Tags:
Topics: 
Node Thumbnail

ในโลกการทำงานในปัจจุบันการสอนงานไม่ใช่แค่แบบ Top-down ที่พนักงานตำแหน่งสูง ๆ สอนงานให้กับพนักงานระดับต่ำกว่าอย่างเดียวอีกต่อไป แต่กลับมีแนวคิด “Reverse mentorship” เกิดขึ้น นั่นก็คือพนักงานระดับต่ำกว่าที่มักจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่าก็สามารถแนะนำผู้ใหญ่ในที่ทำงานได้เช่นกัน เพราะเมื่อระยะผ่านมา แนวคิดใหม่ ๆ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็เข้ามามีบทบาท

Reverse mentorship คืออะไร?

แนวคิด Reverse mentorship คือการที่พนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่อายุยังน้อยสามารถให้คำแนะนำหรือให้ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ ตั้งแต่การรับมือกับลูกค้า การเล่น TikTok ไปจนถึงแนวคิดเรื่องประเด็นทางสังคม อย่างความหลากหลาย ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมในที่ทำงานหรือ DEI (Diversity, Equity, Inclusion)

จริง ๆ แล้ว Reverse Mentorship เกิดขึ้นมาตั้งแต่ราวปี 1990 แต่ขณะนั้นใช้กับแค่เรื่องเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว คนรุ่นใหม่จึงต้องเป็นผู้สอนคนรุ่นอื่น ๆ ในที่ทำงาน

แนวคิดนี้อาจเป็นการสอนแบบ one-way คือให้พนักงานรุ่นใหม่ในที่ทำงานสอนพนักงานในระดับสูงกว่าหรืออายุมากกว่าในทักษะบางอย่าง หรือต่างฝ่ายต่างสอนและเรียนรู้ซึ่งกันและกันก็ได้ บางกรณีอาจอยู่ในรูปแบบที่คนรุ่นใหม่รวมกลุ่มกันเพื่อพูดคุยเสนอแนวคิดกับหัวหน้างานหรือผู้บริหาร

แนวคิดนี้เคยถูกนำไปใช้แล้วโดยซีอีโอ Jack Welch ของบริษัท General Electric ในปี 1999 ที่ให้ผู้บริหารจับคู่กับพนักงานระดับปฏิบัติการ (Junior) เพื่อให้สอนเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ต แต่ปัจจุบัน Reverse Mentorship ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องเทคโนโลยีแต่ขยายมาจนถึงเรื่องสังคม วัฒนธรรม และเทรนด์การทำงาน ในปัจจุบันสังคมในที่ทำงานมีคนรุ่นต่าง ๆ เข้ามาทำงานมากที่สุดเพราะ Gen Z กลายมาเป็นวัยทำงานแล้ว

นอกจากเรื่องอายุ Reverse Mentorship ยังรวมถึงการมีพนักงานที่มีความหลากหลายเรื่องเพศและชาติพันธุ์มากขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ปรึกษา PwC ในสหราชอาณาจักรที่ใช้ Reverse Mentorship เพื่อเพิ่มความหลากหลายและการมีส่วนร่วมในที่ทำงาน โดยจับคู่พนักงานระดับปฏิบัติการและพนักงานระดับอาวุโส (Senior) ไม่เฉพาะคนละช่วงอายุแต่จับคู่ให้มีเพศและชาติพันธุ์ที่ต่างกันด้วย

No Description

ส่วนบริษัทกฎหมาย Linklaters ก็ใช้แนวคิดนี้เพื่อสอนหัวหน้างานและผู้บริหารเรื่อง LGBTQ+ และการขับเคลื่อนทางสังคมในประเด็นต่าง ๆ หรือบริษัท P&G ที่ให้ความรู้พนักงานระดับอาวุโสเรื่องพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ของคนรุ่นใหม่ไปจนถึงการคำนึงถึงผู้พิการในที่ทำงาน

Jim Berry ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจของ University College London กล่าวว่า “สิ่งสำคัญสำหรับนายจ้างคือความเข้าใจในสังคมที่มีคนหลายรุ่นอยู่ด้วยกัน เพราะเราอาจจะมีมุมมองเรื่องต่าง ๆ แตกต่างกันเพราะเราเติบโตมาในสังคมที่ต่างกัน การพูดคุยจะทำให้เราสามารถทำลายกำแพงระหว่างรุ่นได้”

Reverse Mentorship มีส่วนช่วยในการรักษาพนักงานไว้อย่างไร?

การรับฟังพนักงานทุกคนเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะเพื่อรักษาพนักงานไว้ไม่ให้ลาออกจากงาน หลังจากที่บริษัทต่าง ๆ มีบทเรียนมาตั้งแต่ช่วง Great Resignation ที่มีพนักงานลาออกจำนวนมาก

แนวคิดในการทำงานเปลี่ยนไป ผู้คนต่างโยกย้ายตำแหน่งงานและสายงานมากขึ้น จึงไม่ใช่แค่ผู้บริหารหรือหัวหน้างานที่มีสิทธิในการตัดสินใจ การที่พนักงานมีส่วนร่วมในบริษัทในระดับต่ำเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ 1 ใน 5 ของพนักงานในสหรัฐอเมริกากลุ่ม Gen Y ลาออกจากงานเมื่อปีที่แล้ว

ตัวอย่างเช่น บริษัทการเงิน BYN Mellon Pershing กระตุ้นอัตราการรักษาพนักงานให้ทำงานกับบริษัทต่อได้สูงถึง 96% ในการสำรวจคน Gen Y 77 คนที่มีส่วนร่วมในแผน Reverse Mentorship ของบริษัท แม้ว่า Reverse Mentorship จะไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้พนักงานยังคงทำงานในบริษัทต่อไป

ส่วนกลุ่ม Gen Z การรับฟัง การได้รับการยอมรับ และการได้รับการสนับสนุนจากที่ทำงาน รวมถึงการสร้างบรรยากาศการทำงานที่สะท้อนสิ่งที่คนรุ่นนี้ให้ความสำคัญ เช่น การทำงานแบบยืดหยุ่น การสนับสนุนด้านความเป็นอยู่ และการสร้างความหลากหลายในที่ทำงาน ทำให้บริษัทสามารถรักษาพนักงานไว้ได้No Description

เริ่มแผน Reverse Mentorship อย่างไรไม่ให้ขัดแย้งกัน?

แน่นอนว่าคนในแต่ละรุ่นโตมาด้วยระบบความคิดและบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน การจะสร้าง Reverse Mentorship จึงต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดความขัดแย้งในที่ทำงานด้วย

Jim Berry เสนอว่าการ Reverse Mentorship ควรเป็นแบบ 2 ทาง (“two-way street”) คือทั้ง 2 ฝ่ายควรเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

วิธีหนึ่งที่จะทำให้พนักงานที่มีอายุมากกว่ายอมรับฟังผู้ที่มีอายุน้อยกว่าคือการที่ผู้บริหารระดับสูงทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี “หากรองประธานอาวุโสแบ่งบันสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ พนักงานที่มีอายุมากก็จะเห็นว่าพวกเขาก็เรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ได้เช่นกัน”

นอกจากนี้ การจับคู่พนักงานเพื่อทำ Reverse Mentorship ควรจะต้องทำด้วยความระมัดระวัง เช่น หากต้องการให้พนักงานเรียนรู้เรื่องความหลากหลายและการมีส่วนร่วมก็ควรจะจับคู่พนักงานที่ต่างเพศ ต่างสีผิว หรือต่างเพศวิถี (Sexuality)

แม้ว่า Reverse Mentorship จะดูเป็นไอเดียใหม่ แต่จริง ๆ ก็มาจากพื้นฐานความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกันซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญในทุก ๆ สังคมเท่านั้นเอง

สำหรับสายเทคโนโลยีที่กำลังมองหางานดี ๆ และสิ่งแวดล้อมในการทำงานดี ๆ หางานได้เลยที่ Blognone Jobs

ที่มา: BBC

Get latest news from Blognone