒนาโครงการในอนาคต
ภาพจำลองยาน DART ก่อนการชนดาวเคราะห์น้อย
กล้อง James Webb จะสังเกตการณ์จากตำแหน่งปัจจุบันของมันซึ่งอยู่ที่จุด L2 (หมายถึงจุดลากรางจ์จุดที่ 2 ซึ่งเป็นจุดที่หลบดวงอาทิตย์อยู่ด้านหลังโลกทำให้ไม่โดนแสงอาทิตย์รบกวนในการถ่ายภาพอวกาศ ทั้งนี้จุดลางกรางจ์คือจุดที่มีความพิเศษอธิบายแบบง่ายๆ คือจุดที่สามารถทำให้ยานอวกาศหรือดาวเทียมหรือวัตถุใดๆ สามารถคงตำแหน่งอยู่ได้เสถียรเมื่อเทียบกับระบบที่มันอ้างอิงอยู่ไม่เคลื่อนที่ไปมาอย่างไร้รูปแบบจนเกินควบคุม) ส่วนกล้อง Hubble จะทำการบันทึกข้อมูลจากวงโคจรต่ำรอบโลก ทั้งนี้กล้องโทรทรรศน์อวกาศทั้งคู่จะไม่ได้เน้นการบันทึกภาพจังหวะการชนของยาน DART โดยตรง แต่เน้นการค้นหาวัตถุส่องสว่างในช่วงเวลาประมาณ 15 นาทีหลังการชน
การค้นหาและบันทึกภาพวัตถุส่องสว่างที่กระจัดกระจายหลังการชนของกล้อง James Webb และกล้อง Hubble จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถประเมินปริมาณฝุ่นที่เกิดจากการชนโดยอาศัยค่าความสว่างและระยะเวลาการส่องสว่างของวัตถุเหล่านั้นมาประกอบการคำนวณ ผลการประเมินจะทำให้พอทราบสภาพพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการคำนวณเชิงจลนศาสตร์ของโมเดลการชน ซึ่งจะทำให้ระบบป้องกันโลกอันเป็นเป้าหมายของโครงการ DART นี้ได้รับการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังมีกล้องจากยานอวกาศอีกลำที่จะทำหน้าที่ค้นหาวัตถุส่องสว่างหลังการชนเช่นเดียวกับกล้อง James Webb และกล้อง Hubble นั่นคือกล้อง LORRI ซึ่งติดอยู่บนยาน Lucy Probe ที่กำลังอยู่ระหว่างการเดินทางไปยังกลุ่มดาวเคราะห์น้อย Trojan ซึ่งเป็นกลุ่มดาวเคราะห์น้อยที่โคจรรอบดวงอาทิตย์อยู่บนวงโคจรเดียวกันกับดาวพฤหัสบดี
เนื่องจากตำแหน่งการชนจริงนั้นอยู่ห่างจากโลก 11 ล้านกิโลเมตร และห่างจากจุด L2 ประมาณ 9.7 ล้านกิโลเมตร ฉะนั้นแล้วภาพที่จะได้จากกล้อง James Webb และกล้อง Hubble จะไม่ใช่ภาพระยะใกล้ของการทดสอบ ซึ่งหน้าที่นั้นจะเป็นหน้าที่ของกล้อง DRACO ที่อยู่บนตัวยาน DART เอง โดยกล้อง DRACO นี้จะเก็บภาพทุก 1 วินาทีในช่วงการเคลื่อนที่เข้าหาเป้าหมายก่อนการชน และยังมีกล้องอีกตัวที่อยู่บนยาน LICIACube อันเป็นยานอวกาศอีกลำที่ถูกส่งไปพร้อมกับยาน DART เพื่อไปทำหน้าที่เก็บภาพและข้อมูลในระยะใกล้ชิดโดยเฉพาะที่ระยะห่างประมาณ 40-80 กิโลเมตรจากตำแหน่งการชน
ผู้ที่สนใจสามารถร่วมติดตามการถ่ายทอดสดของ NASA ได้หลากหลายช่องทางทั้ง เว็บไซต์ , Twitter , Facebook และ ช่อง YouTube นอกจากนี้ยังมี เว็บไซต์แสดงภาพจำลองการเดินทางของยาน DART แบบเรียลไทม์ ด้วย การถ่ายทอดสดจะเริ่มเวลา 5.00 น. วันที่ 27 กันยายนนี้ตามเวลาประเทศไทย
ที่มา - Gizmodo
Comments
ลบ
อ้าว! นึกว่า Hubble ปลดประจำการไปแล้ว