InVent หน่วยงานด้านการลงทุนของอินทัช (ชินคอร์ปเดิม) ประกาศลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีของไทยเพิ่มอีก 2 ราย จากเดิมที่เคยลงทุนในบริษัทอีบุ๊ก Ookbee มาแล้วเพียงรายเดียว
บริษัทที่ InVent เข้าไปลงทุนได้แก่
- Computerlogy เจ้าของเครื่องมือบริหารจัดการโซเชียลเน็ตเวิร์ค SocialEnable โดยเข้าไปลงทุน 29 ล้านบาท ถือหุ้นสัดส่วน 25%
- Meditech Solution ผู้ผลิตเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ด้วยสายตา (eye-tracking) เพื่อให้ผู้ป่วยอัมพาตที่สมองยังทำงานแต่สื่อสารด้วยมือหรือคำพูดไม่ได้ ยังสามารถติดต่อกับหมอหรือญาติๆ ผ่านการเลือกเมนูด้วยการกระพริบตาได้ InVent ลงทุน 5 ล้านบาท ถือหุ้นสัดส่วน 30%
ภาพ: จากซ้ายมือ คุณวัชระ เอมวัฒน์ (Computerlogy), คุณกฤติกา มหัทธนกุล (InVent), คุณปิยะศักดิ์ บุญคมรัตน์ (Meditech), คุณไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว (SIPA)
ผลิตภัณฑ์ของ Computerlogy คงเข้าใจกันไม่ยากเพราะมีบริษัททำเครื่องมือลักษณะนี้อยู่เยอะทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งทาง Computerlogy มองโจทย์ว่า "กด like แล้วไงต่อ" และตั้งเป้าตอบโจทย์องค์กรที่ต้องการเปลี่ยนแฟนของแบรนด์ในโลกโซเชียลมาเป็นลูกค้าจริงๆ (from conversation to conversion) ที่ผ่านมาก็เน้นลูกค้าองค์กรใหญ่เป็นหลัก
ส่วนผลิตภัณฑ์ของ Meditech อาจเข้าใจยากหน่อย แต่โชคดีที่ทางบริษัทขนเครื่องมาให้เล่นในงาน ผมก็เลยมีโอกาสได้ลองเล่นดูจริงๆ ครับ
ผลิตภัณฑ์ของ Meditech (ใช้ชื่อการค้าว่า SenzE) เป็นกล้องพร้อมจอภาพ เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ และขาตั้งเป็นชุดเพื่อตั้งไว้เหนือเตียงของผู้ป่วย หลักการทำงานคือกล้องจะจับการเคลื่อนไหวของนัยน์ตา มีเมนูบนหน้าจอที่ select จะวนไปเรื่อยๆ เป็น loop เมื่อผู้ใช้กระพริบตาสองครั้งก็คือการเลือกเมนูนั้นๆ ซึ่งเมนูก็มีหลายแบบทั้งบอกอาการเจ็บป่วย บอกว่าหิวข้าว อยากเข้าห้องน้ำ สื่อสารเป็นข้อความ รวมถึงความบันเทิงทั้งรูปภาพ-เพลง-หนัง เป็นต้น (ทางบริษัทบอกว่าอนาคตอยากทำให้แชทผ่าน LINE ได้ด้วย)
คุณปิยะศักดิ์ เล่าถึงที่มาของผลิตภัณฑ์ว่าเดิมทีทำงานเว็บไซต์และระบบไอที รับงานภาครัฐมาก่อน แต่เมื่อพ่อของเพื่อนสนิทเกิดอาการแบบนี้ เลยพยายามคิดค้นหาวิธีการสื่อสารโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย และศึกษาอัลกอริทึมของ eye-tracking อยู่ช่วงหนึ่งก่อนจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้สำเร็จ
ในงานยังมีส่วนที่ InVent ตอบคำถามด้านนโยบายการลงทุน ผมก็นำมาถ่ายทอดต่อเผื่อเป็นประโยชน์ต่อ startup ในบ้านเราที่กำลังมองหานักลงทุน (ซึ่ง InVent ก็ถือเป็นนักลงทุนรายหนึ่งที่น่าสนใจ)
- งบลงทุนราว 200 ล้านบาทต่อปี โดยปีนี้ลงทุนไปแล้ว 34 ล้านบาท ยังไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้ แต่ก็น่าจะเจรจากับบริษัทอีกหนึ่งรายสำเร็จก่อนสิ้นปี
- ตอนนี้มีบริษัทที่กำลังคุยๆ อยู่ 3 ราย และมีบริษัทที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 79 ราย
- อาจรู้สึกว่า InVent ลงทุนน้อย เปิดมาเกือบสองปีเพิ่งลงทุนไปแค่ 3 บริษัท แต่จริงๆ แล้วกระบวนการคัดกรองใช้เวลานาน (3-6 เดือน) ก็อยากเร่งให้เร็วกว่านี้
- นโยบายของ InVent ต้องการลงทุนในธุรกิจ SME ที่ดำเนินธุรกิจมาระดับหนึ่งแล้ว (เรียกภาษานักลงทุนก็คือ Series B) จำนวนเงินลงทุนราว 5-10 ล้านบาทต่อบริษัท แต่ก็ไม่มีขีดจำกัดที่ชัดเจนว่าจะต้องลงทุนเท่าไร
- นโยบายการลงทุนจะเน้นในบริษัทด้านโทรคมนาคม ไอที สื่อ และเนื้อหาดิจิทัล ถ้าผิดจากนี้ก็อาจจะไม่พิจารณา
- InVent จะไม่เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัทนั้นๆ เพราะจะทำให้มีปัญหากับผู้ถือหุ้นเดิม และไม่ไปยุ่งกับการบริหารมากนัก แต่ก็จะเฝ้าดูแผนการดำเนินการและยุทธศาสตร์ในฐานะผู้ถือหุ้นเท่านั้น
- บริษัทที่กำลังมองหาอยู่ในตอนนี้คือเน้นบริการที่ทำให้คนสะดวกสบายมากขึ้น (ease of use, ease of access) ที่อยากเห็นในไทยคือ แอพเกี่ยวกับแท็กซี่, แอพเกี่ยวกับ mobile payment หรือความปลอดภัยบน mobile payment, ระบบการจัดการพลังงาน, และซอฟต์แวร์ ERP ที่รันบนคลาวด์
- หลังเข้าไปลงทุนใน Ookbee ฐานลูกค้าก็เติบโตขึ้นจาก 2 ล้านเป็น 3 ล้านราย ผลประกอบการออกมาดี และเริ่มเข้าไปทำตลาดในอาเซียนแล้ว ตอนนี้เริ่มมีนักลงทุนรายอื่นอยากเข้ามาขอลงทุนใน Ookbee เพิ่มแล้ว
เท่าที่ผมลองสังเกตดูพบว่า InVent สนใจลงทุนในบริษัทที่ดำเนินกิจการมาสักระยะหนึ่ง หรือผู้ก่อตั้งเคยมีประสบการณ์ทำธุรกิจมาก่อน (ไม่ใช่เปิดบริษัทครั้งแรกหรือเด็กจบใหม่ ซึ่งจะเป็นงานของ AIS The Startup ซึ่งถือเป็นคนละบริษัทกันแต่อยู่ในเครือเดียวกัน) ดังนั้นใครที่เข้าข่ายและสนใจก็สามารถ ติดต่อเข้าไปที่ InVent ได้โดยตรงครับ ขอเอาใจช่วยให้ได้รับเงินลงทุน
Comments
โอ้ววว ข่าวดี