แม้จะรักงานที่ทำอยู่แค่ไหน พอทำไปเรื่อย ๆ ก็มักจะมีช่วงที่รู้สึกว่าการทำงานเดิม ๆ กลับใช้พลังงานมากกว่าแต่ก่อน การทำงานกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมา จนบางครั้งคิดว่าอยากจะเปลี่ยนงานไปซะดื้อ ๆ แต่เมื่อการเปลี่ยนงานไม่ได้ง่ายขนาดนั้น การปลุกไฟในตัวให้เกิดขึ้นอีกครั้งก็เป็นตัวช่วยที่ดีในวันที่เราเหลือ Passion ในการทำงานอันน้อยนิด
ถ้าเปลี่ยนงานไม่ได้ ก็เปลี่ยนวิธีคิดแทน
Patricia Chen ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาของ University of Texas ได้ทำวิจัยถึงทัศนคติของคนในการทำงาน โดยแบ่งคนตามวิธีคิดออกเป็น 2 อย่าง คือ
- Fit Theorist- คนที่มีแนวคิดว่ามีงานที่เหมาะสมกับคนแต่ละคนเสมอ และการหางานนั้น ๆ ให้เจอจะช่วยทำให้มีความสุขและประสบความสำเร็จได้
- Develop Theorist- คนที่มีแนวคิดว่าแรงจูงใจ (Passion) ในการทำงานสามารถพัฒนาได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ระหว่างทำงาน เมื่อเข้าใจงานมากขึ้น ก็จะรู้สึกชอบและสนุกในการทำงานมากขึ้น
ผลการวิจัยพบว่าคนที่มีแนวคิดแบบ Develop Theorist จะสามารถเรียนรู้ที่จะมีความสุขกับงานที่หลากหลายได้ ทำให้ความพึงพอใจในการทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าในตอนแรกจะไม่ได้ชอบงานที่ทำก็ตาม ตรงข้าม Fit Theorist ที่จะไม่มีความสุขกับงานหากไม่ได้ทำงานที่ตัวเองต้องการ
ในการศึกษาชิ้นใหม่ Chen มุ่งศึกษาว่า Develop Theorist หาแรงจูงใจในการทำงานได้อย่างไรบ้าง และใช้วิธีไหนในการปลุกไฟในการทำงาน โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี 316 คนที่เรียนอยู่ในสาขาแตกต่างกัน โดยได้สอบถามถึงการเปลี่ยนแปลงของแรงจูงใจในการทำงานและสาเหตุที่ระดับแรงจูงใจเปลี่ยนแปลง
ผลการสำรวจพบว่า 5 วิธีหลักที่นักศึกษาใช้ในการเพิ่มแรงจูงใจมาจากการที่
- นึกถึงประโยชน์และความเกี่ยวข้องของสาขาที่เรียนกับการทำงานในอนาคตเช่น นักศึกษาด้านธุรกิจมองว่าสิ่งที่เรียนจะทำให้สามารถทำงานในบริษัทสตาร์ทอัพในอนาคต
- นึกถึงว่าสิ่งที่เรียนช่วยให้เข้าใจสังคมได้อย่างไรเช่น นักศึกษาตั้งคำถามว่าสิ่งที่เรียนไปช่วยให้เข้าใจโลกมากขึ้นอย่างไร
- สร้างความคุ้นเคยการได้รับความรู้ใหม่ ๆ จะทำให้รู้สึกสงสัยและใฝ่รู้ในสิ่งที่เรียนมากขึ้น และการเรียนรู้จะทำให้มีทักษะที่ดีขึ้น
- ได้รับประสบการณ์จริงนักศึกษาจำนวนมากพบว่าการฝึกงานทำให้มีแรงจูงใจในสิ่งที่เรียนมากขึ้น
- พบเจอที่ปรึกษาและมีสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ดีนักศึกษาได้พบอาจารย์ที่ทำให้เกิดแรงจูงใจและเพื่อนที่ทำให้การเรียนสนุกมากขึ้น
สร้างแรงผลักดันยังไงให้ได้ผล
จากผลการวิจัยของ Chen สรุปได้ว่า 2 วิธีหลักที่จะช่วยสร้างแรงผลักดันให้ตัวเอง โดยเฉพาะในสถานการณ์การทำงานที่ท้าทาย และมองไม่เห็นผลสำเร็จของงาน มีดังนี้
- การตั้งเป้าหมายระยะใกล้โดยการที่จะแบ่งงานใหญ่ออกเป็นขั้นตอนย่อย ๆ และตั้งใจทำให้สำเร็จไปทีละขั้นตอน เราจะรู้สึกพึงพอใจเมื่อได้ทำงานย่อยนั้นสำเร็จแม้ว่าจะยังไม่ได้เสร็จทั้งโปรเจ็กต์
