จะดีแค่ไหนถ้าทำงานคนเดียวก็มีความสุข ทำงานเป็นทีมก็ราบรื่นแถมงานยังออกมามีประสิทธิภาพ
Fast Company ได้ทำการศึกษาเรื่องการทำงานเป็นทีมโดยศึกษาพนักงานหลายร้อยรายของบริษัท BTS สหรัฐอเมริกา เผยปัจจัยหลัก 4 ข้อที่ทำให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่หัวหน้าทีมควรนำไปปรับใช้เพื่อสร้างทีมงานคุณภาพที่สามารถทำงานร่วมกันได้ดี
เชื่อใจและให้อิสระ
ลูกทีมจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพถ้าได้รับการไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน และได้รับการไว้วางใจจากหัวหน้าทีมโดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครนินทาลับหลัง แทงข้างหลัง หรือพยายามควบคุมกัน ความเชื่อใจเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การทำงานเป็นทีมกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยในความรู้สึกของลูกทีม ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีและทำให้สามารถทุ่มเทให้กับทีมอย่างเต็มที่
ใช้ความสามารถแต่ละคนให้เต็มที่
แม้จะทำงานในลักษณะเดียวกัน แต่พนักงานแต่ละคนในทีมมีความเชี่ยวชาญในทักษะแตกต่างกัน รวมถึงมีประสบการณ์แตกต่างกัน การเลือกใช้งานให้ถูกคนจะช่วยให้งานประสบความสำเร็จและมีคุณภาพ ดังนั้น ทุกคนในทีมจึงควรมีส่วนร่วมในเรื่องที่ตนเองถนัดเพื่อทำให้เกิดการถกเถียงและนำไปสู่การแลกเปลี่ยนไอเดียกัน
คิดให้ใหญ่ มองให้กว้าง
ทีมที่ดีจะต้องมองภาพกว้างให้ถึงระดับที่ว่า “อะไรดีต่อองค์กร” และมองไปถึงคุณค่าทางธุรกิจที่ไม่ใช่แค่การทำงานให้บรรลุเป้าหมายตามตำแหน่งของตัวเองเท่านั้น พูดง่าย ๆ ก็คือการพยายามรักษาไว้ทั้งผลประโยชน์ของบริษัทพร้อม ๆ กับการทำงานของตัวเองให้ดีไปด้วยโดยไม่ต้องเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทำงานร่วมกัน
ทีมที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพคือทีมที่แต่ละคนร่วมกันทำงานและรับผิดชอบซึ่งกันและกัน กล่าวคือสามารถตัดสินใจในการทำงานอย่างเด็ดขาดไปพร้อม ๆ กับการคิดถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดกับคนอื่นด้วย ไม่ใช่การทำงานแบบตัวใครตัวมัน
ทีนี้เมื่อรู้แล้วว่าปัจจัย 4 ข้อที่ทำให้ทีมสามารถสร้างผลงานที่มีคุณภาพพร้อมกับรักษาความสัมพันธ์ของคนในทีมไปด้วยพร้อมกันแล้ว หัวหน้าทีมจะเริ่มต้นอย่างไรดีเพื่อสร้างทีมที่ใคร ๆ ก็อยากร่วมงานด้วยขึ้นมาให้ได้
ตัดสินใจด้วยโดยให้คุณค่ากับความคิดเห็นของทุกคนในทีม
สิ่งที่มาพร้อมกับการทำงานเป็นทีมอย่างแน่นอนคือการระดมความคิด พูดคุย ถกเถียงกันเพื่อตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดจากการพูดคุยหาข้อสรุปกันไม่ได้เป็นความขัดแย้งที่ก่อให้เกิดข้อเสียแต่อย่างใด ในทางกลับกัน การพูดคุยถกเถียงกันจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ผ่านการไตร่ตรองมาแล้วอย่างรอบครอบ
ในบรรยากาศการถกเถียง หัวหน้าทีมควรจะเลือกตัดสินใจแบบประนีประนอมแนวคิดของแต่ละคนในทีมมากกว่าการพยายามหาตัวเลือกที่ถูกต้องเพียงตัวเลือกเดียว การตัดสินใจที่คำนึงถึงความคิดของแต่ละคนในทีมจะทำให้ลูกทีมมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของทีมและเป็นการกระตุ้นให้แต่ละคนมีส่วนร่วมในการทำงานของทีมมากขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ การทำงานที่ให้ช่วยกันตัดสินใจจะช่วยให้ทีมสามารถมองภาพกว้างขึ้นแบบไม่ได้จำกัดอยู่แค่กรอบงานของตัวเอง แต่มองไปถึงงานของเพื่อนร่วมทีมด้วย
ทำงานร่วมกันกับทีมอื่น
ในงานหรือโครงการหนึ่ง ๆ โดยส่วนใหญ่ไม่ใช่เกิดจากแค่ทีมใดทีมหนึ่งเท่านั้น แต่เกิดจากความร่วมมือกันของแต่ละทีม ซึ่งหลายครั้งหัวหน้าทีมไม่ได้พิจารณาถึงจุดนี้และใส่ใจแต่การทำงานภายในทีมของตัวเอง
หัวหน้าทีมควรจะมองภาพกว้าง ๆ ว่าการทำงานในทีมของเรากระทบต่อทีมอื่น ๆ หรือไม่ และควรปรึกษาหารือร่วมกับทีมอื่นเพื่อมองหาตัวเลือกที่ดีให้ทุกฝ่ายสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นไปด้วยกัน
หมั่นถามคำถาม
ความสงสัยหรือการอยากรู้เป็นสิ่งที่ดีต่อการทำงาน หัวหน้าทีมที่ดีควรถามคำถามเพื่อพยายามเข้าใจลูกทีมมากกว่าการสั่งงานเพียงอย่างเดียว
ในทางกลับกัน หัวหน้าก็ควรกระตุ้นให้ลูกทีมรู้สึกสงสัยในงานที่ทำเพื่อให้คนในทีมคอยติดตามงานอยู่เสมอ และเมื่อมีคนถามคำถาม ก็ไม่จำเป็นว่าหัวหน้าจะต้องมีคำตอบให้ทุกคำถาม แต่สิ่งที่ควรทำก็คือการหาคำตอบและพยายามแก้ปัญหาร่วมกันในทีม
สำหรับใครที่กำลังมองหางานประจำสายเทคโนโลยี เข้ามาดูงานได้เลยที่ Blognone Jobs
ที่มา: Fast Company
Hiring! บริษัทที่น่าสนใจ