- การให้รางวัลกับตัวเองเราอาจตั้งเป้าว่าหากทำงานนี้สำเร็จจะตอบแทนตัวเองด้วยการซีรีส์ใน Netflix สักตอน หรือจะพักหาอะไรทาน
2 วิธีนี้ยังคงต้องอยู่บนรากฐานของแนวคิดว่าแรงจูงใจในการทำงานเป็นสิ่งที่พัฒนาให้มีมากกว่าเดิมได้ ความสำคัญของวิธีคิดพิสูจน์ได้ด้วยงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งของ Maila Trautner และ Malte Schwinger นักวิจัยใน University of Münster และ Philipps University of Marburg ประเทศเยอรมนีที่สำรวจนักศึกษา 700 ราย พบว่า คนที่มีแนวคิดว่าแรงจูงใจเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาได้จะตื่นตัวในการทำงานมากกว่าคนที่เชื่อว่าแรงจูงใจเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้
คิดเสร็จแล้ว ให้ลงมือทำ
แม้ว่าคนที่จัดอยู่ในประเภท Develop Theorist จะไม่มีปัญหาในการสร้างแรงจูงใจ แต่ Chen พบว่าคนในประเภทนี้เป็นคนส่วนน้อย ดังนั้น คนส่วนใหญ่ที่เป็นแบบ Fit Theorist จึงจำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นเตือนอย่างสม่ำเสมอว่าจริง ๆ แล้วพวกเขาสามารถสร้างแรงจูงใจได้ด้วยตัวเอง
ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะเป็น Develop Theorist ก็สามารถสร้างแรงจูงใจให้ตัวเองได้ด้วยวิธีการอย่างเช่น การคิดถึงเป้าหมาย มองสิ่งที่บริษัทจัดหาให้ พูดคุยกับคนที่สร้างแรงจูงใจให้เราได้ ไปจนถึงการวางแผนงานและตั้งเป้าให้รางวัลกับตัวเอง
สิ่งหนึ่งที่ควรทำคือการขอความช่วยเหลือจากหัวหน้างานหากรู้สึกหมดไฟในการทำงานเพื่อพูดคุยกับหัวหน้าว่าเราจะเปลี่ยนแปลงงานไปในทิศทางใดได้บ้างเพื่อจะทำให้มีไฟในการทำงานและประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นหรือที่เรียกว่า “Job Crafting”
อย่างไรก็ตาม หากถึงระดับที่ไม่ว่าจะสร้างแรงจูงใจในการทำงานขนาดไหนก็ไม่รู้สึกว่ามีไฟขึ้นมา จริง ๆ แล้วแรงจูงใจอาจจะไม่จำเป็นสำหรับงานก็ได้ เราสามารถไปหาได้จากที่อื่นอย่างงานทำงานอดิเรกที่ช่วยให้รู้สึกถึงความสำเร็จและความพึงพอใจในชีวิตและทำให้งานเป็นเพียงแค่แง่มุมหนึ่งของชีวิตเท่านั้นไม่ใช่ทั้งหมด
ส่วนใครที่กำลังมองหางานประจำด้านเทคโนโลยี เข้ามาดูงานดี ๆ ได้เลยที่แหล่งรวมงานสายไอที Blognone Jobs
ที่มา - BBC
Comments
เป็นแนวคิดที่ดีแต่มีข้อกังขานิดหนึ่ง ปกติแล้วอาการ Burn out จะกับคนช่วงอายุ 30 ถึง 45 เป็นส่วนใหญ่ แต่งานวิจัยของ chen กับเน้นศึกษากับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักศึกษา ถึงจำนวนตัวอย่างจะเยอะ แต่มันไม่ได้สะท้อนถึงปัญหาในกลุ่มตัวอย่างนั้นๆเลย เราก็รู้ๆกันอยู่ว่าช่วงชีวิตวัยรุ่นในมหาวิทยาลัยไม่ได้มีอาการ Burn out ขนาดนั้น วิชาเรียนเปลี่ยนทุกเทอม มันไม่ไม่ใช่ชีวิตทำงานที่สามปีผ่านไปยังทำงานเดิมๆซ้ำๆทุกวัน แล้วแถมข้อสรุปของงานวิจัยก็เน้นไปที่ให้พนักงานอย่างเราๆปรับตัวอีก ถ้าเคยผ่านอาการ Burn out มา แค่ลุกไปทำงานยังยาก ใครจะมีกระจิตกระใจไปปรับเปลี่ยนวิธีคิดแบบนี้อีก มุมมองที่ยั่งยืนควรแก้ปัญหาที่ตัวองกร สภาพแวดล้อมในการทำงานด้วย ถ้าเจอหัวหน้าห่วยๆ ให้มาคิดบวกทุกวันมันก็คงจะเป็นไปไม่ได้